ไม่ว่าในภาษาใดก็ตาม ชะตากรรมที่คำหลายพยางค์ที่ผู้คนใช้กันบ่อยๆ ส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นก็คือ การถูกทำให้สั้นลงและพูดได้สะดวกปากยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย คือ ‘clipping’ หรือการตัดคำ แบบที่คนไทยใช้ย่อ คอมพิวเตอร์ เป็น คอมฯ หรือกรุงเทพมหานคร (และส่วนที่เหลืออีกสองบรรทัด) เหลือแค่ กรุงเทพฯ

ในภาษาอังกฤษ การทำคำให้สั้นลงด้วยการตัดคำก็พบเห็นได้บ่อยเช่นกัน แถมบางครั้งคำที่ตัดแล้วยังเป็นที่นิยมจนคนลืมคำเต็มไปเลยด้วยซ้ำ เช่น คำว่า mob (อ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/mob-protest-demonstration-rally

หลังจากที่เคยพูดถึงบางคำที่ถูกหั่นแบบนี้มาแล้ว  สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะพาไปดูคำอื่นๆ ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นคำที่ผ่านการตัดคำมาแล้ว

Zoo สวนสัตว์

ทุกวันนี้เราใช้คำว่า zoo เรียกสวนสัตว์กันอย่างชินปาก แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ คำดังกล่าวไม่ได้ถือกำเนิดเป็นคำสั้นๆ แบบนี้แต่แรก แต่ย่อมาจากคำเต็มว่า zoological garden หรือ สวนสัตววิทยา 

ว่ากันว่าคำว่า zoological garden ถูกคิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อใช้เรียกสวนสัตว์ของสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London) ซึ่งเปิดในปี 1828 (ปัจจุบันคือ London Zoo และได้ชื่อว่าเป็นสวนสัตว์เชิงวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก) ปรากฏว่าภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ก็เริ่มมีบันทึกว่าคนเริ่มย่อชื่อที่ใช้เรียกสวนแบบนี้เหลือเพียงแค่ zoo จนกลายมาเป็นที่นิยมและเบียดตกชื่อเต็มตกกระป๋องไป

เนื่องจากในช่วงหลังมีการถกเถียงกันมากขึ้นว่า การนำสัตว์มากักขังและจัดแสดงเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมในเชิงศีลธรรมหรือไม่ สถานที่ที่ประกอบการในลักษณะนี้หลายแห่งจึงสร้างหรือปรับปรุงสภาพที่อยู่ของสัตว์ให้กว้างขวางและใกล้เคียงกับสภาพที่อยู่ตามธรรมชาติของสัตว์มากขึ้น รวมถึงพยายามแสดงให้เห็นว่าจุดประสงค์ของการกักขังสัตว์ไว้เป็นไปเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ จึงทำให้เกิดคำใหม่ๆ ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เช่น bio park (สวนชีววิทยา) conservation park (สวนเพื่อการอนุรักษ์) หรือ wildlife park (สวนสัตว์ป่า) เป็นต้น

Cello เชลโล

คำว่า cello ก็เป็นอีกคำที่อาจดูไม่ออกเลยว่าถูกย่นย่อมาแล้ว แท้จริงแล้ว ชื่อเต็มของเครื่องสายนี้ คือ violoncello มาจากคำว่า violone ที่เป็นเครื่องสายหน้าตาคล้ายไวโอลินแต่ใหญ่กว่า รวมกับ -cello ซึ่งเป็นส่วนเติมท้ายในภาษาอิตาเลียนที่ใช้สื่อถึงความเล็กจุ๋มจิ๋ม (แบบที่เจอในคำว่า vermicelli ความหมายตรงตัวคือ หนอนขนาดเล็ก และใช้เรียกวุ้นเส้น) เมื่อรวมกันแล้วจึงได้ความหมายว่า violone ขนาดเล็ก

ส่วนตัว violone ก็มาจากคำว่า viola แล้วเติมส่วนเติมท้าย -one ที่ใช้บอกความใหญ่ (เทียบได้กับส่วนเติมท้าย -oon ที่พบได้ในคำภาษาอังกฤษอย่าง balloon หรือ cartoon) แปลง่ายๆ ว่าวิโอลาขนาดใหญ่ ที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะนับเป็นเครื่องสายในตระกูลไวโอล (viol) หรือไวโอลิน (violin) ทีมีขนาดใหญ่ที่สุด

ส่วนที่ violoncello ได้ชื่อว่าเป็น วิโอโลเนขนาดเล็กก็เพราะว่ามีหน้าตาเป็นเครื่องสายคล้ายๆ กัน แต่มีขนาดเล็กกว่า คือมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในบรรดาเครื่องสายทั้งหมดในวงซิมโฟนี

ในเวลาต่อมา คนเริ่มเรียกย่อๆ ว่า ‘cello’ (ใส่ apostrophe ด้านหน้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าย่นย่อมาด้วย แต่ต่อมาภายหลัง เครื่องหมาย apostrophe ก็หล่นหายไป เหลือแต่เพียง cello แบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้

Knickers กางเกงใน

คำนี้เป็นคำที่ชาวอังกฤษใช้เรียกกางเกงในผู้หญิง (ฝั่งอเมริกันใช้ panties) แม้คำนี้จะไม่ได้ดูเหมือนคำย่อเลย แต่อันที่จริงแล้วคำเต็มๆ ในอดีตคือ knickerbockers ซึ่งใช้เรียกกางเกงผู้ชายที่มีลักษณะพอง และรัดตรงหัวเข่า คล้ายกับทีขุนนางในยุโรปใส่สมัยก่อน หรือไม่ก็เป็นกางเกงขายาวที่ม้วนปลายขาขึ้นมาถึงใต้หัวเข่า

คำนี้สืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงงานเขียนเชิงเสียดสีชื่อ History of New York ของ Washington Irving ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ในงานเขียนนี้มีตัวละครหนึ่งชื่อ Diedrich Knickerbocker เป็นชาวนิวยอร์กเชื้อสายดัตช์ที่ยังแต่งตัวเหมือนขุนนางยุโรป ใส่หมวกจีบสามด้านและกางเกงรัดเข่าแม้ว่าชาวบ้านชาวช่องจะหันไปใส่กางเกงขายาวกันแล้ว หลังจากที่งานเขียนนี้ตีพิมพ์ออกไป (พร้อมภาพประกอบของตัวละครนี้) นามสกุลของตัวละครนี้ก็เริ่มถูกนำมาใช้เรียกคนนิวยอร์กที่เป็นผู้ดีเก่าเชื้อสายดัตช์ จนในที่สุดคำนี้ก็ถูกนำมาใช้เรียกชาวนิวยอร์กในยุคนั้น แบบที่ยังหลงเหลือให้เห็นในชื่อทีมบาสเก็ตบอล The New York Knickerbockers หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า The New York Knicks

ในเวลาต่อมา คำนี้ยังถูกนำมาใช้เรียกกางเกงลักษณะคล้ายๆ กับที่ตัวละครใส่ด้วย และในภายหลัง คำนี้ก็เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมายังเกาะอังกฤษ และเริ่มนำมาใช้เรียกกางเกงขาสั้นคลุมเข่าที่ผู้หญิงและเด็กใส่เป็นชุดชั้นใน จนท้ายที่สุดก็กลายมาเป็นความหมายที่ใช้เรียกกางเกงในผู้หญิงแบบในปัจจุบันนั่นเอง

ทั้งนี้ นามสกุล Knickerbocker ของตัวละครที่พูดถึงนี้ ผู้แต่ง Washington Irving ไม่ได้คิดขึ้นมาจากอากาศธาตุ แต่ไปหยิบมาจากนามสกุลของเพื่อนที่ชื่อว่า Herman Knickerbocker ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลชาวดัตช์ที่อพยพมายังสหรัฐอเมริกา

Sport กีฬา

ก่อนที่จะมาเป็น sport อย่างที่เห็น แต่เดิมคำนี้เคยเขียนเต็มๆ ว่า disport ภาษาอังกฤษรับคำนี้มาจากคำว่า disport ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมาจากส่วนเติมหน้า dis- ที่แปลว่า แยกออก ออกไป รวมกับกริยา portare ในภาษาละติน ซึ่งหมายถึง ถือ แบก หิ้ว มีความหมายตรงตัวว่า ถือหรือนำออกไป แต่ในที่นี้ใช้ในเชิงเปรียบเปรย คือเป็นการนำความสนใจจากเรื่องเคร่งเครียดไปยังเรื่องอื่น ดังนั้น คำนี้จึงมีความหมายว่า สร้างความบันเทิง หรือ สิ่งที่สร้างความบันเทิง

แต่พอใช้ไปก็เริ่มมีการตัดคำให้สั้นลงเหลือเพียง sport อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ส่วนในเชิงความหมาย คำนี้ก็เริ่มถูกนำไปใช้เรียกงานอดิเรกหรือเกมที่สร้างความบันเทิงจำพวกการตกปลาล่าสัตว์ ก่อนที่จะงอกความหมายใหม่ หมายถึง กีฬาที่มีกฎกติกาชัดเจนและมีการแข่งขันกัน เช่น ฟุตบอล รักบี้ บาสเก็ตบอล ซึ่งความหมายนี้ได้กลายมาเป็นความหลักในปัจจุบันไปแล้ว

Movie/ cinema ภาพยนตร์

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เทคโนโลยีการสร้างภาพยนตร์พัฒนาอย่างรวดเร็วจนเริ่มเกิดเป็นอุตสาหกรรมจริงจัง ในช่วงดังกล่าว มีคำหลายคำที่ถูกหยิบ ยืม และสร้างมาใช้เรียกนวัตกรรมน้องใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็น film, motion picture, moving picture, และ cinematograph ที่น่าสนใจก็คือ ทุกวันนี้เราก็ยังใช้อยู่ทุกคำ เพียงแต่ว่าในจำนวนนี้มีสองย่อที่ถูกย่นย่อให้สั้นลงแล้ว

คำแรกก็คือ คำว่า moving picture ที่ถูกย่อจนเหลือ movie แบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ส่วนอีกคำก็คือคำว่า cinematograph ซึ่งภาษาอังกฤษยืมมาจากคำว่า cinematographe ในภาษาฝรั่งเศส (ประกอบจากคำภาษากรีก kinema หมายถึง การเคลื่อนที่ และกริยา graphein แปลว่า เขียน) แรกเริ่มเดิมทีคำนี้ใช้เรียกอุปกรณ์ฉายภาพยนตร์ แต่ในเวลาต่อมาถูกย่นย่อเหลือเพียง cinema และนำมาใช้เรียกภาพยนตร์แบบรวมๆ และโรงภาพยนตร์อย่างในปัจจุบัน

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

https://oceanservice.noaa.gov/facts/dolphin_porpoise.html

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barber, Katherine. Six Words You Never Knew Had Something to Do with Pigs: And Other Fascinating Facts about the English Language. Penguin Books: New York, 2006.

Barnett, Martha. Dog Days and Dandelions: A Lively Guide to the Animal Meanings Behind Everyday Words. St. Martin’s Press: New York, 2003.

Bauer, Laurie, et al. The Oxford Reference Guide to English Morphology. OUP: Oxford, 2015.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: ,