นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เห็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ แบบที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ อีกทั้งยังจัดขึ้นแบบถี่ยิบจนมีบางช่วงที่เรียกได้ว่ามีม็อบรายวัน บางวันมีมากกว่าหนึ่งแห่งจนคนเลือกไปไม่ถูกเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น เมื่อวานก็เพิ่งมีการชุมนุมใหญ่ที่จัดขึ้นโดยแนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมอีกด้วย ดังนั้น หากจะกล่าวว่า นอกเหนือจากโรคโควิด-19 แล้ว การประท้วงก็เป็นอีกธีมหลักของปี 2020 สำหรับประเทศไทยก็คงจะไม่ผิดนัก

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปตะลุยม็อบเพื่อสืบสาวหาที่มาที่ไปของคำที่เกี่ยวกับการประท้วงในภาษาอังกฤษด้วยกัน และดูว่าการประท้วงเกี่ยวข้องอะไรกับอัณฑะ สัตว์ประหลาด และการแข่งแรลลี่

Mob

คำว่า mob ย่นย่อมาจาก mobile vulgus ที่ยืมมาจากภาษาละตินอีกทอด (ภาษาอังกฤษนำมาอ่านว่า โมบิเล วัลกัส) ประกอบขึ้นจาก mobile หมายถึง เคลื่อนคล้อยหรือเปลี่ยนแปลงได้ และ vulgus หมายถึง ประชาชน (เจอในคำว่า vulgar ที่แปลว่า หยาบคาย: https://themomentum.co/villain-word-origin/) ได้ความหมายรวมๆ ว่า ฝูงชนจิตใจโลเล ความคิดแปรเปลี่ยนอยู่เนืองๆ 

คำว่า mobile vulgus นี้ภาษาอังกฤษเริ่มนำมาใช้เรียก ประชาชนทั่วไปหรือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง ในช่วงศตวรรษที่ 17 ก่อนที่จะค่อยๆ ย่อลงเหลือแค่ mobile และทอนจนเหลือแค่ mob ในที่สุด

แม้ว่าคนไทยจะยืมคำว่า ม็อบ จากภาษาอังกฤษมาใช้เรียกการชุมนุมทั่วๆ ไปแบบไม่ได้มีความหมายเป็นเชิงลบ เวลาเพื่อนชวนไปม็อบก็ไม่ได้รู้สึกว่าไปก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด แต่จริงๆ แล้วในภาษาอังกฤษ คำว่า mob มีความหมายเชิงลบชัดเจน เห็นภาพฝูงชนที่ทำลายความสงบ มีความเป็นนักเลง อาจมีการใช้ความรุนแรง ทำลายข้าวของ หรือบุกเข้าไปในสถานที่ต่างๆ เป็นต้น หรือแม้แต่คำว่า mob rule ก็ยังให้ความหมายว่าเป็นกฎหมู่ ไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง

ทั้งนี้ mob มีญาติอยู่มากมายหลายคำในภาษาอังกฤษเพราะคำว่า mobile ใน mobile vulgus นี้ มาจากกริยา movere ในภาษาละตินที่แปลว่า เคลื่อนที่ และเป็นที่มาของคำจำนวนมากที่มี mob, mov, หรือ mot ที่ภายในคำ เช่น คำว่า mobile ที่หมายถึง เคลื่อนที่ได้ อย่างใน mobile phone (โทรศัพท์เคลื่อนที่) movie (ภาพยนตร์) motion (การเคลื่อนที่) emotion (อารมณ์) promotion (โปรโมชั่น) รวมถึง motility ซึ่งมักใช้พูดถึงการเคลื่อนที่ของอสุจิด้วย

Protest

อีกคำที่ใช้เรียกการประท้วงในภาษาอังกฤษก็คือ protest คำนี้เมื่อเป็นคำนามจะลงเสียงหนักพยางค์แรกเป็น โพรวเท็สต์ แต่หากเป็นกริยาจะมักลงเสียงหนักพยางค์หลังเป็น โพรวเท็สต์ หรือ เพรอะเท็สต์ 

คำนี้มีความหมายกลางๆ หมายถึง การประท้วงคัดค้านเมื่อไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ได้มีภาพใช้ความรุนแรงแบบคำว่า mob เช่น a protest against the new law ก็คือ การประท้วงคัดค้านกฎหมายใหม่

คำนี้มีที่มาจากคำว่ากริยา protestari ในภาษาละติน ประกอบจาก pro- ที่แปลว่า เบื้องหน้า ต่อหน้า และ testari ที่เป็นกริยาหมายถึง ยืนยัน เป็นประจักษ์พยาน ได้หมายความรวมทำนองว่า การให้คำสัตย์ การแถลงอย่างเป็นทางการ

แต่เดิมแล้ว protest หมายถึง การแถลงแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเป็นทางการเมื่อถูกกล่าวโทษ แต่ในภายหลังความหมายก็ค่อยๆ พัฒนามาหมายถึงการแถลงหรืออธิบายต่อธารกำนัล จนในท้ายที่สุดก็กลายมาหมายถึง การประท้วงคัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วย นั่นเอง

ทั้งนี้ testari ที่แปลว่า เป็นประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นที่มาของ protest นั้นมีความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าคำนี้มาจากรากภาษาอินโดยูโรเปียนดั้งเดิมที่แปลว่า สาม ส่วนที่เลขสามมาเกี่ยวกับการเป็นพยานได้ก็เพราะพยานคือบุคคลที่สามที่มาช่วยยืนยันว่าเหตุการณ์จริงเป็นเช่นไรนั่นเอง

คำว่า protest นี้ยังมีญาติโกโหติกาอีกไม่น้อยในภาษาอังกฤษ เพราะคำว่า testari เป็นต้นกำเนิดของคำในภาษาอังกฤษหลายๆ คำที่เกี่ยวกับการประกาศกร้าวหรือยืนยัน เช่น testify (ยืนยัน ให้การ) testament (พันธะสัญญา) testimony (หลักฐานยืนยัน) attest (เป็นประจักษ์พยานถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) contest (ชิงชัย โต้เถียง) detest (เกลียดชัง แต่เดิมแปลว่า สาปแช่ง) 

แต่ญาติของ protest ที่เกินความคาดหมายที่สุดน่าจะเป็นคำว่า testis และ testicle ที่แปลว่า ลูกอัณฑะ (ซึ่งดูยังไงก็ไม่น่าเกี่ยวกับการเป็นพยานยืนยันอะไรได้) ว่ากันว่าที่การเป็นพยานกับลูกอัณฑะมาเกี่ยวข้องกันได้ก็เพราะคนสมัยก่อนมองว่าอัณฑะเป็นเครื่องยืนยันความเป็นชายนั่นเอง

Demonstration

คำนี้เป็นอีกคำที่เกี่ยวข้องกับการประท้วง แต่จะต่างจาก protest อยู่สักหน่อยตรงที่อาจมีการเดินขบวนด้วย นอกจากนั้น การชุมนุมรวมตัวแบบ demonstration อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อคัดค้านสิ่งๆ หนึ่งแบบ protest แต่เป็นเพื่อสนับสนุนสิ่งๆ หนึ่งก็ได้เช่นกัน เช่น a demonstration in support of the detained activists ก็คือ การเดินขบวนสนับสนุนให้กำลังใจนักเคลื่อนไหวที่ถูกควบคุมตัว

คำว่า demonstration นี้มาสืบสาวกลับไปได้ถึงกริยา demonstrare ในภาษาละติน แปลว่า แสดงให้ประจักษ์ มาจาก de- ที่แปลว่า โดยถ้วนทั่ว รวมกับ monstrare หมายถึง แสดงหรือชี้ให้เห็น

ทั้งนี้ หากเห็นคำว่า monstrare แล้วคิดถึงคำว่า monster ก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะคำว่าทั้งสองคำก็โยงกันจริงๆ นั่นก็คือ ทั้งสองคำมาจากคำว่า monstrum ในภาษาละตินที่แปลว่า ลางบอกเหตุ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่คนสมัยโบราณเชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุอาเพศก็คือ สัตว์ประหลาดหรือสิ่งมีชีวิตที่รูปร่างผิดแผกไปจากปกติ ด้วยเหตุนี้ monster จึงกลายมาหมายถึง สัตว์ประหลาด และเป็นญาติกับ demonstration ที่แปลว่า การประท้วง นั่นเอง

แต่หากสืบสาวต่อไปอีกจะพบว่า monstrum ที่ว่านี้มาจากกริยา monere ในภาษาละตินที่แปลว่า ตักเตือน หรือ เตือนใจ ซึ่งเป็นที่มาของคำอีกหลายๆ คำในภาษาอังกฤษ เช่น admonish (ตักเตือน ลงโทษ) monitor (ตรวจตรา) premonition (ลางบอกเหตุล่วงหน้า) รวมไปถึง monument ที่หมายถึง อนุสาวรีย์ อันเป็นสิ่งที่เตือนใจให้เราระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญด้วย

Rally

แม้ว่าคนไทยจะชินกับคำนี้ในบริบทการแข่งรถ แต่จริงๆ แล้วคำนี้ใช้หมายถึงการระดมพลชุมนุมกันได้ด้วย โดยอาจเป็นการรวมตัวเพื่อประท้วง เช่น a protest rally หรือรวมตัวเพื่อการอื่นก็ได้ เช่น a campaign rally ก็คือ การปราศรัยหาเสียงต่อหน้าธารกำนัลก่อนการเลือกตั้ง

คำว่า rally นี้ ภาษาอังกฤษยืมมาจาก rallier ในภาษาฝรั่งเศสอีกทอด สร้างขึ้นจากส่วนเติมหน้า re- ที่แปลว่า อีกครั้ง และ allier ที่แปลว่า พันธมิตร (เป็นที่มาของคำว่า ally ที่แปลว่า พันธมิตร) ได้ความหมายว่า กลับมารวมตัวอีกครั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความหมายก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปหมายถึง การรวมตัวกันของมวลชนเพื่อร่วมกันสนับสนุนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยที่อาจไม่เคยรวมตัวกันมาก่อนก็ได้ (ซึ่งเป็นความหมายของ rally แบบที่เราใช้หมายถึงการชุมนุมกันในปัจจุบัน)

ส่วนที่ rally กลายมาเป็นการแข่งรถได้ก็เพราะในภายหลัง คำนี้ถูกนำมาใช้เรียกการรวมตัวของผู้รักรถและนิยมนำรถมาแข่งกัน การแข่งรถในทำนองนี้จึงได้ชื่อได้ว่าการแข่งแรลลี่นั่นเอง

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986. 

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cherry, R. L. Instructor Manual for English Words from Latin and Greek Elements. The University of Arizona Press: Tuscon, 2003.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary Englis

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.