คำในภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ได้มีความหมายเดียว แม้แต่อย่างคำง่ายๆ อย่าง round คำเดียว ก็มีความหมายได้มากมาย เช่น รอบ (the final round) แผ่นกลม (cut carrots into rounds) นัด (three rounds of ammunition) เป็นต้น

เนื่องจากเมื่อวานเป็นวันเด็ก หรือ Children’s Day ของไทย ก็เลยทำให้นึกได้ว่า แม้แต่คำว่า child ที่ปกติหมายถึง เด็ก ความจริงแล้วก็อาจจะไม่ใช่เด็กเสมอไป

หลังจากที่เคยเขียนเรื่องรูปพหูพจน์ของคำว่า child ว่าทำไมเป็น children (https://themomentum.co/word-odyssey-child-and-children/) และพาไปดูสำนวนสุภาษิตเกี่ยวกับเด็กในภาษาอังกฤษ (https://themomentum.co/children-idioms/) แล้ว สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอโหนกระแสควันหลงวันเด็กด้วยการพาไปดูคำในภาษาอังกฤษที่มีคำว่า child อยู่ด้านใน แต่ไม่ได้หมายถึง เด็ก กัน

 

 

[1]

Brainchild

แม้คำนี้จะมี child อยู่ข้างใน แต่กลับไม่ได้หมายถึงเด็กแต่อย่างใด แถมไม่ได้ใช้เรียกคนด้วยซ้ำ เพราะคำนี้หมายถึง ผลผลิตที่มาจากมันสมอง แนวคิด แผนการ หรือผลงานที่ใครคนใดคนหนึ่งเค้นพลังสมองคิดค้นสร้างสรรค์ขึ้น ตัวอย่างเช่น อดีตผู้ว่ากทม. หวงแหนโครงการปรับปรุงคลองโอ่งอ่างที่ตนภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง กลัวคนมาเคลมเครดิต เพราะตนเองเป็นคนปลุกปั้นมากับมือ แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า Because the Ong Ang Canal Renovation Project was his brainchild, he made sure nobody could take undue credit for it.

ส่วนที่คำว่า child มาปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของคำนี้ ก็เพราะเป็นการเปรียบเปรยแผนการหรือแนวคิดที่สมองให้กำเนิดขึ้นมากับเด็กที่เป็นผลผลิตมาจากพ่อแม่นั่นเอง

 

[2]

Poster child

แม้ว่าคำนี้จะใช้หมายถึงเด็กที่ปรากฏในโปสเตอร์เรี่ยไรเงินบริจาคช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคต่างๆ ได้ก็จริง แต่ในชีวิตประจำวัน เรามักเจอคำนี้ในความหมายว่า ตัวแทน คนหรือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดหรือลักษณะอะไรสักอย่าง ทำนองว่าถ้าคิดเรื่องนี้ ต้องเป็นคนนี้เท่านั้น (ซึ่งทั้งไม่เกี่ยวกับแผ่นโปสเตอร์จริงๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กด้วย)

ตัวอย่างเช่น หากเรามีเพื่อนคนหนึ่งที่ยืนหนึ่งเรื่องการหักโหมทำงานหนัก ทำงานแทบทุกชั่วขณะจิตที่ลืมตาตื่น ยืนโหนรถไฟฟ้ายังทำงาน แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า She’s the poster child of working yourself to the ground. ทำนองว่าถ้าจะต้องโปสเตอร์เรื่องคนบ้างาน ก็ต้องเอาภาพยัยคนนี้มาใส่ในโปสเตอร์

สำนวนนี้จริงๆ แล้วใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่คนก็ได้เช่นกัน ตราบใดที่สิ่งนั้นโดดเด่นจนถึงขั้นเป็นตัวแทนของสิ่งที่อยู่ในหมวดเดียวกัน ตัวอย่างเช่น Pad Thai is the poster child of Thai cuisine. ก็คือ คนคิดถึงอาหารไทยก็จะคิดถึงผัดไทย นั่นเอง

 

[3]

Boomerang child

แม้จะมีคำว่า child อยู่ข้างใน แต่คำนี้จริงๆ แล้วใช้เรียกผู้ใหญ่ (หรือคนที่ในวัฒนธรรมตะวันตกมองว่าถึงวัยที่ควรออกไปหาที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งของตนเองแล้ว) หมายถึง คนที่ต้องระเห็จกลับมาอยู่บ้านพ่อบ้านแม่ ทำนองว่าอาจจะเคยออกไปอยู่เองแล้ว แต่ไม่รอดหรือสถานการณ์ในชีวิตเปลี่ยนกะทันหัน จึงต้องขอกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่

สำนวนนี้เปรียบเทียบลูกที่ออกจากบ้านไปแล้วเหมือนบูมเมอแรงที่พ่อแม่เขวี้ยงออกไป แต่ด้วยธรรมชาติของบูมเมอแรงที่บินย้อนกลับมาหาคนปาเสมอ ลูกที่เป็น boomerang child จึงเดินทางย้อนกลับมาหาพ่อแม่

ทั้งนี้ เนื่องจากชาวตะวันตกมองว่าคนที่โตเป็นผู้ใหญ่ไม่ควรอาศัยอยู่ในบ้านพ่อแม่แล้ว ควรออกไปหาที่อยู่เอง คำว่า boomerang child จึงถือเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ ทำนองว่าล้มเหลวในฐานะผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับความเชื่อเช่นนี้ เพราะเด็กสมัยใหม่ลืมตาอ้าปากได้ยากขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็สูงขึ้น นอกจากนั้น บางคนก็มองว่าการอยู่บ้านพ่อแม่ในช่วงเรียนจบใหม่ๆ จะช่วยทำให้เก็บเงินก่อร่างสร้างตัวได้ง่ายขึ้นด้วย

ส่วนที่ child ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า เด็ก ก็เพราะ child ใช้หมายถึง ลูก ได้เหมือนกัน ไม่ว่าลูกคนนั้นจะอายุเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นลูกคนเดียวหรือ only child ไม่ว่าเราจะอายุ 5 ขวบหรือ 55 ขวบ เราก็จะยังคงเป็น only child นั่นเอง

 

[4]

Man child

คำนี้เป็นอีกคำที่ใช้เรียกผู้ใหญ่แม้คำนามหลักคือ child ใช้หมายถึง ผู้ชายที่ยังมีนิสัยหรือพฤติกรรมเหมือนเด็ก ไม่รู้จักโต เป็นเด็กในร่างผู้ใหญ่ พูดอย่างหยาบคือโตเป็นควายแล้วยังทำเป็นเด็กหรือวัยรุ่น ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนเรามาบ่นว่าแฟนซกมกไม่เก็บกวาดห้อง กางเกงในถอดทิ้งเป็นเลขแปดเรี่ยราดไปทั่ว กินข้าวหกเลอะเทอะเหมือนเด็ก เวลาว่างก็เอาแต่เล่นเกมกับเพื่อนอย่างเดียว แถมเวลาทะเลาะกัน แทนที่จะใช้เหตุผล กลับโวยวายใช้แต่อารมณ์แบบคนไม่มีวุฒิภาวะ เป้าหมายในอนาคตก็ไม่มี แบบนี้เราก็อาจพูดกับเพื่อนว่า You need to break up with that man child. ก็คือ แกเลิกคบกับไอ้เด็กอมมือในร่างผู้ใหญ่เถอะ

คำนี้แต่เดิมเคยใช้หมายถึง ลูกชาย หรือ เด็กวัยรุ่นเพศชาย ได้ด้วย แต่ในปัจจุบันเจอแต่ในความหมายที่หมายถึง ผู้ชายที่ไม่รู้จักโต เสียเป็นส่วนใหญ่

ที่น่าสนใจก็คือ คำนี้มีรูปพหูพจน์ว่า men children ซึ่งเป็นรูปพหูพจน์ทั้งคู่ ต่างจากรูปพหูพจน์ของคำประสมอื่นๆ ที่มักเปลี่ยนให้เป็นรูปพหูพจน์แค่คำเดียว อย่าง pencil box – pencil boxes หรือ cameraman – cameramen

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หากเรียกผู้ชายที่ไม่รู้จักโตว่า man child แล้ว เราจะเรียกผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายๆ กันว่า woman child ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้ เพียงแต่ไม่ใช่คำที่เป็นนิยมแพร่หลายเท่าไร ส่วนใหญ่แล้ว หากคนที่มีพฤติกรรมขาดวุฒิภาวะที่เราพูดถึงเป็นผู้หญิง คำที่มักจะใช้กันก็ได้แก่ brat หรือ princess

 

[5]

Golden child

คำนี้ไม่ได้หมายถึงเด็กที่มีผิวเป็นสีทองแต่อย่างใด แต่เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่เป็นคนโปรดของทุกคน ใครๆ ก็รักก็หลง ทำอะไรก็ดีไปหมด โดยที่คนคนนี้ไม่ต้องเป็นเด็กด้วย

ถ้าใช้คำนี้ในบริบทครอบครัวก็จะหมายถึง ลูกรัก ลูกคนโปรด ลูกหัวแก้วหัวแหวน เช่น My little brother was the golden child of the family, and for my parents, he could just do no wrong. ก็คือ น้องชายเป็นลูกคนโปรด ทำอะไรพ่อแม่ก็ว่าไม่ผิดทั้งนั้น

แต่คำนี้ใช้ยังไปใช้ในบริบทอื่นได้ด้วย เช่น พนักงานที่เป็นลูกน้องคนโปรดของเจ้านาย ทำอะไรเจ้านายก็เห็นดีเห็นงาม ชมเปาะไปเสียทุกอย่าง แบบนี้เราก็สามารถใช้คำว่า the golden child ได้ หรือแม้แต่ในวงการบันเทิง คำนี้ก็อาจนำไปใช้เรียกดาราที่กำลังมาแรง เนื้อหอม มีแต่คนเอาบทมาประเคนหรือเอางานมาให้ มีแต่คนนิยมชมชอบ ทำอะไรผิดก็มีคนออกโรงปกป้องไปหมด เป็นต้น

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

 

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

 

American Heritage Dictionary of the English Language

 

Longman Dictionary of Contemporary English

 

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

 

Merriam-Webster Dictionary

 

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

 

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

 

Shorter Oxford English Dictionary

 

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

Tags: , , ,