ถ้าจะมีขนมอะไรสักอย่างที่มีอิมแพ็คด้านวัฒนธรรมรุนแรงเกินต้านทานในขณะนี้ เห็นทีจะต้องยกให้กับคุกกี้เสี่ยงทายหรือ fortune cookie ที่โด่งดังขึ้นมาจากเพลงคุกกี้เสี่ยงทายของวง BNK48
ไหนๆ จะดังเสียจนขนาดเลื่อนหน้าฟีดในเฟซบุ๊กจนนิ้วล็อคก็ยังหนีไม่พ้น สัปดาห์นี้เราไปดูกันว่า คุกกี้เสี่ยงทายมาจากไหน เกี่ยวอะไรกับบิสกิต ทำไมคนถึงพูดว่าคุกกี้ฉลาด และเกี่ยวอะไรกับบราวเซอร์ของเรา
คุกกี้มาจากไหน
คำว่า cookie (คุกกี้) ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า koekje ในภาษาดัชต์ แปลว่า เค้กขนาดเล็ก คำนี้ประกอบขึ้นจากคำว่า koek ในภาษาดัชต์ที่แปลว่า เค้ก บวกกับส่วนเติมท้ายที่ใช้ทำให้สิ่งต่างๆ เล็กลง (คล้ายๆ -ette ที่เติมท้าย cigar แล้วกลายเป็น cigarette ที่หมายถึงซิการ์มวนเล็กหรือบุหรี่ หรือ -ling ที่เติมท้าย duck แล้วได้เป็น duckling ที่แปลว่าลูกเป็ด) ได้เป็นความหมายว่าเค้กก้อนเล็กๆ นั่นเอง
บิสกิตเสี่ยงทาย?
อันที่จริงแล้ว ที่คนไทยเรียกขนมอบกรอบแบบนี้ว่าคุกกี้เป็นเพราะเราเรียกตามชาวอเมริกัน หากข้ามไปเกาะอังกฤษก็จะพบว่าชาวอังกฤษได้ไม่เรียกว่า cookie เหมือนเราหรือชาวอเมริกัน แต่จะเรียกว่า biscuit (บิสกิต) แทน (ในขณะที่คำว่า biscuit สำหรับชาวอเมริกัน หมายถึง ขนมปังก้อนหน้าตาคล้าย scone (สกอน) ทางตอนใต้มักกินแบบราดเกรวี่เป็นอาหารเช้า)
คำว่า biscuit มาจาก bis- ที่แปลว่า สองครั้ง รวมกับคำว่า coctum ที่แปลว่า ทำสุก (มาจากคำว่า coquere ในภาษาละตินที่แปลว่า ปรุงสุก หรือ สุก) แปลได้ความหมายว่า อบสองครั้ง ที่ได้ชื่อแบบนี้มาก็เพราะเวลาคนสมัยก่อนจะเดินทางไกลๆ ทีหนึ่ง จะต้องเตรียมเสบียงที่เก็บได้นาน ดังนั้น แทนที่จะอบขนมแบบนี้รอบเดียว ก็จะโยนกลับเข้าไปในเตาอบอีกรอบเพื่อให้แห้งสนิท จะได้ไม่เสียกลางทาง
ที่น่าสนใจคือ biscuit มีญาติฝาแฝดเป็นขนมอีกสองชนิดด้วย ชนิดแรกคือ biscotti (บิสคอตติ) ของอิตาลี เป็นคุกกี้ที่ทำด้วยแป้งอัลมอนด์ อบเป็นชิ้นยาวแล้วค่อยหั่นเป็นท่อนแล้วอบอีกรอบ มาจาก bis- +coctum เหมือนกับ biscuit ญาติอีกชนิดคือ zwieback (ซวีบาค) จากเยอรมนี เป็นขนมปังกรอบรสหวานที่อบสองรอบเช่นกัน มาจาก zwei ที่แปลว่า สองครั้ง รวมกับ backen ที่แปลว่า อบ ในทำนองเดียวกับ biscuit และ biscotti นั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า fortune cookie (ฟอร์จูนคุกกี้) ที่หมายถึง คุกกี้เสี่ยงทาย ชาวอังกฤษก็เรียกแบบชาวอเมริกัน ไม่ได้เรียกว่า fortune biscuit แต่อย่างใด
แต่ก่อนที่จะไปถึงคุกกี้เสี่ยงทาย ขอแวะกลางทางที่สำนวนเกี่ยวกับคุกกี้กันสักนิด
คุกกี้ฉลาด?
ภาษาอังกฤษ มีสำนวนที่มีคำว่า cookie อยู่ด้วยไม่น้อยเลยทีเดียว สำนวนแรกที่อาจได้ยินกันบ่อยๆ คือ smart cookie ไม่ได้แปลว่า คุกกี้ฉลาดล้ำไอคิวสูงแต่อย่างใด แต่เป็นสำนวนไม่เป็นทางการที่ใช้เรียกคนฉลาด เช่น ถ้าจะชมใครว่าฉลาด เราก็อาจพูดว่า You’re such a smart cookie. ในทำนองเดียวกัน ถ้าพูดว่า Jim is not exactly the smartest cookie in the jar. ก็จะหมายความว่า จิมไม่ค่อยจะฉลาดเท่าไร
อีกสำนวนคือ That’s the way the cookie crumbles. แปลตรงตัวหมายถึง คุกกี้ก็แตกร่วนแบบนี้แหละ แต่ความหมายจริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับขนม แต่ใช้เพื่อแสดงความปลดปลง ทำนองให้ยอมรับความเป็นไปของสรรพสิ่ง ชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละ คล้ายๆ ที่ชอบพูดกันว่า c’est la vie เช่น ถ้าเราคุยๆ กับใครอยู่แล้วเขาก็หายไป ก็อาจพูดว่า I think I’m getting ghosted again. I guess that’s the way the cookie crumbles. ก็จะหมายถึง โดนเทอีกแล้วแน่เลย ชีวิตก็แบบนี้เนอะ
สำนวนที่น่าสนใจอันสุดท้ายคือ caught with your hand in the cookie jar ความหมายตรงตัวหมายถึง โดนจับได้คาหนังคาเขาระหว่างที่มือยังอยู่ในโหลคุกกี้ แต่เวลาใช้จริงๆ แล้ว ไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นต้องกำลังขโมยคุกกี้ แต่อาจจะกำลังรับส่วยหรือขโมยของในออฟฟิศก็ได้ เช่น It took so long, but our boss was finally caught with his hand in the cookie jar and fired. ก็จะหมายถึง หลังจากรอมานาน ในที่สุดเจ้านายเราก็ถูกจับได้คาหนังคาเขาว่าโกงและโดนไล่ออก
คุกกี้เสี่ยงทายในเว็บเบราเซอร์
คุกกี้เสี่ยงทาย หรือ fortune cookie นี้ มาจากคำว่า cookie รวมกับคำว่า fortune ที่แปลว่า โชคชะตา มาจากชื่อเทพี Fortuna ของชาวโรมัน (เทียบเท่าได้กับเทพี Tyche ของกรีก) เป็นเทพีแห่งโชคชะตา มักปรากฏกับกงล้อในภาพต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต
คุกกี้เสี่ยงทายแบบในเพลงของ BNK48 นี้ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นที่อพยพไปสหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นผู้คิดค้นขึ้นและเริ่มแพร่หลายช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จนกลายมาเป็นที่นิยมตามร้านอาหารจีนในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
ที่น่าสนใจคือ cookie ที่หลายคนอาจเคยได้ยินหรือเห็นเวลาใช้อินเทอร์เน็ต อันที่จริงแล้วมาจากคุกกี้เสี่ยงทายนี่แหละ cookie ที่ว่านี้คือชุดข้อมูลที่บราวเซอร์สร้างขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลการใช้เว็บไซต์ของเรา เมื่อเราเข้าเว็บไซต์นี้อีก ข้อมูลนี้ก็ถูกส่งกลับไปที่เซิฟเวอร์ของเว็บ
เนื่องจากข้อมูลแบบนี้มีข้อความซ่อนอยู่ภายใน นักเขียนโปรแกรมชื่อ ลู มอนทูลี (Lou Montulli) จึงนึกถึงคุกกี้เสี่ยงทายที่มีข้อความอยู่ด้านใน และเรียกชุดข้อมูลแบบนี้ว่า magic cookie ภายหลังเรียกย่นย่อเหลือเพียง cookie อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่เอง
บรรณานุกรม
- http://www.etymonline.com/
- American Heritage Dictionary of the English Language
- Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
- Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
- Longman Dictionary of Contemporary English
- Oxford Advanced Learners’ Dictionary
- The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.