เนื่องจากปี 2018 นี้เป็นปีจอ หรือปีหมา นับว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะพูดถึงเพื่อนแท้ของมนุษย์สายพันธุ์นี้ ว่ากันว่าหมาเป็นสัตว์ชนิดแรกที่มนุษย์นำมาเลี้ยงให้เชื่องได้สำเร็จและพัฒนามาพร้อมสายพันธุ์มนุษย์นับหมื่นปี ด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานกับมวลมนุษยชาติ จึงไม่แปลกที่จะมีสำนวนเกี่ยวกับหมาในภาษาจำนวนมากทั่วโลก (เช่น หมาหวงก้าง หรือ ตัดหางปล่อยวัด ในภาษาไทย)

ดังนั้น วันนี้เราไปดูว่ามีสำนวนภาษาอังกฤษอะไรบ้างที่แม้ไม่มีคำว่า dog เลย แต่อันที่จริงแล้วมีที่มาจากเจ้าตูบสี่ขา และทำให้เรา “พูดหมาๆ” โดยไม่รู้ตัว

Bark up the wrong treeเห่าผิดต้นแล้วจ้ะ

สำนวนนี้เห็นแค่คำว่า bark ก็คงเดาออกแล้วว่าต้องเกี่ยวกับหมาแน่นอน สำนวนนี้มีที่มาจากการล่าแรคคูนเพื่อเอาหนังในสมัยก่อน แต่ก่อนนักล่าสัตว์จะฝึกหมาไว้ใช้จับแรคคูน แต่ด้วยความที่แรคคูนมักชอบปีนหนีขึ้นต้นไม้เวลาถูกไล่กวด นักล่าก็มักจะฝึกให้หมาเห่าและไปยืนเฝ้าใต้ต้นที่แรคคูนปีนหนีขึ้นไป แต่บางครั้งน้องหมาก็อาจจะสับสนเล็กน้อยและไปเฝ้าผิดต้น ทำให้นักล่าชวดแรคคูนได้

ดังนั้น สำนวนนี้จึงหมายถึงการลงแรงผิดจุด มุ่งความสนใจผิดที่ผิดทาง หรือ ไปขอความช่วยเหลือจากคนผิดคน เช่น Dude, you’re barking up the wrong tree. She’s not into guys. ก็จะหมายความว่า เพื่อนเอ๋ย เสียแรงเปล่าแล้ว เขาไม่ได้ชอบผู้ชายเว้ย

Nipping at the heelsงับส้นเท้า

สำนวนนี้มาจากคำว่า nip ที่แปลว่า งับหรือหนีบ มีที่มาจากพฤติกรรมของลูกหมาบางตัวที่ชอบงับบริเวณส้นเท้าคน เห็นใครวิ่งหรือเดินเร็วหน่อยไม่ได้ จะต้องวิ่งไล่งับข้อเท้าบ้าง งับกางเกงบ้าง

Nipping at the heels นี้จะใช้ตามความหมายตรงตัวเพื่อบรรยายลูกหมาที่ชอบงับขาก็ได้ แต่ถ้าใช้เป็นสำนวนจะหมายถึง ไล่มาติดๆ กำลังตีตื้น มักใช้กับการแข่งขันต่างๆ เช่น He once had a huge lead in the competition, but now the other contestants are nipping at his heels. ก็จะหมายถึง เขาเคยนำโด่งอยู่ แต่ตอนนี้ผู้แข่งขันรายอื่นตามจี้มาติดๆ เลย

Throw someone a bone เอ้า นี่กระดูก

หลายคนที่เคยเห็นหมาแทะกระดูกก็คงจะสังเกตว่าเจ้าหมามีความสุขขนาดไหน สีหน้าดูอิ่มเอมกับกระดูกที่ได้รับราวกับจะไปถึงนิพพาน หลายตัวถึงกับหยุดสิ่งที่ทำอยู่เพื่อรีบมาคาบกระดูกไปแทะราวกับเป็นของล้ำค่า ทั้งที่จริงๆ แล้ว กระดูกที่เราโยนให้นั้นเป็นเพียงเศษเหลือที่เรากินไม่ได้และไร้ค่าสำหรับเรา

ดังนั้น สำนวน throw someone a bone (หรือจะพูดว่า toss someone a bone ก็ได้) จึงหมายถึง การทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อช่วยเหลือหรือให้อีกฝ่ายเลิกมากวนใจ แฝงความดูถูกไว้เล็กน้อยว่าสิ่งที่ทำให้ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ เช่น Knowing how smitten Ken was with her, Jennie threw him a bone and went on a date with him. ก็จะหมายถึง เจนนี่เห็นเคนหลงรักตัวเองหัวปักหัวปำก็เลยสงสารยอมไปออกเดทด้วย หรือถ้าเจ้านายบอกว่าปีนี้ไม่มีโบนัส แต่จะพาไปเลี้ยงข้าวแทน ก็อาจจะบอกว่า Our boss is just throwing us a bone. ก็ได้

Rub someones nose in itดมไว้จะได้จำ

ปัญหาอย่างหนึ่งที่คนที่เพิ่งนำหมามาเลี้ยงที่บ้านหลายคนประสบพบเจอก็คือ น้องหมาทำธุระไม่เป็นที่เป็นทาง วางกับระเบิดชีวภาพเรี่ยราด เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ หลายคนที่ขันติธรรมสูงหน่อยก็อาจค่อยๆ ฝึกน้องหมาให้รู้ต้องไปทำธุระตรงไหน แต่บางคนก็อาจเชื่อว่าต้องลงโทษให้หลาบจำ จับน้องหมาไปที่จุดเกิดเหตุแล้วกดหัวให้ดมงานประติมากรรมของตัวเอง จะได้จำได้ว่าทำอะไรไว้และไม่ทำอีก

สำนวน rub someone’s nose in it จึงหมายถึง การตอกย้ำซ้ำเติม พูดถึงเรื่องแทงใจให้ชอกช้ำ เช่น Justin just lost his job. Don’t rub his nose in it by telling him how much you earn each month. ก็จะหมายถึง จัสตินเพิ่งตกงาน อย่าไปบอกเรื่องเงินเดือนจี้ใจดำมันเลย

Bite the hand that feeds you กัดมือคนเลี้ยง

โดยปกติแล้ว หมามักจะจงรักภักดีและออดอ้อนกับคนที่ให้น้ำให้อาหารเป็นพิเศษ แต่ในขณะเดียวกัน ท้ายที่สุดแล้วหมาก็ยังเป็นสัตว์ที่มีสัญชาติญาณดิบเถื่อนอยู่ ในบางกรณีก็อาจกัดคนที่เป็นคนเลี้ยงเอาได้เหมือนกัน

สำนวนนี้แปลตรงตัวหมายถึง กัดมือคนที่ให้อาหารหรือคนที่เลี้ยงดูมา ใช้ในความหมายว่า เนรคุณ อกตัญญู ทำร้ายคนที่มีบุญคุณกับตนเองมา เช่น The star said some really nasty stuff about his former manager but said that he had no intention of biting the hand that feeds him. ก็จะหมายถึง แม้ปากว่าร้ายอดีตผู้จัดการส่วนตัว แต่ดาราก็ยืนยันว่าไม่ได้จะเนรคุณ

ต่อไปนี้ เวลาได้ยินใครใช้สำนวนเหล่านี้หรือเวลาที่เรานำไปใช้เอง ก็จะเห็นแล้วว่ามีน้องหมาซ่อนอยู่ข้างในด้วย

 

บรรณานุกรม

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , , , , ,