หลังกำหนดการฉายภาพยนตร์ภาคต่อซูเปอร์ฮีโร่หญิงหนึ่งเดียวจากค่าย DCEU (DC Extended Universe) อย่าง Wonder Woman 1984 ถูกเลื่อนกว่า 7 ครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เวลานี้เรื่องราวของสาวมหัศจรรย์ได้ออกฉายส่งท้ายปี 2020 เป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางการตอบรับเชิงบวกของเหล่านักวิจารณ์ทั่วโลกที่ทำให้ ไดอาน่า ปรินซ์ หรือ วันเดอร์วูแมน สามารถต้านทานการถูกมอบมะเขือเน่าโดยเว็บไซต์รีวิวหนังชื่อดัง Rotten Tomatoes ไปได้อีกครั้ง ด้วยการโกยมะเขือเทศสดไปกว่า 88% (ผลคะแนนของวันที่ 18 ธันวาคม 2020) ก่อนเปอร์เซ็นต์ความสดของมะเขือเทศจะร่วงลงเรื่อยๆ จนเหลือ 61% (วันที่ 2 มกราคม 2021) 

ย้อนกลับไปยัง Wonder Woman (2017) หนังภาคแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับผู้กำกับสาว แพตตี้ เจนกินส์ จนก้าวเป็นผู้กำกับมากฝีมือน่าจับตามองได้ทันที จากความสำเร็จด้านการเล่าเรื่องของไดอาน่าตั้งแต่ออกจากเกาะเทอมีสกีร่าบ้านเกิด ก้าวสู่โลกกว้างอันเต็มไปด้วยความหลากหลายในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เด็กสาวค่อยๆ เติบโตขึ้นในโลกใบเดิมที่มอบประสบการณ์ใหม่ พร้อมทำความเข้าใจว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตแสนซับซ้อน ซึ่งแพตตี้นำเสนอเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่หญิงผู้ยึดมั่นกับความรักและความเมตตา ผสมกลมกลืนกับการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านการแสดงของ กัล กาดอท ผู้รับบทเป็น ไดอาน่า ปรินซ์ ได้อย่างน่าประทับใจ

ตอนนี้ DCEU แพตตี้ รวมถึงกัล พาตัวละครวันเดอร์วูแมนกลับมาให้ผู้ชมหายคิดถึงอีกครั้งกับ Wonder Woman 1984 ท่ามกลางบรรยากาศสุดวินเทจจากยุค 80s ทั้งตึกรามบ้านช่อง ยานพาหนะ และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วัฒนธรรมกับค่านิยมเฉพาะตัวในช่วงเวลาดังกล่าวถูกแพตตี้นำมาใส่เป็นฉากหลังที่จัดจ้านมีสีสัน ต่อยอดเรื่องราวของหญิงสาวมหัศจรรย์ผู้เคยต่อสู้ในสงครามใหญ่กว่าหกสิบปีที่แล้ว และตัดสินใจหลีกเลี่ยงสังคมอันวุ่นวาย คอยรักษาความสงบสุขของโลกแบบเงียบๆ ด้วยการเผยตัวตนให้น้อยสุดเท่าที่จะทำได้

โลกที่ดูเหมือนสงบสุขในยุค 80s กลับต้องพบกับมหันตภัยใหญ่อีกครั้ง ด้วยฝีมือของวายร้ายที่นักอ่านคอมมิกต้องเคยเห็นหน้าค่าตามาก่อนทั้ง แม็กซ์เวลล์ ลอร์ด นักธุรกิจค้าน้ำมันชื่อดัง (รับบทโดย เปโดร ปาสคาล) และ ‘ชีต้าห์’ หรือ มิเนอร์ว่า บาร์บาร่า นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและธรณีวิทยา (รับบทโดย คริสเตน วิก) ไม้เบื่อไม้เมาของวันเดอร์วูแมน

ถึงคนส่วนใหญ่จะเทความสนใจไปยังตัวละครหลักชุดเดิมอย่าง กัล กาดอท และ คริส ไพน์ ทว่าหนึ่งในจุดเด่นของ Wonder Woman 1984 คงต้องมอบความดีความชอบให้กับ เปโดร ปาสคาล ที่เล่นใหญ่ตีบทแตกแบบสุดฝีมือ เขาคือชายที่เป็นตัวแทนของความทะเยอทะยานและการโป้ปดในโลกทุนนิยม แพตตี้เคยพูดทีเล่นทีจริงว่าเธอได้หยิบเอาบุคลิกของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัดล์ ทรัมป์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างตัวละครแม็กซ์ลอร์ด รวมถึงการสวมบทสาวเนิร์ดคงแก่เรียนของคริสเตน วิก เพื่อตีประเด็นคนที่ถูกลืม เธอเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสังคมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น การหยิบยื่นน้ำใจให้ใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือ การเมินเฉยต่อคนอื่น ไปจนถึงเรื่องที่ควรถูกใส่ใจในทุกยุคทุกสมัยอย่างการคุกคามทางเพศ หลายครั้งเรื่องเศร้าเกิดขึ้นได้ง่ายดายหากคุณถูกตัดสินว่าไม่น่าจดจำ หรือมีลักษณะไม่ถูกต้องตามหลักความงามพิมพ์นิยม ซึ่งนักแสดงทั้งสองสามารถถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครได้อย่างยอดเยี่ยมและน่าจดจำ แม้บทของบาร์บาร่าจะยังไม่ถูกเล่าเท่าที่ควรก็ตาม

ด้านเนื้อเรื่องของ Wonder Woman 1984 มีทั้งช่องโหว่ขนาดใหญ่และจุดที่ควรถูกชื่นชม เหล่านักวิจารณ์หนังต่างพากันลงคะแนนเสียงชมเชยฉากเปิดสุดอลังการของเรื่อง สีสันจัดจ้านชัดเจน การตัดต่อน่าตื่นตาตื่นใจ บรรยากาศสวยงามเคล้าดนตรีประกอบเอกลักษณ์โดยได้ ฮานส์ ซิมเมอร์ ผู้ประพันธ์เพลงธีมหลักตั้งแต่วันเดอร์วูแมนปรากฏตัวครั้งแรกบนจอเงินกลับมาทำงานด้วยอีกครั้ง ส่งให้ฉากเปิดเรื่องถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ส่วนสิ่งที่ถูกนับว่าเป็นจุดตำหนิคือบางช่วงบางตอนที่อาจสร้างความรู้สึกประดักประเดิด การคลายปมสำคัญที่ดูง่ายดายเกินไป CG หลอกตา จนทำให้ระหว่างดูเกิดความรู้สึกว่า กัล กาดอท กำลังวิ่งอยู่ในสตูดิโอสักแห่งโดยมีฉากหลังเป็นผืนผ้าสีเขียวที่รอใส่ Computer generated สุดท้ายคือความยาวของการปูเรื่อง ด้วยเวลากว่า 151 นาที หรือ 2 ชั่วโมง 31 นาที ที่หลายคนมองคล้ายกันว่าสามารถตัดให้กระชับกว่านี้ได้

เมื่อมีจุดตำหนิย่อมมีจุดดีเช่นกัน นอกจากฉากเปิดกับนักแสดงที่ทำได้ยอดเยี่ยม สิ่งที่ควรได้รับคำชมคือคอสตูมวินเทจที่ขับความงามของไดอาน่าออกมาได้ในระดับยอดเยี่ยม รวมถึงการอธิบายว่าทำไม สตีฟ เทรเวอร์ รักแรกและรักเดียวของไดอาน่าฟื้นกลับมาจากความตาย เขาเป็นชายหลงยุคที่ไม่มีเหตุผลใดให้มาอยู่ในปี 1984 ในสภาพหนุ่มแน่นเหมือนช่วง 60 ปีที่แล้วแม้แต่น้อย ก่อนหนังจะฉาย Trailer สร้างความสงสัยให้แฟนๆ ว่าแพตตี้จะอ้างเหตุผลอะไรที่เอาสตีฟกลับมา แต่เมื่อได้ชมหนังฉบับเต็ม สาเหตุที่ถูกเฉลยถือว่ารับได้ในบรรยากาศของหนังซูเปอร์ฮีโร่แฟนตาซีที่มีเส้นเรื่องเหนือธรรมชาติตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

หากผู้ชมหรือแฟนหนังซูเปอร์ฮีโร่คาดหวังฉากแอกชั่นบู๊ระห่ำ คิดว่าจะได้เห็นสุดยอดพลังเหนือมนุษย์ของไดอาน่าเวลาต่อสู้กับเหล่าร้ายอย่างที่เธอเคยทำไว้ในภาคแรก หรือหวังเห็นความดุดันปนกระหายการต่อสู้แบบที่ทิ้งไว้อย่างตราตรึงใน Batman V Superman (2016) หรือหวังเห็นความมั่นใจเต็มเปี่ยมแบบใน Justice League (2017) อาจต้องเตรียมใจรับความผิดหวังกันเล็กน้อย เพราะในภาคนี้จะมีฉากต่อสู้สเกลใหญ่เพียงแค่ 3 ฉากเท่านั้น 

การเล่าเรื่องของ Wonder Woman 1984 ลดความเป็นหนังยอดมนุษย์แอกชั่น-แฟนตาซี ไปพอสมควร แพตตี้เลือกฉีกขนบเดิมของหนังซูเปอร์ฮีโร่ หยิบจับสิ่งละเอียดอ่อนอย่างอารมณ์ความรู้สึกมาใช้ ควบคู่กับการนำเสนอเส้นทางการเติบโตของไดอาน่าที่พยายามทำความเข้าใจจิตใจผู้คนยากจะหยั่งถึง พยายามเข้าใจความเจ็บปวดจากการเป็นผู้ถูกกระทำ ความดีงามที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ความแตกต่างของคนที่มาจากสังคมหลากหลาย ไปจนถึงสัจธรรมที่ไม่มีใครเลี่ยงได้ แพตตี้พยายามเล่าสิ่งเหล่านี้มากกว่าฉากต่อสู้ด้วยพละกำลังเหนือมนุษย์ตามแบบที่เคยเห็นกันอยู่บ่อยๆ ในหนังซูเปอร์ฮีโร่

Wonder Woman 1984 เล่าเกี่ยวกับตำนานเทพเจ้า แต่โดดเด่นด้วยการชูประเด็นความเป็นมนุษย์ ตอกย้ำซ้ำเติมว่าผู้ยึดถือคุณธรรมและมีคุณสมบัติของฮีโร่ต้องยืนหยัดอยู่กับความจริง ประจักษ์แจ้งว่า ‘ไม่มีสิ่งยิ่งใหญ่ใดเกิดขึ้นจากคำลวง’ พาผู้ชมไปพบกับความเป็นจริงในสังคมที่มีทั้งดีงามและเน่าเฟะ ความโลภกับความรัก และความโหยหาบางสิ่ง ชวนให้ตั้งคำถามว่า ‘เมื่อทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย คุณพร้อมจ่ายหรือแลกอะไรบางอย่างเพื่อสิ่งที่ต้องการไหม?’

 

อ้างอิง

https://www.rottentomatoes.com/m/wonder_woman_1984

https://www.flickeringmyth.com/2020/08/patty-jenkins-on-pedro-pascals-trump-inspired-wonder-woman-1984-villain/ 

 

Tags: , , , , , , , , , ,