เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกภาษาอังกฤษได้บรรจุคำศัพท์ใหม่ที่น่าสนใจไว้คำหนึ่งคือ ‘mansplaining’ มาจากการผสมระหว่างคำว่า man (ผู้ชาย) และ explaining (อธิบาย) ความหมายโดยรวมๆ ของคำว่า mansplaining ก็คือ การอธิบายเรื่องต่างๆ ด้วยท่าทีแบบ ‘คุณพ่อรู้ดี’ แบบที่ผู้ชายมักใช้โชว์ภูมิ อวดรู้ หรือคุยข่มทับเวลาคุยกับผู้หญิง แม้ศัพท์คำนี้จะเพิ่งถูกบรรจุอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน แต่พฤติกรรมการอธิบายเรื่องต่างๆ แบบคุณพ่อรู้ดี หรือการช่วงชิงอำนาจในการ ‘พูด’ เรื่องต่างๆ มาจากผู้หญิง ก็เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้เรื่อยมาตลอดประวัติศาสตร์และอารยธรรมนับพันปี
แมรี เบียร์ด (Mary Beard) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมกรีก-โรมันโบราณ ผู้เขียนหนังสือ ผู้หญิง | อำนาจ (Women & Power : A Manifesto) เล่มนี้ ได้พาเราย้อนเวลากลับไปสำรวจตัวอย่างอันหลากหลายที่ผู้หญิงถูก ‘ริบเสียง’ และ ‘ริบอำนาจ’ ด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ที่ปรากฏในตำนานเทพปกรณัม บทละครกรีกโบราณ งานศิลปะ วรรณกรรมชิ้นสำคัญ เรื่อยมาจนถึงภาพตัดต่อและข้อความโจมตีเพศหญิงในสื่อสังคมออนไลน์ยุคปัจจุบัน โดยเนื้อหาหลักหนังสือเล่มนี้เป็นการปรับปรุงมาจากบทปาฐกถาสองชิ้นของเธอใน ซีรีส์ปาฐกถาของ London Review of Books ในปี 2014 และ 2017
ผู้เขียนพาเราเริ่มต้นจากฉากเล็กๆ ในวรรณกรรมชิ้นเอกของโลกอย่างมหากาพย์ โอดิสซี (Odyssey) ของมหากวี โฮเมอร์ ที่หนุ่มน้อยเทเลมาคัสกล้าสั่งนางเพเนโลพีผู้เป็นมารดาว่า
“ท่านแม่ จงกลับขึ้นห้องไปเสียเถิด กลับไปทำงานของท่านกับหูกและกระสวย… การปราศรัยเป็นเรื่องของบุรุษเท่านั้น เป็นเรื่องของบุรุษทั้งมวล…” (หน้า 14)
ตัวอย่างดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนการกีดกัน ‘ผู้หญิง’ ออกจาก ‘การเมือง’ ด้วยการกักขังผู้หญิงไว้กับงานในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังเป็นการริบอำนาจการพูดในที่สาธารณะไปจากผู้หญิงด้วย ในประเด็นนี้ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างแหลมคมว่า
“…กระบวนการสำคัญในการเติบโตของผู้ชาย คือการเรียนรู้ที่จะเข้าควบคุมสิทธิการพูดในที่สาธารณะและจัดการให้ผู้หญิงเงียบเสียง…” (หน้า 15)
การเข้าควบคุมอำนาจการพูดในที่สาธารณะของผู้หญิงในบริบทของอารยธรรมกรีก-โรมันโบราณ ไม่ได้ปรากฏแค่ในการสั่งให้ผู้หญิงต้องหุบปากเงียบในเรื่องการบ้านการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตีกรอบกฎเกณฑ์เอาไว้กลายๆ ว่าผู้หญิงจะ ‘ได้รับอนุญาต’ ให้พูดในเรื่องไหนได้บ้าง ผู้เขียนอธิบายไว้ว่ามีอยู่สองกรณีคือ การพูดก่อนตายในฐานะผู้ถูกสังเวยหรือพลีชีพ และการพูดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเฉพาะในกรณีที่กระทบกับตัวเองโดยตรงเท่านั้น แต่ไม่สามารถพูดแทนผู้ชายหรือพูดแทนสังคมโดยรวมได้
นอกจากนั้นแล้ว การควบคุมการพูดในที่สาธารณะของผู้หญิงยังกระทำผ่านการควบคุมและนิยามรูปแบบของ ‘เสียง’ หรือ ‘น้ำเสียง’ ในการพูดอีกด้วย กล่าวคือ ผู้หญิงจะต้องพูดถึงน้ำเสียงทุ้มลึกเหมือนผู้ชาย จะต้องไม่พูดด้วยน้ำเสียงแบบคร่ำครวญฟูมฟาย จึงจะถูกรับฟังและได้รับความน่าเชื่อถือ สภาวะดังกล่าวทำให้ผู้หญิงต้องกลายเป็นเสมือน ‘คนสองเพศ’ (androgyne) ด้วยการต้องกลายเป็นผู้ชายชั่วขณะหรือเลียนแบบวิธีพูดจาของผู้ชายในเวลาที่เธอต้องพูดต่อสาธารณชนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
ในแง่นี้จึงกลายเป็นความย้อนแย้งว่า ในเวลาที่ผู้หญิงต้องพูดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เธอกลับต้องลบล้างตัวตนทางเพศของตัวเองออกไปเพื่อให้เสียงของตนถูกรับฟัง หรือในขนบของอารยธรรมกรีก-โรมันโบราณที่ตีกรอบว่าผู้หญิงได้รับอนุญาตให้พูดแต่ในเฉพาะเรื่องของตัวเองเท่านั้น ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วกลับเป็นเพียงแค่ ‘เรื่องของตัวเอง’ ที่ถูกตีกรอบไว้แล้วว่า เรื่องแบบไหนถึงจะจัดเป็นเรื่องของตัวเองที่สามารถพูดในที่สาธารณะได้ ซึ่งหากพิจารณาตามตัวอย่างที่ถูกยกมาในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะการประกาศยืนหยัดในศรัทธาในศาสนาคริสต์ของผู้หญิงที่จะถูกนำไปสังเวยให้สิงโต หรือหญิงกรุงโรมที่ประกาศกล่าวโทษผู้ที่ข่มขืนเธอก่อนที่เธอจะประกาศฆ่าตัวตาย การได้รับอนุญาตให้พูดของพวกเธอล้วนวางอยู่บนการปกป้องผลประโยชน์ของศาสนาและของรัฐเป็นที่ตั้ง
อย่างไรก็ดี แม้จะพอมีโอกาสหรือช่องทางที่เสียงของผู้หญิงจะสอดแทรกเข้าไปในโครงสร้างอำนาจได้บ้าง หรือมีหลากหลายวิธีในการปรับตัวและต่อรองกับโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ แต่ผู้เขียนก็ยังย้ำเตือนเอาไว้ว่า
“…เราไม่ควรตั้งคำถามเพียงแค่ว่าเธอจะทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองได้มีโอกาสพูด แต่ควรถามว่าทำอย่างไรจึงจะรู้เท่าทันกระบวนการและอคติต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สนใจจะรับฟังเธอตั้งแต่แรก” (หน้า 41)
นอกจากนี้ การริบอำนาจไปจากผู้หญิง ไม่ได้กระทำผ่านการสั่งให้หุบปากหรือจำกัดอำนาจการพูดในที่สาธารณะดังที่กล่าวไปแล้วเท่านั้น แต่ยังกระทำผ่านกระบวนการสร้างภาพว่าผู้หญิงที่ถือครองอำนาจจะนำมาซึ่งความหายนะ ดังเช่นที่ปรากฏในบทละครกรีกเก่าแก่เรื่อง อกาเมมนอน (Agamemnon) หรือเรื่องนักรบหญิงอะเมซอนในตำนานเทพปกรณัมที่สื่อความหมายว่ากองทัพอันโหดร้ายนี้เป็นภัยต่ออารยธรรมของกรีก หรือในกรณีของ เมดูซา ผู้ชาย (เพอร์ซิอัส) ก็ได้รับสิทธิ์ให้เข้ายึดอำนาจที่ไร้ความชอบธรรมของผู้หญิงอย่างเหี้ยมโหด ดังนั้น ในขนบของความเชื่อแบบนี้ ผู้หญิงที่มีอำนาจจึงมักมาพร้อมกับความโกลาหลวุ่นวาย ซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างอันชอบธรรมที่จะกีดกันผู้หญิงออกจากอำนาจ การมีอำนาจของพวกเธอจึงกลายเป็นเพียงอุทาหรณ์สอนใจว่าพวกเธอไม่ควรจะมีอำนาจ ราวกับว่าการมีอำนาจของพวกเธอนั้นมีไว้เพื่อจะถูกโค่นล้มลงในท้ายที่สุด และเป็นหน้าที่อันชอบของผู้ชายที่จะกำราบปราบปรามอำนาจของพวกเธอลง
จริงอยู่ว่าแม้ในปัจจุบันอคติทางเพศดังกล่าวจะทุเลาเบาบางลงบ้างแล้ว แต่กรอบคิดที่แบ่งแยกผู้หญิงออกจากอำนาจก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ ในกรอบคิดแบบนี้ผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเสมือน ‘คนนอก’ ที่เข้ามารุกล้ำเขตแดนอำนาจที่เป็นของผู้ชาย โดยเฉพาะการเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจด้วยการรับตำแหน่งหรือทำหน้าที่สำคัญๆ เช่น นักธุรกิจ นักการเมือง นักเขียน ศิลปิน ฯลฯ ที่มักจะมีคำว่า ‘หญิง’ พ่วงท้ายมาด้วยเสมอ (นักเขียนหญิงของไทยคนหนึ่งเคยกล่าวในงานเสวนาเปิดตัวนวนิยายเล่มใหม่ของเธอว่า เธอรู้สึกอึดอัดใจเสมอเวลาที่ถูกเรียกว่า ‘นักเขียนหญิง’) ซึ่งมีนัยยะว่าผู้หญิงมักถูกแบ่งแยกออกไปเป็นข้อยกเว้นหรือกรณีพิเศษเสมอ และการมีอำนาจของพวกเธอไม่ใช่ความเท่าเทียมกันในสภาวะปกติ
“…ผู้หญิงที่มีอำนาจมักถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายสิ่งกีดขวาง หรือมองอีกแง่ก็คือ พวกเธอเป็นผู้เข้ามายึดครองสิ่งที่อยู่นอกเหนือกรรมสิทธิ์ของตน” (หน้า 59)
กรอบคิดที่แบ่งแยกผู้หญิงออกจากอำนาจ อาจไม่เป็นปัญหานักในกรณีที่ผู้หญิงเหล่านั้นประสบความสำเร็จ แต่ในทางตรงกันข้าม หากว่าพวกเธอล้มเหลวหรือทำผิดพลาด กรอบคิดดังกล่าวมักจะตัดสินและลงโทษพวกเธอรุนแรงกว่าผู้ชายเสมอ ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นการกลับไปตอกย้ำความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีอำนาจจะนำมาซึ่งความหายนะ และพวกเธอ ‘ไม่สมควร’ จะได้รับอนุญาตให้มีอำนาจตั้งแต่แรก ในแง่นี้ ความเท่าเทียมทางอำนาจจึงอาจไม่ได้ประเมินกันแค่เพียงว่าโครงสร้างอำนาจนั้นเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากน้อยเพียงใดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิ์ที่จะทำผิดพลาด’ อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้ชี้ชวนให้เราเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกประเด็นเรื่องโอกาสในการเข้าถึงศูนย์กลางอำนาจ (ในการเป็นผู้นำทางสังคม) ของผู้หญิง กับความเท่าเทียมทางอำนาจของผู้หญิงในภาพรวมออกจากกัน และต้องแยก ‘อำนาจ’ ออกจากแนวคิดเรื่องชื่อเสียงและเกียรติภูมิ เพื่อไม่ให้อำนาจนั้นต้องผูกโยงอยู่กับความเป็นอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มและกีดกันผู้หญิงโดยรวมออกไป
การมีอำนาจจึงไม่ใช่เพียงแค่การที่ผู้หญิงบางคน ‘ได้รับอนุญาต’ ให้มีอำนาจ ในขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไร้อำนาจอยู่ เพราะบ่อยครั้งที่เรามักจะได้เห็นว่าการมีอำนาจอยู่เพียงน้อยนิดนั้นถูกนำมาเบี่ยงประเด็นเพื่อปฏิเสธสภาวะไร้อำนาจโดยรวมได้อย่างไร
Fact Box
- ผู้หญิง | อำนาจ (Women & Power : A Manifesto) แมรี เบียร์ด (Mary Beard) เขียน นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน แปล สำนักพิมพ์ Bookscape