ร้านหนังสือออนไลน์อย่าง Vacilando Bookshop คือ selected bookshop ที่น่าสนใจอย่างยิ่งแห่งหนึ่งในบ้านเรา ร้านที่เปิดทำการในอินสตาแกรมเป็นหลักแห่งนี้ เต็มไปด้วยหนังสือศิลปะและหนังสือภาพถ่าย ทั้งของศิลปินที่มีชื่อระดับโลก หรือศิลปินรุ่นใหม่กับผลงานที่หาตัวจับยาก รวมถึงหนังสือมือสองที่หาที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ ทำให้มีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม ค้นหา แลกเปลี่ยน ซื้อขายอยู่ไม่ขาดสาย

คอมมิวนิตี้เล็กๆ แห่งนี้ เกิดขึ้นโดย ปิ่น—วิทิต จันทามฤต ที่เริ่มจากการเสาะหาหนังสือระหว่างเดินทาง มาสู่ความต้องการที่จะผลักดันให้วัฒนธรรมโฟโต้บุ๊กมีที่ทางและเข้าสู่สายตาผู้คนได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ก่อนจะมาทำร้านหนังสือจริงจัง วิทิตโลดแล่นอยู่ในวงการศิลปะและงานสร้างสรรค์ เขาเคยเป็นโปรเจคต์เมเนเจอร์บริษัทโฆษณา เป็นช่างภาพที่พาตัวเองไปคลุกคลีกับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจไม่ปกตินัก ทั้งยังเป็นนักตามหาโลเคชั่นให้หนังอิสระอย่าง Motel Mist หรือ Popaye ฯลฯ บางครั้งเราจะเห็นชื่อของเขาเป็นผู้สอนในเวิร์กช็อปถ่ายภาพ หรือเป็นโปรดิวเซอร์ให้โปรเจกต์โน้นบ้างโปรเจกต์นี้บ้าง

ทั้งหมดที่เกี่ยวพันกันอยู่กลายๆ นี้เอง ได้หล่อหลอมให้ร้านหนังสือของวิทิตไม่เหมือนใคร และกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่หลายคนพร้อมจะเข้าไปขุดค้น เพื่อจะได้ art piece ดีๆ สักชิ้นมาเก็บไว้ในมือ

Vacilando Bookshop เกิดขึ้นได้อย่างไร

ต้องเกริ่นก่อนว่าเราได้เดินทางบ่อย ในช่วงที่ทำโลเคชั่น หรือเวลาไปเที่ยวที่ไหนๆ เราจะมองหาร้านหนังสือมือสอง แล้วก็จะใช้เวลาวันหนึ่ง เข้าไปขุดดูว่ามันมีอะไรบ้าง ช่วงแรกๆ สิ่งที่เลือกมาก็จะเป็นนิยายก่อน เพราะหนังสือนิยายภาษาอังกฤษในร้านมือสองจะราคาถูก สักพักก็จะเริ่มเห็นว่ามันมีหนังสือศิลปะ หรือหนังสือภาพถ่ายอยู่บ้าง ซึ่งราคาก็จะสูงขึ้นมาอีก แต่ก่อนหน้านั้นเรายังไม่มีเงินมากพอ เลยยังไม่ได้ซื้อเก็บ

จนกระทั่ง 4-5 ปีให้หลังมานี้ เราได้ไปเวิร์กช็อปภาพถ่ายที่เสียมเรียบ ชื่องานอังกอร์ โฟโต้ เฟสติวัล (Angkor Photo Festival) ที่จะให้คนส่งผลงานไปให้เขาคัดเลือกเพื่อไปร่วมเวิร์กช็อป และมีช่างภาพเก่งๆ จากหลายประเทศมาสอน หลังจากตอนนั้นเราสนใจงานภาพถ่ายมากขึ้นกว่าเดิม บวกกับโตขึ้น มีเงินมากขึ้น ก็เลยเริ่มซื้อหนังสือภาพ หนังสือศิลปะเป็นของขวัญให้เพื่อนก่อน พอมีเงินเยอะขึ้นตามเวลาก็ซื้อเก็บเอง เพิ่งคิดว่าจะซื้อมาขายก็สักสองปีก่อนนี่เอง เราเริ่มทำร้านตอนเดือนมีนาคม 2017

แล้วพอธุรกิจเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ เรามีเพื่อนที่เป็นช่างภาพอยู่ตามที่ต่างๆ เช่นที่อินเดียหรือญี่ปุ่น ก็เริ่มซื้อของเขามาส่งต่อ ซึ่งตั้งแต่เริ่มทำมา มันมีตัวกระตุ้นให้ธุรกิจมันบูมขึ้น นั่นก็คือบางกอกอาร์ตบุ๊กแฟร์

มีวิธีการเลือกหนังสือมาขายอย่างไรบ้าง

ก็ต้องเป็นเล่มที่เราชอบก่อน เล่มที่เราสนใจวิธีคิด วิธีการเล่าของเขา และคิดว่าอยากให้คนได้เห็นมัน บางทีก็จะเอางานป๊อปมาถัวกันไปด้วย ไม่ให้ร้านเราดูจับต้องไม่ได้ หรือเข้าถึงยากเกิน

การทำร้านแบบนี้มันต้องเดาเทรนด์กันพอสมควร เช่นช่วงนี้คนชอบงานภาพถ่ายสตรีท เอามาก็ค่อนข้างชัวร์ว่าขายได้ แต่ที่จริงมันเดายากนะ สมมติเป็นเล่มดังอย่างเล่มที่มาร์ติน พารร์ (Martin Parr) ถ่ายให้กุชชี่ พร้อมลายเซ็น แบบนี้เอามาลงขายภายใน 5 นาที ก็ขายออกในราคาที่สูงมากกว่าที่เราคิด แต่บางเล่มก็ไม่เป็นอย่างนั้น

แล้วก็ต้องสำรวจตลาดเหมือนกัน ต้องลองโยนหินถามทางว่าอย่างเล่มนี้จะมีคนสนใจมากเท่าไร เพราะถ้าเอามาเยอะแล้วขายไม่หมดมันก็เจ๊ง ถึงแม้เราจะได้ราคาพิเศษจากสำนักพิมพ์หรือจากเพื่อนเราก็ตาม เราก็ยังไม่พร้อมที่จะเสี่ยง

มีเล่มที่ค่อนข้างขายยากบ้างไหม

มีอยู่เล่มหนึ่งเหมือนกัน ที่เรียกว่ายังขายไม่ได้เลย แต่ว่าในโลกโฟโต้บุ๊ก เล่มนี้เป็นงานที่เขาเก็บสะสมกัน จากวินาทีที่ซื้อมาราคามันก็จะสูงขึ้น เหมือนงานศิลปะ ซึ่งก็ต้องเท้าความไปอีกว่าโฟโต้บุ๊กมันมีค่ายังไง

คือพอเราเป็นช่างภาพ แล้วเราไปแสดงงาน ภาพขนาดใหญ่เมตรคูณเมตร ภาพเรามันก็จะมีเป็น edition ไป จำนวนไม่มาก คนก็ซื้อเป็นชิ้นๆ ซึ่งราคาสูงมาก และขนาดภาพจะใหญ่ คนเก็บยาก คนที่ซื้อจริงๆ ก็จะเป็นคนที่มีเงินและมีพื้นที่ แต่พอภาพเหล่านั้นมาอยู่บนหนังสือ มันกลายเป็นแพลตฟอร์มที่คนอื่นๆ ก็สามารถสนับสนุนศิลปินที่คุณชอบได้ในราคาที่ไม่สูงมาก มันอาจจะมีเป็นพันก็อปปี้ แต่มันก็เล่น edition เหมือนกัน พอ edition แรกที่มี 1,000 ก็อปปี้ขายหมดปุ๊บ ราคาก็จะขึ้นทันที

อย่างในกรณีของเล่มนี้ ที่ยังขายไม่ได้เลยในประเทศไทย เราก็จะทดลองดูว่าถ้าส่งไปขายต่างประเทศจะเป็นยังไง เร็วๆ นี้เราจะไปออกแฟร์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งช่างภาพคนนี้เขาเป็นอาจารย์เราที่เวิร์กช็อปที่เสียมเรียบ เป็นคนอินเดียที่เพิ่งถูกคัดเลือกโดยเอเจนซี่แม็กนัม ที่เป็นที่เชื่อถือมากในบรรดาช่างภาพ เขาชื่อโซรับ ฮิวรา (Sohrab Hura) งานเขาก็เป็นงานส่วนตัว ถ่ายเรื่องเขากับแม่ของเขา ทีนี้มันก็จะเป็นเทรนด์ว่า เมื่อคุณได้รับเลือกจากแม็กนัมปุ๊บ นั่นแปลว่าคุณกำลังจะเป็น someone และงานโฟโต้บุ๊กเล่มแรกของแต่ละคนก็จะราคาสูง

การทำร้านหนังสือที่ค่อนข้างเฉพาะทางแบบนี้ ถือว่าทำเงินพอที่จะเป็นอาชีพหลักไหม

ตอนนี้เรามีทุนพอที่จะเดินทางได้ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแล้วนะ แต่ถามว่าเป็นอาชีพหลักได้ไหม ก็ยังไม่ได้ เพราะเรายังไปไม่ถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างขนาดนั้น

เทียบกับในร้านหนังสือใหญ่ๆ โฟโต้บุ๊กที่เขาขายส่วนใหญ่ก็เป็นของช่างภาพที่โด่งดังมาแล้ว คนรู้จักงานพวกเขา เข้าใจงานเขาว่าเป็นยังไง เขาออกเล่มใหม่คนก็รอติดตามซื้อ ไม่ต้องการการอธิบายมาก แต่เล่มที่เราสนใจ มันอาจเป็นงานของคนที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรานัก มันต้องการการอธิบายที่ค่อนข้างละเอียด บางทีต้องใช้การปิดการขายด้วยการที่ลูกค้าได้มาคุยกับเราที่หน้างาน เช่นอย่างที่บอกไป อาร์ตบุ๊กแฟร์ หรืองานใดๆ ก็ตาม ที่เราจะได้ใช้เวลาอธิบายว่าเล่มนี้ดียังไง พอคนเข้าใจ เขาก็จะซื้อ

หรือบางทีก็มีออเดอร์เข้ามาว่า อยากหาโฟโต้บุ๊กเกี่ยวกับเม็กซิโก พอดีเรารู้จักว่ามีใคร ก็ต้องส่งหลังไมค์ไปให้เขาดูว่า มีเล่มนี้ครับ สนใจมั้ย เคยมีคนให้เราตามหาหนังสือให้เหมือนกัน แต่เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมากๆ ที่จะหามาได้ เอามาขาย แล้วยังคุ้มทุนอยู่

คุณใช้วิธีไหนในการตามหาหนังสือที่คนอยากได้

ส่วนใหญ่เขาจะมีโจทย์ตามชื่อช่างภาพ เช่น อยากได้งานคนนี้ เราก็จะมีแหล่งของเราอยู่ เช่นที่ญี่ปุ่นจะมีร้านหนังสือมือสองที่ขายเฉพาะประเภท หรือร้านหนังสือมือสองที่ขายโฟโต้บุ๊กโดยเฉพาะ ถ้ามีโอกาสได้ไป เราก็จะลองเข้าไปตามหา แล้วก็มักจะได้อะไรกลับมา พอเจอก็จะถามเขาว่าราคานี้โอเคไหม

แล้วก็จะมีเว็บไซต์ที่คนไปสั่งซื้อกันตามปกติ เราใช้วิธีหลังไมค์ไปคุยกับสำนักพิมพ์หรือสายส่ง เพื่อให้ได้ราคาที่จะคุ้มทุน เช่นเดียวกัน บางทีถ้ามีคนสั่งแค่เล่มเดียว เจ๊งแน่ แล้วถ้าเรายังหาคนซื้อเล่มอื่นๆ ไม่ได้ ก็ต้องคำนวณค่าชิปปิ้งเข้าไปด้วย ถ้าคนซื้อเขาไหว เราก็จัดหาให้

หลายคนที่เป็นลูกค้าบอกว่ารู้นะว่ามีเว็บฯ พวกนี้อยู่ แต่เขายินดีที่จะสั่งผ่านเรา เพราะเขาสนุกที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากกว่า และหลังๆ มาก็มีลูกค้าชาวต่างชาติด้วย คือเราจะใช้แฮชแท็กว่า #Photobookshopbangkok เวลาเขามาเมืองไทย บางคนก็จะเข้ามาในแท็กนี้ แล้วติดต่อเรามา

มองว่าวัฒนธรรมโฟโต้บุ๊กในไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

มันกำลังโตขึ้น แต่ว่าต้องไปด้วยกันทั้งวงการ ไม่ใช่ว่าคุณถ่ายรูปแล้ว เก็บมันไว้เป็นข้อมูลดิจิทัล เก็บไว้ลงเพจก็จบ หรือพอได้แสดงงานแล้วก็จบ เราว่าน่าจะพามันไปต่อได้ สำหรับศิลปินที่ได้จัดนิทรรศการแล้วออกเป็นสิ่งพิมพ์ตามมาแล้ว แต่ว่ามีคนพูดถึงงานเขาไหม มีคนเขียนถึง มีคนวิจารณ์งานเขาหรือเปล่า หรือกระทั่งมีร้านหนังสือหรือแพลตฟอร์มที่รองรับสิ่งพิมพ์เหล่านั้นไหม และพื้นที่เหล่านี้หากมีแล้ว คนสามารถเข้าถึงมันหรือเปล่า

แล้วในคนถ่ายภาพก็จะมีแบ่งสายกันอีก อย่างสายเจอร์นัลลิสต์ (journalist) พวกช่างภาพสายข่าว สายสารคดี เขาก็จะไม่ค่อยเข้าไปทางแกลเลอรี่ ส่วนฝั่งที่ทำสายคอนเซปต์ชวล ก็อาจจะมองว่าคนสายเจอร์นัลลิสต์ทำงานแบบประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ได้คิดอะไรมากเท่า ซึ่งมันเป็นวาทกรรมที่มีการเถียงกันอยู่ตลอดเวลา และเรารู้สึกว่า อ้าว แล้วแบบนี้ควรมีสักพื้นที่ตรงกลางที่ให้คนทำงานถ่ายภาพมาคุยโดยปราศจากประเด็นขัดแย้งแบบนี้ได้มั้ย

มันน่าเสียดายที่คนมานั่งเถียงกันเรื่องนี้ เราว่างานภาพถ่ายมันเป็นอะไรได้หลายอย่างมากกว่านั้น และโฟโต้บุ๊กก็ช่วยส่งมันไปสู่ผู้คนได้มากขึ้น มันเป็นพื้นที่ที่เราว่าถ้าใช้เวลากับมันจริงๆ อาจจะสร้างอิมแพคต์ได้มาก ทุกคนน่าจะต้องช่วยกัน เราก็เลยคิดว่าเราอยากให้มีเหมือน Documentary Club ที่เอาหนังเข้ามา แล้วก็รู้ว่ามันมีกลุ่มที่สนใจสารคดีแบบต่างๆ อยู่ มี subgenre ลึกๆ ลงไปอีกหลายสาย ซึ่งก็มีหลายคนที่สนใจ แต่สำหรับอาร์ตบุ๊ก โฟโต้บุ๊ก มันยังไม่ค่อยมีนะ เราอาจจะมีคิโนะคุนิยะ หรือเอเซียบุ๊กส์ แต่สำหรับหนังสือที่เฉพาะทางมากๆ ล่ะ จะพอเป็นไปได้มั้ย เราก็คิดและหาวิธีกันอยู่

โฟโต้บุ๊กสักเล่มหนึ่ง สามารถสร้างอิมแพกต์กับผู้อ่านหรือสังคมได้อย่างไรบ้าง

มันจะมีโฟโต้บุ๊กของอาจารย์ที่เสียมเรียบอีกคนหนึ่ง เขาเป็นคนญี่ปุ่น ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับคนญี่ปุ่น 6 คน ที่เป็นคนเก็บตัวและทำร้ายตัวเอง พวกเขาเป็นคนที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัว ถูกรังแก หรือถูกข่มขืนมาก่อน

อาจารย์คนนี้เขาไปตามถ่ายชีวิตของทั้ง 6 คนแล้วทำเป็นโฟโต้บุ๊ก 6 เล่ม ส่งต่อกระจายไปทั่วโลก เพื่อให้คนที่ได้ดูหนังสือเหล่านี้ สามารถเขียนลงบนหน้าว่างเพื่อเป็นกำลังใจให้ทั้ง 6 คน ว่ายังมีคนที่ใส่ใจคุณ หรือยังมีคนที่เป็นแบบคุณ ทีนี้มีหนึ่งเล่มที่มีเส้นทางโคจรผ่านมาที่กรุงเทพฯ พอดี เพื่อนเราก็เลยรับมาแล้วก็มาให้คนในโฟโต้บุ๊กคลับเขียนข้อความลงไปด้วย

สุดท้ายทั้ง 6 เล่มนี้ก็เวียนกลับไปที่ญี่ปุ่น แล้วได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มที่รวบรวมงานทั้งหมดอีกทีหนึ่ง ชื่อโปรเจคต์อิบาโช (Ibasyo) กรณีนี้ทำให้เราเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นทั่วโลก มันสามารถเป็นอะไรแบบนั้นได้ และเราเองก็สามารถเป็นจุดหนึ่งที่ไปเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งกระแสเคลื่อนไหวเหล่านี้มันมีอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยก็มีหลายคนที่เริ่มทำ อย่างกลุ่มสตรีทโฟโต้ กลุ่มฮัสแบนด์แอนด์ไวฟ์ กลุ่มบางกอกโฟโต้ กลุ่มโฟโต้เจิร์น หรือกลุ่มเจอร์นัลลิสต์ที่อยากให้มีอะไรแบบเสียมเรียบ ฯลฯ

พวกเราก็พยายามทำ คือกลุ่ม Realframe ที่เป็นกลุ่มย่อยของช่างภาพสายสารคดีอีกทีหนึ่ง ซึ่งคนที่ร่วมกันก่อตั้งก็เป็นลูกศิษย์เสียมเรียบเหมือนกัน อย่างงานล่าสุดเราทำเวิร์กช็อปถ่ายภาพเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แล้วก็นำภาพที่ได้มาทำเป็นสไลด์โชว์ ฉายที่แพร่งภูธร ก็มีทั้งคนถ่ายภาพและคนทั่วไปมาดูด้วย ทุกคนพยายามทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด มันอาจจะยังไม่ครบวงจรแต่ก็จะพยายามกันต่อ เพื่อให้งานมันไปถึงคนวงกว้างมากขึ้น

วิธีสอนในเวิร์กช็อปของคุณเป็นอย่างไร

เวิร์กช็อปล่าสุดของ Realframe มันจะมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าตัวเราเองไม่ได้ถนัดงานด้านสิทธิมนุษยชน เราทำงานส่วนตัว ทำงานเชิงคอนเซปต์ จากความทรงจำหรืออะไรก็ตาม แต่เวลาเราสอน เราอยากลองให้คนคนนั้นเข้าใจตัวเองก่อน สมมติเขาตั้งประเด็นว่าอยากสะท้อนปัญหาเรื่องการขายบริการทางเพศ แล้วคุณมีเวลาแค่ 5 วัน มันยังทำไม่ได้

เราก็เลยให้เขาล้มเรื่องนั้นไปก่อน ทำเรื่องใหม่ เพราะคุณไม่สามารถแค่ยกกล้องแล้วเดินเข้าไปถ่ายพวกเขาในเวลาอันจำกัด ถึงแม้เราจะมีองค์กรทางสิทธิมนุษยชนที่คอยให้ข้อมูลก็ตาม มันก็ยังยาก เขาก็เขวนะ แต่สุดท้ายเขาก็เลือกทำเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด เราก็บอกเขาว่า ในครั้งนี้แค่ตั้งคำถามกับตัวเองก่อนก็พอแล้ว แต่ถ้าบางคนที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือซับเจคต์ได้จริงๆ เราก็ไม่ว่านะ ทำเลย เช่นปีก่อนหน้ามีคนที่อยากทำเรื่องความรักของครอบครัว LGBT เราก็ถามก่อนว่าคุณเข้าไปถ่ายในบ้านเขาเลยได้จริงเหรอ เขาบอกว่า อ๋อ ได้ค่ะ หนูถ่ายเขามาหลายปีแล้ว ถ้าแบบนี้ โอเค คุณลุยเลย

แต่ที่สำคัญคือเราต้องลองมาคุยกันว่าคุณเป็นใคร สนใจอะไร แล้วเราก็ค่อยสะท้อนสิ่งเหล่านั้นกลับไปหาเขา เราทำเหมือนอาจารย์ที่เสียมเรียบเคยสอนเรา คือไม่ได้สอนทฤษฎีว่าคุณต้องมีฉาก มีชัดลึก ชัดตื้น แสงแม่น หรืออะไรก็ตามแต่ เราสอนแค่ว่า ตอนที่ถ่ายภาพนี้คุณรู้สึกอะไร หรือภาพนี้กระตุ้นอะไรในเบื้องหลังของคุณหรือเปล่า สองปีที่ผ่านมาคนก็เลยเรียกคลาสเราว่าจิตบำบัด (หัวเราะ)

มันคือการเข้าใจตัวเองก่อนเพื่อที่จะไปเข้าใจอย่างอื่นจริงๆ คือถ้าเราไม่เข้าใจมันจริงๆ มันจะกลายเป็นงานที่ออกมาแล้วคุณไม่สามารถเล่ามันได้เกิน 3 ประโยค ซึ่งนั่นเราว่าเฟลนิดนึงนะ มันก็จะมีภาพถ่ายบางประเภทที่ โอเค คุณตามล่าสไตล์ คุณตามล่าวิธีการ แต่เรากับเพื่อนกลุ่ม Realframe มองว่ามันน่าจะมีเลเยอร์มากกว่านั้น คือไม่ได้บอกว่าคนอื่นผิดนะ เราว่าช่างภาพก็มี subgenre อีกเยอะ เพียงแต่ subgenre ของพวกเรามันเป็นแบบนี้เท่านั้นเอง

งานภาพถ่ายของคุณเองที่ผ่านมาเกี่ยวกับอะไรบ้าง

เราถ่ายเรื่องใกล้ตัวทั้งหมด ก่อนหน้านั้นเราจบนิเทศศาสตร์สายโฆษณา แล้วก็ทำเกี่ยวกับวิชวลในทางนั้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปีที่น้ำท่วมใหญ่ นั่นเป็นปีแรกที่เราถ่ายภาพจริงจัง ตอนนั้นจะมีเว็บไซต์ Flickr ที่ช่างภาพจะเอาผลงานตัวเองไปลง แล้วก็มีการคอมเมนต์คุยกันแต่บางๆ เราได้เจอช่างภาพคนไทยที่งานน่าสนใจ แล้วก็ได้คุยกัน มีพี่มิติ เรืองกฤตยา พี่ปอม—ราสิเกติ์ สุขกาล พี่ต้น—ศุภกร ศรีสกุล เราก็คุยไปคุยมา ตอนนั้นทุกคนอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงที่น้ำท่วม เลยชวนกันออกไปถ่ายรูป นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เจอคนอื่นๆ แล้วก็พบว่าภาพถ่ายมันมีอย่างอื่นด้วยว่ะ มันมีการเล่าเรื่อง มีวิชวล มีอีกหลายอย่าง

ตอนนั้นเราก็ออกไปถ่ายกับเขาทุกวัน แต่งานที่มันกระทบเราที่สุดกลับเป็นภาพที่บ้านเราเอง มีแค่บ้านเราหลังเดียวในสี่คนที่โดนน้ำท่วม แล้วสุดท้ายเราก็ต้องกลับไปขัดบ้าน มันเลยมีช่วงที่เกิดคำถามว่าไหนว่าดอนเมืองไม่เคยน้ำท่วม เกิดมายี่สิบกว่าปี ทำไมชุดความคิดหลายอย่างมันเปลี่ยนไปเลย หลังจากงานชุดนั้นนั่นแหละ และเราก็รู้ข่าวว่ามีอังกอร์ โฟโต้ เฟสติวัล เลยส่งงานน้ำท่วมเข้าไปให้เขาพิจารณาคัดเลือก

การไปร่วมเวิร์กช็อปถ่ายภาพที่เสียมเรียบเปลี่ยนคุณอย่างไร

เขาไม่ได้สอนเรื่องสกิลล์อะไรเลย แต่ให้ความสำคัญกับวิธีคิด การทำความเข้าใจเรื่องมากกว่า ตอนนั้นเขาบอกว่า คุณออกไปถ่ายอะไรก็ได้ แต่ต้องจบงานหนึ่งซีรี วันนั้นเราคิดไม่ออก ได้แต่นั่งบื้ออยู่หน้าโรงแรมกับเพื่อนคนสิงคโปร์ และเพื่อนอินโดนีเซีย จนอาจารย์ต้องมาไล่ให้ไปถ่ายภาพ ไม่รู้ล่ะ ต้องออกไปถ่ายมาก่อน แล้วคุณก็จะเจอสิ่งที่คุณตามหาเอง วันนั้นเราก็เลยออกไปถ่ายรูปทั้งคืน ตั้งแต่ตอนเย็นถึงตีสองตีสาม เขาก็ถามว่าตอนถ่ายรูปเหล่านี้คิดอะไรอยู่ สุดท้ายมันก็กลับมาที่ประโยคเดียวว่า ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยออกไปนอกบ้านตอนกลางคืนเลย ปกติกลับบ้านตอนสองทุ่มปุ๊บก็ได้อยู่แต่ในบ้าน

อาจารย์ก็บอกว่า นั่นแหละ งานมึง งานของเราเลยเล่าเรื่องนั้น เราจะอยู่ในดินแดนที่เราไม่รู้จักในตอนกลางคืน มันคือการผจญภัยรูปแบบหนึ่ง ยังมีประโยคหนึ่งที่ยังอยู่ในตัวเราอยู่เลย คือวินมอเตอร์ไซค์ที่เราจ้างให้พาไปนอกเมือง เขาถามเราว่าไม่กลัวเหรอ มากับเขาดึกๆ เขาเคยค้ายานะ แล้วเขาก็เล่าเรื่องตัวเองต่อ ว่ามาทำงานที่สะอาดขึ้น มารับจ้างขี่มอเตอร์ไซค์ มาเป็นล่ามให้นักข่าว เพราะเขารู้ว่านี่คือแหล่งรายได้

อีกครั้งหนึ่งเราเคยถูกสามล้อทิ้งไว้กลางทุ่งนานอกเมือง ขณะที่เพื่อนชาวฟิลิปปินส์ได้ฟรีกเอาท์ไปเรียบร้อยแล้ว เราพยายามตั้งสติ แล้วเดินต่อมาเจอคนเมาสองคนที่นั่งร้องเพลงอยู่ใต้ท้องฟ้าที่มีพระจันทร์ เขามาถามว่าอยากเรียนภาษาอังกฤษ สอนหน่อย แล้วก็อาสาถ่ายรูปให้พวกเรา ตอนนั้นคือ เอาวะ ถ้าเขาคว้ากล้องเราแล้วขี่มอเตอร์ไซค์หนีไปก็จบกัน แต่ตอนนั้นเราเลือกที่จะไว้ใจพวกเขา มันอาจจะโลกสวยก็จริง แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่เราได้ไปสู่สุดเซฟโซนเราเหมือนกัน มันไม่ใช่แค่ภาพถ่าย มันเป็นชุดประสบการณ์ที่บอกไม่ถูกเหมือนกัน

ได้ยินว่าคุณเคยถ่ายภาพการชุมนุมที่หลักสี่เมื่อ 5 ปีก่อนด้วย

ตอนนั้นมีการชุมนุมที่ใกล้บ้านเรามากๆ วันนั้นพ่อแม่โทรบอกว่าวันนี้ไม่ต้องกลับมาบ้านนะ มันอันตรายมาก เราก็ได้แต่เปิดดูข่าวว่า เฮ้ย มันมีการชุมนุม มีการยิง มีอะไรเต็มไปหมด แล้ววันนั้นเขามีการเคลื่อนขบวนเพื่อไปรณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง เราก็ไปในวันนั้นเลย ไปกับเพื่อนที่ทำงานเจอร์นัลลิสต์ เราบอกกันว่าไปเพื่อสังเกตการณ์นะ แต่เราดันไปสังเกตการณ์อยู่ผิดฝั่ง คือไปอยู่ในฝั่งที่ถูกกดดัน โดนยิง มองกลับไปก็รู้สึกว่าเสี่ยงมาก กูทำอะไรอยู่วะ แต่ตอนนั้นสิ่งเดียวที่คิดคือเราไปเพื่อให้รู้ความจริง เพราะเวลาดูข่าว เราก็ได้อีกแบบหนึ่ง

ตอนนั้นเราไม่ได้ไปแค่ที่หลักสี่นะ ไปทั้งสวนลุมพินี สะพานพระรามแปด สนามหลวง ฯลฯ แต่ที่หลักสี่เป็นครั้งที่เราอยู่ร่วมในเหตุการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งมันได้เชปความคิด เราได้เห็นว่ามีชุดความจริงอะไรอยู่ เราอยู่ในจุดที่ต้องวิ่งหลบกระสุน เราอยู่เหลื่อมกับคนที่โดนยิงไปนิดเดียว เราเห็นคนที่ถือปืนเล็งมาจากสะพานลอย มาจากรางรถไฟ เห็นชายชุดดำ เห็นทุกอย่างจริงๆ เห็นแม้กระทั่งว่าจุดที่เขาเริ่มปะทะกันมันเกิดอะไรขึ้น

คุณได้ถ่ายภาพในเหตุการณ์นั้นมาด้วยไหม

ถ่าย แต่ไม่ใช่ภาพถ่ายที่ดี เพราะตอนนั้นมันคือการวิ่งเพื่อชีวิตจริงๆ เรานับกับเพื่อนแล้วก็นักข่าวฝรั่งว่านับถึงสามแล้วเราวิ่งกันนะ แล้วก็วิ่งแบบไม่หันมามองข้างหลังเลย วิ่งเข้าไปในหลักสี่พลาซ่า เจอคนเจ็บ เจอคนถูกยิง แล้วเราก็วิ่งไปเพื่อหาสำลีหาอะไรมาปฐมพยาบาลเขา ภาพถ่ายของเรามีไว้เพื่อยืนยันว่ามันเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นจริงเท่านั้นแหละ

พองานจบเราก็เอาภาพเหล่านั้นมาประมวลอีกที แล้วพบว่าเราไม่ได้ถนัดในการทำงานเล่าเรื่องว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่เราเล่าความรู้สึกของตัวเองขณะนั้นมากกว่า ภาพเตนท์ที่อยู่บนสะพาน ภาพเมืองที่เปลี่ยนไป เราอยากชวนให้คนลองคิดว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก มันเกิดเรื่องแบบนี้ในบ้านเรามากแค่ไหนแล้ว และมันจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง ก็เลยตั้งชื่องานชุดนี้ว่า Transplantation มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  และไม่ใช่เรื่องปกตินะ กับการที่จะมีบังเกอร์มาตั้งอยู่หน้าแมคโดนัลด์ และเหตุการณ์นี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงความคิดหลักของเราว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเรียน กลับบ้านนอน แล้วโตขึ้นทำงานที่ดี แต่มันยังมีประเด็นอื่นๆ ที่รุนแรงมาก

แต่หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ถ่ายภาพเป็นหลักอีก มีช่วงที่ต่อสู้กับตัวเองว่าทำไปทำไม งานที่เราอยากทำมันยังเป็นเชิงคอนเซปต์ ที่ต้องใช้เงินเยอะ แล้วเราก็ต้องหาเลี้ยงตัวเอง เราไม่ได้มีเงินมากในตอนนั้น ก็เลยกลับไปทำหนัง ทำโฆษณา ทำโลเคชั่น กลับมาสู่โหมดหากิน เรากับเพื่อนๆ ก็จะกลับมารวมตัวกันบ้างเมื่อมีงานเกี่ยวกับวงการภาพถ่ายที่เราสามารถทำประโยชน์ให้ได้

คุณขยับไปทำงานตามหาโลเคชั่นให้หนังอิสระได้อย่างไร

ก่อนหน้านั้นเราได้ทำงานในกองถ่ายอยู่บ้าง ซึ่งเป็นงานที่เราชอบ แล้วเราห่างหายไปทำอย่างอื่น จนกระทั่งมีช่วงที่ลาออกจากงานประจำเราก็กลับไปทำงานในกองถ่าย ทีนี้พี่ปอม ราสิเกติ์ ที่เขาเป็นโปรดักชั่นดีไซเนอร์ บอกว่าเราน่าสนใจที่ว่าพอเป็นช่างภาพ จะมีวิธีการในการมองซีน และเรามีสกิลล์ในการดีลกับคน เพราะเคยทำงานเอเจนซี่มา เขาก็ชวนว่าลองทำโลเคชั่นดูไหม เพราะพี่ปอมไม่ชอบคุยกับคน เขาก็เลยลองชวนเราไปทำ

เราก็เริ่มงานด้วย Motel Mist ก็ต้องไปดูโรงแรมม่านรูดเยอะมาก ต้องทำรีเสิร์ช หาเรเฟอเรนซ์ ลองเข้าไปดูในกูเกิ้ลแมพก่อน แล้วต้องเข้าไปเก็บภาพออกมาให้ได้จริงๆ ก็ต้องใช้หลายวิธีการ ใช้ลูกล่อลูกชน บอกเขาว่าเรามาหาที่จัดปาร์ตี้สละโสดบ้าง หรือหาที่จัดงานเลี้ยงบ้าง เราทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รูปมา

หรืออย่างเรื่อง Popaye เราใช้ภาษาอังกฤษได้ ก็เลยกระโดดเข้าไปในโปรเจกต์นี้ทันที แล้วมันตอบโจทย์เรามากเพราะเป็นโร้ดมูฟวี่ เราชอบการเดินทางอยู่แล้ว และมันก็คือการอ่านบท เราสนุกกับการหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในนั้น มันต้องมีฉากหลังที่ดูเป็นกรุงเทพฯ ในอดีตด้วย ปัจจุบันด้วย ต้องมีฉากที่เป็นแลนด์สเคปกว้างไกลที่มองออกไปแล้วรู้สึกถึงความโดดเดี่ยว มีความเป็น Thainess เช่นบาร์ไฟกะพริบริมถนน หรือมีตึกที่เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างไม่เสร็จเพราะโดนพิษต้มยำกุ้ง

หลังจากนั้นเราก็ได้งานอื่นๆ เป็นทั้งล่าม แปลงาน เราใช้ทุกสกิลล์ที่เรียนรู้มาจากงานต่างๆ มารวมกันเป็นอาชีพให้ได้ ได้ทำโลเคชั่นของโฆษณาหรืออื่นๆ ด้วย เราเริ่มทำงานเป็นซีซั่นเหมือนเกษตรกร เช่นทำหนังก็ทำอยู่สามเดือน หลังจากนั้นเราก็กลับไปถ่ายรูปรับปริญญาบ้าง หน้าฝนถ่ายรูปไม่ได้ หรือช่วงที่ยังไม่มีงานหนังหรืองานใดๆ เราก็พยายามหาอะไรที่จะมาอุดช่องเหล่านี้ ก็พบว่าเรามีหนังสือจากร้านหนังสือมือสองเยอะแฮะ ร้านหนังสือของเราก็เลยเกิดขึ้นมา ซึ่งหนังสือที่เรามีมันก็มาจากการเดินทางไปในที่ต่างๆ และวิธีเลือกมันมาก็มาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาโดยตลอดของเรานี่เอง

Fact Box

  • วิทิต จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาโฆษณา มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ หลังเรียนจบเขาเริ่มงานเป็นโปรเจคต์เมเนเจอร์งานโฆษณา รวมถึงช่วยงานในกองถ่ายหนังต่างๆ จากนั้นตัดสินใจออกจากการเป็นฟรีแลนซ์ประจำ และเริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพ ปัจจุบันนอกจากเป็นผู้สอนในเวิร์กช็อปต่างๆ รับงานถ่ายภาพฟรีแลนซ์ ทำงานกับกองถ่ายโฆษณา เขายังรับงานล่ามและงานแปลตามวาระโอกาสด้วย
  • งานชุด Transplantation ของวิทิต นำไปจัดแสดงที่ Noorderlicht Photo Festival ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2014 ในธีม uprising ที่รวมงานเกี่ยวกับการประท้วงทั่วโลก ทั้งในกัมพูชา อียิปต์ ซีเรีย หลังจากนั้นเขาไม่ได้แสดงงานที่ไหนอีกเนื่องจากไม่มั่นใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะแสดงงานในประเทศไทย ในช่วงเวลานั้น จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีจังหวะที่จะนำเสนอ
  • เวิร์กช็อปของเขาและกลุ่ม Realframe เป็นการทำงานร่วมกับ Amnesty International Thailand สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ในชื่อโปรเจคต์ Shoot it Rights #2 ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง
  • ล่าสุดนี้ วิทิต ร่วมกับกลุ่ม Eyedropper Fill จัดทำเวิร์กช็อปสอนถ่ายภาพให้กับเยาวชนในพื้นที่คลองเตย โดยผลงานของเด็กๆ และเรื่องราวของพวกเขาจะถ่ายทอดออกมาเป็น ‘My Echo, My Shadow and Me’ หนังสือภาพเพื่อการกุศล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ a book และจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week 2018 ที่ O.P Place วันที่ 26 ม.ค.-3 ก.พ. นี้
Tags: , , , , , ,