ทอม ทวี คือช่างภาพที่เราต้องวงเล็บชื่อเขาไว้ด้วยภาษาอังกฤษว่า (Tom Tavee) เพราะเขาคือช่างภาพนิตยสารที่เกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตการทำงานช่วงแรกในแวดวงนิตยสารชื่อดังในนิวยอร์ก อย่าง Rolling Stone, GQ , Vanity Fair, TIME  ฯลฯ รวมทั้งเอเจนซี่โฆษณารายใหญ่

ทอมเป็นเด็กหนุ่มเชื้อสายไทยแท้ที่เติบโตในดีทรอยต์ มิชิแกน เมื่อ 51 ปีที่แล้ว ในสมัยที่เขาบอกว่าไม่มีคนไทยเลย และมักสับสนเมื่อจะบอกว่าตัวเองเป็นคนชาติใด เพราะจะถูกจัดสัญชาติให้ทันทีว่าไม่จีนก็ไต้หวัน

อัตลักษณ์ของคนที่เกิดที่อเมริกาที่มิดเวสต์ คือไม่ใช่แอลเอหรือนิวยอร์ก ค่อนข้างเจออุปสรรคเยอะ นี่หมายถึงตอนผมเด็กๆ นะ โตขึ้นมาแล้วจะเป็นอะไร เป็นไทยหรืออเมริกัน ถ้าจะเป็นคนไทย จะเป็นยังไง? ในเมื่อผมโตที่โน่น ไม่มีวัดเลยด้วย

แม้อัตลักษณ์จะไม่ชัดเจน เขาก็เติบโตมาเป็นช่างภาพมืออาชีพที่หลายแห่งวางใจฝีมือมาร่วม 10 ปี ก่อนจะเปลี่ยนมาจับงานถ่ายภาพยนตร์ และได้รู้จักกับ เอกภาสกร ประมูลวงศ์ ผ่านการแนะนำของ ป๊อปอารียา สิริโสภา ลูกสาวของครอบครัวไทยที่ใกล้ชิดกันสมัยวัยเด็กในสหรัฐฯ จนได้มาร่วมงานภาพยนตร์สารคดี กัตลังผลงานการกำกับฯ เรื่องล่าสุดของเป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งเขาบอกเลยว่า งานนี้โหดหินมาก

ผมถ่ายรูปป๊อป อารียา สมัยเธออายุ 15 ก่อนมาเป็นนางสาวไทยทอมรำลึกเหตุการณ์ผลงานภาพถ่ายอีกชิ้นที่ภูมิใจ แม้ไม่ได้ลงนิตยสารดังใดนอกจากอัลบัมครอบครัว

แต่เขาคือคนเดียวกับที่พูดในบทสัมภาษณ์นี้ว่าผมไม่เคยอยากเป็นช่างภาพเลยและชีวิตวัยเรียนของเขาคือการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยมา 4 แห่ง ถึงอย่างนั้น ที่น่าแปลกใจคือชีวิตการทำงานแรกของเขากลับไม่ได้มาด้วยใบปริญญา แต่มาด้วยวิถีที่เซอร์ไพรซ์กว่านั้น

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่คนอย่างทอม ชอบพูดว่า ‘Lucky’ บ่อยๆ ในบทสนทนา แม้เราจะรู้ว่าแทบทั้งหมด น่าจะเกิดขึ้นเพราะความสามารถของเขาเอง

(หมายเหตุ: ทอม ทวี ฟังภาษาไทยได้ แต่พูดภาษาไทยได้ไม่มากนัก เราจึงคุยกันสลับภาษาไปมาตามแต่ที่เขาถนัด)

 

คุณทอมเรียนมาทางด้านไหน

ผมเรียนมาทั้งหมด 4 มหาวิทยาลัย (หัวเราะ) ผมเปลี่ยนบ่อย ไม่รู้ว่าอยากจะเป็นอะไร บัญชีไม่เอา ธุรกิจไม่เอา ขี้เกียจ ผมหัวดีนะ แต่ไม่ใช่นักเรียนที่ดีเลย เพราะว่าผมชอบเรียนรู้ แต่ไม่ชอบทำการบ้าน

แต่ผมมีอาจารย์ที่ดีมากๆ คนหนึ่ง คือคุณพ่อของผมเป็นคนชอบถ่ายรูป ผมเอากล้อง Nikon ของพ่อมาลองถ่ายเล่น มีครูคนหนึ่งเห็นภาพพวกนั้นแล้วบอกให้ผมไปลงเรียนวิชาถ่ายภาพ ผมก็ลง แล้วก็ทำได้ค่อนข้างโอเค เธอก็เลยถามว่าวิชาเอกของคุณคืออะไร

ผมตอบธุรกิจเธอขมวดคิ้ว ถามว่าทำไม? คุณไม่ได้ชอบธุรกิจด้วยซำ้ผมตอบว่าใช่ ผมไม่ชอบ แต่ผมไม่รู้อะไรเลย ก็เลยเรียน

หลังจากนั้นผมก็ตัดสินใจออกจากมหาลัย แล้วเบนเข็มไปเรียนวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) ที่แอริโซนาแทน ซึ่งเป็นการเรียนที่เน้นหนักไปทางการถ่ายภาพ จริงๆ แล้วผมเลือกสาขานี้เพราะที่นั่นไม่มีวิชาภาพยนตร์ให้เรียน โชคดีที่ว่าแอริโซนามีหลักสูตรการถ่ายภาพเชิงวิจิตรศิลป์ที่ดีมาก และผมได้เรียนกับอาจารย์ที่เป็นภัณฑารักษ์ที่มีอิทธิพล

ผมชอบวิจิตรศิลป์นะ แต่ผมก็รู้ว่าคณะวิจิตรศิลป์ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีทักษะ คือคิดเก่ง ดูเก่ง แต่ฝีมือไม่ค่อยดี พอเรียนที่นี่จบแล้วก็เลยไปเรียนต่อด้านเทคนิค ที่ Art Center ที่พาซาดินา (Pasadena) ในแคลิฟอร์เนีย คนจะรู้จักที่นั่นในฐานะสถาบันช่างฝีมือมากกว่าสถาบันศิลปะ แต่ตอนนั้นสถาบันฯ ก็อยากจะทดลองเปิดหลักสูตรที่เน้นไปทางอาร์ตมากขึ้น ผมก็เข้าเรียนหลักสูตรนี้โดยที่ไม่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานอื่นๆ ที่ปกติแล้วบังคับ ที่นั่นเขามีหลักสูตรฟิล์ม ผมก็เลยทั้งเรียนคอร์สที่ตัวเองต้องเรียน และเรียนภาพยนตร์ไปด้วย อาจารย์ผมก็เลยงงว่า ทำไมยังทำงานไม่เสร็จ เรียนไม่จบสักที

แต่ผมดันดวงดี คือ เฟร็ด วูดเวิร์ด (Fred Woodward) บรรณาธิการศิลปกรรมของนิตยสาร Rolling Stone มาเยี่ยมสถาบันฯ เขามาดูพอร์ตโฟลิโอของผม แล้วก็ถามว่า เรียนที่นี่มานานแค่ไหนแล้ว ผมก็ตอบว่าอืมมมยังเรียนไม่จบ อยู่มา 2-3 ปีแล้วคือผมมักจะเจอปัญหาในการเรียน ไม่เคยเข้ากับอาจารย์ได้เลย

เขาก็บอกว่าคุณไม่ต้องเรียนแล้วผมก็โอ้ โอเค ผมควรทำอะไรแล้วเขาก็ให้เบอร์โทรของเขามา แล้วบอกว่า ผมควรมานิวยอร์กนะ ผมก็ลาออกมาเลย ตอนนั้นอายุแค่ 22

ผมมีความสุขนะเพราะว่าถ้าผมยังเรียนต่อ ผมคงมีหนี้การศึกษาเยอะ แต่นี่ผมไปนิวยอร์กแล้วทำงานเลย ถือว่าโชคดีมากๆ

ตลาดงานช่างภาพที่นั่นแข่งขันกันหนักไหม

ผมได้งานแรกมาอย่างโชคช่วย เพราะว่าวูดเวิร์ดให้ผมโทรหาคนนู้นคนนี้แล้วอ้างชื่อเขาไป ผมก็เลยได้ทำงานให้  GQ, Esquire และที่อื่นๆ แต่แปลกดีที่เขาให้คอนเนคชันให้ผมได้ทำงานที่โน่นที่นี่ แต่เขาเองไม่เคยใช้ผมทำงานให้ Rolling Stone เลย เขาให้ผมไปทำงานให้คนอื่นๆ ก่อน แล้วสุดท้ายค่อยให้มาทำงานกับเขา

งานชิ้นแรกที่ผมทำคือ Absolut Vodka ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กน้อย ได้งานโฆษณามาก็ถือว่า เอ้อ นี่ง่าย แต่ว่าตอนนั้นเป็นช่วงก่อนเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) พอมีสงครามปุ๊บบูม ในนิวยอร์กไม่มีงาน

แต่ผมก็ยังทำงานอยู่นะ แค่ไม่มีคนจ่ายเงิน ผมทำงานถ่ายภาพให้งานสัมภาษณ์ ทำงานให้นิตยสารหัวใหญ่ๆ บางแห่งอาจใช้เวลานานมากๆ กว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ ผมเช่าคอนโดที่นิวยอร์ก มันแพง แต่เพราะว่าผมมีเพื่อนจากมหาลัย เขาก็คอยจะช่วยเหลือ

ในช่วง 5 ปีแรก ช่วงนั้นมีช่างภาพเก่งๆ เยอะมาก ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะจากการทำงาน แต่ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดในสายอาชีพของผมก็คือ ผมไม่เคยเป็นผู้ช่วยช่างภาพมาก่อน นั่นเป็นสิ่งที่ผมควรจะทำ

ตอนแรกผมแค่คิดว่า โอเค ผมโชคดี ก็แค่เริ่มทำงานไปเลย เป็นหัวหน้าไปเลย แต่เมื่อคุณไม่เคยเป็นผู้ช่วยมาก่อน ก็จะไม่มีคนมาคอยสอนว่าอะไรต้องเป็นอะไร ผมเลยไม่รู้อะไรหลายๆ อย่าง ในขณะที่คนที่เป็นผู้ช่วยผมก็ทำงานมา 4-5 ปีแล้ว เขาเก่งมาก ส่วนผมอายุ 22 แต่กลับได้เป็นช่างภาพแล้ว

เพราะว่าคุณเก่ง?

ไม่รู้สิ ผมอาจจะมีมุมมองอะไรต่างออกไป

ส่วนใหญ่คุณถ่ายงานประเภทไหน

โอ้! ผมทำทุกอย่างเลย พอร์เทรต แฟชัน งานสารคดี ทุกอย่าง ผมเคยทำ photo illustration ด้วย เพราะว่าผมเป็นนักศึกษาวิจิตรศิลป์ งานส่วนใหญ่ก็เลยเหมือนกับงานศิลปะ ไม่ใช่ภาพถ่ายเสียทีเดียว สมัยก่อนไม่มีโปรแกรม Photoshop เหมือนเดี๋ยวนี้ ต้องใช้ 4×5 transparency ซึ่งเป็นกล้องใหญ่ และผมถ่ายภาพพอร์เทรตเยอะนะ พวกดารา นักดนตรี

คนดังคนไหนที่คุณเคยถ่าย

อื้มมันขึ้นอยู่กับว่าคนที่คุณถามถึงเป็นคนประเภทไหน เศรษฐี? ดารา? นักดนตรี? ยุคของผมมันเป็นยุคถ่ายนักดนตรี อย่างบีสตี บอยส์ (Beastie Boys) วงเพฟเมนต์ (Pavement) อย่างนี้ก็เคยถ่าย

แต่คนโปรดของผมคือ โจว เหวินฟะ (Chow Yun-fat) เขาเท่สุดๆ เลย ผมเป็นแฟนตัวยงของเขา ตอนนั้นเรานัดถ่ายภาพกันที่ฮ่องกง เขาโผล่มาพร้อมกับรถลีมูซีนสีดำคันยาว พอเปิดประตูมาก็อยู่ในชุดเทรนช์โค้ต ยังกับแบตแมนแน่ะ! แล้วผมก็บอกว่าผมรู้จักเขานะ

ตอนแรกผมคิดว่าเราจะมีเวลาถ่ายด้วยกันแค่หนึ่งชั่วโมง กลายเป็นว่าเราใช้เวลาทั้งช่วงเย็นและคืนนั้นไปด้วยกัน เขาพาผมไปโน่นนี่ พูดว่ามาๆๆ ไปกันเถอะแล้วเราก็ขึ้นไปรถเมล์สองชั้น นั่งไปรอบเมือง แล้วก็ลงไปที่ Red Light District ด้วยกัน (หัวเราะ) มันเจ๋งมาก

ที่ตลกก็คือ ครั้งหนึ่งผมบังเอิญเจอเขาตอนไปถ่ายงานที่สิงคโปร์ ผมยืนต่อคิวตักอาหารเช้าอยู่ในโรงแรม แล้วเขาก็โผล่มาทักทายผมเฮ้ เป็นไงบ้างมันรู้สึกดีนะที่เขาจำเราได้ เพราะเขาเป็นดาราที่เจอช่างภาพมามากหน้าหลายตา แล้วเราก็ไปแฮงก์เอาต์กันต่อ คุยกันเรื่องปัญหาในชีวิต อย่างเรื่องงาน เรื่องครอบครัว

เขาเป็นคนเปิดเผยมากเมื่อเทียบกับดาราที่ดังในระดับเดียวกันกับเขา คือมันเซอร์ไพรส์ที่เขาจำเราได้และยังไปคุยกันต่อ

คิดว่างานประเภทไหนที่ทำให้คนกลับมาเลือกคุณทอมไปทำงานให้อยู่เรื่อยๆ

(นิ่งคิดนาน) งานแต่ละแบบมีความท้าทายในตัวมันเองต่างกันไป ต้องเล่าอย่างนี้ก่อนว่า ช่างภาพมีสองประเภท แบบหนึ่งมีไอเดียและอีกแบบมีสไตล์

ถ้าคุณมีสไตล์ คุณจะไต่บันไดอาชีพไปได้ไวมาก คือคุณจะถ่ายแบบนี้ตลอด หลายคนเห็นภาพแล้วก็ อ๋อ รู้เลยว่าใครถ่าย แต่ช่างภาพอีกแบบคือ คิดเยอะ มีไอเดีย เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามงาน คือมองไปที่ตัวงานแล้วคิดว่าต้องเปลี่ยนเทคนิคการถ่าย เพราะว่ายึดซับเจกต์เป็นสำคัญ

เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นช่างภาพที่มาพร้อมกับสไตล์ คุณถ่ายอะไรมามันก็จะเข้ากับตัวคุณ แต่ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมยึดซับเจกต์เป็นหลัก ถ่ายให้เข้ากับเขา ผมได้รับการสอนมาแบบนั้น ซึ่งมันเป็นหนทางที่ช้าในสายอาชีพ เพราะคนจะจำไม่ได้ว่าเป็นฝีมือคุณ ผมเป็นคนไม่มีสไตล์ผมเปลี่ยนไปเรื่อย

ถ้าเกิดคุณอยากก้าวหน้าไวๆ (fast career) การทำงานแบบผมอาจไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าคุณอยากก้าวไปได้ไกล (long career) นี่คือหนทางที่ควรทำ เพราะว่าเมื่อผมมาที่นิวยอร์ก ผมมีเพื่อนๆ ที่มาพร้อมกับสไตล์ แต่พอผ่านไปได้ 2-3 ปี หลายคนก็บอกว่า เบื่อแล้ว มีคนลอกเลียนแบบด้วย แต่เพราะว่าพวกเขาทำงานด้วยสไตล์เดิมๆ มาเยอะมากจนไม่รู้จักการทำงานด้วยสไตล์อื่นอีกแล้ว ก็เลยต้องเลิกไป นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงทำงานมาได้ยาวนาน

แต่ถึงจุดหนึ่งของการทำงาน ผมก็อยากเปลี่ยน ผมเป็นคนชอบเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เพราะเป้าหมายชีวิตของผมก็คือการเรียนรู้ไม่หยุด ถ้าให้ทำอะไรซ้ำๆ เหมือนเดิมๆ คุณอาจจะเก่งขึ้นก็จริง แต่ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมอยากได้ความท้าทายใหม่ๆ อีกอย่างคือ ผมอยากจะมาทำงานภาพเคลื่อนไหวมากกว่าภาพนิ่ง นั่นคือความชอบของผมแต่แรกแล้ว

ในช่วงที่เป็นช่างภาพมืออาชีพ ได้ถ่ายหนังบ้างไหม

แค่โปรเจ็กต์เล็กๆ เพราะเมื่อคุณอาศัยอยู่ในนิวยอร์ก เป็นเรื่องยากที่คุณจะปฏิเสธเงิน ถ้าผมอยากจะทำงานภาพเคลื่อนไหว ผมอาจต้องตัดงานช่างภาพทิ้งไปเลยเพราะว่ามันใช้เวลาเยอะ จะสลับกันทำไม่ได้ แต่เมื่อคุณอยู่ในนิวยอร์ก ทุกอย่างมันแพงไปหมด เพราะฉะนั้น แม้ว่าผมจะอยากทำงานหนังเล็กๆ เหล่านั้น แต่ถ้าอีกงานให้คุณ 1,000 ดอลลาร์ ในฐานะเด็กหนุ่มอย่างผม ก็คงต้องไปทำ นั่นคือความยากของมัน

และในนิวยอร์ก ถ้าคุณอยากทำงานภาพยนตร์จริงๆ คุณอาจต้องเข้าเรียนที่ NYU (มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก) หรือโคลัมเบียมาก่อน แล้วจากนั้นก็มาเข้าสหภาพ (Union) ซึ่งมันสำคัญที่สุดเลยที่จะเริ่มต้นอาชีพสายภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่เข้าร่วมเฉยๆ นะ ต้องจ่ายเงินด้วย ไม่ง่ายเลย แต่ผมไม่เคยทำแบบนั้น คือถ้าคุณไม่เล่นเกม คุณก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในเกมนั้น แต่เดี๋ยวนี้โลกดิจิทัลอาจเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างไปแล้วกได้

ภาพยนตร์คือสิ่งที่ผมอยากทำตลอด ผมไม่เคยอยากเป็นช่างภาพเลย แต่ผมแค่ทำมันได้ดีและเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายสำหรับผม แต่ผมทำสองอย่างพร้อมกันไม่ได้

มันเจ็บปวด เพราะว่าเมื่อคุณเป็นเจ้านายตัวเองมาตลอด แค่ถ่ายภาพแชะๆๆ เสร็จแล้วก็ไปบาร์กันเถอะแต่เมื่อมาทำงานภาพยนตร์หรือทีวี มันยาว ใช้เวลามาก

หลังจากทำงานไป 10 ปี ตอนผมอายุ 30 กว่าๆ ผมรู้สึกว่า พอแล้ว เลยออกมาพักสักสองปี ไปถ่ายวิดีโอให้ใครต่อใคร ซึ่งสนุกมาก ได้ถ่ายงานสารคดีด้วย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเดินออกมาจากวงการแล้วก็คือ โลกใบนั้นจะไม่ให้คุณกลับไปอีก ก็เหมือนกับงานปาร์ตี้แหละ ถ้าคุณบอกว่า โอเค ผมจะไปต่อที่อื่นแล้วนะ แล้วพอจะกลับมาปาร์ตี้เดิม บางครั้งเขาก็ไม่ให้คุณเข้ามาแล้วแหละ ปิดประตูเลย แม้ว่าคุณจะยังรู้จักทุกคนที่อยู่ในนั้น แต่ตำแหน่งของคุณก็โดนคนอื่นแย่งไปแล้ว และผมไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ เป็นแค่ช่างภาพอาชีพคนหนึ่งกระทั่งซูเปอร์สตาร์ก็อาจกลับเข้าไปไม่ได้เหมือนกัน

งานวิดีโอช่วงแรกที่ทำงานคืองานอะไรบ้าง

ผมเป็น cameraman เลย ทำทุกอย่างตั้งแต่ทีวีโชว์ ถ่ายรายการกีฬาตกปลาให้ NBC sports มันยากมากเพราะผมไม่ชอบตกปลา คิดว่าน่าเบื่อ ผมต้องทำสองอย่าง คือ ไล่ตามเรือ แล้วก็โดดลงจากเรือ ดำน้ำไปถ่ายใต้น้ำ แล้วก็ปีนกลับขึ้นมา แม้ว่าผมไม่ได้ชอบตกปลา แต่นี่เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

แล้วก็ทำรายการหลากหลายประเภท ซึ่งผมทำไปก็เพียงเพราะอยากเติบโต ไม่ว่าจะด้วยงานอะไร อาจจะเป็นงานที่ดีหรือไม่ดี แต่มันสำคัญมากที่จะเติบโตต่อไป

กัตลัง ที่คุณทำให้เป็นเอก รัตนเรือง ไม่ใช่หนังสารคดีเรื่องแรกของคุณใช่ไหม

ส่วนใหญ่เป็นโปรเจกต์เล็กๆ ผมเคยทำงานกับผู้กำกับฯ คนไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ผมพบว่าวัฒนธรรมไทยต่างกับอเมริกันมาก ผมทำงาน pre-production เป็นปี แต่ตัวผมกับผู้กำกับฯ อาจจะไปด้วยกันไม่ได้ เราทั้งคู่ต่างคิดว่าไม่น่าจะเข้ากันได้ และผมคิดว่าผมไม่ใช่คนที่เหมาะสมจะทำงานนี้ และเพื่อจะรักษามิตรภาพเอาไว้ ผมคิดว่าดีกว่าถ้าเราจะไม่ทำงานด้วยกัน

คุณมารู้จักทีมงาน กัตลัง ได้อย่างไร

ผมเคยเจอ เอก ภาสกร ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว จากการที่ ป๊อป อารียา แนะนำให้รู้จัก แล้วเราก็ได้คุยกัน ได้ทำงานด้วยกัน ล่าสุดเราได้ถ่ายหนังเรื่อง เฟรนเนมีส์ (Frienemies เป็นสารคดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปรีดี พนมยงค์ และจอมพล . พิบูลสงคราม) แล้วจากนั้นโปรเจกต์ กัตลัง ก็โผล่ขึ้นมา

เมื่อมาถ่ายหนังสารคดี อะไรคือหัวใจสำคัญหรือเป้าหมายของการทำงานในฐานะตากล้อง

เป้าหมายของ cinematographer คือ ต้องถ่ายเพื่อขับเน้นเรื่องราวออกมาเสมอ ไม่จำเป็นต้องสวย แต่ต้องไปกับเรื่องราว คุณจะถ่ายภาพสวยๆ ออกมาก็ได้ แต่ถ้ามันไม่เข้ากับเรื่อง มันก็เป็นแค่การถ่ายภาพ แต่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมภาพยนตร์ นั่นคือสิ่งที่ผมเรียนรู้

บางครั้งมันขึ้นอยู่กับว่าคุณทำงานกับผู้กำกับฯ คนไหน และเรื่องราวนั้นเกี่ยวกับอะไรด้วย บางทีมันเป็นการเดินทางไปเพื่อตามหาเรื่องราวที่นั่น หรือบางครั้งคุณมีเรื่องอยู่ในมือแล้ว จากนั้นก็ออกไปถ่ายภาพที่จะมาเติมเต็มเรื่องราวที่มีอยู่ และสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ คุณมีเวลาให้ใช้มากแค่ไหน เพราะฉะนั้นสำหรับผม มันขึ้นอยู่กับโปรเจกต์

อย่าง กัตลัง คุณทอมเริ่มจากอะไร

เราต้องเดินทางไปที่นั่นสามครั้ง ครั้งแรกเป็นการไปสำรวจสถานที่กับพี่เอก และเราก็รู้ได้เลยว่ามันจะลำบากมาก’ (เน้นเสียง) ไม่มีถนน เดินทางยาก เป็นเส้นทางขรุขระ อันตราย

ผมเตรียมไอเดียมามากมายว่าอยากจะทำอะไรบ้าง แต่พอไปทริปแรกก็รู้เลยว่าทำไม่ได้ โชคดีที่ว่าผมทำงานลักษณะนี้มานานแล้ว และเจออะไรที่ไม่คาดฝันแบบนี้บ่อยๆ

อย่างทริปนี้ เราเจอเหตุการณ์ที่กล้อง Red ของผม (Red Dragon) ที่ผมอุตส่าห์แบกไปถ่ายด้วยดับ เพราะว่าผู้ช่วยที่นั่นไม่ใช่มืออาชีพในความหมายของมาตรฐานไทยหรือนิวยอร์ก เขาเป็นคนจิตใจดีนะ แต่ว่าเขาไม่รู้จักวิธีทำงานกับกล้อง Red แล้วกล้องก็เลยเสีย

แต่ผมเรียนรู้ที่จะพกกล้องสองตัวไปไหนมาไหนเสมอ ก็เลยยังเหลือ Panasonic LUMIX GH5 กล้องตัวเล็กให้ใช้ มันเป็นกล้องที่ดีนะ พกสะดวกและใช้ง่าย แต่ว่ามันมีรูรับแสงประมาณ 10.5 สตอป เทียบกับกล้อง Red คือ 13-16 มันจะเป็นจุดที่แตกต่างอย่างชัดเจนมากในแต่ละซีน นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าเมื่อเข้าสู่ขั้นตอน color grading อย่างวันนี้ ผมเลยต้องซ่อมแซมหลายๆ อย่าง

นั่นคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากทริปแรก ผมต้องแบกกล้อง Red กลับไปซ่อมที่แคลิฟอร์เนีย เพื่อจะให้มันพร้อมนำไปใช้งานอื่น ควักเงินค่าซ่อมไป 2,000 ดอลลาร์ (หัวเราะแห้งๆ) แล้วตอนนั้นผมเอาไฟไปด้วย ปรากฏว่าก็ดับเหมือนกัน ผมแบบ…Shit อะไรวะ! สายมันขาดข้างใน เสียค่าซ่อมไปอีก 1,000 ดอลลาร์ รวมแล้วคือผมเสียไป 3,000 ดอลลาร์

อีกอย่างคือเป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานกับเป็นเอก ผมตื่นเต้น พอมาเจออย่างนี้ ผมก็ต้องบอกเขาว่า เอ่อกล้องมันเสีย (ทำหน้าเซ็ง) ผู้ช่วยช่างภาพของผมที่นั่นก็พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ลำบากทีเดียว

แต่ผมก็เรียนรู้จากทริปครั้งที่ 2 แล้วว่า ผู้ช่วยของผมทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง นิสัยใจคอเขาเป็นอย่างไร ครั้งหนึ่งเขาทำน็อตของขาตั้งหายด้วย

ก่อนเดินทางไปผมได้เตรียมร่างกาย ทั้งวิ่งและเล่นเวทเพื่อเตรียมพร้อม แต่แม้จะทำอย่างนั้นแล้ว ก็ยังลำบากอยู่ดี เพราะระยะ 100 เมตร มันไม่ใช่ว่าไปได้ตรงๆ นะ มันต้องวนไปอย่างนี้ (ทำมือชี้วนไปวนมา) กว่าจะถึงก็ 15 นาที (หอบแรงๆ) ไม่ง่ายเลย

ยากขนาดนี้ ทำไมถึงทนทำจนจบได้

เพราะต้องทำ (หัวเราะ)

มีปัญหาอะไรในการทำงานกับคุณต้อม เป็นเอก หรือคุณเอก ภาสกร บ้างไหม

ตลอดเวลา ความยากก็คือเราเป็นเหมือนครอบครัว มันก็เหมือนกับตอนเด็กๆ ที่ผมไปตามถ่ายวงร็อกแอนด์โรลล์ที่ไปออกทัวร์ เราเป็นแบบนั้น พวกเขาเป็นวงทะเลาะกันเหมือนเป็นพี่น้อง บางครั้งพวกเขาก็อาจไม่พูดกันเลย แต่เมื่อขึ้นเวทีก็จะพบว่า ไม่มีใครแทนที่ใครได้

พอใจผลงานที่ออกมามากแค่ไหน

ผมไม่รู้ ผมรู้แค่ว่าตอนที่เราเอาฟุตเทจมานั่งดูตอนหลัง เป็นเอกจะพบว่าผมถ่ายแต่เทคสั้นๆ แทนที่จะเป็นลองเทคอย่างที่ผมต้องการ ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าผมใช้ขาตั้งกล้องไม่ได้ ต้องแบกทุกอย่างเลย (ทำท่าแบกกล้องอย่างลำบาก) แล้วถือไว้จนกว่าจะไม่ไหว ผมได้แต่บอกว่าขอโทษ แต่เป็นเอกก็รู้ด้วยว่ามีเสียงหายใจแรงๆ อยู่หลังกล้องเหมือนกับดาร์ธเวเดอร์เลย นั่นคือตัวผมเองที่กำลังฝืนให้ตัวเองอยู่นิ่งๆ

แต่มันก็มีช่วงเวลาที่ภาพตรงหน้าสวยจนตะลึงงัน ซึ่งผมมีความสุขที่ได้ภาพแบบนั้นมา

คุณได้เรียนรู้อะไรจากโปรเจ็กต์นี้บ้าง

เยอะเลย เยอะเลย โดยมากคือเรื่องผู้คน คนที่นั่นอเมซิ่งมาก ผมรู้อยู่แล้วว่าพวกเขาจะต้องใจดีมากๆ แต่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนว่าพวกเขาใจดีได้ขนาดไหน มันคือวัฒนธรรมของการให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้คาดคิดมาก่อน

ผมได้รู้ว่ามนุษย์ก็คือมนุษย์ คุณตามหาสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข อย่างถ้าคุณอยู่ในกรุงเทพฯ หรือนิวยอร์ก สิ่งที่คุณหาก็คือสิ่งที่จะทำให้คุณเป็นสุข ซึ่งก็มักจะเป็นสิ่งที่เรียบง่าย แต่หนทางที่แต่ละคนใช้เพื่อตามหามันนี่แหละ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้

เราโชคดีมากที่เราได้ไปโรงเรียนและได้เลือกสิ่งที่ชอบ ระหว่างที่เราถ่ายทำเรื่องนี้ เราได้คุยกับพวกเขาเรื่องโรงเรียน แล้วผมก็รู้ซึ้งเลยว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่พ่อแม่ได้มอบชีวิตที่ยอดเยี่ยมให้ ที่ผ่านมาผมเอาแต่ย้ายมหาลัยไปเรื่อยๆ ตอนนี้กลายเป็นว่าผมละอายตัวเองที่ทำตัวแบบนั้น เพราะคนที่นี่ เขาอยากไปโรงเรียน ให้เป็นที่ไหนก็ได้แค่ที่เดียวเอง ผมนี่โคตรโชคดีเลย

แล้วชีวิตของคนที่กัตลัง มีอะไรที่น่าอิจฉาไหม

ความเรียบง่าย ชีวิตที่นั่นเรียบง่ายกว่า ในทางที่ดีนะ คุณไม่มีนั่นโน่นนี่ที่เพิ่มขึ้นมาให้ต้องคิด

และมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นในครอบครัว แต่ในขณะเดียวกัน ในสภาพแวดล้อมนั้น คุณก็ต้องพยายามเอาตัวรอดไปกับครอบครัวเหมือนกัน และนั่นก็ทำให้สายสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น

สำหรับคุณทอม คุณค่าของหนังเรื่องนี้คืออะไร

มันเหมือนกระจก ที่คุณอาจจะยกขึ้นส่องดูตัวเอง เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่าชีวิตคืออะไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับคุณ อะไรที่คุณต้องการในชีวิต

การได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก คุณจะได้เจอคนที่มหัศจรรย์แบบที่ไม่เคยคิดว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ อย่างดาวา’ (Dava) เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อเมซิ่งมากๆ และอาชีพอย่างผมก็ทำให้ได้รู้จักคนอย่างพวกเขา และผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง แม้ว่าพวกเขาหรือเธอจะได้ไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองเป็นคนพิเศษขนาดไหน คุณจะเห็นสิ่งเหล่านี้ในหนัง กัตลัง

ที่ผ่านมาผมถ่ายดารา นักร้อง เซเลบต่างๆ แล้วก็มาพบผู้คนเหล่านี้ ซึ่งมีความจริงมากๆ แต่พวกเขาก็มาพร้อมกับการเผชิญอุปสรรคมากมายที่ต้องเอาตัวรอดไปให้ได้ มุมมองของพวกเขากลับไม่ใช่โอ้ ฉันนี่ลำบากจังเลยไม่ใช่เลย พวกเขาก็แค่เดินหน้าต่อไป ใช้ชีวิตต่อไป ไม่ร้องไห้ ซึ่งมันมหัศจรรย์มากสำหรับผม

แล้วงานสารคดีนี้มันเป็นงาน 24/7 (24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน) ช่างภาพบางคนอาจจะแค่มาถ่ายๆ แล้วก็เดินออกไป แต่กับพี่เอกและพี่ต้อมอยู่กับงานนี้ตลอดเวลา สำหรับผม มันสุดยอด และมีความสุขที่ได้มาทำงานนี้ด้วย

ถ้ามีช่างภาพรุ่นใหม่บอกว่า อยากเป็นอย่างคุณทอมบ้าง คุณจะแนะนำว่าอย่างไร

อย่า (หัวเราะ) เพราะว่าผมไม่ใช่คนที่จะเข้าร่วมสมาคมที่ไม่ต้อนรับผม แต่ถ้าคุณอยากเป็นช่างภาพมืออาชีพในตอนนี้ ผมว่ายากแล้ว เพราะมันไม่ได้ทำเงินมากอย่างสมัยก่อน และก็เพราะว่าทุกวันนี้คุณไม่จำเป็นต้องร่ำเรียนมาจากสถาบันเฉพาะทาง เพราะมันมีกล้องดิจิทัลแล้ว การที่คุณจะทำให้ตัวเองแตกต่างจากคนอื่นต่างหากที่กลายเป็นเรื่องยากขึ้น

Fact Box

ทอม ทวี ช่างภาพมืออาชีพ อายุ 51 ปี เกิดที่ดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน จบการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์ (FIne Arts) จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University)

มีผลงานถ่ายภาพมากมายทั้งงานนิตยสารและงานโฆษณาให้กับ British Airways High Life, Rolling Stone, GQ, Vanity Fair, Men’s Journal, UK Conde Nast Traveler, Leo Burnett, Ogilvy & Mather, Warner Bros Records, Wieden & Kennedy, Fifth Thirds Bank, Travel & Leisure, DestinAsian, TIME, Alpha, Clairol , Mademoiselle, Popular Science และ GOLF

ปัจจุบัน เขาเป็นช่างภาพและผู้กำกับภาพอิสระ มีผลงานถ่ายทำหนังสารคดีเรื่อง Frienemies สารคดีการเมืองที่สำรวจชีวประวัติของ ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล . พิบูลสงคราม สองผู้นำสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นผลงานที่ทำร่วมกับ ภาสกร ประมูลวงศ์ ผู้ที่เคยร่วมงานกับ เป็นเอก รัตนเรือง จากเรื่อง ประชาธิป'ไทย (Paradoxocracy) มาแล้ว

Tags: , , , , , , ,