พรุ่งนี้มีรายงานต้องส่งตอน 09.00 น. แต่เข็มนาฬิกาตอนนี้บอกเวลา 20.15 น. คุณรู้สึกได้ถึงความล้าที่สะสมมาทั้งวันจากการ… กวาดขยะ ซักผ้า ล้างห้องน้ำ ทำอาหาร และดูเน็ตฟลิกซ์แบบมาราธอน แม้จะรู้ตัวตั้งแต่หลายวันก่อนแล้วก็ตามว่า หากไม่เริ่มต้นพิมพ์งานเสียตั้งแต่ตอนนั้น คุณอาจลำบากทีหลังในคืนสุดท้ายก่อนเดดไลน์

เหลือเวลาไม่มากแล้ว… เมื่อสมองคิดได้เช่นนั้น คุณรีบกางจอโน้ตบุ๊กขึ้นอย่างว่องไวก่อนจะ… ดูคลิปยูทูบสั้นๆ สักคลิป เช็กอีเมลสักนิด เล่นเกมผ่อนคลายสักครู่ก่อนเริ่มงาน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตีหนึ่งเข้าไปแล้ว 

วินาทีนั้น คุณสัมผัสได้ถึงพลังงานดำมืดที่คืบคลานเข้ามาจากด้านหลังขณะที่จ้องมองเลข ‘01:00 AM’ บนหน้าปัดนาฬิกา แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง คุณตัดสินใจว่าจะขอนอนก่อนสักตื่น แล้วค่อยลุกมาพิมพ์งานตอนเช้ามืดแล้วกัน

หากสถานการณ์ที่บรรยายไว้ 3 ย่อหน้าด้านบน ทำให้คุณรู้สึกขนลุกและคุ้นเคยอย่างประหลาด เป็นไปได้สูงว่าคุณจะเป็น ‘นักผัดวันประกันพรุ่ง’ ที่เก่งชนิดหาตัวจับยาก

อันที่จริง เราทุกคนล้วนเคยตกอยู่ในวังวนของการผัดวันประกันพรุ่งกันทั้งนั้น หากไม่ใช่เรื่องงานก็เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างการเริ่มต้นออกกำลังกาย เอารถไปต่อทะเบียน อ่านหนังสือที่ซื้อมาตั้งเป็นกอง ดองตั้งแต่งานหนังสือปีก่อนโน้น หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยอย่างการล้างจาน

แน่นอน ทุกคนรู้ว่าการผัดวันประกันพรุ่งไม่ใช่เรื่องดี แต่น้อยคนที่จะรู้เท่าทันว่าทำไมตนเองจึงอดไม่ได้ที่จะขอเลื่อนเวลาออกไป ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกถึงผลเสียที่จะตามมา

การผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้เกิดจาก ‘ความเกียจคร้าน’ เสมอไป

ก่อนอื่น เราควรเข้าใจก่อนว่าการตัดสินใจเลื่อนเวลาทำกิจกรรมสักอย่าง ไม่ได้ถือเป็นการผัดวันประกันพรุ่งทุกกรณี แต่อาจเป็นการจัดลำดับ ‘ความเร่งด่วน’ และ ‘ความสำคัญ’ ของงานเสียใหม่ เพื่อบริหารเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไปกับงานที่เร่งด่วนและสำคัญกว่าก่อน

ส่วนการผัดวันประกันพรุ่งที่แท้จริง คือการเลื่อนเวลาออกไปทั้งที่ไม่มีงานเร่งด่วนหรือสำคัญกว่าต้องทำ และไม่มีเหตุผลรองรับทั้งที่รู้ว่าไม่ควรทำ

การยืนยันทำสิ่งที่เรารู้ดีว่าจะส่งผลเสียต่อตัวเรา แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้ อาจดูเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย แต่จริงๆ แล้วปรากฏการณ์นี้เกิดจากร่างกายพยายาม ‘ปกป้อง’ เราจากภัยอันตราย

สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนสัญญาณเตือนภัยที่ตอบสนองต่อความกลัวและอารมณ์ตามสัญชาตญาณ มีปฏิกิริยาต่องานแบบเดียวกับการเจอสัตว์อันตรายอย่างงู คือสมองส่งสัญญาณให้หนีและหลีกเลี่ยง 

แม้โดยปกติจะมีสมองอีกส่วน คือพรีฟรอนทัลคอร์เท็กซ์ (Prefrontal Cortex) ที่คอยสร้างสมดุล ชั่งน้ำหนักระหว่างอารมณ์กับเหตุผล ช่วยให้เราคิดถึงผลลัพธ์ของการกระทำในระยะยาวได้ แต่ในบางกรณีฮอร์โมนที่สมองส่วนอะมิกดาลาปล่อยออกมาเพราะความตื่นตระหนก กลับมีอำนาจเหนือร่างกายในชั่วขณะ ที่ทำให้เราตัดสินใจว่า ‘ขอเลื่อนไปก่อน’ มากกว่าการชั่งน้ำหนักอื่นใด

งานประเภทที่เรามีแนวโน้มจะผัดวันออกไป จึงเป็นงานที่กระตุ้นความรู้สึกด้านลบ เช่น งานที่ยุ่งยาก งานที่น่าเบื่อ งานที่ไม่ชอบ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำแย่ๆ

กลุ่มคนที่มักตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ ประกอบด้วยคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่าตนเองมีความรู้ความสามารถพอจะทำงานเหล่านี้ หรือกลัวความล้มเหลว และเหล่าเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) ที่มักกังวลถึงผลลัพธ์ที่จะออกมา

พฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของคนเกียจคร้านที่ไม่ใส่ใจจะทำงานเสมอไป เพราะบางครั้งคนเราก็ผัดวันเพราะเราใส่ใจและกังวลเรื่องงานมากเกินไปต่างหาก

วิธีจัดการกับสัญชาตญาณตามธรรมชาติการ ‘หลีกหนีงาน’

การผัดวันประกันพรุ่งอาจไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้านก็จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาว

การเริ่มต้นยากที่สุดเสมอ เพราะเป็นวงการที่ ‘เข้าง่าย ออกยาก’ แต่ถึงกระนั้น หากไม่เริ่มสักที ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรเราจะทำลายวงจรอุบาทว์นี้ได้

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการสร้างกฎระเบียบชุดใหม่และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดที่สุด คือคำตอบของการแก้ไขพฤติกรรมนี้ แต่ความจริง การหักดิบด้วยกฎที่เข้มงวดโดยทันที นอกจากไม่ช่วยแก้ไขพฤติกรรมในระยะยาว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้เราเครียดและรู้สึกผิดกับวิถีชีวิตก่อนหน้าอีกด้วย

วิธีการที่ผ่านการศึกษามานับครั้งไม่ถ้วนว่าได้ผลชะงัดกว่ามาก คือการเปลี่ยนวิธีคิดที่เรามีต่องานชิ้นนั้นๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ การตั้งเป้าหมายว่าจะเขียนเปเปอร์ ‘ทั้งเล่ม’ อาจทำให้เราท้อแท้ได้ง่าย

แต่หากเราหั่นเปเปอร์ของเราเป็นหน่วยที่เล็กลงมาสักหน่อย ได้แก่ เนื้อหาส่วนต่างๆ ที่กำหนดหัวเรื่องเอาไว้ อาจทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าปริมาณและความยากของงานที่ต้องทำอยู่ในระดับไหน จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มไปทีละส่วนตามลำดับหรือความสนใจ เพื่อให้มีแรงจูงใจเริ่มงานมากขึ้น

การจัดระเบียบความรู้สึกแง่ลบที่เกิดขึ้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยให้เราคลายความกังวลได้ระดับหนึ่ง โดยอาจทำด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น ลิสต์สาเหตุที่ไม่อยากเริ่มงานออกมาเป็น Bullet Point เพราะไม่แน่ว่า ระหว่างที่เรากำลังเรียงออกมาทีละสาเหตุ เราอาจพบปัญหาที่แท้จริงและหนทางแก้ไขที่ใกล้ตัวกว่าที่เราคาดคิดไว้

อ้างอิง

Lieberman, C. (2019) “Why You Procrastinate (It Has Nothing to Do With Self-Control)” The New York Times. https://www.nytimes.com/2019/03/25/smarter-living/why-you-procrastinate-it-has-nothing-to-do-with-self-control.html 

Nebelskyi, V. (2022). “Why you procrastinate even when it feels bad” TED-Ed. https://www.youtube.com/watch?v=FWTNMzK9vG4 

Psychology Today.  “Procrastination”. https://www.psychologytoday.com/us/basics/procrastination 

Insider Science. (2018). “What Happens When You Procrastinate Too Much”. https://www.youtube.com/watch?v=NIn7opOQWGQ 

Tags: , , , , , , ,