ใครที่เคยดูภาพยนตร์แฟรนไชส์ Deadpool มาก่อน คงทราบกันดีว่า นอกจากทักษะการต่อสู้ที่เป็นเลิศแล้ว สกิล ‘ปากแจ๋ว’ พูดเป็นต่อยหอย และพลังการฟื้นฟูร่างกายระดับเทพ ตัวละครเดดพูลหรือเวด วิลสัน (Wade Wilson) ยังมีสิ่งหนึ่งที่ในบรรดาฮีโร่ตัวอื่นจากแฟรนไชส์มาเวล (Marvel) ไม่มี นั่นคือการทำลายกำแพงที่ 4 (Breaking the Fourth Wall) หรือการที่ตัวละครรับรู้ว่า มีคนดูตนเองอยู่ และหันหน้ามาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง โดยเราจะสังเกตว่า ในภาพยนตร์เดดพูลจะหันมาทำลายกำแพงที่ 4 เพื่อพูดคุยกับผู้ชมอยู่บ่อยๆ พร้อมปล่อยมุข 18+ เรี่ยราดเป็นประจำ 

การทำลายกำแพงที่ 4 มีที่มาจากการแสดงละครเวที ที่ฉากหลังและด้านข้างของเวทีจะถูกเรียกว่ากำแพงที่ 1 2 และ 3 ส่วนกำแพงที่ 4 คือฝั่งคนดูที่กำลังชมการแสดงอยู่ นักแสดงทั้งหมดต้องแกล้งทำเป็นไม่เห็นเหล่าผู้ชม แต่หากมีนักแสดงคนใดหันไปพูดคุยกับผู้คนบนอัฒจันทร์ กำแพงที่ 4 จะทลายลงทันที ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ทำลายกำแพงนี้ได้มักเป็นตัวประกอบหรือตัวตลก เพื่อสร้างสีสันในการแสดง ต่อมาเทคนิคนี้ถูกดัดแปลงและนำมาใช้ในภาพยนตร์ แต่ก็มีให้เห็นไม่บ่อยนัก

กลับมาที่เรื่องของเดดพูล ถ้าใครได้อ่านมาร์เวลคอมมิก (Marvel Comics) ก็จะรู้ว่า เดดพูลมีความสามารถในการทำลายกำแพงที่ 4 ตั้งแต่ตอนที่เป็นตัวการ์ตูน 2 มิติในหนังสือ เดดพูลมักจะหันมาสบถและพูดคุยกับคนดูอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังสามารถกระโดดข้ามหน้ากระดาษ หรือแม้กระทั่งโผล่ไปยังหนังสือเล่มอื่นได้อีกด้วย สาเหตุที่ทำให้พฤติกรรมของเดดพูลแปลกประหลาดกว่าคาแรกเตอร์อื่นๆ เพราะเขารู้ตัวว่า ตนเองเป็น ‘ตัวละคร’ ที่มีคนกำลังจ้องมองอยู่ตลอด ตามที่ผู้เขียนอย่าง ร็อบ ลีเฟลด์ (Rob Liefeld) เคยกล่าวไว้ 

“ถ้าพูดกันในหลักความเป็นจริงที่สมเหตุสมผล เดดพูลอาจไม่ได้รู้ตัวว่า มีคนมองอยู่ เพียงแต่ป่วยเป็นโรค Truman Syndrome”

Truman Syndrome คือหนึ่งในกลุ่มอาการโรคหลงผิด (Delusional Disorder) ที่ผู้ป่วยรู้สึกหรือคิดไปเองว่า มีคนกำลังจับตามองดูอยู่ตลอดเหมือนรายการเรียลลิตีเกมโชว์ โดยชื่อ Truman Syndrome มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show ที่ออกฉายในปี 1998 ตัวละครหลักอย่าง ทรูแมน เบอร์แบงก์ (แสดงโดย จิม แคร์รี่) ชายหนุ่มชาวอเมริกันที่ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญกลับพบว่า ชีวิตของตนเองตั้งแต่เด็กจนโต ถูกถ่ายทอดสดให้คนทั้งโลกชมตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านรายการเรียลลิตีโชว์ที่ชื่อว่า Truman Show ทำให้เขาพยายามเฟ้นหาวิธีที่จะหลบหนีออกมา

แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show นั้น คล้ายคลึงกับอาการของผู้ป่วย Truman Syndrome ที่คิดว่า ตนเองกำลังถูกจ้องมองอยู่ตลอดเวลา และคิดว่า ชีวิตในแต่ละวันของตนเองเป็นเพียงรายการเกมโชว์ที่มีคนดูอยู่ในห้องส่ง รวมถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นเรื่องแต่งและถูกเซ็ตขึ้นมาเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยโรค Truman Syndrome ส่วนใหญ่มีอาการหวาดระแวงในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ไว้ใจใคร ในบางรายอาจมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย เนื่องจากคิดวิตกกังวลอยู่บ่อยครั้ง

สาเหตุของการเกิดโรค Truman Syndrome ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างแน่ชัด แต่จิตแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่า น่าจะเกิดจากพันธุกรรมที่ส่งต่อมาจากพ่อแม่ หรือความผิดปกติทางสมองในส่วนการรับรู้ รวมถึงคนที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะทางความเครียดในระดับสูงเป็นเวลานาน 

ทว่า Truman Syndrome จัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับโรคหลงผิด ซึ่งสาเหตุรวมถึงวิธีการรักษาน่าจะคล้ายคลึงกัน โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และประเมินอาการ จากนั้นจะตรวจแบบเฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อไป

แนวทางการรักษา Truman Syndrome ค่อนข้างเหมือนกับการรักษาโรคทางจิตชนิดอื่นๆ นั่นคือการให้ยาร่วมกับการบำบัด โดยแพทย์จะให้ยากล่อมประสาทเพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวล รวมถึงผู้ที่มีปัญหากับการนอนหลับ และอาจให้ยาต้านเศร้าร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีสภาวะซึมเศร้า

ส่วนของการบำบัดแพทย์ อาจใช้วิธีการพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อทำความเข้าใจกับอาการที่เป็นอยู่ หรือในบางกรณี อาจใช้วิธีการบำบัดที่เน้นการพูดคุยเพื่อปรับพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) โดยส่วนใหญ่แล้ว แต่ละวิธีการจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและความเหมาะสม ซึ่งหากรู้ว่า ตนเองหรือคนใกล้ตัวมีแนวโน้มที่จะเป็น Truman Syndrome อย่าชะล่าใจ และควรเดินทางไปปรึกษาจิตแพทย์ 

สุดท้ายแล้ว ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครสนใจผู้อื่นมากมายขนาดนั้น ถึงแม้มนุษย์จะสามารถจดจำใบหน้าของผู้คนได้มากถึง 5,000 หน้า แต่สมองของเราขบคิดเรื่องราวที่มีข้อมูลพ่วงมาด้วยไม่เกิน 3-4 เรื่องเท่านั้น ความผิดพลาดเล็กน้อยของคุณอาจไหลเวียนอยู่ในสมองของคนแปลกหน้าไม่ถึง 8 วินาทีด้วยซ้ำ

ดังนั้น บนโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้มีอีกเป็นแสนล้านเรื่องราว ที่น่าสนใจมากกว่าความผิดพลาดของคุณ ไม่ต้องวิตกกังวล โทษตนเอง หรือใส่ใจมากเกินไป ไม่มีใครกำลังตามจับผิดหรือจับจ้องคุณ

เว้นแต่แม่และหัวหน้าแผนก

ที่มา:

 – https://www.psychologytoday.com/us/blog/in-excess/201608/the-truman-show-delusion

https://www.webmd.com/mental-health/features/truman-show-delusion-real-imagined

https://www.pobpad.com/delusional-disorder-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94

Tags: , ,