‘เพราะความหวานของน้ำตาล ไม่สามารถลบล้าง ความขมขื่นของโลกใบนี้ได้’

บ่อยครั้งที่เราใช้ ‘ของหวาน’ เป็นเครื่องมือในการระงับอารมณ์หงุดหงิด หรือความรู้สึกที่หม่นหมอง ด้วยความเชื่อที่ว่า รสหวานจะช่วยเยียวยาจิตใจ ความหวานจะทำให้สดชื่น จนหลงลืมความขมขื่นชั่วขณะ ทำให้ถึงแม้เราต่างรู้กันดีว่าน้ำตาลทำร้ายร่างกายอย่างไร แต่ก็ยังยินดีกลืนกินมันเข้าไปด้วยความเต็มใจ 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในทางระบบประสาท ความหวานก็ช่วยทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้จริง

น้ำตาลสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งโดปามีน (Dopamine) หรือที่เรารู้จักกันในนามฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาในปริมาณมาก ทำให้คนที่ได้กินของที่รสชาติหวานจะรู้สึกดีขึ้นทันทีหลังรับประทานเข้าไป แต่สิ่งที่น่ากังวลใจคือ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น คุณจะมีความสุขได้เพียง 20 นาทีเท่านั้น ก่อนที่ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อยและต้องการน้ำตาลในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ และทำให้เรากลับมารู้สึกดีขึ้นอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ต่างจากการที่ร่างกายตอบสนองกับ ‘ยาเสพติด’ นั่นจึงทำให้ในทางการแพทย์จัดน้ำตาลอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับสารเสพติด

ดังนั้น ถ้าให้เปรียบน้ำตาลเป็นเหมือนเพื่อนที่คอยดูแลยามโศกเศร้า ก็คงเป็นเพื่อนที่ไม่จริงใจและทรยศเราในตอนสุดท้าย เพราะนอกเหนือจากเรื่องฟันผุและโรคเบาหวาน น้ำตาลยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวอีกด้วย

จากงานวิจัย Sugar intake from sweet food and beverages, common mental disorder and depression: prospective findings from the Whitehall II study ในปี 2017 เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างระดับน้ำตาลในอาหารที่บริโภคกับอาการทางจิตและภาวะซึมเศร้า ระบุว่า การบริโภคน้ำตาล อาหารรสหวานและเครื่องดื่มที่ส่วนผสมของน้ำตาล ส่งผลเสียต่อสุขภาพทางจิตทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและอาการทางจิตในระยะยาว โดยเฉพาะในผู้ชายมีโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าถึง 23% หลังจากบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากผ่านไป 5 ปี หรืออาจกล่าวได้ว่าในช่วงแรกของการกินของหวานคุณอาจรู้สึกดี แต่อีก 5 ปีต่อมาคุณอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้

แม้อาจฟังดูแปลกประหลาดว่าทำไมการกินน้ำตาลหวานๆ ถึงทำให้เราซึมเศร้าได้ แต่คำอธิบายในทางชีววิทยา มีความเชื่อมโยงหลายอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลกับความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในระยะยาว 

สิ่งแรกคือ การบริโภคน้ำตาลเป็นเวลานานมีผลต่อระดับนิวโรโทรฟิกแฟคเตอร์ (BDNF) ซึ่งเป็นโมเลกุลโปรตีนที่กระตุ้นการเพิ่มแขนงระบบประสาท และปรับความสามารถในการยืดหยุ่นของสมอง ส่งผลให้เกิดการฝ่อของสมองส่วนฮิบโปแคมปัส (Hippocampus) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำและการเรียนรู้ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เผชิญกับสภาวะซึมเศร้า

ความเชื่อมโยงที่สองคือ การบริโภคน้ำตาลที่เป็นสารอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการแปรรูปมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะอักเสบและเจ็บป่วยเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดภาวะความเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ 

ประการที่สามคือ การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณมากจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้ระดับอินซูลิน (Insulin) เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการแปรปรวนของอารมณ์

นอกเหนือจากเรื่องทางชีววิทยา การบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากอาจนำมาซึ่งโรคอ้วนหรือรูปร่างที่ไม่เป็นไปตามค่านิยมของคนในสังคม ส่งผลให้เกิดแรงกดดันจากสายตาของคนโดยรอบ ประกอบกับค่านิยมเรื่องเรือนร่าง อาจจะทำให้รู้สึกไร้ค่าและรู้สึกสิ้นศรัทธาในตนเอง จนนำไปสู่ความเครียดสะสมและภาวะซึมเศร้าในอนาคต

อย่างไรก็ตามการบริโภคน้ำตาลอย่างพอดี ประกอบกับการรับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ จะช่วยทำให้ร่างกายคุณคงสมดุลและฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติ การพึ่งพาความหวานสังเคราะห์อาจทำให้คุณอารมณ์ดีได้ชั่วครู่แต่มันไม่คงทนถาวร รสชาติของอาหารก็เหมือนกับรสชาติของชีวิต อดทนกับความขมขื่นสลับกับเสพสุขกับความหวานชื่น เพื่อสร้างบาลานซ์ให้กับชีวิตและร่างกาย

อ้างอิง

https://www.nature.com/articles/s41598-017-05649-7

Tags: , , ,