“ขอโทษถ้าทำให้เธอรู้สึกแบบนั้น แต่ฉันมีเหตุผล”

“ฉันรู้ว่ามันผิดและต้องขอโทษ แต่เธอก็ไม่ได้ถูกไปเสียหมดนี่”

ขึ้นชื่อว่าการทะเลาะ คงไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ ปรารถนา แต่ตราบใดที่ยังอยู่ในสังคมทั้งกับเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้าง หรือแม้แต่ครอบครัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางทีก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายหาเรื่องให้ตัวเองหรือเป็นคนที่อยู่นิ่งๆ แล้วเรื่องก็ยังเข้ามาหาก็ตาม

บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งยุติได้ด้วยการกล่าวคำว่า ‘ขอโทษ’ เพราะไม่ว่าเรื่องจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน การขอโทษอย่างจริงใจนับเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุดต่อจิตใจของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะกับสถานการณ์ที่ผ่านไปและแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

แต่ทำไมคำขอโทษบางคำจึงไม่อาจนำมาซึ่งการให้อภัยได้ง่ายๆ?

นอกจากการใช้คำขอโทษอย่างพร่ำเพรื่อจนผู้ฟังไม่รู้สึกถึงความหมายที่ตั้งใจจะสื่อ หรือการขอโทษแบบขอไปทีที่ทำเพื่อประชดประชันแล้ว เราอาจเคยเผชิญกับวิธีขอโทษอีกประเภทที่พบเจอได้บ่อยไม่แพ้กัน นั่นคือการขอโทษแบบมีเงื่อนไข ที่ขึ้นประโยคมาเหมือนว่าจะขอโทษอย่างจริงใจ ทว่าคำพูดต่อไปมักจะเสริมด้วยคำว่า ‘แต่’

“ขอโทษนะ แต่ฉันไม่ผิด”

แม้ความผิดของผู้กระทำดูจะชัดเจนเสียจนไม่สามารถแก้ต่างอะไรได้ ทว่ายังมีหลายกรณีที่สุดท้ายคำขอโทษที่ผู้ถูกกระทำได้รับนั้นพ่วงมาด้วยการพูดเพื่อปกป้องตัวเอง และอาจทำให้ผู้ถูกกระทำสับสนจนต้องมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า หรือเราเองก็มีส่วนผิด? แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ตาม

 

ทำไมการยอมรับผิดจากใจถึงเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน

“การขอโทษอาจทำให้รู้สึกเหมือนว่าเรากำลังยอมรับความล้มเหลว หลายคนคิดว่าเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ ทั้งที่จริงแล้ว การเอ่ยคำขอโทษเป็นสัญญาณของความเข้มแข็งต่างหาก”

โรเบอร์ตา แบบบ์ (Roberta Babb) นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้

เธอมองว่า การเอ่ยคำขอโทษเปรียบเสมือนภัยคุกคามต่อความรู้สึก เพราะการที่ได้รับรู้ว่าตัวเองผิดพลาด อาจนำไปสู่ความรู้สึกแง่ลบอื่นๆ เช่น ความวิตกกังวล ความละอายใจ หรือความโศกเศร้า ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มนุษย์มักหลีกเลี่ยงเป็นปกติ การพูดขอโทษจากใจจึงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความกล้าหาญเพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองได้กระทำลงไป

ทั้งนี้ การไม่กล้าเอ่ยคำว่าขอโทษยังสะท้อนถึงระดับของความเคารพนับถือตัวเอง (Self-Esteem) และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง (Self-Worth) ที่ต่ำเสียจนผู้กระทำต้องปกป้องอัตตาอันเปราะบางที่ตัวเองมี ซึ่งการปกป้องตัวเองที่ว่านี้อาจไม่ได้ลงเอยเพียงแค่การปฏิเสธข้อเท็จจริง แต่ยังนำไปสู่การกล่าวโทษและโจมตีคนอื่น หรือหนักไปถึงการเล่าเรื่องโกหกบิดเบือนข้อเท็จจริงให้อีกฝ่ายดูไม่ดี เพียงเพื่อให้ความรู้สึกขุ่นมัวของตนเบาบางลง

หลายคนที่ทำผิดอาจไม่กล้าแม้แต่จะขอโทษ แต่การเอ่ยคำขอโทษไม่ได้แปลว่าเราเป็นผู้กล้าเสมอไป เพราะคำขอโทษแบบ ‘Sorry not sorry’ ยังถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการ Gaslighting ที่ทำเพื่อให้อีกฝ่ายสับสนและสงสัยตัวเอง ซึ่งจะอันตรายอย่างยิ่งหากคำขอโทษแบบมีเงื่อนไขนี้ถูกนำเสนอออกมาอย่างแนบเนียน 

การที่ผู้ถูกกระทำได้รับคำขอโทษแต่พ่วงมาด้วยคำอธิบายต่างๆ นานา อาจทำให้เกิดความสับสนว่า สรุปแล้วใครเป็นคนผิดกันแน่ หรือเมื่อได้ฟังคำขอโทษที่ดูเหมือนว่าออกมาจากใจจริงแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้อภัยอีกฝ่ายได้ ก็อาจเกิดคำถามว่า เป็นเราที่ผิดเองหรือเปล่าที่ไม่ยอมยกโทษให้ ทั้งที่เขารู้สึกผิดขนาดนี้

หากเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น หมายความว่า คนที่ต้องแบกความรู้สึกผิดก็ไม่ใช่คนกระทำแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

ถ้าต้องเจอกับคนแบบนี้ เราจะจัดการอย่างไร 

คงไม่ยากถ้าเรากับเขาเป็นคู่ที่ไม่ลงรอยและไม่ได้มีความสัมพันธ์อันดีใดๆ ต่อกันอยู่แล้ว แต่หากคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมเช่นนี้ เรื่องจะซับซ้อนขึ้นเพราะเราคงไม่สามารถตัดเขาออกไปจากชีวิตได้ง่ายๆ ด้วยเงื่อนไขทางความสัมพันธ์

สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่เรื่องพื้นฐานอย่างเรื่องความเห็นอกเห็นใจ เพื่อยอมรับว่า ในเมื่อเขายังคงเป็นแบบนี้ และยังไม่มีท่าทีจะเปลี่ยน เราก็ต้องทำความเข้าใจเขาในประเด็นสำคัญอย่างเรื่องการปกป้องตัวเอง เพราะหากอีกฝ่ายเป็นคนที่มีความเคารพนับถือตัวเอง เขาจะไม่คิดว่าการยอมรับในสิ่งที่ตนทำผิดจะสั่นคลอนตัวตนของเขาได้ ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะรู้สึกโกรธเคืองไม่ได้เลย แต่ต้องตระหนักว่า การละเว้นการโต้เถียงนั้นก็เป็นไปเพื่อตัวเราเองด้วย

ขณะเดียวกัน หากทบทวนดูแล้วพบว่าเราเป็นคนแบบนั้นเสียเอง คนที่ลึกๆ แล้วไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง หรือพยายามหลีกเลี่ยงความผิดของตัวเอง สิ่งแรกที่สำคัญและน่าจะทำได้แล้วคือการรู้เท่าทันตัวเอง ซึ่งเมื่อรู้แล้วก็ต้องยอมรับความจริง ที่แม้จะยากแต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อปรับปรุงนิสัย

ที่มา:

https://www.stylist.co.uk/life/sorry-apologise-hard-psychology-relationships/584667

https://www.psychologytoday.com/us/blog/psych-illogical/201810/sorry-not-sorry 

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-mental-health-revolution/202203/i-m-sorry-you-feel-way-and-other-gaslighting-tactics

Tags: , , , , , , ,