คุณเคยประสบปัญหากับการหาวิดีโอเพื่อรับชมระหว่างกินข้าวหรือไม่ หลายครั้งที่ไม่ว่าจะคลิกเข้าไปในแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มใดก็ไม่เจอคลิปที่ถูกใจสักที จนอาหารในจานเริ่มหายร้อนและถูกลดทอนความอร่อย แต่ถ้าให้เลือกระหว่างรับประทานอาหารที่สดใหม่กับยอมเสียเวลาเลือกคลิปที่ถูกใจ เชื่อว่าหลายคนคงยอมเลือกอย่างที่ 2 เพราะวิดีโอ ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ที่ชวนเพลิดเพลินทำให้เรารู้สึกเคลิบเคลิ้มไปกับรสชาติของอาหารได้มากขึ้น หรือบางคนอาจจะมีพฤติกรรมสไลด์หน้าจอโทรศัพท์ระหว่างกินข้าว แต่รู้หรือไม่ว่า การมองจอโทรศัพท์ขณะรับประทานอาหารอาจทำให้อ้วนขึ้นโดยไม่รู้ตัว
งานวิจัย Smartphone use while eating increases caloric ingestion ที่เผยแพร่ในปี 2019 เกี่ยวกับการประเมินพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ระหว่างมื้ออาหารและการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก โดยทดสอบกับอาสาสมัครเพศชายและเพศหญิงจำนวน 62 คน มีอายุระหว่าง 18-28 ปี กำหนดให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรับประทานอาหารภายใต้ข้อกำหนด 3 อย่าง ได้แก่ นั่งรับประทานอาหารแบบไม่มีสิ่งรบกวน นั่งรับประทานอาหารร่วมกับการใช้โทรศัพท์ และนั่งรับประทานอาหารร่วมกับการอ่านข้อความที่ปรินต์ออกมา ผลปรากฏว่า การรับประทานอาหารระหว่างการใช้โทรศัพท์และการอ่านข้อความไปด้วย ส่งผลให้กลุ่มคนดังกล่าวได้รับแคลเลอรีและไขมันเพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารแบบไม่มีสิ่งรบกวน
แล้วทำไมการดูโทรศัพท์ตอนกินข้าวถึงทำให้อ้วนขึ้น
งานวิจัย Using Smartphones When Eating Increases Caloric Intake in Young People: An Overview of the Literature ในปี 2020 เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ขณะรับประทานอาหารกับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในวัยรุ่น ระบุว่า การใช้โทรศัพท์ระหว่างมื้ออาหารทำให้วัยรุ่นได้รับแคลอรีที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะที่อยู่เหนือการควบคุมโดยทั่วไปของมนุษย์ เช่น รูม่านตา ต่อมน้ำลาย การหลั่งน้ำย่อย หรือแม้กระทั่งการหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) จากต่อมหมวกไตถูกรบกวนและทำงานหนัก ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ควบคุมความหิวหรืออิ่มไม่ค่อยได้ ร่างกายอ่อนเพลีย และสมองมึนงง
ความจริงแล้วระบบประสาทซิมพาเทติกไม่ได้ถูกรบกวนจากการชมคลิปวิดีโอขณะรับประทานอาหารเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกครั้งเมื่อเราใช้สายตาเพ่งมองจอโทรศัพท์ โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นั่นเป็นเพราะเมื่อเราจ้องมองหน้าจอเหล่านี้ ดวงตาจะสัมผัสกับแสงสีฟ้าที่ถูกปล่อยออกมา ทำให้รูม่านตาของเราหดและขยายได้มากกว่าแสงที่มาจากธรรมชาติ กระตุ้นให้ระบบประสาทซิมพาเทติกทำงานหนักขึ้น
มิหนำซ้ำการหดและขยายตัวอย่างหนักของดวงตา ยังส่งผลต่อการหลั่งสารแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการรับรู้ความเจ็บปวด ร้อนหนาว และรสชาติของอาหารบางอย่าง ซึ่งจุดนี้อาจทำให้เรารู้สึกไปเองว่า เวลาหาอะไรดูไปด้วยขณะกินข้าว ทำให้รสชาติอาหารอร่อยมากยิ่งขึ้น ทั้งที่จริงแล้วรสชาติก็ไม่ต่างจากตอนที่กินข้าวแบบปกติสักเท่าไร
ระบบประสาทซิมพาเทติกพังก็ควบคุมความหิวและอิ่มไม่ได้
เมื่อระบบประสาทซิมพาเทติกทำงานหนักขึ้น ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง อีกหนึ่งสิ่งที่จะตามมาคือ ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin Hormone) ที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวของร่างกายจะถูกกระตุ้นทำให้รู้สึกหิวมากขึ้น เนื่องจากร่างกายคิดว่ากำลังตกอยู่ในสภาวะเครียดและขาดแคลนสารอาหาร แน่นอนว่าเมื่อไม่สามารถควบคุมความหิวของตนเองได้ ก็ไม่สามารถควบคุมความอิ่มได้เช่นกัน เนื่องจากการเพิ่มสูงของระดับฮอร์โมนเกรลินไปกดทับการหลั่งฮอร์โมนเลปติน (Leptin Hormone) หรือฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมความรู้สึกอิ่ม ส่งผลให้สามารถรับประทานอาหารได้ในปริมาณที่มากขึ้นและนานขึ้น นำไปสู่การเผชิญหน้ากับโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด รวมถึงโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
นอกจากนี้ระบบเผาผลาญของร่างกายจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อระดับฮอร์โมนทุกส่วนสมดุล ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนบาลานซ์คือ การกระตุ้นระบบประสาททั้งหมดขณะรับประทานอาหาร เช่น การสัมผัส การมองเห็น การได้กลิ่น และการได้ยิน ถ้าหากสิ่งใดสิ่งหนึ่งถูกรบกวนหรือเบี่ยงเบนความสนใจ อาจทำให้ระบบเผาผลาญพัง ดื้อต่ออินซูลิน และได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ
ถึงแม้การรับประทานอาหารขณะชมคลิปวิดีโอ หรือสไลด์หน้าจอโทรศัพท์ขณะกินข้าว จะสร้างความเพลิดเพลินและคลายเครียด แต่หากผลกระทบของมันทำให้พฤติกรรมการกินของเราเปลี่ยนไปจนส่งผลต่อสุขภาพ ก็เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มเสี่ยงสักเท่าไร เราอาจต้องจำใจต้องเปลี่ยนจากการจ้องมองโทรศัพท์มาโฟกัสกับอาหารตรงหน้ามากขึ้น แม้ว่าความวุ่นวายของสังคมในปัจจุบันจะเหวี่ยงโทรศัพท์มาเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารที่ดีที่สุดของเราก็ตาม
ที่มา:
– https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC7744612/#B39
– https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30776379/
Tags: จ้องหน้าจอ, สุขภาพ, smartphone, Knowledge, Wisdom, Calories, Fatness, Eating, เล่นโทรศัพท์, โทรศัพท์