วันนี้การตัดสินผู้คนถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
บ่อยครั้งเราเผลอตัดสินใครบางคนจากท่าทางเพียงเล็กน้อย หรืออาจมีความคิดเห็นต่อตัวตนของคนที่เราไม่แม้แต่จะรู้จักผ่านโพสต์บนโลกออนไลน์ แม้รู้ว่าไม่ดีนัก แต่การตัดสินเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง ตราบใดที่เรายังต้องอาศัยการตัดสินและเปรียบเทียบจากสิ่งต่างๆ ในการดำรงชีวิตต่อไป
นอกจากการตัดสินคนอื่น เราก็ตัดสินตัวเองอยู่ทุกเมื่อเช่นกัน เคยไหมที่เรารับรู้ข้อบกพร่องที่มีจนไม่กล้าที่จะยอมรับคำชื่นชมจากใคร หรือตีตนไปก่อนไข้ว่า ถ้าเราลงมือทำอะไร คนรอบข้างจะตำหนิว่าอย่างไรบ้าง ข้อสังเกตคือในแต่ละวันที่เราตัดสินตัวเอง ความคิดส่วนใหญ่มักไม่เป็นไปในแง่ดีสักเท่าไร คนเรามีแนวโน้มที่จะประเมินตัวเองในแง่ลบ กลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง (Self-Criticism) มากกว่า
“ผู้คนวิจารณ์ตัวเองจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง และไม่ทันรู้ตัวว่าพฤติกรรมนี้เป็นปัญหา” เรเชล เทอโรว์ (Rachel Turow) นักจิตวิทยาคลินิกและผู้เขียนหนังสือทำไมไม่ลองคุยกับตัวเองดูก่อน (2023) กล่าว
โดยทั่วไปแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง คือกระบวนการที่มนุษย์ใช้ในการประเมินตนเองในเชิงลบ โดยจะมุ่งความสนใจไปที่ความผิดพลาด จุดบกพร่อง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกไม่พึงพอใจในตัวเองไม่ว่าสิ่งนั้นจะดูเล็กน้อยเพียงใด โดยคนที่ชอบวิจารณ์ในตัวเองมีแนวโน้มที่จะกำหนดมาตรฐานที่สูงเกินจริงไว้ก่อน และเมื่อทำตามนั้นไม่ได้ก็มีแนวโน้มที่จะตัดสินและลงโทษตัวเองต่อไป ไม่ว่าจะผ่านความคิด คำพูด หรือการกระทำ
‘ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ได้เท่ากับเธอทำตัวของเธอเอง’ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองในระดับที่ว่าคงไม่กล้าใช้คำพูดแบบนั้นกับใครแน่ๆ แต่กลับใช้คำพูดไม่ดีเหล่านั้นกับตัวเองได้อย่างเต็มปาก ทำไมเราจึงตำหนิตัวเองได้ถึงเพียงนั้น
การวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเป็นไปได้ทั้งในรูปแบบของความคิดที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง หรือการประมวลผลจากคำพูดของคนอื่นและเชื่อไปว่าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ เช่น หากเราเคยโดนใครล้อเลียนว่า รูปร่างหน้าตาของเราดูแย่มาก่อน เราก็มีแนวโน้มที่จะยึดถือคำพูดนั้นว่าเป็นความจริง จนเราอาจชิงพูดตำหนิตัวเองก่อนที่คนอื่นจะพูดด้วยซ้ำในโอกาสต่อๆ ไป
นิก วิกแนลล์ (Nick Wignall) นักจิตวิทยาคลินิก ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงปฏิบัติ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองที่เกิดขึ้นกับผู้คนทั่วไปจากมุมมองของนักจิตวิทยาไว้หลายประการ เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก เด็กที่โดนตำหนิจากผู้ปกครองบ่อยๆ ที่ทำให้มีแนวโน้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ หรือความคิดที่ว่า การเห็นอกเห็นใจคือการตามใจตัวเอง จนทำให้มองเห็นแต่ข้อเสียและใจร้ายกับตัวเองมากจนเกินไป
ไม่ว่าจะจากสาเหตุใด การวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองมีจุดร่วมกันอยู่ที่การสร้างความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ คำที่เราใช้กับตนเองสะท้อนถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่เรามี ดังนั้นแก่นของการวิจารณ์ตนเองก็คือความพยายามในการปกป้องตนเองให้รู้สึกปลอดภัยนั่นเอง
ถึงอย่างนั้น การโบยตีตนเองให้เจ็บปวดจากคำวิจารณ์ในหัวย่อมห่างไกลจากการทำให้ตนเองปลอดภัย เพราะมันไม่ส่งผลดีกับสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล หรือความภาคภูมิใจในตนเองในระดับต่ำ และยังส่งผลถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือแม้แต่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามที่หวังไว้
ทำอย่างไรจึงจะเลิกวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองได้
แม้แต่ละคนจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในมุมมองของนักจิตบำบัด คือการสำรวจสาเหตุว่า เราตำหนิตัวเองในเรื่องนั้นๆ เพราะอะไร หากมันเกิดจากคำพูดที่ไม่ดีของคนอื่น เราก็ไม่ควรรับมันมาไว้ และหากมันเกิดจากความคิดที่เรามีต่อตัวเอง เราก็สามารถจะหาหนทางในการแก้ไขต่อไป โดยอาจเป็นการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทำสมาธิ การเขียนบันทึก พูดคุยเรื่องดีๆ กับตัวเอง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เราได้ตระหนักรู้ในคุณค่าที่ตัวเองมีอย่างแท้จริง
เราไม่จำเป็นต้องมองตัวเองในแง่ร้ายจนถึงขั้นตำหนิตัวเองจนเกินไป เพราะมันไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร ในวันที่มีความผิดพลาดหรือล้มเหลวเกิดขึ้น หากเราใช้คำพูดดีๆ หรือให้กำลังใจคนอื่นได้ เราก็ควรทำแบบนั้นกับคนที่เราควรรักและห่วงใยมากที่สุดอย่างตัวเราเองได้เช่นกัน
ที่มา:
– https://time.com/6283589/how-to-overcome-self-criticism/ – https://recovery.com/resources/the-psychology-of-self-criticism-why-we-tear-ourselves-down-and-what-to-do-about-it/
– https://nickwignall.com/4-psychological-reasons-youre-so-self-critical/
Tags: Self Compassion, ตำหนิตัวเอง, รักตัวเอง, Wisdom, Self Criticism