ในช่วง 1-2 ปีให้หลัง หลายคนเริ่มรู้จักภาวะการแสดงออกทางสังคมแบบอินโทรเวิร์ต (Introvert) และเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) พอดแคสต์และหนังสือมากมายพยายามอธิบายถึงลักษณะนิสัยของคนแต่ละรูปแบบ

จนสามารถจำแนกและนิยามได้ว่า ตนเองเป็นคนลักษณะอย่างไร ด้วยความเข้าใจง่ายๆ ว่า เอ็กซ์โทรเวิร์ตมักพูดมาก กล้าแสดงออก ชอบเข้าสังคม ขณะที่อินโทรเวิร์ตพูดน้อย เขินอาย ชอบเก็บตัว

ทว่าระบบความคิดและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ซับซ้อนเกินกว่าคำอธิบายตามหนังสือแนวพัฒนาตนเอง โครงข่ายความคิดที่สลับซับซ้อนอย่างน่ามหัศจรรย์แฝงเร้นไปด้วยข้อควรระวังมากมาย ดังนั้นภาวะที่ซ่อนกายอยู่ภายใต้การแสดงออกทางสังคมนั้นลึกลับ และอาจต้องใช้เวลานานในการทบทวนและการสังเกต

ถ้าคุณเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น มีความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง คุณอาจถูกนิยามว่า มีลักษณะแบบอินโทรเวิร์ต ทว่าหากคุณชอบอยู่คนเดียว ซึ่งเกิดจากความรู้สึกประมาณว่า ไม่สนิทใจกับใครสักคน ไม่สนเรื่องความรักเชิงชู้สาว สายใยระหว่างครอบครัวเปราะบาง ไม่ยินดียินร้ายต่อคำชมหรือคำตำหนิ ไร้ซึ่งเป้าหมายในชีวิต

คุณจะยังนิยามตนเองว่าเป็นอินโทรเวิร์ตอยู่หรือไม่

หากพิจารณาคร่าวๆ หลายคนคงตอบว่า ใช่ แต่หากคุณรู้สึกว่าพฤติกรรมการแสดงออกของตนเองสร้างความไม่สบายใจต่อคนรอบข้าง รวมถึงสร้างความทุกข์ทรมานทางใจให้ตัวเองอยู่บ่อยครั้ง นั่นอาจไม่ใช่ลักษณะนิสัยแบบอินโทรเวิร์ต แต่เป็น Schizoid Personality Disorder (SPD) หรือโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัว ซึ่งเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่อาจต้องได้รับการแก้ไข

โรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัวคือ ภาวะของคนที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยหรือแทบไม่มีเลย รวมถึงมีความบกพร่องในการแสดงออกทางอารมณ์ ส่งผลให้มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะแสดงพฤติกรรมไม่เข้าสังคม มักเก็บตัวอยู่คนเดียว หมกมุ่นกับเรื่องของตัวเอง ไม่มีความฝักใฝ่ทางเพศ ตอบสนองทางอารมณ์ได้ช้า เฉยชากับคำชมหรือคำตำหนิ ไร้ซึ่งเป้าหมายในชีวิต และไม่มีแรงผลักดันในการทำงาน

โรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัวมักพบมากในกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ในบางกรณีพบได้ในเด็กที่อายุยังน้อยเช่นกัน ถึงแม้โรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัวจะมีโอกาสพบได้น้อยกว่าโรคทางบุคลิกภาพอื่น แต่จากการเก็บประวัติผู้ป่วยโรคนี้พบว่า โรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัวมีลักษณะใกล้เคียงกับโรคออทิสติก (Autistic) และอาการเริ่มแรกของโรคจิตเภท

สาเหตุของโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัวยังไม่มีคำวินิจฉัยที่ชัดเจน แต่จิตแพทย์เชื่อว่า เกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู โดยคาดว่า สาเหตุอาจมาจากการเติบโตมาแบบไม่ถูกใส่ใจ หรือผู้เลี้ยงดูมีพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ที่เฉยชา ไม่แสดงความรักความอบอุ่นที่เพียงพอ ส่งผลให้พัฒนาการด้านบุคลิกภาพและอารมณ์แปรปรวน

ในส่วนของการรักษาโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัว ยังไม่มีการรักษาจำเพาะเจาะจง เนื่องจากที่ผ่านมามีการศึกษาและวิจัยที่น้อยมาก โดยส่วนใหญ่หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จริง จิตแพทย์จะให้ผู้ป่วยทำจิตบำบัดผ่านการพูดคุย (Talk Therapy) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพโดยทั่วไป ร่วมกับการบำบัดครอบครัวของผู้ป่วย เพื่ออธิบายและทำความเข้าใจถึงอาการที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่ และสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัว

อีกทั้งยังมีการบำบัดแบบกลุ่ม ที่ให้ผู้ป่วยแต่ละคนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน ภายใต้การดูแลของนักจิตบำบัด เพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผู้ป่วย รวมถึงการบำบัดเชิงลึกแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) หรือการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับความคิดและอารมณ์ของตัวเอง จนนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลกระทบของตนเองที่มีต่อผู้อื่น

โรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัวสร้างผลกระทบในสังคมได้น้อยกว่าโรคทางบุคลิกภาพรูปแบบอื่น แต่หากวัดผลในระยะยาวก็ยังมีความน่ากังวลอยู่ไม่น้อย เนื่องจากผู้ที่มีอาการเหล่านี้มักมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่น อาจส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน จึงไม่ควรนิ่งนอนใจและคอยสังเกตตัวเองอยู่เสมอ

หลายครั้งที่สุขภาวะทางจิตมักถูกเข้าใจทับซ้อนกับปรากฏการณ์ทางสังคม จนอาจนำไปสู่การรักษาที่ช้าและส่งผลเสียระยะยาว ในวันนี้ปัญหาทางจิตเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่ควรได้รับการเอาใจใส่และรักษา ไม่ต่างจากโรคทางกายชนิดอื่น ดังนั้นคอยสังเกตตนเองและคนรอบข้างอยู่เสมอว่า พลังและความคิดในจิตใจของพวกเขาอยู่ในระดับใด และควรยื่นมือเข้าไปช่วยหรือไม่

ที่มา

https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/23030-schizoid-personality-disorder

https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/schizoid-personality-disorder/symptoms-causes/syc-20354414

Tags: , ,