คุณเป็นคนรักษาสัญญาหรือเปล่า? แล้วคุณยังจดจำคำสัญญาครั้งล่าสุดที่เคยให้ไว้กับใครสักคนได้ไหม?
ว่ากันว่า สามสิ่งสำคัญของชีวิตที่ทุกคนไม่อาจเรียกร้องให้หวนกลับคืนมาได้อีก หากผ่านพ้นล่วงเลยไปแล้ว คือ เวลา โอกาส และคำพูด
โดยเฉพาะ ‘คำพูด’ ทุกถ้อยคำที่เราเอ่ยออกจากปาก ก็เหมือนลูกศรที่ถูกปล่อยออกจากคันธนู ย่อมต้องพุ่งตรงไปข้างหน้าด้วยความเร็วตามแรงส่ง เพียงแต่จะเข้าเป้าหรือพลั้งพลาด ผลลัพธ์นั้นกลับขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นตั้งใจและความพยายามทุ่มเทฝึกซ้อมมาอย่างหนัก
หากคำพูดที่ว่าไม่ใช่แค่ถ้อยคำธรรมดา แต่คือ ‘คำสัญญา’ ยิ่งต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เพราะเท่ากับเราได้ให้ ‘คำมั่น’ กับใครสักคนไว้แล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ทุกคำสัญญาจะกลายเป็นข้อผูกมัดที่มีความคาดหวังและความเชื่อใจเป็นหลักประกัน หมายความว่า ถ้าทำได้ตามที่พูดไว้จริง คนให้สัญญาจะได้รับการชื่นชมและความไว้วางใจมากขึ้น
ในทางกลับกัน หากทำไม่ได้ โดยที่เจ้าตัวแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า ตนไม่เคยแยแสและไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจใดๆ กับทุกอย่างที่ผ่านมา ไม่แม้แต่จะพยายามทำตามคำมั่นที่พูดไว้เลยสักนิด ผลก็คือ นอกจากจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่รักษาสัญญาและพูดจากลับกลอกแล้ว ราคาแสนแพงที่ต้องจ่ายเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน คือเกียรติและความน่าเชื่อถือที่เสียไป
บรรดานักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญและศึกษาพฤติกรรมศาสตร์และความรู้คิดที่เกี่ยวข้องกับการให้คำสัญญา ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ขึ้นชื่อว่าสัญญา ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องรักษาให้ได้ นั่นคือทำตามคำที่พูด แต่ก่อนให้คำมั่น ควรคิดให้ถี่ถ้วนถึงความเป็นไปได้ว่า สัญญานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผลและความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ หากเราดึงดันสัญญาในสิ่งที่เกินความพยายามและความสามารถของตัวเอง ซึ่งไม่มีทางทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน แสดงว่าเรากำลังหลอกให้ความหวังคนอื่นอยู่ โดยใช้ความน่าเชื่อถือของตัวเองเป็นประกัน ในท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้มีแต่เสียกับเสีย
หนึ่งในการศึกษาที่น่าสนใจ จากการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก (University of California San Diego) และมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) สหรัฐอเมริกา เพื่อหาความคำตอบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผลลัพธ์ของคำสัญญา โดยสร้างภารกิจให้แก้ปริศนาตามโจทย์ ซึ่งมีหน้าม้าเข้าร่วมเล่นเกมนี้ด้วย พร้อมสัญญากับผู้เข้าร่วมทดลองตัวจริงว่า จะคอยช่วยเหลือจนแก้ปริศนาข้อนี้ให้สำเร็จ
ผลปรากฏว่า เมื่อภารกิจล้มเหลว ผู้เข้าร่วมทดลองจะรู้สึกหงุดหงิดและผิดหวัง เพราะหน้าม้าทำตามสัญญาที่ให้ไว้ไม่ได้ แต่ถ้าภารกิจสำเร็จ ผู้เข้าร่วมทดลองกลับรู้สึกขอบคุณ โล่งใจ และดีใจเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญ ไม่ได้รู้สึกว่าการได้รับความช่วยเหลือจากหน้าม้าเป็นเรื่องที่ต้องรู้สึกซาบซึ้งใจเหมือนบุญคุณที่ต้องตอบแทนแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะว่าคำสัญญานี้ไม่ได้สำคัญหรือจำเป็นกับชีวิตมากนัก และไม่ใช่เรื่องที่ผู้เข้าร่วมทดลองเป็นฝ่ายร้องขอหรือแสดงความต้องการก่อน
ในโลกของผู้วิเศษของ เจ. เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) ผู้เขียนวรรณกรรมเยาวชนชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้สร้างสรรค์คาถาพันธสัญญาที่ทรงพลังมาก เรียกว่า ปฏิญาณไม่คืนคำ (unbreakable vow) เมื่อพ่อมดหรือแม่มดให้คำมั่นกันแล้ว ถือเป็นสัญญาเด็ดขาดที่ไม่อาจปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงได้ หากไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ผู้นั้นจะถึงแก่ความตายทันที
ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริง แน่นอนว่าไม่มีเวทมนตร์เสกบทลงโทษที่รุนแรง แต่มีบรรทัดฐานทางสังคม (social norms) คอยกำกับวิธีคิดและพฤติกรรมของคนอยู่ ทำให้ทุกคนในสังคมเข้าใจร่วมกันว่า แต่ละคนจะต้องทำตัวอย่างไรให้เหมาะสมเพื่อการยอมรับของคนส่วนใหญ่ และอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข
‘สัญญา’ ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไป จึงเป็นสิ่งที่ต้องรักษาเสมอ ถึงอย่างนั้น ‘คำสัญญา’ กับ ‘คำปฏิญาณ’ ก็ยังไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
เฮอร์เบิร์ต เจ. ชเลซิงเกอร์ (Herbert J. Schlesinger) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้เขียนหนังสือ Promises, Oaths, and Vows: On the Psychology of Promising ได้แยกความแตกต่างไว้ดังนี้
คำสัญญา (promises) เป็นการให้คำมั่นกับใครคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง ส่วนคำปฏิญาณ (vows) เป็นการให้คำมั่นเช่นกัน แต่ส่วนมากใช้พูดกับตัวเองท่ามกลางคนอื่นซึ่งมาร่วมฟังในฐานะสักขีพยาน คำปฏิญาณจึงมักจะเกิดขึ้นในงานพิธี ขณะที่คำสาบาน (oaths) เป็นการให้คำมั่นต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ
หากเปรียบเทียบเฉพาะคำสัญญากับคำปฏิญาณ จะเห็นความแตกต่างชัดเจนว่า สัญญาเป็นคำพูดที่เน้นไปยังคนฟัง เพราะให้คำมั่นว่าจะทำหรือไม่ทำบางสิ่งด้วยความจริงใจ ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อคนฟังโดยตรง มักเป็นเรื่องส่วนตัวและเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ แต่คำปฏิญาณตนนั้น เป็นคำมั่นต่อตัวเองหลังจากได้รับตำแหน่งหรือได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจบางอย่าง ว่าจะทุ่มเทตนทำตามหน้าที่ด้วยความตั้งใจ หรือในแง่หนึ่งอาจเป็นแค่การทำไปพอเป็นพิธี
คำสัญญาจึงมีความหมายมากกว่าคำพูดทั่วไป เพราะสื่อถึงเจตจำนงและความปรารถนาดีว่า ตนจะทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับใครคนหนึ่ง เมื่อคำสัญญาเป็นสิ่งสำคัญขนาดนี้แล้ว ทำไมบางคนถึงไม่ใส่ใจและละเลยจนผิดสัญญา?
ชเลซิงเกอร์อธิบายว่า บางครั้งคำเดียวกัน ประโยคเดียวกัน แต่ต่างคนก็ต่างความเข้าใจ จุดนี้เองที่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งได้ หากเป็นสัญญาที่พูดกว้างๆ ไม่ได้เจาะจงแน่ชัด หรือนามธรรมเกินไป คนพูดกับคนฟังย่อมเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น ถ้าใครสักคนสัญญากับเราว่า “จะไม่ทำให้เสียใจตลอดไป”
“ตลอดไป” ไม่ใช่ปัญหา เพราะอย่างน้อยก็กำหนดกรอบเวลาไว้ตราบเท่าที่คนให้สัญญามีลมหายใจ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาได้คือ “จะไม่ทำให้เสียใจ” อะไรจะเป็นมาตรวัดหรือบอกได้ว่า นี่แหละคือความเสียใจ ไม่ว่าจะเป็นของเรา หรือฝ่ายที่ได้รับคำสัญญา คนที่สัญญาจะรู้ใจเราทุกเรื่องไหม ดังนั้น ควรลงรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า พฤติกรรมเสี่ยงใดบางที่เข้าข่ายทำให้เราหรือเขาเสียใจได้
หรือตัวอย่างอีกประโยคใกล้ตัวที่นับว่าเป็นประโยคที่มีปัญหา คือ “…จะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เพราะไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ชัดเจน ‘ไม่นาน’ ที่ว่านั้น นานแค่ไหน? ไม่นานของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน เป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปีกันแน่
นอกจากการใช้คำ สาเหตุหลักที่ทำให้คนเราผิดสัญญาต่อกันก็คือ ตัวคนพูดเอง กรณีนี้ชเลซิงเกอร์ขยายความว่า เป็นเรื่องง่ายที่ใครจะพูดอะไรกับใครก็ได้ แต่เป็นเรื่องยากยิ่งกว่าที่คนผู้นั้นจะมุ่งมั่นตั้งใจทำตามคำสัญญา ถ้ารู้อยู่แก่ใจว่าทำไม่ได้แน่ๆ ก็ไม่ควรสัญญาอะไรกับใครตั้งแต่แรก เพราะการรักษาสัญญาสะท้อนถึงความรับผิดชอบ บางกรณีสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ผิดชอบชั่วดี เมื่อใดที่คำพูดหลุดออกจากปากไปแล้ว ก็เหมือนวาจาสิทธิ์ต้องจดจำและทำตามให้ได้ แม้เป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดอาจทำไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยต้องแสดงให้เห็นว่า ได้พยายามทำอย่างสุดความสามารถ
คนที่รักษาสัญญาไม่ได้ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากตัวเองเลือกไม่ทำแต่แรก ย่อมเป็นคนหมดความน่าเชื่อถือ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็ย่ำแย่ลงไปด้วย เลวร้ายกว่านั้น หากผิดสัญญาซ้ำซาก อาจกลายเป็นคนปลิ้นปล้อนในสายตาของคนที่ถือคำสัญญาเป็นเรื่องสำคัญ
ถึงตรงนี้ คุณยังจดจำคำมั่นที่เคยให้ไว้กับใครสักคนได้ไหม? คงไม่มีใครอยากเป็นคนไม่รักษาสัญญาในสายตาคนอื่น เพราะสิ่งมีค่าบางอย่างหากสูญเสียไปแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะกอบกู้กลับคืนมาให้เหมือนเดิม
ที่มา
Gneezy, A., & Epley, N. (2014). Worth Keeping but Not Exceeding: Asymmetric Consequences of Breaking Versus Exceeding Promises. Social Psychological and Personality Science, 5(7), 796–804. https://doi.org/10.1177/1948550614533134
Schlesinger, H. J. (2008). Promises, oaths, and vows: On the psychology of promising. Analytic Press.
Tags: จิตวิทยา, Knowledge and Wisdom, Wisdom, คำพูด, คำมั่น