‘แอบมองไปเจอฉับพลันนั้นเธอก็เหม่อมองสบสายตา เธอต้องอุราให้ฉันคิดรักเธอในแรกเราพบกัน’

ช่วงนี้เราได้พบเห็นภาพยนตร์และสื่อต่างๆ ที่นำเรื่องราวในอดีตมาฉายซ้ำบ่อยครั้ง ทั้งการครบรอบ 20 ปีภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน (2546) หรือในภาพยนตร์เรื่อง ใหม่เตรียมเข้าฉายอย่าง 14 อีกครั้ง (2566) ที่มีการนำบรรยากาศช่วงปี 2000 กลับมาเล่าใหม่ให้ได้คิดถึง ไปจนถึงภาพยนตร์จากสตรีมมิงเรื่อง มนต์รักนักพากย์ (2566) ที่เล่าถึงชีวิตของนักพากย์หนังเร่ขายยาตั้งแต่ยุคที่ มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจชาวไทย ยังคงอยู่สร้างตำนานให้วงการบันเทิงไทย 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ผู้คนมักจะมองว่าอดีตสวยงามกว่าปัจจุบัน โดยนอกจากการดูภาพยนตร์หรือพูดคุยเรื่องเก่าๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่คนเรามักจะทำเมื่อนึกถึงอดีตก็คือการฟังเพลง ที่ผู้คนต่างหลงใหลเรื่องราวในอดีต ยิ่งมีประสบการณ์ที่น่าจดจำก็อดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงมัน จนบางครั้งถึงขั้นอยากจะย้อนเวลากลับไป

หรือในบางคนก็ถึงกับเอ่ยปากว่า การได้กลับไปฟังเพลงที่คุ้นเคยในช่วงเวลานั้นๆ ก็เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยให้เราย้อนเวลาได้เช่นกัน

น่าสนใจว่าทำไมบทเพลงในอดีตถึงพาเราย้อนเวลาได้

ในเช้าอันเร่งรีบ ขณะกำลังต่อแถวยาวเหยียดเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานและใช้ชีวิตเหมือนทุกวัน ทันใดนั้นบทเพลงที่คุ้นเคยเมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมก็ดังขึ้น ทั้งเรื่องราว ผู้คน สถานที่ที่เชื่อมโยงในช่วงเวลาหนึ่งกับรวมถึงความรู้สึกที่เคยมีก็ย้อนกลับเข้ามาแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานหลายปี ดนตรีเชื่อมโยงกับสมองและความรู้สึกของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

ภาพการทำงานของสมองแสดงให้เห็นว่า บทเพลงและเสียงดนตรีกระตุ้นสมอง และทำให้เราหลั่งโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกมีความสุข และการได้ยินเพลงเดิมๆ หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชีวิตที่สำคัญ เช่น ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้คนเราติดอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ ได้ และยังพบอีกด้วยว่า มนุษย์สามารถทำสิ่งนี้ได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก 

เสียงดนตรีและวันเวลาเป็นของคู่กัน ซึ่งวันเวลาที่เรานึกถึงก็มักจะเป็นช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะได้ฟังเพลงมากขึ้น แต่เมื่อได้ยินบทเพลงในวัยเด็ก เราอาจเผลอร้องขึ้นมาแทบทันที แถมในขณะที่ฟังเพลงยังพาลไปนึกถึงช่วงเวลาในอดีตและความทรงจำต่างๆ โดยไม่ตั้งใจ 

อาจเพราะความทรงจำในช่วงวัยเรียนหรือวัยรุ่นนั้นมักจะน่าจดจำมากกว่าตอนที่เป็นผู้ใหญ่ มีผลการสำรวจจาก Deezer ที่พบว่า เมื่อถึงวัย 30 ผู้คนมักจะไม่ค้นหาเพลงใหม่ๆ ฟังอีกต่อไป แต่กลับเลือกที่จะฟังเพลงเก่า แนวเดิมๆ ที่ตนชอบเมื่อสมัยวัยรุ่น มากกว่าที่จะฟังเพลงใหม่ที่มีให้เลือกมากมาย 

อีกทั้งมีงานวิจัยจากวารสาร Memory & Cognition เผยว่า การที่ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะฟังเพลงเก่าซ้ำๆ เป็นเพราะพวกเขาต้องการที่จะรู้สึกถึงความทรงจำในอดีต และด้วยพลังข้อนี้ของการฟังเพลง มันยังได้ถูกนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์อีกด้วย 

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่บทเพลงทำให้เราสุข เศร้า และช่วยให้เราย้อนอดีตได้ การรำลึกถึงอดีตอันหอมหวานโดยการฟังเพลงอาจทำให้เรามีความสุขและรู้สึกอุ่นใจ แต่อย่างไรก็ตาม การติดอยู่กับอดีตจนมากเกินไปก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพจิตเท่าไรนัก สิ่งสำคัญคือเราต้องอยู่กับปัจจุบันที่หลักเลี่ยงไม่ได้ให้มีความสุขจึงจะดีกว่า

Tags: , , , ,