เมื่ออายุ 22 เรียนจบ ให้รีบหางานทำทันที

และเมื่อชีวิตย่างเข้าเลข 3 ก็ต้องเก็บเงินสร้างตัว เตรียมมีครอบครัว

ส่วนตอนอายุ 40 ควรขยันทำงาน วางแผนชีวิตต่อไป เพราะอีกไม่นานก็จะเกษียณแล้ว

แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข แต่เมื่อค่านิยมของสังคมยังเต็มไปด้วยเหล่าไลฟ์โค้ชที่พร่ำสอนว่าชีวิตที่มีคุณค่าควรเป็นเช่นไร รวมไปถึงบรรดาญาติก็โดนถามเรื่องฐานะ คู่ครอง อาชีพ เมื่อพบปะเพื่อนฝูงเขาก็ถามถึงสถานการณ์ชีวิตอยู่เรื่อยๆ เปิดโซเชียลมีเดียมาก็พบกับคนที่ประสบความสำเร็จมากมาย ถึงเราจะมีความสุขกับทางที่ตัวเองเลือก แต่หลายครั้งก็อดไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับการเปรียบเทียบจากความคาดหวังของสังคมในสักแง่

เราอาจเคยเห็นคำแนะนำประเภทว่า ‘อายุเท่านี้ ควรมีเงินเก็บเท่าไร’ จากนั้นคุณก็รู้สึกผิดหวังในตัวเอง เมื่อพบว่าไม่สามารถทำตามได้ เหตุการณ์เช่นนี้เรียกว่า ‘Milestone FOMO (ย่อมาจาก Fear Of Missing Out)’ หรือความกลัวในการพลาดโอกาสที่เกิดจากการทำตามเป้าหมายในชีวิต ซึ่งเป้าหมายที่ว่าคือ ความสำเร็จตามแต่ละช่วงวัย เช่น เรียนจบตามเกณฑ์ มีหน้าที่การงานมั่นคง มีเงินเก็บ มีครอบครัว หรืออาจเป็นกิจกรรมสำคัญๆ ที่เชื่อกันว่าต้องทำในวัยที่เหมาะสม เช่นการแต่งงาน

“ผู้คนอาจเจอกับความวิตกกังวลและความเครียด เมื่อพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ใช้ชีวิตตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเห็นคนอื่นๆ ทำได้ เหล่านี้ ทำให้คุณรู้สึกเหมือนว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” อนิชา พาเทล ดันน์ (Anisha Patel-Dunn) จิตแพทย์จากเว็บไซต์ LifeStance กล่าว

การเห็นว่าเพื่อนในวัยเดียวกันประสบความสำเร็จไปไกล ขณะที่ตัวเองยังใช้ชีวิตแบบเรื่อยเปื่อย หรือคิดขึ้นมาว่าตอนพ่อแม่อายุเท่านี้ พวกท่านกำลังมีลูกคนแรกแล้วแต่ตัวเองยังคงเล่นกับแมวอยู่ ทั้งที่คุณก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้อยากมีลูกในเร็วๆ นี้ และการเล่นกับแมวไม่ผิดอะไร แต่คุณยังกลับรู้สึกเหมือนกับว่าทุกคนรอบตัวกำลังก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่เรายังอยู่ที่เดิมจนกดดันขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

แม้ Milestone FOMO จะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบกับคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ จนอาจทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบตนเองและคิดว่าตนกำลังแข่งขันกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา การที่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จตามสูตรของความเป็นมนุษย์ จึงทำให้รู้สึกราวกับว่าตนเองกำลังตามหลังและถูกทิ้งจากสังคมจนเกิดความเครียดและกดดัน

แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้เกิด Milestone FOMO ได้ง่าย แม้เราจะทราบกันว่าผู้คนมักจะเลือกแต่ด้านดีๆ มาลงเท่านั้น แต่ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การเปรียบเทียบและทำให้หลายคนเห็นคุณค่าในตนเองต่ำขึ้น เราอาจเลื่อนฟีดแล้วเจอว่าเพื่อนร่วมรุ่นกำลังจะแต่งงาน บ้างก็ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ บ้างก็มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดูดี ซึ่งเราก็มักรู้สึกยินดีกับพวกเขา พร้อมกับเผลอคิดเปรียบเทียบโดยไม่รู้ตัวได้

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ความกดดันของผู้คนมากขึ้นไปอีก ราวกับชีวิตหยุดชะงัก หลายคนตกงาน สูญเสียปฏิสัมพันธ์กับผู้คน บ้างต้องทำงานทางออนไลน์ บางคนเรียนจบในยุคโควิดและหางานทำไม่ได้ จากที่เคยมีหน้าที่การงานมั่นคง คิดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ฝันที่เคยวาดไว้กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

จากงานศึกษาเชิงจิตวิทยาในปี 2021 พบว่าการเปรียบเทียบทางสังคมสามารถกระตุ้นให้ผู้คนทำงานหนักขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลดีในสังคมที่บอกกับเราว่า หากอยากประสบความสำเร็จต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา การมีความคิดแบบ Milestone FOMO ในโลกที่หมุนไวทั้งยังไร้ทิศทางจึงสร้างความเหนื่อยล้าทางใจเสียมากกว่า

Milestone FOMO เกิดขึ้นได้ทั้งเรื่องที่เป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิตไปจนถึงเรื่องที่ดูเล็กน้อย มันอาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพจิต 

การเห็นคุณค่าของตนเอง และทำความเข้าใจในสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสุดท้ายแล้วคนที่สำคัญที่สุดในโลกก็คือตัวเราเอง แรงกดดันจากการเปรียบเทียบตัวเองกับความสำเร็จของคนอื่นที่เราไม่อาจรู้เบื้องลึกเบื้องหลังจึงไม่ควรสำคัญมากกว่าสุขภาพจิตของเรา

Tags: ,