คุณคิดว่าจิตรกรมากฝีมือ วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincet Van Goh) ตัดใบหูของตัวเองออกทำไม? แล้วเพราะเหตุใด เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) นักเขียนสาวชาวอังกฤษ จึงตัดสินใจเอาก้อนหินใส่เสื้อโค้ทแล้วเดินลงแม่น้ำ หรือแม้กระทั่งนักร้องชื่อดังอย่าง เชสเตอร์ เบนนิงตัน (Chester Bennington) จากวง Linkin Park เลือกจบชีวิตของตัวเอง ทั้งที่แฟนเพลงทั่วโลกรอฟังผลงานเขาอยู่
เป็นเรื่องที่มนุษยชาติรับรู้กันมาเนิ่นนานว่า ‘ศิลปะ’ เปรียบเสมือนสิ่งเยียวยาจิตใจ ปลอบประโลมยามเราทุกข์โศก ปรุงแต่งห้วงอารมณ์และความคิด ชุบชีวิตอันแห้งเหือดให้กลับมาสดใส
เมื่อคุณรู้สึกเหงาหรืออ้างว้าง เพียงเปิดเพลย์ลิสต์โปรดบนหน้าจอโทรศัพท์ ช่องว่างระหว่างนั้นดูเหมือนจะถูกเติมเต็มขึ้นมา ในวันเวลาที่คล้ายจะไร้ความหมาย แค่หาหนังดีๆ สักเรื่อง อ่านหนังสือสักเล่ม หรือแม้กระทั่งออกไปชมภาพวาดตามนิทรรศการ ก็เพียงพอที่จะทำให้ค้นหาบางคำตอบของชีวิตที่หล่นหาย
เป็นความจริงที่น่าเศร้า เมื่อเรามองย้อนไปยังผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเหล่านั้น กลับพบว่าพวกเขาส่วนใหญ่มักตกอยู่ในสถานการณ์ตรงกันข้าม ผลงานที่คอยชุบชีวิตและสร้างความหมายให้กับผู้อื่น ไม่สามารถเยียวยาและปลอบประโลมพวกเขาได้ กระทั่งนำไปสู่การเลือกจบชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
เว็บไซต์ Scientific American ที่รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับศิลปินและนักเขียน พบว่า ศิลปินมีแนวโน้มเป็นไบโพลาร์ถึง 20 เท่า และมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 10 เท่า
อัตราการเกิดไบโพลาร์ในหมู่ประชากรทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 5-40% แต่สำหรับศิลปินจะมีอัตราสูงถึง 70% ในขณะที่อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าในคนทั่วไปอยู่ที่ 5% แต่อัตราจะพุ่งสูงถึง 15-50% ในหมู่ศิลปิน ปัจจัยดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ศิลปินมีแนวโน้มที่จะทำอัตวินิบาตกรรมมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 18 เท่า
คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมศิลปินถึงมีแนวโน้มที่จะเป็นไบโพลาร์และโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป
ศาสตราจารย์เคย์ เรดฟิลด์ เจมิสัน (Kay Redfield Jamison) นักจิตวิทยาสาขาความผิดปกติทางอารมณ์และจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปคินส์ (John Hopkins School of Medicine) ระบุว่า การที่ศิลปินจะทำงานได้สักชิ้น ต้องอาศัยความรู้สึกที่ตกอยู่ในสภาวะหลงใหลและดำดิ่งกับสิ่งนั้น เช่น ถ้าแต่งเพลงเศร้า ศิลปินต้องรู้สึกถึงความเศร้า ถ้าเขียนเรื่องฆาตกรรม ศิลปินต้องจินตนาการถึงฉากฆาตกรรม
เมื่อจมดิ่งกับห้วงอารมณ์มากเกินไป พวกเขาจะมีความต้องการพักผ่อนน้อยลง ใช้สมาธิมากขึ้น มีความรู้สึกผิดปกติบางอย่าง ที่สำคัญคือผู้คนเหล่านี้จะมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ซึ่งภาวะซึมเศร้าอาจเป็นอีกด้านของการใช้พลังในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่มากเกินไป
อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานน่าสนใจคือ ‘การทำงานของสมอง’ เป็นที่รู้กันดีว่าความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความสามารถด้านศิลปะ ถูกควบคุมด้วยสมองซีกขวา รวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึก และจิตใต้สำนึกด้วย ปกติคนเราจะใช้สมองซีกซ้ายและซีกขวาได้มากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ดังนั้น ถ้าคุณเป็นศิลปินที่ต้องใช้เวลาอยู่กับจินตนาการและสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่ตลอด ย่อมมีความเป็นไปได้ที่คุณใช้สมองซีกขวามากกว่าสมองซีกซ้าย
เดวิด เฮชต์ (David Hecht) เผยแพร่บทความ ‘Depression and the hyperactive right-hemisphere’ อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างอาการซึมเศร้ากับการทำงานของสมองซีกขวาที่มากกว่าปกติ ซึ่งอาการซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ไม่สมดุลกันระหว่างสมองทั้งสองซีก ในขณะที่สมองซีกขวาทำงานมากกว่าปกติ จะส่งผลให้เกิดอารมณ์ด้านลบและความคิดในแง่ร้าย นำไปสู่ความเครียด วิตกกังวล และอาการเจ็บป่วยที่สูงขึ้น
ไม่ว่าเหตุผลอะไรที่พลัดพรากศิลปินเหล่านั้นไป ไม่สำคัญเท่ากับพวกเขาสร้างสรรค์สิ่งใดไว้ ผลงานศิลปะต่างๆ ยังคงทำงานของมันต่อไป แปรงที่จรดลงผืนผ้า บทเพลงที่ยังคงบรรเลง และหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ทุกปี เป็นหลักฐานว่าพวกเขายังคงมีชีวิตอยู่ ตราบเท่าที่เราเชื่อว่าเขายังคงดำรงอยู่
ร่างกายของพวกเขาอาจเสื่อมสลายหายไป ทว่ากลับเป็นนิรันดร์ในจิตใจของผู้คน หรือนี่อาจเป็นที่มาของคำว่า ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น’
ที่มา
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20603163/
https://myranaito.medium.com/why-are-artists-depressed-8e75f884eae1
Tags: Live Fast Die Young, โรคซึมเศร้า, ศิลปะ, ศิลปวัฒนธรรม, ศิลปิน, Psychology, depression, Artist, Knowledge and Wisdom, Wisdom