เพื่อนที่ไม่ยินดีกับความสำเร็จของเราจากใจจริง 

คนใกล้ตัวที่ใช้คำพูดคำจาชื่นชมแต่กลับเต็มไปด้วยเนื้อหากระแทกแดกดัน 

เพื่อนร่วมงานที่แอบเอาความคิดเราไปใช้ในผลงานตัวเอง และให้เหตุผลว่าเพราะรู้สึกชื่นชอบ 

แม้ยากที่ใครจะยอมรับหรือรู้ว่าตัวเองเป็น แต่พฤติกรรมเช่นนี้กลับพบเห็นได้ทั่วไป และหลายครั้งก็ดำเนินไปอย่างปกติ จนเราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘หรือเราคิดมากไปเอง’

ช่วงนี้ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Marry My Husband (2024) กำลังเป็นที่พูดถึง แน่นอนว่าหนึ่งในตัวละครที่ผู้คนรุมกันสาปส่ง และถือว่ามีผลต่อเส้นเรื่องที่สุดก็คือ จอง ซูมิน (แสดงโดย ซง ฮายุน) เพื่อนสนิทที่มีความคิดอิจฉา ด้อยค่า พร้อมกับปั่นหัวให้นางเอกของเรื่องขาดความเชื่อมั่นในตัวเองจนเสียโอกาสที่ดีหลายอย่างในชีวิตมาโดยตลอด 

ในชีวิตจริง ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษในแบบนี้อาจไม่ได้ปรากฏชัดเจน จนเข้าขั้นว่าเป็นมิตรภาพที่บิดเบี้ยวเท่ากับซีรีส์ แต่คนแบบ ‘นกอยู่ข้างพี่ตา’ ก็มีอยู่โดยทั่วไปในทุกวงสังคม ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือแม้แต่คนในครอบครัวก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น คือบางครั้งเราเองก็อาจจะเป็นคนนั้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเราจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘Frenemy’

คำว่า Frenemy มีที่มาจาก ‘Friend’ ที่แปลว่าเพื่อน และ ‘Enemy’ ที่แปลว่าศัตรู โดยทั่วไปคำนี้มักใช้พูดถึงคนใกล้ชิดที่ดูหวังดีและมีมิตรไมตรี แต่ขณะเดียวกันก็มีพฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่จริงใจ การแข่งขันระหว่างกัน รวมถึงคำพูดบางอย่างที่ทำให้รู้สึกตั้งคำถามกับคนพูด ไปจนถึงตั้งคำถามกับคุณค่าของตัวเอง 

“คนประเภทนี้อาจจะหมายถึงคนที่ไม่อยู่ในเวลาที่คุณลำบากและต้องการความช่วยเหลือ คนที่ไม่เคารพขอบเขตชีวิตคุณ หรือทำให้คุณรู้สึกว่าไม่ได้รับการมองเห็นหรือรับฟังจริงๆ” มาริสา จี. ฟรังโก (Marisa G. Franco) นักจิตวิทยาคลินิก ยกตัวอย่างถึงพฤติกรรมของคนในลักษณะ Frenemy 

คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ได้เป็นหนึ่งในคนประเภท Frenemy 

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Southern Communication Journal ปี 2023 ทีมวิจัยพบว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ Frenemy ต่างจากมิตรภาพที่แท้จริงมีทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่

  1. ความสามารถในการแข่งขัน เพราะมองว่าอีกฝ่ายเป็นคู่แข่งแบบลับๆ ที่ต้องเอาชนะ มากกว่าจะเป็นเพื่อนผู้คอยสนับสนุน
  2. ความอิจฉาริษยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าตาทางสังคม ฐานะ หรืออะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจในตัวเองของผู้กระทำ
  3. การไม่ไว้วางใจอีกฝ่ายจนไม่สามารถที่จะมอบความจริงใจให้ได้

ส่วนวิธีในการแก้ไขพฤติกรรมเช่นนี้คือความจริงใจ เพราะบางครั้งความคิดแข่งขันเกิดขึ้นได้แม้แต่กับคนที่เราหวังดีด้วย เช่นเดียวกับความอิจฉาริษยาที่หลายครั้งก็ยากที่จะยอมรับว่ารู้สึก แต่หากทบทวนแล้วพบว่าเราไม่ได้กระทำอะไรที่ไม่ดีต่ออีกฝ่าย และมุ่งปรับปรุงตนเองโดยไม่คิดโทษใครก็น่าจะเพียงพอ

พฤติกรรมแบบ Frenemy เป็นไปได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ว่าจะปรากฏออกมาในทางไหนก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ส่งผลเสียทั้งสิ้น ตั้งแต่การพูดทำลายความมั่นใจ ดูถูกความสามารถ เข้าหาเฉพาะตอนที่มีผลประโยชน์ การนินทาหรือเอาเรื่องส่วนตัวไปบอกคนอื่น ไปจนถึงการกระทำที่ดูดี มีความเป็นห่วงเป็นใย แต่กลับไม่อาจรู้สึกถึงความจริงใจที่มอบให้กัน

ถ้าแย่ขนาดนั้นก็ควรเลิกคบเสียสิ ใช่ บางคนเมื่อเจอแบบนี้ก็สามารถที่จะตัดอีกฝ่ายจากชีวิต ในขณะที่หลายคนไม่อาจทำได้ทันที อาจด้วยหน้าที่การงาน ความเป็นครอบครัว หรือความซับซ้อนในความสัมพันธ์ที่ทำให้ไม่อาจตัดขาดได้ง่ายๆ เราอาจไม่ได้มองความผิดของเขาว่าเป็นเรื่องใหญ่ หรือเห็นในความดีที่อีกฝ่ายมีมากกว่า เช่นเดียวกับความสัมพันธ์เป็นพิษแบบอื่นๆ ที่ต้องอาศัยหลายปัจจัยในการเดินออกมา

พูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ปฏิเสธให้เป็น ไม่ต้องใส่ใจเขา มีคำแนะนำมากมายหากว่าเราตกอยู่ในความสัมพันธ์เช่นนี้ ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้หากว่าเราจริงใจและให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเองเสียก่อน

อ้างอิง:

https://www.wondermind.com/article/frenemies/

https://theethicalist.com/is-your-friend-a-frenemy/

https://www.forbes.com/sites/traversmark/2023/04/12/psychologists-define-what-the-term-frenemy-really-means/?sh=54c481da14cd

Tags: , , , , , , ,