คุณเป็นคนที่มักจะได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาอยู่เสมอๆ พร้อมรับฟังเรื่องราวที่คนอื่นระบาย และทั้งที่ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเอง แต่ดันเห็นอกเห็นใจเขาจนเก็บเรื่องที่ฟังมาคิดอยู่บ่อยครั้ง หรือบางทีคุณก็พยายามทำความเข้าใจคนที่ทำผิด โดยมองไปถึงความยากลำบากของชีวิตเขาซึ่งเป็นปัจจัยให้เขาเลือกที่จะทำเช่นนั้นลงไป

คำว่า ‘Empathy’ หรือ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ เป็นคำที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้ง เพราะมันเป็นคุณสมบัติที่ดี และแน่นอนว่าจำเป็นมากในการสร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความเข้าใจที่ผู้คนมอบให้กัน

ในแง่หนึ่ง เราอาจรู้สึก ‘ถลำลึก’ ไปกับเรื่องราวของคนอื่นได้เป็นปกติ แต่หากความรู้สึกนั้นต่อยอดไปถึงการทำความเข้าใจผู้คนในเรื่องราว โดยพยายามไม่ใช้มุมมองของตนเองไปตัดสิน อีกทั้งยังกลับรู้สึกเชื่อมโยงได้อย่างน่าประหลาด ก็เป็นไปได้ว่า เรากำลังมอบความเห็นอกเห็นใจให้กันอยู่

สังคมที่ทุกคนมี Empathy จึงเป็นเหมือนสังคมในอุดมคติ เพราะใครๆ ก็คาดหวังที่จะได้รับมัน ความเห็นอกเห็นใจจะทำให้เราเห็นมุมมองของคนอื่นๆ และเข้าใจปัจจัยในการกระทำแต่ละอย่างของคนๆ หนึ่ง และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม  การเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากเกินไป แบ่งเบาความรู้สึกของคนอื่นมามากจนเกินไป ก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน

เพราะอีกด้านหนึ่งของคำว่า Empathy ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Empathy Fatigue’ หรือ ความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากเกินไป และแน่นอนว่า Empathy Fatigue เป็นผลมาจากการรับความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งส่วนมากแล้วย่อมเป็นความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์ เป็นอารมณ์ในทางลบ จนส่งผลกระทบต่อความรู้สึกตัวเอง

โดยปกติแล้ว อาการ Empathy Fatigue มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความยากลำบากในสังคม หรือคนที่ต้องคอยช่วยเหลือผู้อื่นเป็นปกติเช่น พยาบาล หรือนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับรู้เรื่องราวชีวิตผู้อื่น แต่อาการนี้ก็สามารถเกิดกับคนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในชีวิตทั่วๆ ไปได้เช่นกัน ตั้งแต่การรับรู้เรื่องราวของคนรอบตัว หรือแม้แต่การเสพสื่อที่นำเสนอเรื่องราวน่าสะเทือนใจ ซึ่งการมี Empathy Fatigue สามารถส่งผลได้ตั้งแต่ระดับอารมณ์ความรู้สึก อย่างอาการเครียด โศกเศร้า หรือไปจนถึงระดับร่างกาย เช่น อาการเวียนหัว อาเจียน

“ความเห็นอกเห็นใจควรเป็นการกระทำเชิงบวก ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามันมากเกินไป ก็อาจเป็นสิ่งที่บอกว่าถึงเวลาหยุดพัก” เอริค ซิลเมอร์ (Eric Zillmer) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดร็กเซล สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างไม่ทำร้ายสุขภาพตัวเอง

อีกทั้ง บทความจากเว็บไซต์ Verywellmind เผยถึงวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเองเมื่อรู้สึกว่าตนเหนื่อยล้าจากความเห็นอกเห็นใจที่มากเกินไป ดังนี้ 

1. ลดการเผชิญหน้ากับความเครียด งดเป็นที่ปรึกษา งดรับฟังปัญหาใดๆ ไปก่อน การหยุดพักจากกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมถือเป็นวิธีแก้ไขในระยะสั้น หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับรู้เรื่องราวของคนอื่นสักพักหากเกิดภาวะ Empathy Fatigue

2. สร้างขอบเขตทางความรู้สึก แยกแยะให้ได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราสามารถจัดการได้ และอะไรเป็นสิ่งที่เราไม่มีอำนาจจะไปจัดการเปลี่ยนแปลงมัน รวมถึงรับรู้ถึงขีดจำกัดของตนเองในฐานะผู้ฟัง

3. ดูแลตัวเองให้ดีขึ้น การดูแลตัวเอง ให้เวลากับสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เป็นเวลา ตระหนักว่าก่อนจะช่วยเหลือคนอื่น เราเองก็ควรแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจเสียก่อน

สุดท้ายแล้ว การรู้เท่าทันถึงความรู้สึกตัวเองและจัดการมันให้พอดีอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นในทุกๆ การกระทำ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเองก็ยังคงเป็นสิ่งที่ควรมี แต่มันควรมาพร้อมกับการเห็นอกเห็นใจตัวเองให้เป็นเช่นกัน

Tags: , , ,