มนุษย์พยายามไขข้อข้องใจเกี่ยวกับที่มาและความหมายของ ‘ความฝัน’ มาหลายชั่วอายุคน ในสมัยกรีกเชื่อว่า ‘มอร์เฟียส’ (Morpheus) เป็นเทพผู้นำพาความฝัน คำพยากรณ์ และสาส์นจากทวยเทพมาสู่จิตในห้วงลึกขณะหลับนอนของมนุษย์ ส่งผลให้ในสมัยต่อมาผู้คนโรมันรับวัฒนธรรมทางความเชื่อที่ว่า ความฝันเป็นเสมือนการทำนายอนาคต ขณะที่อารยธรรมในฝั่งเอเชียเชื่อว่า ความฝันเชื่อมโยงกับความเชื่อหรือตำนานในหลักศาสนา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาความฝันมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ในเชิงของความเชื่อ และเรื่องราวเหนือธรรมชาติมาโดยตลอด
ทว่าในช่วงปี 1920 นักจิตวิทยาและเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เขียนหนังสือจิตวิทยาความฝัน (Dream Psychology) ที่อธิบายถึงกลไกการทำงานของความฝัน รวมถึงความหมายที่แฝงเร้นอยู่ภายใต้ฝันดีและฝันร้าย ซึ่งเชื่อมโยงกับจิตใต้สำนึกและความปรารถนาในใจลึกๆ ของมนุษย์ ทำหน้าที่แสดงภาพความต้องการที่สมหวัง เพราะเขาเชื่อว่า มนุษย์มักปรารถนาในสิ่งที่ตนเองครอบครองไม่ได้ ความฝันจึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของจิตใต้สำนึกที่ถูกกดไว้
ขณะที่นักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง คาร์ล ยุง (Carl Jung) เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีจิตไร้สำนึกร่วม (Collective Unconscious) หรือความทรงจำและประสบการณ์ของมนุษยชาติทั้งหมดที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนมีอารมณ์และความคิดบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น ความกลัว ความปรารถนา หรือความเชื่อ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านความฝันที่คล้ายคลึงกันของมนุษย์ และสามารถตีความเรื่องราวที่ปรากฏในความฝันออกมาเป็นเรื่องราวได้ เช่นหากในชีวิตจริงเราเป็นคนขี้อาย ในฝันเราอาจกลายเป็นผู้นำ เนื่องจากจิตใต้สำนึกพยายามชดเชยสิ่งที่เราขาด
ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เชื่อว่า ความฝันเกิดจากการที่สมองวิเคราะห์และเรียบเรียงความทรงจำ โดยมักเกิดขึ้นขณะที่การหลับของเราอยู่ในช่วง REM Sleep (Rapid Eye Movement Sleep) หรือช่วงหลับฝันที่ดวงตาของเราจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัวขณะนอนหลับ จากการศึกษาพบว่า ในช่วงการหลับฝันคลื่นสมองของเราทำงานหนักเทียบเท่ากับตอนตื่น เพียงแต่ไปเน้นหนักที่สมองในส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่ทำหน้าที่รวบรวมความทรงจำ และสมองในส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก เมื่อสมองนำเหตุการณ์จากความทรงจำมาประมวลผลร่วมกับอารมณ์และความรู้สึก ผลลัพธ์ก็คือจะเกิดหนังเรื่องหนึ่งที่ครบถ้วนไปด้วยสถานที่ ผู้คน บทสนทนา และอารมณ์ที่ดูเสมือนจริงมากถูกฉายในสมอง
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ความฝันสามารถแสดงถึงความป่วยไข้ภายในใจได้อีกด้วย ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า โรคเครียด และพบเจอกับเรื่องสะเทือนใจอย่างรุนแรง (PTSD) มีแนวโน้มที่จะฝันร้ายมากกว่าคนปกติ อีกทั้งผู้ป่วย PTSD ยังมีโอกาสฝันถึงเหตุการณ์แย่ๆ ที่พบเจอมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงแม้ว่าคนทั่วไปมีโอกาสฝันร้ายได้เหมือนกันก็ตาม ทว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า สารเคมีในสมองก็มีส่วนต่อฝันดีและฝันร้ายเช่นกัน
สารสื่อประสาทบางชนิดมักถูกกดไว้ตอนเราตื่น แต่แสดงออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเราหลับ อย่างโดปามีน (Dopamine) หรือสารเคมีแห่งความสุข ที่ออกฤทธิ์ให้เรารู้สึกพึงพอใจหรืออารมณ์ดีเมื่อถูกกระตุ้นหรือได้รับอะไรบางอย่าง ทว่าเมื่อเราหลับการควบคุมสารเคมีในส่วนนี้จะผันผวนเล็กน้อย ทำให้บางครั้งมันถูกปล่อยออกมามากเกินไปหากไม่มีอะไรรบกวน ส่งผลให้สมองเกิดภาพหลอนและสร้างความฝันที่ดูเหนือจินตนาการขึ้นมา ซึ่งยึดโยงกับความทรงจำหลักของเราเพียงเล็กน้อย ในทางกลับกัน คอร์ติซอล (Cortisol) หรือสารเคมีแห่งความเครียดก็มีส่วนในการสร้างฝันร้ายเช่นเดียวกัน ถ้าในช่วงนั้นคุณตกอยู่ในสภาวะเครียดหรือวิตกกังวล
นอกจากการศึกษาที่พบว่า ความฝันเป็นการประมวลผลความทรงจำของสมองแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างความฝันกับประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยในงานวิจัย Evidence for an emotional adaptive function of dreams: a cross-cultural study ที่เผยแพร่ในปี 2023 เพื่อสำรวจและศึกษาความฝันของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ผลการวิจัยระบุว่า ความฝันของคนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมที่กลุ่มคนเหล่านั้นอาศัยอยู่ โดยความฝันของกลุ่มชนเผ่าในพื้นที่ห่างไกลมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนในชุมชน การหาอาหาร และการเอาชีวิตรอด ขณะที่ความฝันของกลุ่มคนในเมื่องใหญ่มักเป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความเครียด ความวิตกกังวล และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ด้วยเหตุนี้เองนักวิจัยจึงเชื่อว่า ความฝันมีประโยชน์กับเราในฐานะ ‘เครื่องเตือนใจ’ และ ‘แบบทดสอบ’ จำลอง เพื่อวางแผนการใช้ชีวิต จัดการอารมณ์ และสร้างความแน่นแฟ้นในสังคม เช่น หากฝันว่า สูญเสียคนที่รักไป ก็มีแนวโน้มว่า เราจะหันมาเอาใจใส่คนเหล่านั้นเป็นพิเศษ หรือหากฝันว่าพบเจอปัญหาอะไรบางอย่าง ก็มีแนวโน้มว่า เราจะกลับมาไตร่ตรองเรื่องนี้อีกครั้งในชีวิตจริง เพราะดังที่กล่าวไปข้างต้น ความฝันไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราคิดไปเอง หากแต่เกิดจากความทรงจำและความรู้สึกที่พบเจอในช่วงนั้นรวมตัวกัน พูดง่ายๆ คือความฝันเป็นเรื่องราวที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์ในชีวิตจริง
หากคุณเกิดฝันร้ายแล้วมันทำให้เช้าวันนั้นรู้สึกแย่ อย่าลืมว่า ความฝันเป็นเพียงการทำงานของสมองเท่านั้น และหากมันจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของคุณได้ จงใช้มันเป็นบทเรียนหรือเครื่องเตือนใจให้เราไม่ทำในสิ่งที่ผิดพลาด หรือรู้จักวิธีการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดี เพราะภูตผีหรือปีศาจในฝันมันทำร้ายเราไม่ได้สักครึ่งหนึ่งของสังคมที่คุณดำรงอยู่ในชีวิตจริง
ที่มา
https://health.clevelandclinic.org/why-do-we-dream
https://www.nature.com/articles/s41598-023-43319-z
https://ngthai.com/history/71802/sigmund-freud-theory/
Tags: ความฝัน, Wisdom, จิตใต้สำนึก, ทำไมเราถึงฝัน