เมื่อพูดถึง ‘ความหลงตัวเอง’ เราอาจนึกถึงคนที่คิดว่าตนเองเหนือกว่าใคร มีนิสัยโอ้อวด ถือตัว หรือเอาเปรียบผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัด จนไม่มีใครอยากที่จะพบเจอ ทำให้คำว่าหลงตัวเองดูจะเป็นคำในแง่ลบเสียเหลือเกิน ถึงอย่างนั้นความหลงตัวเองก็ถือว่าเป็นลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งที่ใครก็มีกันได้ และเราอาจเป็นคนนั้นโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

เคยไหมที่คุยกับใครแล้วอีกฝ่ายเอาแต่พูดถึงเรื่องของตัวเอง บางครั้งรับฟังเรื่องของเราแบบขอไปที แล้วก็วกกลับมาเล่าเรื่องตัวเองอีกครั้ง สถานการณ์ธรรมดาเช่นนี้อาจเผยให้เห็นหนึ่งในนิสัยหลงตัวเองรูปแบบที่พบได้บ่อย เรียกว่า ‘Conversational Narcissism’ หรืออาการหลงตัวเองในการสนทนา ที่ผู้หลงตัวเองมักดึงบทสนทนาเข้าหาตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ใส่ใจจะฟังสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างแท้จริง

“คนหลงตัวเองในการสนทนามักจะมุ่งความสนใจไปที่ตัวเองมากเกินไป และเมื่อคู่สนทนาชวนคุยเรื่องอื่น พวกเขาก็จะพยายามเชื่อมโยงเข้าหาเรื่องของตัวเองต่อไป” ไบรอัน เทียร์นีย์ (Brian Tierney) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและนักจิตอายุรเวท อธิบาย

เพียงแค่พูดเรื่องของตัวเองก็ถือว่าหลงตัวเองแล้วหรือ? แน่นอนว่าไม่ใช่ แต่การสนทนาคือเรื่องของการแลกเปลี่ยน คนโดยทั่วไปอาจรู้สึกผิดหรือละอายย้อนหลัง เมื่อเผลอเล่าเรื่องของตัวเองมากเกินไป โดยเฉพาะกับคนไม่สนิท เพราะแม้ว่าการสร้างสมดุลในบทสนทนาให้เราได้เป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่มันกลับไม่ได้ทำง่ายอย่างที่คิด แม้ยากที่จะยอมรับ แต่หลายครั้งเราอาจมีลักษณะของการหลงตัวเองได้เป็นธรรมดา 

การศึกษาทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (The University of Edinburgh) ในปี 2017 เผยให้เห็นว่า ยิ่งอายุมากขึ้นคนเราก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องของตนเองจนเกินพอดีมากตาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ หากเราเผลอพูดเรื่องของตนเองมากเกินไปในบทสนทนา และไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นผู้หลงตัวเองเสมอไป

“ถ้าลองแบ่งบทสนทนาระหว่างคนสองคน แล้วพบว่า 80% ของบทสนทนาเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คนนั้นอาจเป็นผู้หลงตัวเองในการสนทนา” 

รามานี ดูร์วาซูลา (Ramani Durvasula) นักจิตวิทยาคลินิกผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมหลงตัวเอง แนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้นว่า คู่สนทนาและตัวเราเองเข้าข่ายเป็น Conversational Narcissist หรือไม่ ด้วยการพิจารณาว่า มีใครคนหนึ่งผูกขาดบทสนทนาไว้ที่ตนเอง หรือคอยขัดจังหวะเมื่ออีกฝ่ายเปิดปากพูดหรือเปล่า และนอกจากการเอาแต่พูดเรื่องของตนเองแล้ว ผู้หลงตัวเองในกรณีนี้อาจแสดงออกว่า ตนเองรู้ทุกอย่าง มีความรู้ความเข้าใจในทุกเรื่องเหนือกว่าใคร มอบคำแนะนำให้โดยที่ไม่ได้ร้องขอ และคำแนะนำก็มักจะอิงจากสถานการณ์ของตัวพวกเขาเองล้วนๆ

นิสัยหลงตัวเองในบทสนทนาเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ แต่ไม่ใช่อาการป่วย และนิสัยเช่นนี้ก็ไม่ได้ยากต่อการทำความเข้าใจ ในฐานะผู้พูดเราอาจพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และรู้สึกอยากจะบอกใครสักคนขึ้นมา จึงไม่แปลกหากบทสนทนานั้นจะเต็มไปด้วยเรื่องของเราเอง เพราะอีกฝ่ายถูกจัดวางให้อยู่ในสถานะผู้รับฟังตั้งแต่แรก 

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาตัวเอง และเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างแท้จริงถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะแม้จะสนิทกันแค่ไหน ก็คงไม่มีใครที่จะอยากรับฟังเรื่องราวที่เป็นปัญหาหนักใจของผู้อื่นมากจนเกินพอดี ขณะเดียวกัน จากมุมของผู้รับฟัง เมื่อมีใครมาขอรับคำปรึกษา การนำประสบการณ์ส่วนตัวมาแบ่งปันเป็นสิ่งที่ทำได้ ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ควรนำสิ่งที่เคยเจอไปตัดสินทุกสิ่ง และโยงทุกอย่างเข้าหาตัวเองทั้งหมด หรือเอาแต่เล่าเรื่องของตัวเองจนไม่ได้รับฟังอีกฝ่าย

ทำอย่างไรหากเราเจอกับคนหลงตัวเองในการสนทนา?

บทความจากเว็บไซต์ Wellandgood แนะนำวิธีในการรับมือกับนิสัยหลงตัวเองในการสนทนา ซึ่งหลักๆ ก็คือการทำตัวแบบเดียวกัน โดยพยายามหันเหบทสนทนามาที่เรื่องของตนเองหรือเรื่องอื่นบ้าง อาจทำได้โดยการจุดประเด็นใหม่ขึ้นมาพูดอย่างแนบเนียน หรือหากทำเช่นนั้นไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องอาศัยความกล้าในการพูดตรงๆ ว่า “เราขอเป็นผู้พูดบ้างได้ไหม” เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรับรู้ว่า นี่คือบทสนทนาของคน 2 คนที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้ทั้งดีและร้าย 

คงไม่ใช่เรื่องยากถ้าเราจะจัดการกับคนหลงตัวเองที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่นาน แต่หากต้องเจอกับคนที่หลงตัวเองคนเดิมบ่อยๆ หรือคนนั้นเป็นคนที่เราสนิทในระดับหนึ่ง อาจจัดการได้ด้วยการวางแผนล่วงหน้า บอกอีกฝ่ายว่าเรามีเวลาจำกัดในการพูดคุย หรือมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจทำให้ไม่สามารถรับฟังได้อย่างเต็มที่ หากสนิทหรือใส่ใจกันจริง อีกฝ่ายจะต้องเข้าใจเงื่อนไขของเรา ไม่ใช่เอาแต่นึกถึงเรื่องหนักใจของตัวเอง

ไม่ว่าจะความสัมพันธ์แบบใด การเคารพซึ่งกันและกันและกำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ให้ชัดเจนถือเป็นสิ่งสำคัญ หากพยายามมาทุกวิถีทางแล้วพบว่า เราเหนื่อยใจ หมดพลังเกินกว่าจะอยู่กับความสัมพันธ์นี้ต่อไป การเดินออกมาหรือเว้นระยะห่างก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย 

 

ที่มา

https://www.wellandgood.com/what-is-conversational-narcissism 

https://www.menshealth.com/sex-women/a39145758/9-ways-to-tell-if-youre-gconversational-narcissism-doctor-ramani-durvasula-psychologist-explainsuilty-of-conversational-narcissism/ 

https://www.betterup.com/blog/how-to-know-if-im-oversharing 

Tags: , , , ,