“เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด แคร์คนอื่นมากไป สุดท้ายตัวเองจะลำบาก”

คำพูดทำนองนี้ ถ้าฟังผ่านๆ โดยไม่คิดอะไร เหมือนจะเป็นประโยคที่หลุดออกมาจากปากของคนประเภทเห็นแก่ตัวและไม่คิดสนใจใครนอกจากตัวเอง แต่ถ้าลองตั้งใจฟังใหม่อีกครั้งอย่างไม่ด่วนสรุป นี่อาจเป็นคำเตือนด้วยความหวังดีของคนที่เคยผ่านช่วงเวลายากลำบากจากการเป็น People Pleaser หรือคนชอบเอาอกเอาใจคนอื่นมาก่อน

เพราะการเป็นคนที่ถือความต้องการของคนอื่นเป็นที่ตั้ง มากกว่าความรู้สึกอยากทำตามใจของตัวเอง จนกลายเป็น Yes Man หรือคนที่เลือกไม่ปฏิเสธใคร ในสายตาคนรอบข้างมักเห็นคนประเภทนี้เป็นคนง่ายๆ สบายๆ อะไรก็ได้ ไม่ขัด ไม่เถียง ไม่ว่าใครขอร้องหรือไหว้วานอะไรก็พร้อมช่วยเหลือหรือเป็นธุระทำแทนให้เสมอ โดยหารู้ไม่ว่า นี่คือวิธีทำร้ายตัวเองอย่างช้าๆ กว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นคนอ่อนไหวง่าย เหงา โดดเดี่ยว อารมณ์ไม่มั่นคง อาจหนักหนาถึงขั้นสูญเสียความเป็นตัวเอง มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล กลายภาวะที่เรียกว่า Compassion Fatigue ซึ่งเป็นความรู้สึกเหนื่อยล้าเพราะการเอาใจใส่ผู้อื่นมากเกินไป จนแทบไม่มีความสุขหลงเหลืออยู่ในชีวิต

ทุกคนต่างรู้ดีว่า อะไรก็ตามหากมากเกินไปย่อมไม่ใช่เรื่องดี เช่นเดียวกับนิสัยยอมคนง่ายและขี้เกรงใจ ที่กลายเป็นดาบสองคมจนทำให้ต้องฝืนทำบางสิ่งด้วยความไม่เต็มใจ

คำถามคือ อะไรทำให้คนเราไม่กล้าบอกปัดตามความรู้สึกลึกๆ ในใจ ทั้งๆ ที่ท่าทีรับปากราวกับเป็นความยินดีที่แสดงออกไปเพียงเพื่อให้ตรงตามความคาดหวังของคนอื่นนั้น มีแต่จะเพิ่มเรื่องยุ่งยากเข้ามาในชีวิตโดยไม่จำเป็นและทำให้ตัวเองทุกข์

ต้องเข้าใจก่อนว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ธรรมชาติอย่างหนึ่งคือความต้องการได้รับการยอมรับและชื่นชม ทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเพื่อสร้างความเป็นพวกพ้อง จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ทันที หากใครสักคนอยากเป็น ‘คนที่ใช่’ เป็น ‘คนที่รัก’ หรือเป็นคนโปรดในสายตาของทุกคน เพราะนี่คือผลพวงมาจากวิวัฒนาการของมนุษย์

แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับบางคนที่ดึงดันทำเช่นนี้คือ นอกจากจะไม่ได้เป็นคนที่ใช่แล้ว กลับกลายเป็นคนที่ถูกหลอกใช้ประโยชน์ หมายความว่าต่อให้พยายามเอาอกเอาใจใครมากแค่ไหน ก็ไม่เคยเป็นคนสำคัญหรือถูกเห็นคุณค่าใดๆ สุดท้ายมีแต่เสียกับเสีย 

อย่าเพิ่งตกใจ ที่อธิบายเช่นนี้ไม่ได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เป็นคนไร้น้ำใจหรือเห็นแก่ตัว แต่ทุกอย่างต้องมีขอบเขต มีระดับที่พอเหมาะพอดี ไม่น้อยจนขาดและไม่มากจนล้น

เพื่อไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนไปมากกว่านี้ หนทางที่จะช่วยเยียวยาตัวเราได้และป้องกันใจไม่ให้เจ็บปวดจากการเอาใจใส่คนอื่นเกินควร คือการบอกตัวเองด้วยคำสั้นๆ ว่า ‘ช่างแม่ง’

‘ช่างแม่ง’ ในความหมายนี้จึงไม่ใช่การละเลยหรือไม่สนใจใครสักคน แต่เป็นการให้โอกาสตัวเองได้เลือกที่จะไม่สนใจบางคนและบางเรื่องที่สร้างความวุ่นวายให้ชีวิต ถือเป็นหนึ่งในเคล็ดลับทางจิตวิทยาที่ส่งผลดีกับคนที่กำลังสับสนในตัวเอง หรือยังตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะเลิกเป็นคนชอบเอาใจคนอื่นอย่างไร

ซาราห์ ไนต์ (Sarah Knight) บรรณาธิการชาวอเมริกันผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อ เขียนแนะนำหลักการเบื้องต้นสำหรับการเป็นคนช่างแม่งไว้ได้อย่างน่าสนใจในหนังสือ The Life-Changing Magic of Not Giving a F**k ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เธอกลั่นกรองจากประสบการณ์ที่ต้องทำงานกับคนมากหน้าหลายตาว่า

สิ่งที่ควรทำทันที คือปล่อยผ่านเรื่องกวนใจและพูดปฏิเสธให้เป็นโดยไม่ต้องรู้สึกกลัวใดๆ แล้วเลิกทุ่มเทเวลา แรงกาย แรงใจ แม้แต่เงินไปกับสิ่งไม่เป็นเรื่องที่ไม่สร้างความสุขและไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะสิ่งกวนใจเหล่านี้ สำหรับเธอแทบไม่ต่างจากขยะที่ทำให้ความคิดและอารมณ์ของเราขุ่นหมอง ดังนั้น ถ้าเห็นว่าอะไรก็ตามเป็นขยะ ก็ไม่ควรเก็บมาใส่ใจตั้งแต่แรก

ขณะเดียวกัน ให้ปล่อยวางว่า ทุกคนต่างเป็นทั้งที่รักและที่ชัง เราไม่มีทางเป็นที่รัก และไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ครบถ้วน ให้หันมาใส่ใจตัวเองก่อน แล้วจึงแบ่งปันความหวังดีไปให้คนสำคัญในชีวิต เหมือนกับตอนที่พนักงานบนเครื่องบินย้ำนักย้ำหนาถึงสิ่งที่ต้องทำเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน นั่นคือสวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อนแล้วค่อยช่วยคนอื่นทีหลัง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีทางช่วยเหลือใครได้เลยแม้แต่ตัวเอง

เมื่อไรก็ตามที่เราช่างแม่งเป็น เชื่อเถอะว่านอกจากจะได้ความสุขและความสบายใจกลับมาแล้ว ยังจะมีเวลา พลัง และเงินไปทำสิ่งที่สำคัญกับชีวิตตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากจะเลือกช่างแม่งกับบางเรื่องและบางคนไปบ้าง

 

ที่มา: 

– https://www.medicalnewstoday.com/articles/people-pleaser

– https://www.apa.org/topics/covid-19/compassion-fatigue

– Knight, Sarah. (2018). The Life-Changing Magic of Not Giving a F**k. Quercus Publishing.

Tags: , , , ,