น่ารักแบบนี้ ถ้าผอมคงจีบไปแล้ว”  

สำหรับคนอายุขนาดนี้ ถือว่าพี่ดูดีมาก

หน้าเก๋ คมเข้ม สเป็กฝรั่งแบบนี้ ต้องตั้งใจเรียนภาษานะ

ชีวิตดีจัง อยากสบายแบบนั้นบ้าง จะได้ไม่ต้องเหนื่อย

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้รับคำชมประหลาดๆ ที่ทำให้รู้สึกเคลือบแคลงสงสัย กระทั่งรู้สึกเสียใจสักครั้งหนึ่งในชีวิต และหากลองนึกย้อนดูดีๆ เราเองก็อาจเคยเผลอเอ่ยคำชมที่มีเจตนาดี แต่เคลือบไปด้วยความหมายแฝงที่ประหัตประหารน้ำใจคนฟังโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน

ในภาษาอังกฤษเราเรียกคำเยินยอเคลือบยาพิษประเภทนี้ว่า ‘Backhanded Compliment’ หรือแปลตรงตัวคือ คำชมที่ไม่ได้ถูกหยิบยื่นให้แบบธรรมดาๆ แต่ถูกส่งมาด้วย ‘หลังมือ’ กล่าวคือ ‘ชมแบบแอบแซะ’ นั่นเอง

หากต้องเผชิญหน้ากับคำพูดทำนองนี้ เราย่อมรู้สึกไม่พอใจและอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามถึงเจตนาของผู้พูด ที่มีความไปได้สูงว่าคำชมเหล่านี้จะมาจากความไม่จริงใจ แต่ในหลายกรณีก็เกิดจากความไม่รู้ ไม่ตั้งใจ และการคิดน้อยเกินไปได้ด้วยเช่นกัน

การประเมินบริบท เจตนา และสถานะของผู้พูดจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะละเลยไม่ได้ เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแสดงออกต่อคำชมเหล่านี้อย่างไร The Momentum ขอนำเสนอ 5 แนวปฏิบัติ ในการรับมือกับการแอบแซะที่ไม่พึงประสงค์เอาไว้ดังนี้

1. เฉยเข้าไว้

การอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรไม่ได้หมายความว่าเรากำลังหงอ หรือยอมให้อีกฝ่ายพูดจาทำร้ายใจเราอยู่ฝ่ายเดียวเสมอไป เพราะในบางครั้ง ความเงียบก็เป็นวิธีการตอบกลับที่มีพลังและเสียงดังที่สุด หากคนพูดไม่ได้หูตามืดบอดจนเกินไป พวกเขาจะรู้เองโดยอัตโนมัติว่าเราไม่พอใจ และไม่ได้ให้ค่าคำพูดของเขามากพอที่จะตอกกลับ

ควรใช้ตอนไหน: เมื่อรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังพูดจาตีวัวกระทบคราด กระแหนะกระแหนเหมือนเราด้อยอำนาจกว่า เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือยั่วโมโห เป็นวิธีง่ายๆ ที่นอกจากจะทำให้อีกฝ่ายสังเกตเห็นบรรยากาศของบทสนทนาได้เองแล้ว ยังลดโอกาสที่บทสนทนาจะนำไปสู่การทะเลาะอีกด้วย

2. บอกไปตรงๆ ว่ารู้สึกไม่โอเค

คำชมที่แฝงไปด้วยคำดูถูกเช่นนี้ ดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่แท้จริงแล้ว เป็นคำพูดที่มีพลังทำลายล้างมากพอจะทำให้คนสะบั้นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันลงได้ง่ายๆ ซึ่งหากอีกฝ่ายเป็นคนที่เราหวังดีด้วยแล้ว การแสดงออกว่ารู้สึกไม่ดีและพูดคุยกันถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา อาจเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด เพราะหากปล่อยผ่านไป อีกฝ่ายอาจทำพฤติกรรมเดิมซ้ำๆ จนอาจทะเลาะกันร้ายแรงเข้าสักวัน

ควรใช้ตอนไหน: เมื่อแน่ใจว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ หรือหากตั้งใจแต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายใจเราจริงๆ ยกตัวอย่าง หากเพื่อนสนิทพูดกับเราว่า “ทำไมวันนี้แต่งตัวดีจัง ใส่กางเกงตัวนี้แล้วดูไม่มีพุงเลย” ฟังแล้วคงรู้สึกไม่ดีเท่าไร เพราะนอกจากจะเป็นการวิจารณ์หุ่นของเราเป็นนัยๆ แล้ว ยังเป็นการวิจารณ์เซนส์แฟชั่นในวันอื่นๆ ของเราด้วย

เราอาจประเมินได้จากสีหน้าท่าทีหรือนิสัยส่วนตัวว่า เพื่อนคนนี้พูดเพราะหวังดี อยากให้เรารู้ว่าใส่อะไรแล้วดูดีเท่านั้น อย่างไรก็ดี เราควรบอกให้อีกฝ่ายรู้ว่ามีวิธีการชมและให้กำลังใจที่น่าฟังกว่านั้นมาก

3. รับฟังเอาไว้

ฟีดแบ็กและคำวิจารณ์ประเภท ‘ติเพื่อก่อ’ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตการทำงาน เราอาจไม่ได้รู้สึกดีสักเท่าไรที่ต้องมานั่งฟังข้อผิดพลาดของตัวเอง แถมในบางครั้งเพื่อนร่วมงานยังเลือกใช้วิธีที่ไม่ตรงไปตรงมาสักเท่าไรในการฟีดแบ็กงาน อย่างการโรยหน้าคำวิจารณ์ด้วยคำชมที่ไม่จริงใจ

แต่อย่างน้อย มันก็ช่วยให้เราหันกลับมามองตัวเองจากมุมมองของผู้อื่น และเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ควรใช้ตอนไหน: เมื่อคำวิจารณ์เชิงลบที่แฝงมากับคำชมนั้นมีส่วนจริง และเป็นสิ่งที่เราสามารถจดจำไปใช้พัฒนาตนเองได้ โดยเฉพาะหากเป็นฟีดแบ็กจากเพื่อนร่วมงานด้วยกัน

4. กัดฟันขอบคุณแล้วมูฟออน

ในขณะเดียวกัน คำชมแบบแอบแซะที่ได้จากเพื่อนร่วมงาน ก็อาจไม่ใช่ฟีดแบ็กที่ก่อให้เกิดประโยชน์เสมอไป แม้จะรู้เช่นนี้ แต่เราก็ไม่สามารถตอบกลับได้อย่างใจต้องการอยู่ดี เพราะการขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานอาจนำไปสู่ปัญหาในที่ทำงานที่ลุกลามใหญ่โตได้ในอนาคต

ควรใช้ตอนไหน: เมื่อผู้พูดเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า มีอิทธิพลกับคนที่ทำงานมากกว่าเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประเมินสถานการณ์แล้ว มีแนวโน้มที่อีกฝ่ายจะไม่เข้าใจความรู้สึกของเรา และไม่อยากรับรู้ความผิดพลาดของตัวเอง

ตัวอย่างเช่น หากหัวหน้าพูดกับเราว่า “วันนี้ทำได้ดีนะ ถ้าดีให้ได้อย่างนี้ตั้งแต่อาทิตย์ก่อน คนอื่นก็คงไม่ต้องเหนื่อย” แม้ว่าตอนนี้เราจะมีคำพูดอื่นอยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ แต่ทางที่ดีเราควรรับฟังเอาไว้แค่คำชมเกี่ยวกับวันนี้ พูดขอบคุณพอเป็นพิธี แล้วไม่ต้องจำคำพูดแย่ๆ ส่วนอื่นเก็บมาใส่ใจจะดีกว่า

5. แซะคืนอย่างมีศิลปะ

สำหรับบางคน การแก้เผ็ดโดยให้เจ้าตัวได้ลิ้มรสขมของยาที่ตัวเองเป็นคนปรุงบ้าง อาจเป็นวิธีการรับมือที่ดีที่สุดแล้ว แต่แน่นอนว่าหากเราด่าคืนสาดเสียเทเสียแบบไม่สนลูกใคร คนที่จะต้องเสียใจ แถมยังเสียชื่อในภายหลังอาจเป็นเราเอง

หนึ่งเทคนิคที่สามารถลดแรงกระแทกได้บางส่วน คือการเอาอารมณ์ขันเข้าสู้

ควรใช้ตอนไหน: เมื่อมองออกว่าคำพูดแย่ๆ ของอีกฝ่ายไม่ได้เกิดจากความหวังดี โดยเฉพาะหากประเมินสถานการณ์แล้วมั่นใจว่าเราจะไม่เสียเปรียบในภายหลัง และไม่เสียดายความสัมพันธ์กับคนคนนี้สักเท่าไร

อ้างอิง

https://psychcentral.com/health/backhanded-compliment

https://www.inc.com/amy-morin/5-best-ways-to-respond-to-backhanded-compliments.html

Tags: , , , , , , , , ,