หรือ ‘เหล้า’ กับ ‘เศร้า’ จะเป็นของคู่กัน?

เรามักจะทึกทักเอาเองว่า ‘เหล้า’ (รวมถึงเครื่องดื่มมึนเมาทุกประเภทที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม) หากเข้าปากไปแล้วจะทำให้ลืมความเศร้าทั้งหมดทั้งมวลได้ นั่นเป็น ‘myth’ หรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เพราะนอกจากเหล้าไม่ทำให้หายจากอาการโศกเศร้าแล้ว เมื่อสร่างเมาหลายคนกลับพบว่าตัวเองเศร้ายิ่งกว่าเดิม

ถ้าเหล้าไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นจริง แล้วทำไมคนเรายังเลือกดื่มเหล้าหวังให้หายเศร้า?

เหตุผลหลักที่ทำให้คนเลือกดื่มแอลกอฮอล์เวลามีปัญหาหนักอกหนักใจ เพราะต้องการให้ความเมามายไม่ได้สติช่วยคลายความกังวลไปชั่วขณะ ภาพคุ้นเคยที่ใครๆ ก็มักจะเห็นได้บ่อยในวงเหล้า (หรือไม่ก็เป็นเสียเอง) จึงเป็นภาพของคนเมาที่ปลดปล่อยทุกอารมณ์และความรู้สึกออกมา ทั้งบอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้เสียใจไม่หาย และแสดงอาการร้องห่มร้องไห้กับเหตุการณ์ที่ยังเก็บจำฝังใจ ซึ่งในยามปกติที่เขาหรือเธอผู้นี้ไม่ได้เมา ย่อมไม่เคยเผยให้ใครเห็น หากเป็นคนเปิดกว้างก็อาจจะเผยให้เห็นบ้าง แต่ไม่หนักหนาน่าเป็นห่วงเท่าตอนเมา

ทั้งหมดเกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ทำให้ร่างกายและจิตใจของคนที่ดื่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะร่างกายจะเริ่มดูดซึมแอลกอฮอล์ผ่านเยื่อบุในช่องปากและหลอดอาหารในปริมาณน้อยนิดทันทีที่เราดื่มและกลืนเหล้า เมื่อเหล้าไหลลงสู่กระเพาะอาหาร ร่างกายจะดูดซึมแอลกอฮอล์อีกครั้ง แต่กระบวนการดูดซึมปริมาณแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในสำไล้เล็ก

ส่วนระยะเวลาที่ใช้ ขึ้นอยู่กับว่าในกระเพาะมีสิ่งอื่นนอกจากเหล้าอยู่ด้วยหรือไม่ หากท้องว่างปริมาณแอลกอฮอล์ในเหล้าจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 60 นาที โดยระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือ 30 นาที ในทางกลับกันหากในกระเพาะมีอาหารรวมอยู่ด้วย หมายความว่า ได้กินข้าวมาก่อนดื่มเหล้า ร่างกายจะใช้เวลาดูดซึมแอลกอฮอล์มากขึ้นกว่าเล็กน้อย ซึ่งกินเวลามากกว่า 90 นาที

หลังจากแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดแล้ว แอลกอฮอล์บางส่วนจะถูกตับกำจัดแล้วขับออกเป็นของเสีย ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เหลือจะถูกหัวใจสูบฉีดไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย ในช่วงแรกหลังจากดื่มเหล้าไปได้ไม่นาน เราจะรู้สึกดี ผ่อนคลาย สดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพราะแอลกอฮอล์กระตุ้นให้ร่างกายยิ่งสูบฉีดเลือด จนกว่าเซลล์ของอวัยวะอื่นๆ จะได้รับแอลกอฮอล์ที่ปะปนมากับเลือด การทำงานของอวัยวะที่เหลือจะเปลี่ยนแปลงทันที โดยเฉพาะสมอง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงมากเป็นพิเศษ

ยามปกติที่เลือดไม่มีแอลกอฮอล์ สมองและระบบประสาทส่วนกลางจะทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการทุกระบบในร่างกายให้ทำงานสอดประสานกัน เราจึงมีสติสัมปชัญญะและรู้ตัวตลอดเวลา

แต่ขณะที่เมา กลไกการทำงานเหล่านี้จะแปรปรวน เพราะแอลกอฮอล์กดสมองส่วนซีรีบรัม (cerebrum) ทั้งส่วนหน้า (frontal lobe) และส่วนขมับ (parietal lobe) ทำให้จดจำสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวไม่ได้ ความสามารถในการควบคุมตัวเองก็บกพร่อง ไม่รู้ว่าคิด พูด หรือทำอะไรลงไประหว่างเมา รวมทั้งกดสมองส่วนซีรีเบลลัม (cerebellum) จนทรงตัวไม่อยู่ สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อให้เคลื่อนไหวตามคำสั่ง นี่จึงเป็นเหตุผลที่คนเมาเดินเป็นเส้นตรงได้อย่างยากลำบาก

นี่คือผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่แสดงออกผ่านร่างกาย แล้วในแง่ของจิตใจ เหล้าเกี่ยวข้องกับความเศร้าได้อย่างไร?

อย่างที่เกริ่นไว้ว่า ในระยะสั้นๆ เหล้าช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ บรรดาคนที่ชีวิตประสบปัญหาและความวุ่นวายใจ จึงเลือกดื่มเหล้าเป็นครั้งคราว แต่ในระยะยาว เหล้ากลับส่งผลเสียมากกว่าที่หลายคนคาดคิด เพราะจะทำให้เสพติดกลายเป็นวงจร ‘เมา-เศร้า’ เริ่มต้นจากความเศร้าแล้วดื่มเหล้าราวกับเหล้าฆ่าความเศร้าได้ แต่ไม่หายเศร้าสักทีจึงต้องดื่มเหล้าต่อไปเรื่อยๆ

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็น Major Depressive Disorder หรือป่วยด้วยอาการซึมเศร้าขั้นรุนแรงที่ทำให้ใช้ชีวิตตามกิจวัตรที่ควรจะเป็นไม่ได้ เช่น ทำงานไม่เสร็จ เรียนไม่รู้เรื่อง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ต่างมีปัญหาเสพติดแอลกอฮอล์ (Alcohol Dependence) ร่วมด้วย หากเป็นคนที่ดื่มเหล้าอยู่ก่อน แล้วมีอาการซึมเศร้าภายหลัง จะยิ่งมีโอกาสเสพติดแอลกอฮอล์มากเป็นสองเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ดื่มเหล้าไม่เป็น

แม้ว่าในภาษาไทยเรียก Depression ว่า ‘ซึมเศร้า’ แต่ขอบเขตความหมายที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ‘เซื่องซึม’ และ ‘โศกเศร้า’ เพราะต้องรวมอาการอื่นๆ ด้วย ทั้งความท้อแท้สิ้นหวัง ความหดหู่ ความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าหรือไม่มีคุณค่าพอ ความรู้สึกผิดและโทษตัวเองตลอดเวลา ความรู้สึกสิ้นยินดี ไม่สนใจความบันเทิงหรือความเพลิดเพลินรอบตัว

ส่วนสาเหตุที่ ‘เหล้า’ กับ ‘เศร้า’ เกี่ยวข้องกัน เกิดจากแอลกอฮอล์ในเหล้าทำให้สารเคมีในสมองอย่าง เซโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) เปลี่ยนแปลงและเสียสมดุล รวมถึงกระตุ้นส่วนของสมองที่เรียกว่า limbic system ให้หลั่งโดปามีน (dopamine) ซึ่งส่งผลต่อความอยาก อารมณ์ และความรู้สึกของผู้ดื่ม เกิดเป็นความสุขที่ชวนให้ติดใจ

เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะปกติ คือ ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ในกระแสเลือด เซโรโทนินจะทำหน้าที่ช่วยควบคุมอารมณ์ให้รู้สึกดี สุขสงบ เราจึงไม่เศร้าหรือจมอยู่กับความเสียใจ ส่วนนอร์เอพิเนฟรินจะทำให้สมองตื่นตัว มีสมาธิ และสามารถตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น แต่สมองขาดโดปามีน ทำให้หงุดหงิดหากไม่ได้ดื่มเหล้าตามใจอยาก

ในระหว่างที่สมองและระบบประสาทถูกรบกวนจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ ร่างกายจะเสียการควบคุมไปชั่วขณะ เปิดโอกาสให้ปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจออกมาได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนเมาจะพูดเพ้อถึงความรัก หรือพร่ำบ่นปัญหาที่ยังกังวลอยู่ภายในใจ เพราะความเมามายทำให้เรานึกถึงความเศร้าและเสียน้ำตากับเรื่องที่เคยทำให้เสียใจซ้ำๆ ร่ำไป

หนทางที่จะช่วยทำให้ทุกอย่างคลี่คลายและผ่อนความเศร้าให้บรรเทาเบาลงได้ คือ การกลับไปแก้ไขที่ต้นเหตุของความเศร้า ด้วยวิธีที่ทำให้เราจัดการความรู้สึกและหาทางใช้ชีวิตได้ตามกิจวัตรที่ควรจะเป็น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การยกแก้วดื่มให้ตัวเองเมาครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเหล้าไม่ทำให้ความเศร้าหายไปจากใจได้

แม้ว่าการดื่มเหล้าเข้าสังคมเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ แต่ถ้าถึงขั้นเสพติด หรือไม่อาจหักห้ามใจให้ดื่มเหล้าในปริมาณที่พอเหมาะพอควร ประกอบกับรู้ว่าตัวเองไม่อาจรับมือกับความเศร้าได้ แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์เพื่อวางแผนการบำบัดรักษาต่อไป ไม่อย่างนั้น ทุกอย่างที่คิดว่าแย่แล้ว จะแย่ยิ่งกว่าที่คาดคิด เพราะเท่ากับว่ากำลังเพิ่มความเสี่ยงนำไปสู่การทำร้ายตัวเองและผู้อื่น

ท้ายที่สุด บทสรุปของความเศร้ากับเหล้าขมๆ ก็คงเหมือนกับคำที่คนในวงเหล้ามักพูดเตือนกันเสมอว่า ‘กินเหล้า อย่าให้เหล้ากินเรา’

ที่มา

American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders (5th ed.). Arlington, VA: American Psychiatric Publishing.

Banerjee N. (2014). Neurotransmitters in alcoholism: A review of neurobiological and genetic studies. Indian journal of human genetics, 20(1), 20–31. https://doi.org/10.4103/0971-6866.132750

Gan, G., Guevara, A., Marxen, M., Neumann, M., Jünger, E., Kobiella, A., Mennigen, E., Pilhatsch, M., Schwarz, D., Zimmermann, U. S., & Smolka, M. N. (2014). Alcohol-induced impairment of inhibitory control is linked to attenuated brain responses in right fronto-temporal cortex. Biological psychiatry, 76(9), 698–707. https://doi.org/10.1016/j.biopsych.2013.12.017

Paton A. (2005). Alcohol in the Body. BMJ (Clinical research ed.), 330(7482), 85–87. https://doi.org/10.1136/bmj.330.7482.85

Tags: , , , ,