ค่าเช่า
ค่าน้ำค่าไฟ
ค่าอินเทอร์เน็ต
ค่าเดินทาง
หนี้บัตรเครดิต
ฯลฯ
เดิมทีแค่ต้องจ่ายทั้งหมดนี้ในช่วงต้นเดือน หลายๆ คน ก็เริ่มเหลือเงินติดบัญชีอยู่ไม่เท่าไรแล้ว แต่หากเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ดันมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเข้ามาอีกจนเงินในบัญชีร่อยหรอหมดไปทีละน้อยทุกๆ วัน รู้ตัวอีกที ก็ถังแตกตั้งแต่วันที่ 15 สุดท้ายจึงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากรัดเข็มขัดสุดชีวิตให้พออยู่ต่อไปได้จนถึงสิ้นเดือน
สำหรับพนักงานต๊อกต๋อยอย่างเราๆ สภาวะคับขันทางการเงินที่บีบคั้นหัวใจเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่คนแปลกหน้า แต่เป็นสหายคนสนิทที่คอยแวะเวียนมาให้เห็นหน้าเป็นครั้งคราว แม้ว่าเราจะยืนยันว่าไม่ได้คิดถึงเลยก็ตาม
แทนที่จะจ่ายเงินซื้อของบางอย่างเต็มจำนวนในคราวเดียวเสียจนสภาพคล่องการเงินตึงเครียด การผ่อนจ่ายจึงเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มนุษย์เงินเดือนเลือกเดิน ทว่า เส้นทางที่ว่านั้นเองก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะยิ่งซอยงวดผ่อนเยอะ และใช้เวลาผ่อนนานเท่าไร ดอกเบี้ยยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
“คนไทยติดนิสัยชอบผ่อนมากๆ เลย ประเทศอื่นไม่เป็นหนักขนาดนี้ ทุกคนซื้ออะไรไม่มีใครคิด คิดแค่ยอดผ่อนต่อเดือนเท่าไร”
คำพูดดังกล่าวของ มารี เบรินเนอร์ นักแสดงและยูทูเบอร์ ถูกตัดตอนออกมาจากรายการทอล์คโชว์แนวจับเข่าคุย ‘ว่ามาดิ with Lily and Marie’ ที่เผยแพร่ในยูทูบแชนเนลของตนเอง เมื่อราวหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาเชิงโครงสร้าง
ภายหลัง มารีออกมาขอโทษและชี้แจงบริบทของคำพูดของตนว่า เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาเรื่องการโปะหนี้ผ่อนบ้านของแขกรับเชิญเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะดูถูกหรือเหมารวม คนจึงเริ่มปล่อยวางความสนใจจากเหตุการณ์นี้
อย่างไรก็ดี คำถามที่เธอทิ้งเอาไว้ ได้จุดประเด็นให้เกิดบทสนทนามากมาย ว่าด้วยปัญหาและภาระทางการเงินที่มนุษย์เงินเดือนไร้ต้นทุนคนหนึ่งต้องแบกรับ
คนไทยชอบผ่อน ชอบก่อหนี้ไม่คิดหน้าคิดหลัง จริงหรือ?
ถามว่าจริงหรือไม่ หากจะให้ เณศรา สุขพานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบจากประสบการณ์การสังเกตพฤติกรรมทางการเงินของคนรอบตัว เธอคงต้องตอบว่าอาจจริง แต่ไม่มีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้ว่า นี่เป็นลักษณะนิสัยที่พบในกลุ่มประชากรไทยมากกว่าที่อื่นแต่อย่างใด
อย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นถึงไปแล้วข้างต้น การผ่อนจ่าย หรือแม้กระทั่งการกู้หนี้ยืมสินนั้น ไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายที่เราทุกคนควรหลีกหนีไปให้ไกลเสียทุกกรณีไป เวลาที่ได้ยินคำว่า ‘หนี้’ สิ่งแรกที่คนนึกถึงมักเป็นภาพในด้านลบ เช่น โดนเอาเปรียบคิดดอกเบี้ยแพง โดนทวงหนี้ โดนฟ้องผิดนัดชำระ
ทั้งที่ในความเป็นจริง การกู้เงินถือเป็นวิธีการบริหารจัดการและแก้ปัญหาทางการเงินแบบหนึ่งเช่นกัน แน่นอนว่าราคาที่เราต้องจ่ายเมื่อเลือกใช้วิธีนี้คือดอกเบี้ย แต่สุดท้ายแล้ว หากอิสรภาพทางการเงินชั่วคราวที่การผ่อนจ่าย หรือการกู้ยืมมอบให้ สามารถตอบสนองความต้องการ หรือช่วยบรรเทาปัญหาบางอย่างที่เรากำลังเผชิญได้ การตัดสินใจที่จะก่อหนี้อาจส่งผลดีกว่าการไม่มีหนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีทางเลือกอะไรเลย
หาก ‘การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป’ แล้ว ‘หนี้ที่ดี’ หน้าตาเป็นอย่างไร?
“คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมาก” อาจารย์เณศรากล่าวด้วยรอยยิ้มเมื่อได้ยินคำถาม “เป็นคำถามสำคัญที่ควรคำนึงถึง ไม่ใช่เฉพาะกับการก่อหนี้ส่วนบุคคลเท่านั้น แม้แต่การก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่มักถูกยกหยิบมาใช้ในการเรียนการสอนในคณะเศรษฐศาสตร์อยู่ตลอด ก็ใช้หลักการคล้ายๆ กัน”
หนี้ดี คือหนี้ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ หรือนำไปต่อยอดเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเองได้ในอนาคต โดยคาดว่าผลตอบแทนที่ได้มาจะต้องคุ้มค่าเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่เสียไป
“แต่ความน่ากลัวของมันคือ ต่อให้เรากู้มาด้วยความตั้งใจที่ดีที่จะลงทุนต่อยอด หมายความว่ามันเป็นหนี้ดี แต่หากเราขาดความรู้ในการใช้ทรัพยากรที่กู้ยืมมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือหากเราบริหารจัดการหนี้ไม่ดี สุดท้ายแล้วหนี้ที่ดีอาจไม่ได้ดีเสมอไป”
ความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy): ทักษะสำคัญที่ไม่มีสอนในโรงเรียน
ไม่ว่าคนไทยจะชอบผ่อนจริงหรือไม่ แต่ความจริงประการหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ คือเรายังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการเงินอยู่มาก เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่กระทรวงการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอที่จะบรรจุให้เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลาง
ทุกคนอาจได้เรียนเรื่องพื้นฐานว่าการออมเกิดจากการควบคุมรายจ่ายให้น้อยกว่ารายรับ และมีโอกาสเรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคพื้นฐานบ้างประปราย เคยมีช่วงที่พอจะท่องได้ว่าภาษีมีกี่ประเภท เงินฝืด-เงินเฟ้อคืออะไร อุปสงค์-อุปทานคืออะไร ใครคือ อดัม สมิธ (Adam Smith) และใครคือ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ทั้งหมดนี้เพื่อนำความรู้ไปกาข้อสอบ
แต่ศาสตร์การเงินส่วนบุคคลหลากหลายแขนง ซึ่งจำเป็นอย่างมากในโลกการทำงาน เช่น ทักษะในการจัดการหนี้สิน การจัดการภาษี การวางแผนลงทุน การวางแผนเกษียณ การป้องกันความเสี่ยง ฯลฯ กลับแทบไม่ปรากฏให้เห็น
เราอาจไม่สามารถกล่าวได้ด้วยเสียงดังฟังชัดว่า ความสามารถในการท่องจำคำปฏิญาณของลูกเสือ หรือพระนามเต็มของกษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลแรกจนถึงรัชกาลปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลยแม้แต่นิดเดียว แต่หากเทียบกับทักษะพื้นฐานในการบริหารการเงินแล้ว โอกาสที่เราจะได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในชีวิตจริงนั้น ถือว่ามีอยู่น้อยกว่ามากจริงๆ
แต่จะบริหารเงินอย่างไร เมื่อไม่มีเงินเหลือให้บริหาร?
ยิ่งรายได้ของเราน้อยเท่าไร คอนเซปต์ของการออมและการลงทุนก็ยิ่งห่างไกลออกไปเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการพยายามวางแผนล่วงหน้าจากการคาดคะเนอนาคต เมื่อทรัพยากรมีอยู่จำกัด การเอาชีวิตให้รอดในปัจจุบันย่อมถูกจัดลำดับความสำคัญให้อยู่เหนือความกังวลเกี่ยวกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่สามารถออมเงินได้ และมักตัดสินใจทางการเงินที่ทำให้ถูกมองว่า ไม่มีความรู้ ไม่รอบคอบ ไม่คิดหน้าคิดหลัง
“สำหรับกลุ่มคนที่รายได้น้อยจริงๆ ใช้คำว่า ‘เดือนชนเดือน’ ก็ยังไม่พอ เขาทำงานหนักเพื่อแบกรับค่าใช้จ่ายเยอะมาก ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก ค่าเทอมลูก รวมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะคำนวณอย่างไรก็ไม่พอ เมื่อมองไม่เห็นทางออกอื่นใดแล้ว ทางออกที่มีความเป็นไปได้ที่สุดสำหรับคนเหล่านี้ คือจำเป็นต้องก่อหนี้อย่างช่วยไม่ได้” อาจารย์เณศราเสริม
กระนั้นก็ตาม จากมุมมองของผู้ที่ไม่เคยลิ้มรสขมของความข้นแค้น การกล่าวโทษปัจเจกย่อมง่ายกว่าการมองลึกลงไปให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้าง
หากค่าครองชีพพุ่งสูงสวนทางกับรายได้เพราะเงินเฟ้อ ก็เป็นความรับผิดชอบของคุณที่จะต้องใช้จ่ายให้น้อยลง หรือก้มหน้าก้มตาทำงานหาเงินให้มากขึ้น
มันไม่เคยเป็นความผิดของนายจ้างที่ไม่ปรับค่าจ้างขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ หรือเป็นความผิดของภาครัฐที่อนุมัติการไล่รื้อชุมชนเพื่อสร้างห้างสรรพสินค้าและคอนโดมิเนียมหรู จนค่าเช่าในย่านที่คุณอาศัยอยู่ทะยานสูง และแน่นอนว่ามันไม่ใช่ความผิดของภาคเอกชนทั้งประเทศที่ร่วมมือร่วมใจกันกีดกันไม่ให้เกิดสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งพอ
เป็นความผิดของคุณต่างหาก
คุณ ผู้เลือกใช้เงินซื้อชานมไข่มุกดื่มเติมความหวานในวันทำงานที่เหน็ดเหนื่อย ทั้งที่หากเลิกดื่มชานมไข่มุกแค่ปีเดียว คุณจะมีเงินเก็บหลักหมื่น แถมหากนำเงินส่วนนั้นไปลงทุนต่อ แล้วรอสักสิบปีก็จะได้ผลตอบแทนหลักแสนมาอย่างง่ายดายเลยแท้ๆ!
ที่มา
Jane, T. Most Money Advice Is Worthless When You’re Poor. https://www.vice.com/en/article/ev3dde/most-money-advice-is-worthless
Rivera, C. Alcoba, N.You work like a dog but each month by the 10th your pay is gone. https://www.aljazeera.com/features/longform/2023/3/1/you-work-like-a-dog-but-each-month-by-the-10th-your-pay-is
Rosenberg, D. Good debt vs. bad debt: It’s all about targeting your goals. https://www.britannica.com/money/good-debt-vs-bad-debt
ลัทธพร รัตนวรารักษ์. โสมรัศมิ์ จันทรัตน์. หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤติแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม?
https://www.pier.or.th/blog/2023/0202/
Tags: การก่อหนี้, การออมเงิน, Wisdom, Living Paycheck to Paycheck, Financial Literacy, เดือนชนเดือน