ไม่บ่อยนักที่ The Momentum จะยกกองขึ้นมาถึงเชียงใหม่

หนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดนอกจากรถแดง ธรรมชาติ ฝุ่นควัน และผู้คนที่ใจดี ก็คือคาเฟ่และร้านกาแฟที่มีอยู่แทบทุกหัวมุมถนน แต่คงไม่มีย่านไหนมีร้านกาแฟได้มากเท่ากับย่านแถว ถนนนิมมานเหมินท์ หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกสั้นๆ ว่า ‘นิมมาน’ 

แรกเริ่มพวกเราตื่นเต้นดีใจ คิดแค่ว่าจะได้มาลองชิมกาแฟร้านดัง เมล็ดแปลกใหม่ เสาะหาคาเฟ่ตกแต่งสวยงามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ แต่เมื่อเข้าร้านนั้น ออกร้านนี้ ดื่มกาแฟแก้วแล้วแก้วเล่า ก็เริ่มเกิดคำถามในใจว่า ‘ราคาก็แรงอยู่เหมือนกันนะ’

แต่ท่ามกลางราคากาแฟที่ไม่ได้ต่างจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่นัก ก็เริ่มมีความอยากรู้อยากเห็นว่า ‘แล้วบาริสต้าของที่นี่ได้เงินเดือนเท่าไหร่ สวัสดิการเป็นอย่างไร พวกเขาทำงานกันแบบไหน’ และคิดว่าน่าจะมีคนหนึ่งที่ตอบข้อสงสัยเหล่านี้ได้ลึกพอ 

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ดอย’ ผู้ก่อตั้งเพจ ‘สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่’ ในประเด็นต่างๆ ทั้งสิทธิแรงงาน ตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบของอาชีพบาริสต้า ประสบการณ์แปลกๆ ที่พบเจอจากนายทุนร้านกาแฟ และเหตุผลที่ว่าทำไมแรงงานจึงต้องลุกขึ้นต่อสู้กับทุน ที่อาจทำให้เราได้พบเจอกับมุมมองน่าสนใจของคนที่พยายามเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อให้ชีวิตตัวเองและคนรุ่นหลังดีขึ้นกว่านี้บ้างแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม 

การเจอกันระหว่างเราและดอยในครั้งนี้ เต็มไปด้วยบรรยากาศเหมือนเพื่อนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ได้พบกันในวงเหล้า จับพลัดจับผลูมารู้จักกันเพราะมีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ที่เปรียบเทียบแบบนั้นเพราะการพูดคุยที่เกิดขึ้นนั้นลื่นไหล เป็นกันเอง ผลัดกันแซว สลับกับตั้งคำถามเพื่อดูความคิดของอีกฝ่าย ก่อนที่จะจบลงด้วยความเข้าอกเข้าใจ และปลอบประโลมซึ่งกันและกันในฐานะมดงานตัวเล็กๆ ที่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของโลกทุนนิยม 

ดอยเป็นบาริสต้าที่พูดเก่ง อัธยาศัยดี เขามีเรื่องมากมายที่อยากจะแบ่งปันให้พวกเราได้ฟัง โดยเฉพาะเรื่อง ‘การต่อสู้ของแรงงาน’ ไปจนถึงความพยายามก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่’ เพื่อใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับนายทุนที่กดขี่ เพื่อใช้เรียกร้องสิทธิที่แรงงานพึงมีตั้งแต่แรก 

ไม่ใช่แค่อาชีพบาริสต้า แต่ชีวิตของเหล่าแรงงาน ต่างก็ต้องดิ้นรนด้วยกันทั้งนั้น 

 

บาริสต้า อีกหนึ่งอาชีพที่ถูกร้องขอว่า “เอ็งต้องทำได้ทุกอย่าง” 

“เป็นบาริสต้าต้องทำอะไรบ้าง”

“ยาวนะ อยากฟังจริงเหรอ”

“ที่มาหาก็เพราะอย่างฟังนี่แหละ”

“อย่างแรกเลยเวลาอ่านประกาศรับสมัครงาน ร้านต่างๆ ก็จะรีเควสประสบการณ์ที่อยากได้ แค่นี้แม่งก็ตลกแล้ว”

“ทำไม เขาขอเยอะเหรอ”

“นายทุนจะขอความสามารถทุกอย่างเท่าที่จะขอได้ ประสบการณ์ด้านกาแฟ มีความรู้เรื่องเมล็ดกาแฟ เช็กช็อตกาแฟเป็น ตั้งช็อตกาแฟเป็น เวลาซื้อเมล็ดกาแฟมาแต่ละรอบไม่เคยเหมือนกันเลย แม้เมล็ดมาจากพื้นที่เดียวกัน แต่มาคนละล็อต คนละโรงคั่ว หรือโรงคั่วเดียวกัน มันก็ต่างกันด้วยปัจจัยหลายอย่าง และปัญหาตรงนี้แก้ได้ด้วยการเช็กช็อต นอกจากนี้ต้องปรับเบอร์เครื่องบดเป็น เวลาเครื่องมีปัญหาก็เซอร์วิสเบื้องต้นได้ ต้องแจ้งช่างหรือบริษัทที่ผลิตเครื่องนั้นได้ว่ามีปัญหาอะไร 

“เออ ผมต้องขายของด้วยนะ ต้องแนะนำลูกค้าได้ ต้องดูแลเพจร้าน ตอบลูกค้า บางครั้งก็ต้องทำกราฟิก ไปออกบูธ ดูแลความสะอาด ถ่ายภาพและทำมาร์เก็ตติ้ง บางวันเจ้าของร้านก็จะบอกว่า ‘วันนี้เพจไม่ค่อยได้รับการอัปเดตเลย ถ่ายรูปลงให้หน่อย’ ซึ่งถ่ายที่ว่าก็ต้องถ่ายจริงจัง ภาพสวย หน้าชัด หลังเบลอ ถ่ายเสร็จแต่งภาพ คิดแคปชันพร้อมโพสต์ลงเพจ ซึ่งผมมีปัญหากับการคิดแคปชันมากเพราะเคยแค่ถ่ายรูปอย่างเดียว เขียนว่า ‘อร่อย อร่อย 120 บาท’ หรือ ‘ไนโตรอร่อยมาก 120 บาทครับ’ ก็ไม่ได้อีก หลายครั้งก็งง ไหนบอกว่าจ้างกูมาเป็นบาริสต้าไง

“กลายเป็นว่าพอไม่มีการรวมตัวของแรงงาน นายจ้างยังจะยัดงานที่คิดว่าคนเดียวไม่สามารถทำได้ให้เราทำ เพราะนายจ้างพร้อมที่จะจ่ายค่าแรงขั้นต่ำแบบต่ำสุดเสมอ แล้วเราก็ไม่มีอำนาจต้องรองที่จะบอกว่าไม่ได้ มันเกินหน้าที่ เกินความรับผิดชอบของเราแล้ว  

“เราไม่สามารถสโคปงานของเราได้ว่าสิ่งที่นายจ้างประกาศตามหา หรือสิ่งที่เขาสั่งให้ทำ มันขัดต่อหลักกฎหมาย ขัดต่อสิทธิแรงงาน ขัดต่อหลักสหภาพแรงงาน เพราะไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่าตำแหน่งหน้าที่มันควรจะอยู่แค่นี้ เงินเดือนก็ควรจะอยู่แค่นี้ หรือไปบอกนายจ้างว่าสิ่งที่คุณทำอยู่แม่งโหดร้ายเกินไป ถ้าสั่งงานเกินหน้าที่ทำให้ไม่ได้ ถ้าจะให้ทำก็ต้องขึ้นเงินเดือนผมสิ 

“เห็นบอกว่าที่เชียงใหม่เขายังให้เงินเดือนบาริสต้าแค่ 9 พันบาท” 

“ประมาณ 9 พันบาท ถึงหมื่นต้นๆ บวกลบนิดหน่อย คนที่มีประสบการณ์จะได้เงินมากกว่าคนไม่มีประสบการณ์นิดเดียวเองนะ ประมาณ 2 พันบาท แล้วก็ต้องสอนทุกอย่างให้กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีความรู้เรื่องกาแฟเลย แต่เขาสมัครมาเพราะต้องหาเลี้ยงชีพเหมือนกับเรา”

“แล้วดอยคิดอย่างไรกับเรื่องนี้”

“เรื่องนี้ก็แอบส้นตีนมากอยู่ ลองคิดภาพงานงานหนึ่งที่เอาคนมีประสบการณ์กับคนไม่มีประสบการณ์มาทำงานเดียวกัน แล้วคนที่มีประสบการณ์ต้องสอนทุกอย่าง แต่ค่าแรงเฉียดกันนิดเดียว นายจ้างควรจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม 

“นอกจากบาริสต้าจะต้องทำทุกอย่าง มันจะมีอีกสายหนึ่งคือสายเรียน มีใบเซอร์หรือเป็นแชมป์ ต้องมีทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้ค่าแรงของตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งที่คุณควรจะได้ตั้งแต่แรกโดยที่ไม่ต้องไปทำทุกอย่างขนาดนี้

“มันจะมีคอร์สหนึ่งชื่อ Specialty Coffee Association (SCA) สมาคมกาแฟพิเศษ ที่คนในแวดวงกาแฟรู้กันดีว่าราคาคอร์สขั้นต่ำคือ 5 หมื่นบาท มันควรเป็นใบสำหรับแรงงานบาริสต้าที่มีความสามารถ แต่แรงงานที่ไหนจะเอาเงิน 5 หมื่นบาทไปลงเรียน สมมติว่าค่าแรงได้มา 1 หมื่นบาท จ่ายค่าหอ 3 พันบาท เหลือ 7 พันบาท ค่ากินสามมื้อวันละ 150 บาท คูณไปอีก 30 วัน ออมเงินเท่าไหร่ถึงจะครบ 5 หมื่นบาทวะ 

“คอร์สครึ่งแสน ด้วยเงินเดือนบาริสต้าเชียงใหม่ที่ราคา 9 พันบาท?”

“เพื่อที่จะได้ใบเซอร์มา แลกกับค่าลงเรียน 5 หมื่นบาท สุดท้ายเราก็ต้องเลือกเอาไปดูแลครอบครัว ดูแลตัวเอง และใช้จ่ายกับภาระอื่นๆ ที่มีอยู่ ตอนนี้คนที่ส่วนใหญ่ไปเรียนเลยมักเป็นคนที่มีต้นทุนอยู่แล้ว เป็นเจ้าของกิจการ เป็นเศรษฐีที่สนใจกาแฟ เป็นคนมีเงินเหลือ ซึ่งการเรียน SCA ก็จะต้องได้ครบ 3 ใบ คอร์สแรกกับคอร์สที่สองต้องจ่ายคอร์สละ 5 หมื่นบาท ส่วนคอร์สสุดท้ายอลังการหน่อย ค่าใช้จ่ายประมาณ 8 หมื่นถึงแสนบาท ถ้าสอบไม่ผ่านก็ลงเรียนใหม่ จ่ายใหม่ วนไปจนกว่าจะได้ใบ ก็ลองคิดดูว่าคนที่เรียนจะเป็นคนกี่เปอร์เซ็นต์ในประเทศนี้ 

“ถ้าได้ใบแล้วเอามาประดับบารมีได้ไหม”

“ได้เท่”

“แค่นั้นเหรอ”

“ก็คงบวกเงินเพิ่มได้แหละ อย่างในกรุงเทพฯ ค่าแรงบาริสต้ามีประสบการณ์ไม่เคยเกิน 25,000 บาท ใบนี้ก็คงช่วยได้สุดๆ แค่นั้น

“คนที่ได้ใบ SCA ส่วนใหญ่เอามาประดับบารมี เอามาใช้เพื่อขายของ ขายเมล็ด บางทีเมล็ดห่าอะไรไม่รู้แต่ถ้าขายผ่านไอดอยที่มีใบ SCA ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น การันตีได้ว่าสินค้ามีคุณภาพดีแม้จะราคาสูงกว่าเจ้าอื่น ทั้งที่บางครั้งต้นทางที่รับมามันมาจากดอยห่าอะไรไม่รู้ แต่พอผ่านผม กลายเป็นว่ามีระดับ”

“นอกจากคอร์สราคาโหดแบบนี้ มีอะไรที่พอดูจะใกล้ตัวขึ้นอีกไหม”

“อย่างที่บอกว่าคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นบาริสต้าคืออะไร ลองลิสต์มาแล้วดูกันว่าพื้นฐานจริงไหม เช่น ตั้งช็อต คนขายกาแฟควรจะทำได้ เหมือนคนทำผัดกะเพราก็ต้องชิมผัดกะเพรา มีความรู้เรื่องผัดกะเพรา คนทำกาแฟก็ต้องมีความรู้เรื่องกาแฟ อันนี้ให้ผ่าน เพราะแต่ละอาชีพก็จำเป็นต้องมีสกิลแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และรู้จักเนื้องานที่ตัวเองทำ

“แล้วลาเต้อาร์ตล่ะ คุณเทผัดกะเพราแบบอาร์ตได้ไหม อันนี้เริ่มแปลกๆ ขึ้นแล้ว นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องที่ว่าบาริสต้าจะต้อง ‘ดริปกาแฟแบบสโลว์บาร์’ มีความรู้ขึ้นมาอีกนิด ทำกาแฟโดยไม่ใช้เครื่องแบบสปีดบาร์ ซึ่งต้องมาคุยกันว่ามันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานจริงไหม เรารวมทุกอย่างว่าเป็นพื้นฐานแบบงงๆ หรือเปล่า พื้นฐานห่าอะไร หลายเรื่องที่ขอมาคือสิ่งที่แรงงานต้องไปเรียนรู้เอง ต้องไปค้นหาเอง”

“ค่าเรียนลาเต้อาร์ตแพงไหม”

“มีทั้งถูกและแพง แบบราคาถูกหน่อยก็คอร์สสอนเทลาเต้อาร์ตหนึ่งวัน 2 พันบาท วันนั้นมึงก็เทไปเถอะ แต่บางที่ก็ไม่รวมค่านมที่ใช้เทนะ เทกันเป็นสิบลิตรก็มี”

“เงินเดือน 9 พันบาท แล้วก็ต้องไปเรียนเทลาเต้อาร์ต 2 พันบาท”

“อืม แบบนั้นเลย”

“แล้วถ้าเทลาเต้อาร์ตได้ จะได้ค่าแรงเพิ่มไหม”

“ผมบวกให้ประมาณ 1-2 พันบาท แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ด้วยที่จะให้ บอกแล้วไงมันถูกเพิ่มเข้าไปเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของบาริสต้า นายทุนก็จะขอขั้นพื้นฐานแบบขยายไปเรื่อยๆ ย้อนไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว เขาขอแค่คุณต้องดูเมล็ดกาแฟได้ ใช้เครื่องเป็น ตอนนี้มึงต้องเทอาร์ตเป็นนะ ต้องสโลว์บาร์นะ ทั้งที่ร้านมึงเป็นร้านสปีดบาร์ มึงเอาสโลว์มาทำห่าอะไร มีพนักงานอยู่ด้วยกันประมาณ 1-3 คน อย่างร้านเก่าผมมีบาริสต้าคนเดียว แต่ให้ทำสโลว์บาร์ 

“โห กว่าจะได้แดก”

“กว่าลูกค้าคนนี้สั่งเสร็จ รอผมดริปกาแฟ กว่าคนสุดท้ายจะได้แดก ทั้งวันอ่ะ”

“ถ้าเราไม่มีการรวมกลุ่ม เราก็ต้องทำทุกอย่าง ก็ไม่ต้องโทษใคร โทษมึงเองที่พวกมึงไม่ยอมรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะมีอำนาจต่อรองเถอะ แล้วอีกหน่อยบาริสต้าแม่งก็ขับเครื่องบินเป็นแล้วมั้ง”

 

เชียงใหม่อยู่ง่าย สบายๆ สไตล์สโลว์ไลฟ์?

“คิดอย่างไรกับเรื่องค่าจ้างและค่าครองชีพในเชียงใหม่ เอาแค่ในเชียงใหม่ก่อนนะ”

“เคยซื้อยาสีฟันที่เชียงใหม่ไหม แล้วซื้อยาสีฟันที่กรุงเทพฯ ไหม ราคาเท่ากันหรือเปล่า”

“เคยดิ ใครจะไม่เคยซื้อยาสีฟัน”

“แล้วเท่ากันไหมพี่”

“ก็ไม่ได้ต่างกันนะ”

“ใช่ไหม ประเทศเราก็มีความซับซ้อนเรื่องค่าแรงในแต่ละจังหวัด เพราะแต่ละเมือง แต่ละภูมิภาคก็ไม่เหมือนกัน เคยลองตั้งคำถามเล่นๆ ว่าแล้วค่าครองชีพกรุงเทพฯ มันแพงกว่าหลายจังหวัดเพราะอะไร แล้วที่อื่นทำไมถึงถูกกว่า แต่ถูกจริงไหมในเมื่อยาสีฟันก็ราคาเท่ากัน”

“มีคนตอบว่าค่าเดินทาง คนที่เป็น ‘กรุงเทพฯ ลิซึ่ม’ ก็จะบอกว่าค่าครองชีพของเมืองหลวงแพงเพราะค่าเดินทาง แต่เชียงใหม่ค่าเดินทางถูกมากเลยมั้ง ลองคิดดูดีๆ ว่าค่าครองชีพกับค่าเดินทางเชียงใหม่เหมือนจะราคาถูกเพราะอะไร เพราะเราไม่มีระบบขนส่งสาธารณะเหมือนกรุงเทพฯ ไง เราเลยไม่เดือดร้อนเพราะเราไม่เคยมีขนส่งสาธารณะ เราไม่เคยเดือดร้อนกับค่ารถเมล์ ค่าบีทีเอสไป-กลับ เที่ยวละร้อยบาท เราไม่เคยมีปัญหานี้ เพราะเราไม่มีมันตั้งแต่แรก 

“แต่กลับกัน คนเชียงใหม่มีหนี้ก่อนมีงาน หนี้มอเตอร์ไซค์นี่เห็นบ่อยมาก เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะเดินทางอย่างไร ถ้ามีคนบอกว่า ‘ก็รถแดงไง รถแดงระบบขนส่งสาธารณะ’ ผมเตรียมเขวี้ยงเกือกเลยนะ เพราะรถแดงไม่เคยเป็นขนส่งสาธารณะ เป็นแค่ขนส่งมวลชนเฉยๆ ซ้ำยังเป็นขนส่งที่ผูกขาดด้วย 

“สังคมไทยชอบเสพติดความลำบาก ชอบส่งต่อความลำบากให้คนรุ่นหลัง สอนว่า ‘ทำแบบฉันสิ’ เอาแต่พูดว่า ‘สมัยฉันเงินเดือนแค่ 9 พันบาท ก็อยู่ได้’ โธ่ ไอห่า… ตอนนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 25 บาท ตอนนี้ราคายืนพื้นที่เชียงใหม่ชามละ 40 บาท ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ เลย ค่าครองชีพของเชียงใหม่ไม่ได้หนีจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่

“ดอยคิดว่ากาแฟที่นี่แพงปะ”

“แพงดิ แพง เราเทียบค่าครองชีพ ค่าแรง ค่ากาแฟ เราเทียบกับทั้งหมดนี้ซึ่งมันแพงมาก” 

“แล้วทำไมกาแฟที่ราคาแพงถึงขายได้”

“ขายให้กับนักท่องเที่ยวและชนชั้นกลางของที่นี่ คนวัยทำงานที่ต้องกินกาแฟเพื่อที่จะนั่งทำงาน แล้วก็หาเงินมากินกาแฟต่อ”

“แต่เงินเดือนบาริสต้า 9,000 บาท ดื่มกาแฟที่ตัวเองทำไม่ได้นะ”

“ใช่! ถูกต้องเลย”

“มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง จริงๆ กาแฟมันควรจะเป็นสวัสดิการด้วยซ้ำเพราะต้นทุนไม่ได้เยอะ สมมติว่ากาแฟมาตรฐานไม่ใช่ Specialty กิโลกรัมละพันบาท ก็จะตกอยู่กิโลกรัมละ 400-600 บาท ซึ่งกาแฟหนึ่งแก้วเท่ากับ 20 กรัม ถูกจัด ซึ่งร้านเก่าก่อนหน้าที่ผมทำ เป็นร้านครัวซองต์แห่งหนึ่งในถนนระแกง เขาจะต้องให้ผมซื้อกาแฟทุกอึกที่ผมดื่มไป เพราะเขาบอกว่าต้องคิดค่าอุปกรณ์ ต้องคิดเงินผมเพราะเร่งคืนทุนในสามปี”

“ฮะ!?”

“จริ๊ง!” 

“แต่ดอยเป็นพนักงานร้าน วันละแก้วก็ไม่ได้เหรอ”

“เวลาผมจะเช็กช็อตกาแฟ ผมก็ต้องเสียเงินซื้อ แล้วปกติกาแฟตามร้านทั่วไปจะมีอย่างน้อยสองโถคือคั่วกลางกับคั่วเข้ม แล้วผมก็ต้องกดกาแฟแบบดับเบิลช็อต ชิมเพื่อเช็กช็อต เท่ากับว่าตอนเช้าผมต้องดื่มกาแฟแบบช็อตไปแล้ว 4 ช็อต และบางวันมันสวิง เราก็ต้องเช็กซ้ำ สลับดื่มน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อขับคาเฟอีน ที่ว่ามานี้ก็คือจ่ายเงินซื้อทั้งหมด บางร้านก็ดี บางร้านก็ห่วย อาจไม่เกี่ยวกับเชียงใหม่มาก แต่แค่อยากเล่าให้ฟังว่ามันก็มีอะไรแบบนี้เหมือนกัน”

“มีอีกเรื่องที่อยากถาม เราเห็นในเพจสหภาพของคุณเขียนไว้ว่า ทำงานเดือนหนึ่งแต่โดนคิดค่าแรงแค่ 26 วัน มันคืออะไรอ่ะ”

“คนที่ทำงานประจำในกรุงเทพฯ จะบอกว่าเรื่องนี้แปลกสำหรับเขามากๆ แต่กลายเป็นเรื่องปกติเลยที่เชียงใหม่จะคิดค่าแรงแบบรายวัน รายวันนั้นหมายความว่าถ้าหยุดก็ไม่ได้เงิน ลาป่วยไม่ได้เงิน สวัสดิการก็ไม่มี เป็นเหมือนแรงงานนอกระบบทุกอย่าง มีหลายที่ที่จ้างงานบาริสต้าแบบนี้จริงๆ 

“เท่ากับว่าห้ามลา ห้ามหายไป ถ้ายังอยากได้เงินค่าแรง?”

“สมมติว่าเดือนที่แล้วมีวันเกิดของคุณป้าคนหนึ่ง กฎหมายแรงงานบอกว่าทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์จะต้องได้ค่าแรงคูณสอง สมมติเงินเดือน 9,000 บาท ผมทำงานในวันหยุดพิเศษจะต้องได้เงิน 9,300 บาท แต่ที่เชียงใหม่ชอบปล่อยเซอร์เลยนะ จ่ายเงินเดือนเท่ากัน 9,000 บาทตลอด 12 เดือน นอกจากนี้แรงงานภาคบริการในเชียงใหม่จะได้หยุด 1 วันต่ออาทิตย์เท่านั้น ก็กฎหมายแรงงานมันกำหนดไว้ว่าให้ทำงาน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” 

“บาริสต้าในเชียงใหม่มีเรื่องให้คิดเยอะแยะ มีเรื่องที่ถูกกดทับและอยากพูด แล้วตอนนี้มีกลุ่มก้อนเครือข่ายอื่นนอกจากของดอยกับเพื่อนๆ บ้างไหม”

“ยังไม่เห็นภาพชัดเท่าไหร่ ส่วนที่เห็นก็จะเป็นกลุ่มแรงงานที่รวมตัวกันเพื่อขิงว่าผมได้รางวัลนั้น รางวัลนี้ อยู่ร้านนั้น อยู่ร้านนี้ สมมติไปพิมพ์ในกลุ่มว่า ‘ผมคือดอย คลาวด์คอฟฟี่’ คนจะงงแล้วถามว่าใครวะ แต่ถ้าเขียนว่า ‘ผม (ชื่อร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเชียงใหม่)’ เหี้ย โคตรเท่ แต่จริงๆ สวัสดิการมึงก็พอๆ กับกูนั่นแหละ ค่าแรงมึงกับกูก็ไม่ได้ต่างกันเยอะ ผมเห็นค่าแรงบาริสต้าเชียงใหม่ไม่เคยเกิน 2 หมื่นบาท ถ้าเกินก็จะเป็นแค่ 1% แล้วจะเอาคนแค่ 1% มาเทียบกับคน 99% จริงเหรอ”

“มีบาริสต้าแค่ 1% เองเหรอในเชียงใหม่ ที่ได้เกิน 2 หมื่น” 

“คนชอบคิดว่าดื่มกาแฟมันควรจะมีความชำนาญเฉพาะ คนชงก็ควรต้องมีความชำนาญเฉพาะ แต่ค่าความชำนาญเฉพาะของเรามันมีค่าแค่เงินเท่านี้แหละ

“มันจะมีไหม สักวันหนึ่งที่พนักงานในร้านกาแฟเชียงใหม่รวมตัวกัน แล้วประท้วงแม่งเลย ผมถามตัวเองแบบนี้ตลอด”

 

‘ค่าแรงไทย’ ปัญหาใหญ่ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขจริงจัง

“แล้วถ้ามองออกมานอกจากเชียงใหม่ เราเห็นอะไรเกี่ยวกับแรงงานบ้าง”

“เห็นหลายอย่างเลย พี่เห็นอะไรบ้างล่ะ”

“เห็นสภาพแรงงานที่ถูกกด เงินเดือนเท่าเดิมแต่ของทุกอย่างแพงขึ้น เห็นภาวะจำยอมเพราะถ้าขัดขืนแล้วแพ้ พวกเขาก็จะตกงาน เห็นความกลัวของแรงงานที่ไม่กล้าออกมาเรียกร้องเพราะไม่มีกำลังมากพอ”

“ไม่ว่าจังหวัดไหนก็มีเรื่องให้คิด”

“ใช่”

“เรื่องค่าแรงผมแตกประเด็นได้อีกเยอะมากทั้งเรื่องระบบขนส่ง ค่าแรง สวัสดิการ ค่าบริการ ทั้งหมดเป็นปัญหาที่อิรุงตุงนังมาก หลายเสียงก็บอกว่าถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องแก้ ที่พูดแบบนี้ออกมาเพราะมึงไม่เคยมีปัญหาไง มึงไม่เคยได้รับผลกระทบจากการที่ปัญหาพวกนี้มันไม่เคยได้รับการแก้ไข และคนพูดไม่เคยอยู่ในพื้นฐานเดียวกันกับผู้ใช้แรงงาน 

“ผมพยายามจะบอกกับคนอื่นตลอดเวลา เมื่อไหร่ก็ตามที่แรงงานไม่สามารถเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีส่วนร่วมกับการออกแบบค่าแรง ค่าแรงก็จะถูกแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะแรงงานพร้อมที่จะเรียกร้องค่าแรงสูงสุดเสมอ และนายจ้างก็พร้อมที่จะจ่ายค่าแรงที่ถูกที่สุดเสมอเช่นกัน

“แล้วพี่ว่าใครออกแบบค่าแรง?”

“เอ็งก็บอกพี่สิ”

“ถ้านายจ้างบอกว่า ‘ผมให้คุณแค่นี้พอแล้ว คุณจงพอใจกับเงินที่ได้’ เราก็ต้องพองั้นเหรอ คนชอบคิดว่า ‘ก็นี่ไง อิงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน’ แล้วค่าแรงแต่ละพื้นที่มันก็จะมีอนุกรรมการพิจารณาค่าแรงแต่ละจังหวัด แบ่งเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน คือ รัฐบาล นายจ้าง และแรงงาน 

“ดูเผินๆ เหมือนจะโอเค เพราะมีฝ่ายแรงงานเข้าไปเป็นตัวแทน แต่ลองดูจริงๆ ว่าใครเป็นตัวแทนฝ่ายแรงงานที่เข้าไปในนั้น ก็พวกอาชีพที่ไม่เคยได้รับค่าแรงในอัตราขั้นต่ำ เฮชอาร์ หมอ วิศวกร พวกนั้นผมไม่หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดีหรืออะไร แต่เขาไม่ได้เคยได้รับอัตราค่าแรงในอัตราที่ต่ำเลย แล้วเสือกเอามาคิดแทนกูนี่นะ

“คือจะบอกว่าฝ่ายแรงงานเลือกตัวแทนผิดตั้งแต่แรกถูกไหม”

 “ผมไม่ได้จะโบ้ย แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับรู้ถึงปัญหาของแรงงานส่วนใหญ่จริงๆ แล้วมโนว่าค่าแรงเก่า 300 บาท หากบวกค่าเงินเฟ้อ 5% บวกกับอื่นๆ อีก 2% รวมแล้วเป็น 7% ก็จะกลายเป็นค่าแรงปัจจุบัน ถามว่ามันสอดรับกับค่าครองชีพตรงไหน 

“เอาแค่เรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำ คนที่ควรจะร่วมออกแบบควรจะเป็นคนที่ได้รับเงินตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำจริงๆ ดูว่าอาชีพไหนบ้างที่ได้รับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานไม่มีฝีมือ แรงงานไม่มีประสบการณ์ พวกนี้คงจะได้รับค่าแรงในอัตราขั้นต่ำ แล้วได้เอาเขาไปเป็นตัวแทนไหม มันก็คือชีวิตของเขาเลยนะ แล้วได้เอาไปเป็นตัวแทนฝ่ายแรงงานเพื่อให้เข้าได้มีส่วนร่วมไหม รัฐบาลเจ๊ปู ยิ่งลักษณ์ ประกาศมาเลยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แล้วหลังจากนั้นก็ดักดานอยู่แค่นั้น ตอนนี้ค่าแรงเชียงใหม่เขาประกาศตั้งแต่ปี 2563 ว่า 325 บาท แต่ก็ยังคงอยู่กับโลกเดิมคือ 300 บาท เพราะแรงงานเราไม่มีอำนาจต่อรอง แรงงานไม่มีสิทธิไม่มีส่วนในการออกแบบดีไซน์ค่าแรง

“ตอนนี้ปรับขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ได้ฟังไหมว่ามีเสียงสะท้อนว่าค่าแรงเชียงใหม่ที่ตอนนี้ 325 บาท แล้วจะขึ้นเป็น 340 บาท มันไม่เพียงพอ ค่าครองชีพและเงินเฟ้อมันแซงทะลุค่าแรงไปมหาศาลแล้ว เคยได้ฟังเสียงของคนที่เขาได้รับอัตราค่าแรงขั้นต่ำจริงๆ บ้างไหม 

“เราเห็นแล้ว ตอนนี้ที่เราพูดกันมาเราก็เห็นแล้วว่าทุนนิยมไม่ได้โง่ มันก็มีการพัฒนาของมันไปเรื่อยๆ มันอยู่ได้ทุกระบบการปกครอง ของเราเป็นระบบประชาธิปไตยพ่วงด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ก็ควรจะแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของระบบชีวิตสิ แต่พอเป็นเรื่องงาน ผมเห็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านออกมาร้องต่อต้านประยุทธ์ แต่มึงยังกดค่าแรงลูกจ้างอยู่เลย นี่น่ะเหรอประชาธิปไตยของมึง 

เพราะเราไม่ได้มองประชาธิปไตยในทุกมิติ เรามองประชาธิปไตยแค่ในเรื่องของการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจใต้ระบบประชาธิปไตยคือทุกคนควรจะเข้าถึงทรัพยากร และมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ใช่เหรอ

“เรื่องนี้ก็ต้องไปว่ากันกับกระทรวงแรงงาน”

“พูดถึงกระทรวงแรงงาน ผมจะด่า สุชาติ ชมกลิ่น (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน) ด้วยเลย ผมจำเขาพูดได้อยู่เลยว่า ‘ควรจะเรียกค่าแรงให้ขึ้นแค่ 5-8% การจะเรียกให้มากกว่านี้ คุณจะต้องเห็นใจนายจ้าง’ คือมึงเป็นกระทรวงแรงงาน ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ มึงจะเห็นใจนายจ้างทำห่าอะไร งั้นมึงก็เป็นกระทรวงแรงงานและผู้ประกอบการสิ เข้าใจความอิหยังวะของประเทศนี้ไหม แล้วแรงงานทุกคนก็พร้อมที่จะเข้าใจนายทุนกับผู้ประกอบการหมดเลย 

“ทุกคนไม่ยอมปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง นี่แรงงานกำลังขูดรีดตัวเองไปหรือเปล่า คราวก่อนมีสำนักข่าวหนึ่งถามผมว่า ‘ดอยคิดว่าค่าแรงของแรงงานควรจะเท่าไหร่’ ผมตอบว่าเดือนละหนึ่งแสนบาท ให้ผมได้ไหมล่ะ แรงงานก็อยากได้เยอะสุดอยู่แล้ว เราเสนอตัวเลขไป นายจ้างก็มาคุยกันว่าเงินเดือนควรจบที่เท่าไหร่ แต่จริงๆ คือมันให้เรา 9,000 บาทไง”

 

“แรงงานไทย หัวใจนายทุน”

“ที่คุยกันมาทั้งหมดนี้ สิ่งหนึ่งที่ดอยอยากเรียกร้องคือการขึ้นค่าแรงถูกไหม”

“ใช่ ผมอยากมีเงินเยอะขึ้น”

“แล้วแรงงานคนอื่นๆ ล่ะ”

“ผมว่าส่วนใหญ่ก็อยากได้เงินเพิ่มอยู่แล้ว ใครจะอยากทำงานหนักแล้วได้เงินน้อย พอเราพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง ก็จะมีศัพท์ ‘แรงงานไทย หัวใจนายทุน’ เพราะทุกคนพร้อมที่จะเข้าใจนายทุนหมดเลย ‘ก็เขาเป็นนายทุน มีความเสี่ยง เขาต้องแบกรับนะครับ’ หลายคนบอกว่า ‘นายทุนเขาต้องดูแลชีวิตคนเป็นร้อยเลยนะครับ ถ้าคุณขอเพิ่มค่าแรงคนละ 5 บาทต่อเดือน ไม่ไหวหรอกครับ เพราะจะทำให้เขาดูแลกิจการเพิ่มขึ้น’ ได้ยินแบบนี้บ่อยมาก แต่ละประเทศที่บริษัทใหญ่ๆ เขาล้ม เขาล้มเพราะขึ้นค่าแรงให้แรงงานเหรอ 

“ส่วนใหญ่เขาล้มเพราะปรับตัวไม่ทัน บ้านเราที่ล้มๆ ไปเพราะขึ้นค่าแรงเหรอ ค่าแรงกูยังไม่ทันได้ขึ้นเลยมึงล้มแล้ว ล้มแซงหน้ากูเหรอ”

“แล้วพอบริษัทล้มปุ๊บ ก็จะมีไอ้คนที่วิ่งมาบอกว่า ‘นี่ไงครับ ล้มเพราะประกาศขึ้นค่าแรง’ ทั้งที่ระยะเวลาห่างกันสองปี ที่ผมกำลังจะบอกคือสมการของการเจ๊งมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ขึ้นค่าแรงเท่ากับกิจการเจ๊ง ก็ไม่จริงเสมอไป

“ผมมองว่าแรงงานหลายคนควรเปลี่ยนความคิดได้แล้ว พวกมึงพร้อมที่จะเข้าใจนายทุนอยู่เสมอ แต่มึงไม่เข้าใจแรงงานด้วยกัน กดแรงงานด้วยกันทั้งที่มึงก็เป็นแรงงาน แล้วก็แบ่งแยกเฉดสีตามที่ทุนนิยมวางแผนเอาไว้ ซึ่งทุนนิยมไม่ได้โง่ เขาวางความซับซ้อน แยกเลเยอร์ของชนชั้นแรงงานเป็นย่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัว นี่ความฉลาดของทุนนิยม ซึ่งเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าคู่ขัดแย้งแท้จริงของเราคือทุน 

“มีคนบอกว่า ผู้ประกอบการรายย่อยก็คือทุน’ แต่หลายครั้งฐานะทางสังคมของ SME ก็ยังคงเป็นชนชั้นแรงงาน แรงงานจะตีกับผู้ประกอบการรายย่อย แต่จริงๆ แล้วแรงงานกับ SME ควรไปทลายทุนผูกขาด โดยการถือค้อนในอำนาจรัฐ ทุบแม่งให้แหลกหมดเลย แต่ SME ส่วนใหญ่เลือกไม่ทำ เพราะการจะควบคุมค่าใช้จ่ายในการจัดการร้านหรือบริษัทได้ง่ายที่สุดคือค่าแรงของแรงงาน 

“ถ้าจะบอกว่าพวกเราควรรวมตัวกันเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก เพื่อที่จะไปทลายกองทุนใหญ่ ก็บอกว่า ‘เหนื่อย ไม่มีเวลาว่ะ ทำไม่ได้หรอก’ อย่ากระนั้นเลย กดค่าแรงดีกว่า ง่ายดี”

“ยกตัวอย่างแรงงานไทย หัวใจนายทุน แบบที่ว่าให้ฟังเพิ่มอีกหน่อยได้ไหม”

“ลองเข้าไปดูในกลุ่ม Specialty Coffee Thailand ก็ได้ ผมไปตีกับเขาตลอด สนุกดี เพราะขั้นตอนนั้นในการดำเนินงานของผมคือ ‘ก่อนจะร้องเรียกร้อง เราต้องเรียกตีนก่อน’ ด้วยการล่อเป้าทางจิตใจ”

“ไปตีอะไรกับเขา”

“เวลาเข้าไปก็จะเจอแรงงานไทยหัวใจนายทุน แล้วก็มี SME ที่ชอบเผยไต๋ออกมาว่า ‘ผมไม่เห็นด้วยกับการรวมกลุ่ม เราก็เรียกร้องสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน’ เราไม่ได้เรียกร้องสิ่งใหม่เลย ถ้าคุณมาโวยวาย แสดงว่าร้านคุณแม่งใช่แล้ว ร้อนตัวหรือเปล่า 

“เวลาด่าโคตรพ่อโคตรแม่ว่า ‘พ่อมึงตาย’ ก็แบบ อุ๊ย… รู้ได้ไงครับ พ่อผมตายแล้ว เวลาด่าว่า ‘ไอ้ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน’ ก็ใช่ แม่ผมก็เป็นแรงงานไม่เคยได้เลี้ยงผมเลย ผมโตมากับยาย ผมไม่เคยสะทกสะท้าน หน้าผมหนา ต้องด่ากันด้วยข้อมูล ด่ากันด้วยเปเปอร์ที่หนักแน่น ลองเอารีเสิร์ชกับข้อมูลมาวางตรงหน้า อันนั้นผมกระอักเลือดตายแน่ แต่คอมเมนต์ส่วนใหญ่ที่โกรธก็จะมาแบบสาดเสียเทเสีย 

“ไปทำอะไรให้เขาด่าพ่อ หรือคุณไปด่าเขาก่อนเขาเลยด่ากลับ”

“ผมก็ไปเปิดวอร์ด้วยข้อมูล ด้วยการตั้งคำถามกับเรื่องง่ายๆ เพื่อทำให้เขาร้อนตัว จริงๆ ในกลุ่มมีแรงงานเยอะมากแต่ไม่มีพื้นที่คุย เราก็จัดให้ เปิดประเด็นเรื่องการกดขี่แรงงาน ตั้งคำถามลอยๆ แล้วมันก็จะมีคนที่ร้อนตัววิ่งเข้ามา ทำให้เกิดการถกเถียงจากคนที่เขาคิดว่าตัวเองไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ไม่มีอำนาจที่จะคุยในกลุ่มนี้ ได้มีพื้นที่แสดงทัศนคติของเขา

“ลองดูว่าระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการใครมีจำนวนเยอะกว่ากัน แต่แค่เราไม่กล้าออกเสียง เพราะเราไม่เคยคิดว่าเรามีพาวเวอร์ เราไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องทั้งที่สิทธิเหล่านี้เป็นของเรา แต่มันมีมายาคติบอกว่าสิทธินั้นไม่ใช่ของคุณ คุณยังไม่มีสิทธิ คุณต้องทำอะไรหลายอย่างถึงจะมีสิทธิ หรือการที่มีคนมาบอกว่าประเทศไทยควรเอาคนคุณภาพ 3 แสนคน ไม่ใช่คนคุณภาพแย่ 15 ล้านคน และควรให้ความสนใจกับ 3 แสนคนตรงนี้ก่อน จำประโยคนี้ได้ไหม เสรี วงษ์มณฑา เคยพูดไว้ในม็อบ กปปส. 

“มันก็จะโยงมาถึงเรื่องที่ว่าทำไมถึงต้องมีสหภาพแรงงาน ทำไมถึงต้องมีการรวมตัวของแรงงานไม่ว่าอาชีพไหนๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่มีการรวมตัว เราก็ไม่มีกำลัง สิ่งเดียวที่แรงงานสามารถชนะทุนได้คือจำนวนคน สิ่งที่ทุนต้องง้อแรงงานก็คือคนซึ่งเป็นแรงงาน 

ตอนนี้เราไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าเรียกร้องเลยด้วยซ้ำ เราแค่ทวงสิทธิที่ควรจะมี

 

‘การรวมตัวของสหภาพแรงงาน’ อาวุธเดียวที่แรงงานใช้สู้กับนายทุน 

“ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งที่มันยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็เป็นเพราะแรงงานอย่างเราๆ นี่แหละ”

“บางคนก็สู้สุดใจ บางคนก็ไม่เอาอะไรเลย”

“ใช่”

“แต่มันก็เป็นสิทธิของเขา ที่จะพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี”

“นั่นก็ใช่อีก แต่ผมมองในสโคปของโครงสร้างพื้นฐานค่าแรงแบบไม่ใช่แค่อาชีพเดียว โครงสร้างมันไม่สอดรับกับค่าใช้จ่าย ไม่สอดรับกับสกิลของคน ผมสงสัยว่าทำไมค่าแรงเรามันไม่สมเหตุสมผล แล้วพอเราไปคุยว่าใครเป็นคนกำหนดค่าแรง บาริสต้าใครเป็นคนคิดค่าแรง ร้านไง เหตุผลมันอยู่ในคำตอบอยู่แล้ว ใครเป็นคนคิดค่าแรง 

“ใครจะพอใจไม่รู้ แต่ผมและอีกหลายคนไม่พอใจ แค่จะกินข้าวผัดกะเพรายังต้องคิดเลยว่าจะสั่งพิเศษไข่ดาวดีไหม แค่เพิ่มอีก 10 บาท แรงงานยังต้องคิดเลยว่าจะเอาไหม ถ้าสั่งแล้วพรุ่งนี้คุณจะพอมีเงินเหลือไปกินให้ครบ 3 มื้อไหม แต่ช่างแม่งเถอะ เอาผัดกะเพราเท่าเดิมแล้วสั่งน้ำรีฟีลเอา นี่หรือคุณภาพชีวิตที่ดี นี่หรือสังคมที่เราจะส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่

“ถ้าส่งต่อสังคมแบบนี้แล้วโดนเด็กรุ่นใหม่ด่า เราก็ไม่มีสิทธิเถียงเขานะ เด็กมันอาจจะชี้หน้าบอกว่า ‘มึงส่งค**อะไรมาให้กู’ มันคือความผิดของเราหมดเลย ความผิดของคนยุคก่อนที่ส่งสังคมแบบนี้มา อย่างน้อยการรวมตัวของแรงงานควรจะทำให้เขาไม่ต้องต่อสู้ในหลายๆ เรื่อง ลดภาระสักเรื่องหนึ่งของชีวิตได้ก็ยังดี เอาแค่เรื่องค่าแรงนี้แหละ เพราะเราคือแรงงาน

“เราเห็นแล้วว่าการมีชีวิตที่ดี การได้รับสวัสดิการที่ดี มันแตกต่างจากตอนที่เราไม่ได้รับสวัสดิการที่ครบถ้วนอย่างไรบ้าง ขนาดสวัสดิการของประชาชนในไทยมันห่วยมาก แต่ถ้าเราได้ครบในความห่วยนั้น เรายังรู้สึกว่าก็ยังดี ยังมีขั้นบันไดที่เพิ่มมาให้เราไปเอื้อมถึงคุณภาพชีวิตที่ดี มีบางเรื่องให้เบาใจลง ซึ่งการเรียกร้องของกลุ่มแรงงานจะต้องทำให้คนทั่วไปเห็นภาพรวม ทำให้เห็นว่าถ้าเราหลายคนออกมาเรียกร้องร่วมกันแล้วเราจะได้อะไร คุณภาพชีวิตที่เราคาดหวังเป็นแบบไหน อุดมการณ์พวกนี้มันต้องกินได้ 

“ผมมีอุดมการณ์และต้องอยู่กับมัน ผมทำอุดมการณ์เพื่อแรงงาน ต้องทำให้แรงงานเข้าใจว่าเราเรียกร้องคุณภาพชีวิตของเรา เรียกร้องสิทธิที่เป็นของเรา อย่างน้อยความเป็นคนต้องเท่ากัน เพื่อที่จะให้ ลูก หลาน เหลน โหลน หรือเราในตอนนี้มีความเท่าเทียม และสามารถเข้าถึงทรัพยากรคุณภาพได้เท่าเทียมกับคน 1% 

“การศึกษาที่ดี ขนส่งดี สวัสดิการดี การรักษาพยาบาล ต่างๆ อย่างน้อยเรื่องพวกนี้ควรจะจบในรุ่นเราได้แล้ว เราจะต้องมาสร้างบรรทัดฐานสวัสดิการรัฐ สวัสดิการที่ดีเพื่อรองรับให้เด็กๆ รุ่นต่อไป อย่างน้อยให้เด็กไม่ต้องมาลำบากเหมือนเรา

“ความเป็นสหภาพคืออาวุธของชนชั้นแรงงาน ถ้าเราขาดอาวุธตรงนี้ เราก็ขาดการต่อรองทุกอย่าง แต่ในกลุ่มแรงงานก็จะมีลัทธิบูชากลไกการตลาด ‘ค่าแรงมันต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแรงงาน’ ก็บอกแล้วไงว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นนายจ้างคิดค่าแรง เขาก็พร้อมจ่ายต่ำสุดเสมอ และเรื่องโครงสร้างค่าแรงของเมืองไทย บอกว่าขั้นต่ำ 1 คนทำงาน 1 อย่าง ดูแลชีวิตได้แค่ 1 คน ถ้ามีภาระก็เลี้ยงดูไม่ได้แล้ว 

“ในประแถบสแกนดิเนเวีย ประเทศรัฐสวัสดิการ หรือประเทศแบบสังคมนิยม เขาเปลี่ยนจากคำว่า ค่าแรงขั้นต่ำ’ เป็น ‘ค่าแรงที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและรักษาความเป็นมนุษย์’ 

“พูดเรื่องโครงสร้างค่าแรง ญี่ปุ่นวางโครงสร้างค่าแรง 1 คน ต้องดูแลได้ 3 คน แล้วค่อยไปชนกันต่อว่าค่าใช้จ่ายสำหรับ 1 คนมีราคาเท่าไหร่ ทำให้คนที่เป็นตัวหลัก เป็นหัวจ่ายของบ้าน ค่านิยมสามีทำงานส่วนภรรยาเป็นแม่บ้านมันยังอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้เพราะอะไร เพราะมันเพียงพอไง แต่ของเมืองไทยไม่ใช่แบบนั้น

“ลองคิดว่าถ้าผมกับแฟนมีลูก ใครจะลาออกมาเลี้ยงลูก ผมเหรอ หรือแฟนผม กลายเป็นว่าค่าแรงในไทยไม่เหมาะจะสร้างครอบครัว เพราะถ้าขาดกำลังขับเคลื่อนข้างใดข้างหนึ่งเหมือนการขับเครื่องบิน แม่งล่มหมด 

“มันเป็นเรื่องปัญหาโครงสร้าง เราต้องมองภาพให้ออกว่าต้องเปลี่ยนทัศนคติค่าแรง ค่าแรงที่พอที่จะทำให้คนหนึ่งคนมีความเป็นมนุษย์ เพิ่มคุณภาพชีวิต และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวของเขาได้ เหมือนจะง่าย แต่ยากฉิบหาย การพัฒนาคุณภาพชีวิตก็แตกไปเยอะมาก 

“คนที่กำหนดคำว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ หมายถึง แรงงานสามารถเลี้ยงชีพและพัฒนาตัวเองได้’ แต่ที่ว่ามันแค่ตัวเองนะ คุณพี่มีภาระไหม มีครอบครัวไหม ถ้าอนาคตมีลูก พ่อแม่แก่เฒ่าก็ต้องดูแลเขาไหม มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างค่าแรงที่แรงงานหนึ่งคนเลี้ยงดูได้แค่หนึ่งคน ไม่ได้เลี้ยงตัวเองแบบดีๆ ด้วย แต่อยู่แบบกระเสือกกระสนมีชีวิต ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามมีเหตุฉุกเฉิน ห้ามจ่ายค่าเทอมลูกแพงไป สุกี้ชาบูก็ต้องงดนะ เพราะเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ได้กินเดือนละครั้งก็หรูแล้ว 

“แล้วแรงงานไม่มีสิทธิมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหรอ กูแค่อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้เหมือนพวกมึง เหมือนทุน เหมือนอีลีท แล้วมันผิดตรงไหนที่พวกกูอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้” 

“ ขั้นแรกของการรวมกลุ่ม คือการเพิ่มอำนาจต่อรองให้เราได้สิทธิที่กฎหมายกำหนด ก่อนที่เราจะไปเรียกร้อง ซึ่งเราเรียกร้องแน่นอน ไม่ต้องกลัว”

 

Fact Box

  • เพจ ‘สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่’ ที่มี ‘ดอย’ เป็นผู้ก่อตั้ง แรกเริ่มเกิดขึ้นเพียงเพราะอยากแบ่งปันประสบการณ์ที่เหล่าคนชงกาแฟในเชียงใหม่ต้องพบเจอ เช่น ค่าแรง 9 พันบาท กับการทำทุกอย่างเท่าที่คนคนหนึ่งจะต้องกระเสือกกระสนทำให้ได้ ซึ่งใบประกาศสมัครงานที่ทางเพจโพสต์ลงบ่อยๆ สร้างความสนใจให้กับสังคมได้ไม่น้อย เพราะหลายคนยังไม่เคยได้รู้ว่าบาริสต้าคนหนึ่งจะต้องทำทุกอย่างอย่างครบวงจรขนาดนี้ 
  • นอกจากการนำใบสมัครงานที่ดูแล้วค่อนข้างกดขี่มาให้ผู้คนได้เห็น สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ยังมุ่งเน้นประเด็นหนักอย่าง ‘สิทธิพึงมีของแรงงานทุกคน’ ด้วยการนำบทความเชิงวิชาการ งานเสวนา และหนังสือดีๆ มาแนะนำให้ลูกเพจได้ลองอ่าน เพื่อค้นหาคำตอบว่าทุกวันนี้ชีวิตของเหล่าแรงงานนั้นดีเพียงพอแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เพียงพอ จะมีวิธีไหนได้บ้างที่ทำให้แรงงานได้ลืมตาอ้าปากอย่างยุติธรรม 

Tags: , , , , , , , , , , ,