รู้ตัวอีกทีปี 2019 ก็ผ่านมาครึ่งทางแล้วนะครับ ดังนั้นเราควรมาสรุปกันสักหน่อยว่าครึ่งปีแรกมีการแสดงใดที่น่าพูดถึงบ้าง
ต้องสารภาพก่อนว่าปีนี้ยังไม่มีอะไรโดนใจผู้เขียนนัก มีละครเวทีเพียงสามเรื่องที่ผู้เขียนค่อนข้างชอบ ได้แก่ สัตว์มนุษย์ งานทดลองของ ดุจดาจ วัฒนปกรณ์ ที่จับศิลปินมานั่งพูดคุยแบบปอกลอกเปลือก Hand to God ของ Peel the Limelight ผลงานตลกชั่วร้าย (เป็นคำชม) ว่าด้วยหุ่นมือที่ดันมีชีวิตขึ้นมา ดูแล้วสบถทั้งเรื่องจนเหนื่อย และ My Mother’s Kitchen โดย NUNi Productions ละครน่ารักเล่าถึงเรื่องวุ่นๆ ภายในครัวและความสัมพันธ์ครอบครัว ทั้งนี้น่าจับตาว่า เจมส์ เลเวอร์ แสดงนำทั้งใน Hand to God และ My Mother’s Kitchen ด้วยบทที่ต่างกันสุดขั้วแต่ก็เข้าถึงบทบาทได้อย่างดีเยี่ยม เขาน่าจะติดโผนักแสดงชายยอดเยี่ยมในเทศกาลรางวัลแน่นอน
ส่วนละครอีกกลุ่มเป็นประเภทที่น่าสนใจ แต่อาจไม่ฟินเท่าที่คาดหวังไว้ อาทิ นางร้าย (Apropos และ For What Theatre) และ TRANS I-AM (Qrious Theatre) ที่การแสดงน่าประทับใจอยู่ แต่ประเด็นเรื่อง ‘ผู้หญิง’ หรือ ‘เพศสภาพ’ ไม่ได้ไปไกลเท่าไรนัก ส่วน A Midsummer Night’s Dream : ฝันกลางสวน ของ B-Floor เป็นงานท้าทายที่เอาละครเชกสเปียร์มาเล่นกลางแจ้ง โดดเด่นด้วยการดัดแปลงบทเป็นภาษาไทยที่ลื่นไหล แต่ช่วงท้ายของละครยืดยาวไปสักหน่อย
ล่าสุดผู้เขียนเพิ่งได้ดูการแสดงอีกเรื่องที่อยู่ในข่าย ‘ชอบ’ นั่นคือ What’s Left: Resonance from the Discarded เป็นการร่วมมือกันระหว่าง B-Floor คณะละครคู่บ้านคู่เมืองที่ยืนหนึ่งด้านการแสดงใช้ร่างกาย (physical theatre) และ Dee-ng กลุ่มละครที่โดดเด่นด้านตลกแอบเสิร์ด
คราวนี้เขาเน้นที่ศิลปินเลือดใหม่มาแรง ฝั่ง B-Floor จึงมีตัวแทนเป็น ตามใจ-สุรัตน์ แก้วสีคร้าม ส่วนอีกฝั่งคือ กวิน พิชิตกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Dee-ng โดยคอนเซ็ปต์ของ What’s Left เป็นการ ‘แลกกันทำ’ กล่าวคือ การแสดงมีสองชิ้น ชิ้นที่หนึ่ง-กวินกำกับ ตามใจแสดง ส่วนอีกชิ้นเป็น-ตามใจกำกับ กวินแสดง
What’s Left จัดแสดงที่ WTF gallery บาร์และแกลเลอรี่ที่เป็นตึกแถวห้าชั้น การแสดงชุดแรก ‘Soapernatural : เช็ด…ห้อง’ เกิดขึ้นที่ชั้นสอง เดินเข้าไปจะพบการเซ็ตฉากเป็นห้องห้องหนึ่ง พื้นห้องกระจัดกระจายไปด้วยซากกางเกงใน (!?) สักพักตามใจในบทบาทของคนทำความสะอาดก็เข้ามาจัดการกับกางเกงในเหล่านั้น แต่ดูเหมือนภารกิจของจะไม่สามารถลุล่วงได้ง่าย อยู่ดีๆ บรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งเครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น โทรทัศน์ หลอดไฟก็เกิดติดๆ ดับๆ ทำงานเองอย่างพิศวง ตรงนี้ต้องชื่นชมฝ่ายเทคนิคที่ควบคุมคิวได้แม่นยำ รวมถึงการเปิดเพลงประกอบที่ค่อยๆ ตึงเครียดมากขึ้น
ถัดจากนั้นการเคลื่อนไหวของตามใจก็ช่างประหลาดน่าขนลุก มีส่วนผสมของการเต้น บัลเลต์ และการถูกผีสิง ดูเหมือนตัวละครนี้จะถูกควบคุมด้วยอะไรบางอย่างที่เปิดช่องให้คนดูตีความได้อย่างเต็มที่ บ้างก็มองเป็นเรื่องชนชั้นล่างที่ต้องทำงานเก็บกวาดอย่างไม่มีวันจบสิ้น บ้างก็มองซากตามพื้นเป็นเรื่องการเมืองที่เปรียบเปรยไปกับความตายที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหรือเป็นปริศนาในช่วงราวสิบปีที่ผ่านมา
ความน่าสนใจอีกอย่างคือวิดีโอที่ฉายผ่านโทรทัศน์เป็นเรื่องอุลตร้าแมน เราเห็นภาพอุลตร้าแมนปราบเหล่าสัตว์ประหลาดจนฝ่ายหลังร่างกายแหว่งวิ่น ในที่นี้สัตว์ประหลาดจึงกลายเป็นชิ้นซากไม่ต่างอะไรจากกางเกงใน ส่วนอุลตร้าแมนคือผู้มีอำนาจ ผู้ควบคุม หรือผู้จัดการกับซากนั้น ซึ่งในเซ็ตของการแสดงก็มีชุดอุลตร้าแมนแขวนอยู่ หากแต่ตัวละครไม่สามารถสวมใส่มันได้ เขาจึงไม่มีสถานะเป็นผู้ควบคุมสูงสุด หากแต่ต้องรับแรงควบคุมมาจากเบื้องบนอีกที
ในการแสดงชุดที่สอง ‘Coherence : สสารที่คงอยู่ เราล้วนมีผลซึ่งกันและกัน’ ผู้ชมต้องย้ายตัวเองไปยังชั้นสามและได้อึ้งกับการเซ็ตฉากสุดแสนอลังการ พื้นห้องเต็มไปด้วยขยะมากมาย ถุงขนม ถุงพลาสติก ขวดน้ำ ฯลฯ ส่วนบนเพดานมีตาข่ายที่แบกรับกองขยะเอาไว้และดูจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ ตอนที่เดินขึ้นไปกวินก็จะอยู่ในเซ็ตอยู่แล้ว ทำเอาคนดูมึนงงว่านี่การแสดงเริ่มขึ้นหรือยัง แล้วพวกเราจะนั่งกันตรงไหนดีในเมื่อมันไม่มีเก้าอี้ สุดท้ายทุกคนก็ทยอยนั่งพื้นกันไปตามยถากรรม
การแสดงสองชิ้นใน What’s Left คือการล้อกันเองอย่างชัดเจน คอนเซ็ปต์เรื่องการควบคุมยังคงปรากฏใน Coherence กวินจะขยับไปตามเพลงซึ่งมีเพียงสองโหมด โหมดแรกคือเพลงแดนซ์เฉิ่มๆ ที่กวินต้องพยายามเอาขยะขึ้นไปไว้ในตาข่าย ส่วนอีกโหมดคือเพลง ‘นกเขาคูรัก’ ที่เมื่อเพลงมาทีไร กวินก็จะไปเต้นโยกย้ายส่ายเอวต่อหน้าผู้ชมผู้โชคดี (?) เป็นสองโหมดที่วนเวียนไปเรื่อยๆ เกือบหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นเนื้อหาทั้งหมดของการแสดง
นอกจากการควบคุม คอนเซ็ปต์อีกอย่างที่ชัดเจนใน What’s Left คือการทำซ้ำ ทั้งการจัดการกางเกงในของพาร์ทแรก ส่วนพาร์ทสอง กวินก็เต้นโยกไปมาไม่รู้จบ แรกๆ ก็ชวนขำ แต่ภายหลังกลายเป็นความอึดอัด ส่วนภาระการเก็บขยะของเขานั้นดูเป็นสิ่งที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะเมื่อโยนเหล่าขยะไปบนตาข่าย สักพักมันก็ถล่มลงมา ความวุ่นวายโกลาหลเป็นสิ่งที่ผู้เขียนชอบมากใน Coherence อีกทิ้งผู้ชมยังได้มีส่วนร่วม เช่น การย้ายตำแหน่งหลบขยะที่จะเทลงมา หรือการช่วยเก็บรวบขยะเพื่อเปิดทางให้นักแสดง
ส่วนนัยความหมายของ Coherence จะแปลความเป็นเรื่องชนชั้น/การเมืองแบบ Soapernatural หรือจะอิงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์งดใช้ถุงพลาสิกในช่วงนี้ก็ได้ แต่ไม่ว่าผู้สร้างจะตั้งใจให้มีความหมายอย่างไรและฝั่งคนดูจะถอดรหัสออกมาแบบไหน สิ่งสำคัญใน What’s Left คือการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘เศษซาก’ ตามชื่อเรื่องที่ผู้สร้างตั้งไว้อย่างสวยงามว่า Resonance from the Discarded หรือ ‘เสียงสะท้อนจากสิ่งที่ถูกทิ้ง’
Fact Box
What's left: Resonance from the Discarded แสดงที่ WTF Gallery สุขุมวิท 51 (BTS ทองหล่อ) ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/305902910344760/