หลังจากไทยพิจารณาจะเข้าร่วม CPTPP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก – Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) เสียงท้วงติงของภาคประชาชนก็ดังระงมขึ้นอีกระลอก หลายเรื่องเป็นประเด็นใหญ่ที่ควรแก่การพิจารณา เช่น การคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเรื่องหลังนี้จะกระทบกับการเข้า (ไม่) ถึงยา และ (สิ้น) ความเป็นเจ้าของพันธุ์พืชของประเทศเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

CPTPP คืออะไร

ครั้งหนึ่ง CPTPP เคยเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม แต่สหรัฐอเมริกาถอนตัวเมื่อต้นปีที่แล้ว เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์เห็นว่าความตกลงนี้จะส่งผลให้เกิดการแย่งงานคนงานในสหรัฐฯ ทำให้ปัจจุบันเหลือสมาชิกเพียง 11 ประเทศ

ในช่วงที่สหรัฐฯ ยังร่วมอยู่ด้วย ความใหญ่โตของระบบเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของจีดีพีโลก แต่ตอนนี้เหลือเพียงราว 14% ในขณะที่ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าของอาเซียน 10 ประเทศ + จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่กำลังเจรจากันอยู่ มีขนาด 29% ของจีดีพีโลก ขึ้นแท่นเป็นข้อตกลงการค้าฉบับใหญ่ที่สุดในโลกแทน

ความคืบหน้าในปัจจุบันคือ ทั้ง 11 ประเทศบรรลุข้อตกลง CPTPP ร่วมกันแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2561 และอยู่ระหว่างการให้แต่ละประเทศนำไปให้รัฐสภาพิจารณาให้สัตยาบันและแก้ไขกฎหมายภายในให้สอดคล้อง ซึ่งข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วันหลังจากที่ประเทศสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบันรับรอง

CPTPP เดิมชื่อ TPP สมัยที่มีสหรัฐอเมริการ่วมด้วยนั้นเป็นข้อตกลงที่โดนต่อต้านมากในหลายประเทศ เนื่องจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มข้นอย่างยิ่งตามการกำหนดวาระของสหรัฐอเมริกาซึ่งเรียกร้องมากไปกว่ามาตรฐานขององค์การการค้าโลก ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPs) ซึ่งส่วนนี้ทำให้รัฐไทยเองก็ถึงกับต้องพับความพยายามเข้าร่วมไว้ก่อน

ความคืบหน้าในปัจจุบันคือ ทั้ง 11 ประเทศบรรลุข้อตกลง CPTPP ร่วมกันแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2561 และอยู่ระหว่างการให้แต่ละประเทศนำไปให้รัฐสภาพิจารณาให้สัตยาบันและแก้ไขกฎหมายภายในให้สอดคล้อง

แต่หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวไป ได้มีการทบทวนข้อตกลงกันใหม่ ก่อนจะได้ข้อสรุปแถลงแก่สาธารณชนว่า CPTPP “ไม่น่ากังวลอีกต่อไป” เพราะทั้งเรื่อง ISDS หรือกลไกคุ้มครองนักลงทุนกรณีเกิดข้อพิพาทกับรัฐผ่านระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มขั้นนั้น ถูก “ระงับ” ไปเรียบร้อย แต่คำว่าระงับนี้ยังเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นสภาวะชั่วคราวใช่หรือไม่

กล่าวโดยสรุป ข้อตกลงนี้เตรียมจะยกเลิกภาษีศุลกากรที่ครอบคลุมสินค้าและบริการถึง 98% ในตลาดร่วมซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเปิดเสรีในภาคอุตสาหกรรมเช่น สิ่งทอ ลดอุปสรรคเชิงเทคนิคสำหรับธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เปิดเสรีในภาคแรงงานมากขึ้น รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งนี้ธนาคารโลกประเมินว่า CPTPP จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกได้เฉลี่ย 1% และช่วยเพิ่มปริมาณการค้าได้ราว 11% ภายในปี 2030

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP 11 ประเทศนั้น ในปี 2560 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 134.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็น 29.3% ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับ 11 ประเทศนี้ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ด้วยขนาดการค้าที่ใหญ่โตดังกล่าว ประกอบกับเมื่อหันดูประเทศในอาเซียนก็พบว่า มีสี่ประเทศเข้าร่วมไปแล้ว ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ส่วนประเทศที่แสดงตัวว่าอยากเข้าร่วม ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ จึงไม่แปลกที่ไทยจะรีบกระโจนขึ้นรถไฟขบวนนี้ด้วย โดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสล่วงรู้รายละเอียดการเจรจา ข้อดี-ข้อเสียสำหรับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างละเอียดและเที่ยงตรงนัก

ข้อตกลง CPTPP นี้เตรียมจะยกเลิกภาษีศุลกากรที่ครอบคลุมสินค้าและบริการถึง 98% ในตลาดร่วมซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเปิดเสรีในภาคอุตสาหกรรมเช่น สิ่งทอ ลดอุปสรรคเชิงเทคนิคสำหรับธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เปิดเสรีในภาคแรงงานมากขึ้น

กระบวนการปิดลับและมีส่วนร่วมแบบจำกัด

ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะทำงานพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวม 25 หน่วยงานร่วมเป็นคณะทำงาน ประชุมครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ภาคเอกชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก เนื่องจากจะช่วยขยายการค้า ดึงดูดการลงทุน และเสริมสร้างขีดความสามารถของสินค้าและบริการของไทยให้เข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานระดับโลกได้

เมื่อหันดูประเทศในอาเซียนก็พบว่า มีสี่ประเทศเข้าร่วมไปแล้ว ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ส่วนประเทศที่แสดงตัวว่าอยากเข้าร่วม ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ จึงไม่แปลกที่ไทยจะรีบกระโจนขึ้นรถไฟขบวนนี้ด้วย

ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาประโยชน์และข้อเสียเปรียบของข้อตกลงใน CPTPP หากไทยจะเข้าร่วม เนื่องจากข้อตกลงที่สมาชิกเดิมได้ตกลงกันไปแล้ว ไทยไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่อาจขอเวลาในการปรับตัว 3 – 5 ปีได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคของประเทศตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. และจะจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาเรื่องนี้ด้วย คาดว่าขั้นตอนทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2561

การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีมีลักษณะ ‘ปิดลับ’ มาโดยตลอด ช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในระหว่างการเจรจามีเพียงเวทีรับฟังความคิดเห็นที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดเพียงไม่กี่ครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจ ภาคราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามประเด็นการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดมากเท่านั้นที่จะได้รับทราบข่าวการจัดเวทีหรือได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

หากเราลองเข้าไปในเว็บไซต์หน่วยงานต่างๆ เพื่อค้นหากำหนดการรับฟังความคิดเห็น จะพบว่าไม่มีที่ใดให้ข้อมูลนี้ แม้แต่ในเว็บของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่เป็นเจ้าภาพเองก็ตาม สิ่งที่ประชาชนพอทำได้คือการส่งความคิดเห็นออนไลน์ตามที่จัดไว้ให้กรอกในเว็บไซต์ ไม่ต้องกล่าวถึงตัวบทข้อตกลงที่ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ยิ่งตัวบทที่แปลเป็นภาษาไทยที่คนไทยจะอ่านรู้เรื่องยิ่งไม่พึงเสียเวลาใฝ่ฝันถึง ดังนั้น คณะเจรจากำลังเจรจาเรื่องอะไร มีสิ่งใดน่ากังวล ประชาชนจะรู้ก็ต่อเมื่อภาคประชาชนจับตาแล้วส่งเสียงท้วงติง ในขณะที่ตัวแทนของภาคเอกชนอย่างประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็น ‘รองประธานคณะเจรจา’

เช่นนี้แล้วจึงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า ข้อตกลงที่ ‘Comprehensive’ อย่าง CPTPP ซึ่งอีกด้านหนึ่งอาจเรียกว่า ‘ส่งผลกระทบสูง’ ต่อผู้คนในประเทศกลับไม่เป็นที่รับรู้สำหรับประชาชน โดยเฉพาะกับผู้หญิง เด็ก แรงงาน ผู้ป่วย เกษตรกร ฯลฯ ทั้งที่คนเหล่านี้โดยปกติก็ถูกขูดรีดหรือเอาเปรียบโดยโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมอยู่แล้ว หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญคือความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ยิ่งพัฒนาความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งถ่างกว้าง ในปี 2016 เครดิตสวิส โกลบอล รีพอร์ต ระบุว่า ไทยเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยพบว่าคนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศสูงถึง 58%

การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีมีลักษณะ ‘ปิดลับ’ มาโดยตลอด

เนื้อหาใหม่ ไม่มีเรื่องน่าห่วง (?)

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสการเดินหน้าร่วม CPTPP อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า CPTPP ไม่มีข้อน่ากังวลตามที่ภาคประชาชนเคยหยิบยกมาอภิปรายอีกต่อไปแล้ว อย่างเช่นเรื่องที่กังวลกันมากอย่างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รัฐบาลก็จะเจรจาโดยยึดหลักการของข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPs) ขององค์การการค้าโลกเท่านั้น และจะคำนึงถึงความยืดหยุ่นที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับในเรื่องการสาธารณสุข การเข้าถึงยาของประชาชน วัฒนธรรมของเกษตรกร ตลอดจนสิทธิพลเมือง และสิทธิส่วนบุคคล

ส่วนเรื่องการคุ้มครองการลงทุนนั้น มีการยืนยันว่ารัฐบาลของสมาชิก CPTPP ยังคงสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์สาธารณะได้ต่อไป

ในส่วนของข้อกังวลอื่นๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในกรอบ CPTPP ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดบริการของภาครัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ กรมฯ พร้อมรับฟัง และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

คำแถลงของหน่วยงานไทยยังเป็นคำถามตัวใหญ่ เพราะประเด็นอันอ่อนไหวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นเพียงถูกระงับไปชั่วคราวเท่านั้น

ศาสตราจารย์เจน เคลซีย์ (Jane Kelsey) จากมหาวิทยาลัยอ็อกแลนด์ (Auckland) ประเทศนิวซีแลนด์คือผู้ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและนำเสนอให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ชะลอการตัดสินใจให้สัตยาบันไว้ก่อน เธอชี้ว่าข้อตกลงใหม่นี้ประกอบด้วยเอกสารที่เพิ่มมาจากข้อตกลงเดิม 9 หน้า และภาคผนวกของบทต่างๆ ที่ถูกแขวนไว้ชั่วคราวก็พร้อมจะกลับมาอีกครั้งในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐอเมริกากลับมาร่วม CPTPP อีกครั้ง สำหรับข้อห่วงกังวลหลักสำหรับภาคประชาสังคมนิวซีแลนด์ คือ ISDS หรือการคุ้มครองนักลงทุน

เธอย้ำด้วยว่า ข้อตกลงที่ทบทวนใหม่และตั้งชื่อใหม่นี้ดูเหมือนจะก้าวหน้ากว่าฉบับเดิม แต่ไม่มีอะไรที่ก้าวหน้าจริงเลย

ศาสตราจารย์เจน เคลซีย์ (Jane Kelsey) จากมหาวิทยาลัยอ็อกแลนด์ (Auckland) ประเทศนิวซีแลนด์คือผู้ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและนำเสนอให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ชะลอการตัดสินใจให้สัตยาบันไว้ก่อน

ด้านกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่ม FTA Watch ก็ออกมาตอบโต้หน่วยงานราชการในทันทีว่า การแถลงว่าประเด็นอ่อนไหวถูกตัดออกไปหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง และการอ้างว่าไทยจะสามารถทำข้อยกเว้นเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกก่อนหน้าก็เป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอย อีกทั้งยังไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใดว่าประเด็นที่ถูกตัดออกไป เช่นเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยาหรือการชดเชยความล่าช้าจากการออกสิทธิบัตรจะกลับมาหรือไม่หากสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วม เพราะทรัมป์ก็ให้สัมภาษณ์ว่าอาจตัดสินใจเข้ามาร่วมอีก

“ประเด็นอ่อนไหวไม่ได้มีเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบางประเด็นที่ถูกละเว้นไว้เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวไปเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบังคับนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพันธุกรรม เครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้ว การผูกขาดพันธุ์พืชและสมุนไพรไทย โดยบังคับให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991)” กรรณิการ์ระบุ

 

ข้อกังวลในบททรัพย์สินทางปัญญา (เดิม)

รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เคยอภิปรายปัญหาของข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาฉบับที่ยังเป็น TPP เดิม (ผู้ผลักดันหลักคือสหรัฐอเมริกา) แม้ขณะนี้ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกระงับไว้ภายใต้ CPTPP แต่เมื่อไม่มีใครรับประกันได้ว่ามันจะไม่หวนกลับมาใหม่ เราจึงต้องย้อนดูข้อเรียกร้องดังกล่าวกันสักเล็กน้อยซึ่งสรุปได้ดังนี้

  1. ให้ยกเลิกกระบวนการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (Pre-grant Opposition) ทำให้ระบบการตรวจสอบการออกสิทธิบัตรมีช่องโหว่มากขึ้น รอบคอบน้อยลง
  2. มีการบังคับใช้กลไกทางกฎหมาย เช่น ให้มีการประเมินค่าเสียหายของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากราคาขายปลีก (Retail Price) และให้ถือว่าสิทธิบัตรยังไม่หมดอายุจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์
  3. ให้มีการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity: DE – การไม่อนุญาตให้นำข้อมูลการทดลองมาอ้างอิงเพื่อขออนุญาตผลิตและจำหน่ายยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน) โดยจะให้ผูกขาดไม่ยอมให้มีการขออนุญาตทางการตลาดเป็นเวลา 8 ปีสำหรับผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุ และ 10 ปีสำหรับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่เพราะแม้สิทธิบัตรหมดอายุแล้วก็ผลิตยาราคาถูกออกสู่ตลาดไม่ได้“ผลกระทบที่มาจากการผูกขาดข้อมูลทางยา เคยมีงานวิจัยศึกษากรณีไทย คำนวณจากปี 2550 พบว่า หากปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลยา ภายใน 5 ปีค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาทต่อปี ข้อเรียกร้องลักษณะนี้จะมีผลกระทบรุนแรงเสียยิ่งกว่าการขอขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปีเสียอีก” จิราพรเคยกล่าวไว้
  4. ขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปจาก 20 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าของการจดสิทธิบัตร
  5. ให้มีระบบการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage)
  6. ระบุสถานการณ์ที่ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing : CL) เฉพาะในกรณีโรคติดเชื้อ HIV/AIDS วัณโรค มาลาเรีย และโรคระบาดอื่นๆ หรือสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉินระดับประเทศเท่านั้น
  7. ให้การนำเข้าซ้อนถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
  8. การให้จดสิทธิบัตรในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (Forms) หรือวิธีการใช้ (Uses) เพียงเล็กน้อย โดยไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ (Efficacy) ยอมให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์เก่าที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening patent)
  9. การจดสิทธิบัตรในแนวทางการวินิจฉัยโรค (Diagnostic) และวิธีการบำบัดรักษาโรคด้วยยาหรือ การผ่าตัด (Therapeutic and Surgical methods)

นี่ยังไม่นับรวมการขอขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (copyright) จากที่ผู้ผลิตได้ลิขสิทธิ์ตลอดชีวิตของเขาบวกกับ 50 ปีหลังเสียชีวิต แต่สหรัฐฯ ต้องการให้ขยายเป็น 70 ปีหลังเสียชีวิต

เรื่องสิทธิบัตรเป็นประเด็นหลักสำคัญมาโดยตลอดในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เพราะนั่นคือผลประโยชน์สำคัญของธุรกิจในประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับประเทศไทย ปี 2543-2553 พบการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรยาทั้งหมด 2,188 คำขอ ในจำนวนนี้ 72% มาจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ส่วนผู้ประกอบการไทยมีเพียง 0.5% เท่านั้น และคำขอจดสิทธิบัตร 84% เป็นแบบ Evergreening (การจดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด) ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน อาทิ อาร์เจนตินา บราซิล โคลัมเบีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ 

 

การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง การที่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการวิจัยและเทคโนโลยีสูงกว่าเข้าไปจดสิทธิบัตรพืชสมุนไพรพื้นบ้าน จึงไม่ใช่ประเด็นเล็กน้อยอีกต่อไป

กรณีใหม่หมาดเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 เครือข่ายนักวิชาการออกมาตอบโต้กรณีบริษัทญี่ปุ่นจดสิทธิบัตร ‘ใบกระท่อม’ โดยนักวิชาการไทยยืนยันว่าใบกระท่อมอยู่ในตำรับยาโบราณและเป็นภูมิปัญญาของไทยมาแต่ช้านาน สิทธิบัตรของญี่ปุ่นทั้งสามรายการปรากฏว่ามีข้อถือสิทธิ์ครอบคลุมอนุพันธ์จากสารสกัดใบกระท่อมคือ มิตราไจนีน (Mitragynine) และเซเว่นไฮดรอกซี่มิตราไจนีน (7-Hydroxymitragynine) เป็นจำนวนมาก ซึ่งสารดังกล่าวเป็นยารักษาอาการปวดในรูปแบบต่างๆ อย่างกว้างขวาง และการจดสิทธิบัตรจะกระทบกับการนำใบกระท่อมไปพัฒนาต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ประเด็นที่ยังคงมีปัญหาน่าถกเถียงใน CPTPP ก็คือ การบังคับให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) ซึ่งจะสร้างปัญหาใหญ่สำหรับสังคมเกษตร

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำการเจรจาทั้ง CPTPP และ RCEP ร่วมเป็นภาคีของ UPOV1991 และพยายามผลักดันให้ประเทศอื่นเข้าเป็นภาคีด้วย ปัจจุบันมีประเทศภาคี 55 ประเทศ อีก 120 ประเทศไม่เป็นภาคี ภาคประชาสังคมห่วงว่าอนุสัญญานี้จะนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และจะทำให้เกษตรกรไม่สามารถนำพันธุ์พืชที่บริษัทได้รับสิทธิเป็นเจ้าของนั้นไปปลูกต่อหรือแจกจ่ายได้ และยังมีโทษอาญาด้วยคือ จำคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 4 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ

หากจะเข้าร่วมใน CPTPP ก็ต้องเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากไบโอไทยถึงกับเคยกล่าวว่า อนุสัญญานี้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นทรัพย์สินของบริษัทเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะบริษัทมอนซานโต (Monsanto) ซึ่งเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกซึ่งร่วมกับซีพีทำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ดังนั้น การผลักดันให้ไทยเป็นภาคีอนุสัญญานี้จึงเป็นวาระของกลุ่มบริษัทในไทยด้วย

วิฑูรย์ยกตัวอย่างความยากลำบากในกรณีฝ้ายดีพีซึ่งเป็นฝ้ายตัดต่อพันธุกรรมของมอนซานโต ทำให้หนอนกินเข้าไปแล้วตาย ตามอนุสัญญา UPOV1978 คุ้มครองแค่สายพันธุ์ แต่ UPOV1991 ขยายเวลาคุ้มครองและขยายอำนาจการคุ้มครองด้วย หากเกษตรกรเอาไปปลูกต่อก็ต้องขออนุญาตบริษัท ส่วนการนำเมล็ดพันธุ์ไปวิจัยนั้นไม่สามารถทำได้

ปัจจุบันการผูกขาดมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม 2018 คณะกรรมการสหภาพยุโรป (EU) อนุญาตให้ไบเออร์ (Bayer) บริษัทของเยอรมนีซื้อบริษัทมอนซานโตได้ในราคา 62,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.2 ล้านล้านบาท) ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเกษตรกรและนักสิ่งแวดล้อมมากมาย

ดีลการควบรวมกิจการล่าสุดนี้ทำให้ 65.4% ของตลาดสารเคมีเกษตรในโลก และ 60.7% ของตลาดเมล็ดพันธุ์ในโลก อยู่ในมือของสามบรรษัทใหญ่ ได้แก่ เคมไชน่า-ซินเจนทา มอนซานโต้-ไบเออร์ ดูป้องท์-ดาวเคมีคอล ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลมากสำหรับเกษตรกรทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะเพิ่มสูงขึ้น และการต้องพึ่งพิงบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะเมื่อบริษัทสามารถพัฒนาพืชพันธุ์ต่างๆ ออกมาให้ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีหรือยากำจัดศัตรูพืชของบริษัทพ่วงเข้าไปด้วย และหากเกษตรกรละเมิดข้อตกลงใดก็อาจเผชิญหน้ากับการถูกฟ้องร้อง

ในทางตรงกันข้าม การฟ้องร้องบริษัทเหล่านี้ในกรณีที่พวกเขาสร้างความเสียหายให้กับเกษตกรกลับเป็นเรื่องยากเย็น ยกตัวอย่างคดีดเวย์น จอห์นสัน อดีตภารโรงฟ้องบริษัทมอนซานโตเพราะยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสตของบริษัทเป็นสาเหตุในการก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กว่าที่คดีนี้จะได้รับพิจารณาและคณะลูกขุนตัดสินให้โจทก์ชนะคดี ได้รับเงินชดเชยเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาทจนเป็นที่ฮือฮาทั่วโลก โจทก์ก็ต้องป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ท่ามกลางการฟ้องมอนซานโตเกือบ 5,000 คดีทั่วสหรัฐอเมริกา คดีของดเวย์นได้รับการเร่งรัดให้พิจารณาเนื่องจากระบบยุติธรรมของแคลิฟอร์เนียกำหนดให้เร่งรัดคดีได้กรณีที่โจทก์ใกล้ถึงแก่ความตาย และขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ของบริษัท

ดร.ชุติมา อรรคลีพันธุ์ จากกระทรวงสาธารณสุข เคยวิเคราะห์ผลกระทบจากอนุสัญญา UPOV 1991 ที่มีต่อระบบสุขภาพว่า ทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวพันกัน เพราะเมื่อปรับปรุงพันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อให้ได้สารเคมีที่ต้องการเข้ามาสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนา เมื่อได้ผลเป็นที่พอใจก็จะมีการจดสิทธิบัตรเพื่อเป็นผู้ทรงสิทธิได้ เนื่องจาก TPP เดิมอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรของพืชและจุลชีพได้ แต่ใน CPTPP  มีการชะลอเรื่องนี้ไว้ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง หากมีการปลดล็อคให้จดสิทธิบัตรพืชและจุลชีพได้อาจส่งผลกระทบใหญ่กับไทย ด้วยข้อจำกัดในด้านขีดความสามารถของไทยที่อาจพัฒนาหรือจดสิทธิบัตรไม่ทันต่างประเทศจนกระทบต่อการพัฒนายาใหม่ไปด้วย

นอกจากนี้การถ่ายทอดเทคโนโลยีก็น่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการกำหนดไม่ให้บังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนในขั้นตอนการจดสิทธิบัตรยาหรือวัคซีนใหม่ การอนุญาตก่อนขายและการคุ้มครองผู้บริโภค แม้จะมีการชะลอเรื่องการจดสิทธิบัตรพืชและจุลชีพ การผูกขาดข้อมูลทางยา การชดเชยอายุความคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าไปแล้ว แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการและอุปสรรคทางด้านเทคนิคต่อการค้าก็ยังครอบคลุมกระบวนการขึ้นทะเบียนยาพอสมควร

นี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าจะต้องได้รับการถกเถียงและศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง ซึ่งเรามีเวลาสั้นมาก หากยึดตามธงนำของรองนายกฯ สมคิดที่จะเข้าร่วม CPTPP ภายในปีนี้หรือต้นปีหน้า

ขณะที่ประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างมาเลเซีย หลังมหาเธร์ มูฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้ง เขาประกาศว่าจะทบทวน CPTPP อีกครั้งก่อนที่จะให้สัตยาบัน ไม่ใช่ว่าต้องการปฏิเสธความตกลงทั้งฉบับ แต่เป็นการทบทวนรายละเอียดที่เขาเห็นว่าประเทศเล็กเสียเปรียบประเทศใหญ่ในหลายเรื่อง

สองเดือนข้างหน้านี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการศึกษา แลกเปลี่ยน ถกเถียง และส่งเสียงดังๆ กับประเด็น CPTPP

 

ที่มาข้อมูล:

Tags: , ,