ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนที่มาแรงแซงโค้งในหมู่ผู้นิยมรับประทานเผือกทุกคนเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง ‘นายแบบหนุ่ม’ ที่โพสต์ภาพบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘บัตรคนจน’ ลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมข้อความว่าตัวเองได้เปลี่ยนสถานะเป็นคนจนแล้ว
แต่พร็อพประกอบฉากกลับเป็นกาแฟแก้วร่วมร้อยบาท นาฬิการาคาแพง และไอโฟน แม้เจ้าตัวจะออกมายืนยันว่าตัวเองจนจริง ยืมของเพื่อนมาถ่ายทั้งนั้น แต่ชาวเน็ตก็ดูไม่พร้อมจะเชื่อ แบกจอบเสียมออกไปขุดคุ้ยจนทำให้แฮชแท็ก #อ้ายมีเหตุผล ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง และนำไปสู่การสืบสวนว่าเป็นผู้มีสิทธิ์รับบัตรคนจนจริงหรือไม่
ระหว่างที่ทุกคนรอชมว่าการร่วมใจแหกนายแบบหนุ่มคนนี้จะมีฉากจบอย่างไร เราไปดูกันดีกว่าว่ามีศัพท์แสงอะไรเกี่ยวกับ ‘ความจน’ ที่มีที่มาน่าสนใจที่เราจะเอาไว้ใช้อวดความแร้นแค้นไม่มีอันจะกินได้บ้าง
เริ่มต้นกันที่คำพื้นฐานอย่าง poor คำนี้เป็นคุณศัพท์ที่มีหลายความหมาย ความหมายหลัก ๆ ก็คือ จน เช่น Although I post a lot of pictures with fancy stuff in them, I am really poor. ก็จะหมายถึง แม้ผมจะชอบลงรูปของหรูๆ แต่แท้จริงแล้วจ๊นจนนะ
นอกจากแปลว่าจนแล้ว จะแปลว่า แย่ หรือ ห่วย ก็ได้ เช่น He said he borrowed his stuff from his friends? What a poor excuse! ก็จะหมายถึง บอกว่ายืมของมาจากเพื่อนหรอ ข้ออ้างห่วยบรม
หรือจะใช้แปลว่าน่าสงสาร ก็ได้ เช่น The poor guy probably didn’t see this coming when he posted that picture. ก็จะหมายถึง คงไม่คิดเลยสินะว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ตอนลงรูป น่าสงสารเนอะ
คำว่า poor นี้ ถ้าสืบสาวไปอีกก็จะพบว่ามาจากคำภาษาละตินว่า pauper ซึ่งปัจจุบันภาษาอังกฤษใช้แปลว่า ขอทาน เช่นที่เจอในชื่อเรื่อง The Prince and the Pauper ของ มาร์ก ทเวน
อีกคำที่ฝรั่งพูดกันติดปากเวลาจะบอกว่าไม่มีเงินก็คือ broke เทียบเคียงได้กับสำนวน ถังแตก ในภาษาไทย เช่น I’d love to get myself an iPhone, but I’m broke. ก็จะหมายถึง ก็อยากซื้อไอโฟนมาใช้อยู่หรอกนะ แต่ไม่มีเงินเนี่ยสิ
คำว่า broke นี้มาจากคำว่า break ที่เป็นคำกริยาปรากฏตั้งแต่ในภาษาอังกฤษเก่า ความหมายหลักหมายถึง แตกอย่างที่ยังใช้ในปั้จจุบัน เช่น He broke the window. ก็จะหมายถึง เขาทำกระจกแตก ภายหลังเริ่มปรากฏว่าใช้ break ในความหมาย ธุรกิจเจ๊งถังแตก มีปรากฏในงานของเชคสเปียร์ด้วย ก่อนที่รูปกริยาจะหมดความนิยม เหลือแต่รูป broke ที่เป็นคุณศัพท์อย่างที่ใช้กันทุกวันนี้
หากต้องการเน้นว่า ไม่มีเงินเลยจริงๆ ก็มักจะใช้ broke กับ completely หรือ flat เช่น ถ้าชวนเพื่อนไปกินข้าว แต่เพื่อนเอาเงินไปเปย์ผู้ชายหมดแล้ว เพื่อนอาจตอบกลับมาว่า I’ll take a rain check. I’m flat broke. ก็จะหมายถึง ไว้คราวหน้านะ หมดตูดจริง ๆ
แต่กระนั้น go for broke ไม่ได้หมายถึง ถังแตกแต่อย่างใด แต่หมายความว่า เอาไงเอากัน ทุ่มหมดหน้าตัก เช่น การเปย์ผู้ชายของเพื่อนคนเมื่อกี๊ เราก็อาจจะบอกว่า He’s really going for broke to get into that guy’s pants. ก็คือ มันทุ่มหมดตัวเพื่อให้ได้แอ้มผู้ชายคนนี้
ส่วนคำสุดท้ายที่นำมาเสนอคือ impecunious คำนี้เป็นศัพท์ที่อาจไม่ได้เจอบ่อย แปลว่า ยากจนข้นแค้น มาจากส่วนเติมหน้า in- ที่แปลว่า ไม่ มารวมกับ pecunia ในภาษาละตินที่แปลว่า เงินหรือทรัพย์สิน รวมกันได้ความหมายว่า ไม่มีทรัพย์ (ส่วนที่ in- กลายเป็น im- นั้นก็เพราะมาเจอกับเสียง p จึงเกิดการกลืนเสียงกลายเป็น im- )
ฟังเสียง impecunious >>>
ฟังเสียง pecunia >>>
คำว่า pecunia ที่แปลว่า สินทรัพย์ (เช่นที่เจอในคำว่า pecuniary ที่แปลว่า เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ) มาจากคำละติน pecus อีกที คำนี้แปลว่าวัวควาย ปศุสัตว์ ที่น่าสนใจคือคำนี้ถ้าสืบสาวให้ลึกลงไปก็จะพบว่ามีรากร่วมกับ ปศุ ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาสันสกฤต เช่นที่พบในคำว่า ปศุสัตว์
ที่วัวควายมาเกี่ยวกับสินทรัพย์ได้นั้น ก็เพราะแต่ก่อนสัตว์เหล่านี้ถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่า ใช้แลกเปลี่ยนกับสิ่งต่างๆ เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่ต่างจากเงิน คำว่า pecus ที่แปลว่า ปศุสัตว์ จึงกลายมาหมายถึงทรัพย์สินนั่นเอง
คำว่า pecus นี้เป็นที่มาของ peculiar ที่แปลว่า แปลก อีกด้วย ที่ปศุสัตว์มาเกี่ยวกับความแปลกได้นั้นเริ่มมาจากที่ปศุสัตว์เป็นทรัพย์สินส่วนตัว ต่อมาความหมายที่ว่าเป็นของส่วนตัว ถือครองแต่เพียงผู้เดียว ก็เริ่มค่อยๆ ถูกเอามาใช้บรรยายของอย่างอื่น หมายถึงของส่วนตัวหรือเฉพาะตัว จนนำไปสู่ความหมายที่แปลว่า แตกต่างจากชาวบ้านชาวช่องเขา หรือ แปลก นั่นเอง
ฟังเสียง pecus >>>
ฟังเสียง peculiar >>>
ถ้าจะเอาคำนี้มาใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ ก็คงต้องเอามาแต่งประโยคว่า
For some peculiar reason, that impecunious person has the money to enjoy the high life.
หมายถึง
ด้วยเหตุผลกลใดไม่รู้ยาจกคนนี้ถึงได้มีเงินใช้ชีวิตอู้ฟู่หรูหรา
ในฐานะคนทำงานจ่ายภาษีก็ได้แต่หวังว่าสวัสดิการนี้จะไปถึงมือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ไม่ได้ไปตกอยู่กับคนที่อ้างว่าจน แต่มีเงินใช้ของราคาแพงๆ อย่างที่คนที่รายได้เกินเกณฑ์รับสวัสดิการหลายคนยังไม่มีปัญญาหามาครอบครอง
ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
อ้างอิง:
http://www.etymonline.com/
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nded. A&C Black: London, 2008.
Barber, Katherine. Six Words You Never Knew Had Something to Do with Pigs: And Other Fascinating Facts about the English Language. Penguin Books: New York, 2006.
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.