“คนมักจะถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร?….แต่ไม่เห็นมีคนถามว่า ตอนนี้อยากเป็นอะไร?”
ส่วนหนึ่งจากข้อเขียนบรรยายใต้ภาพในนิทรรศการ We will have been young ที่ River City Bangkok ชวนให้ครุ่นคิดถึงความเป็นวัยรุ่นได้ชะงัด อีกทั้งตั้งคำถามกับ ‘ผู้ใหญ่’ ที่มักจะไม่ค่อยให้ค่ากับความคิดอ่าน หรือสภาวะความรู้สึกในช่วงอายุที่เป็นเสมือนหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต
ว่าแล้วเราจึงอยากจะชวนทุกคนมาสำรวจผลงานศิลปะโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ 12 คน จากหลากหลายเชื้อชาติเอเชีย ในขณะที่พวกเขาออกสำรวจและถ่ายทอดเรื่องราวโดนใจใกล้ตัว ผ่านกล้องถ่ายภาพและมุมมองของพวกเขาอย่างทรงพลัง
งานชุดแรกที่เราได้เห็นจากทางเข้าคือชุดผลงานของ วรรษมน ไตรยศักดา ตัวแทนประเทศไทย โดยมีชื่อชุดผลงานว่า 7465 เป็นชุดภาพถ่ายของแก๊งค์นักเรียนชายไทยระดับมัธยม ที่บางคนแสดงออกถึงจริตจะก้าน ผ่านการแต่งหน้า โพสต์ท่า พอยต์เท้า ยิ้มหวาน แต่ตัวตนของพวกเขาทุกคน ยังจำต้องอยู่ในกรอบของชุดเครื่องแบบ รวมถึงข้อกำหนดที่ลามไปถึงสิทธิของร่างกาย
“ตอน open call เราประกาศหานักเรียนที่ใส่ชุดนักเรียนชาย และรู้สึกว่า uncomfortable กับชุดนักเรียนของเขา ให้มาถ่ายรูปกัน” วรรษมนเล่าให้เราฟังว่า ภายใต้รหัสนักเรียน ‘7465’ เป็นตัวตนที่ถูกซ่อนภายใต้กฎระเบียบ และเพื่อหลักเลี่ยงแรงปะทะกับฝ่ายที่มีอำนาจในรั้วโรงเรียน
“ธีมงาน คือ ‘youth and future’ จากการมองงานทั้งหมด เรารู้สึกว่าเด็กและเยาวชน ควรมี ‘เสียง’ ดังกว่านี้ ในสังคม ผลงานในนิทรรศการ ทำให้เราเห็นว่าโลกของเด็กก็ซับซ้อนไม่ต่างจากผู้ใหญ่ หลายๆ ประเด็นทางสังคมที่คนชอบมองว่า เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง ความรัก การแสดงออกทางตัวตน สิทธิ เสรีภาพ ล้วนแต่เป็นเรื่องของเด็กและวัยรุ่น”
ผนังฝั่งตรงข้ามกับงานของคุณวรรษมน มีงานชุด Son of the Soil ของ Elliott Koon ชาวมาเลเซีย ที่ตีแผ่ภาพของคนกลุ่มน้อย ‘Orang Asi’ ในประเทศของเขา อิเลียทเขียนบทบรรยายไว้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้สืบเชื้อสายมายาวนานและมีถิ่นฐานอยู่ห่างไกลจากความเจริญของเมือง แต่ด้วยชาติพันธุ์ พวกเขาจึงมีปัญหากับฝ่ายรัฐบาลที่ลิดรอนสิทธิเหนือที่ดินกินอยู่ของพวกเขา ทำให้ทั้งหมู่บ้านถูกไล่ที่บ้าง ต้องร่อนเร่บ้าง
“จะมีวันที่พวกเขาได้สิทธิเท่าเทียมทางการศึกษา สาธารณสุข และ อาชีพการงานแบบคนอื่นไหม?” ภาพอิริยาบถความเป็นมนุษย์ของเด็กหนุ่มชาว Orang Asi ที่บ้างกำลังเตะบอลอยู่หน้าบ้านมุงสังกะสี หรือรวมตัวกันทำกิจกรรมในแบบของพวกเขา ชวนเราคิดทบทวนระบบและพื้นที่ของการกดขี่ได้อย่างน่าสนใจ (และเชื่อมโยงมาถึงสถานการณ์ที่ไม่ต่างกันนักในกลุ่มคนชายขอบประเทศเราเช่นกัน)
อีกงานที่เราชอบมากคือ A Stream Under The Table ของ Dwi Asrul Fajar ซึ่งพูดถึงปัญหาทางสุขภาวะรวมถึงความเจ็บป่วยทางจิตที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในสังคมอินโดนีเซีย โดยชุดรูปภาพของเขา อ้างอิงถึงเอกสารของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ที่รายงานความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจิตเวช เนื่องด้วยความกลัวและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสังคม งานภาพบุคคลชุดนี้ที่พยายามจะแสดง ‘มลทิน’ (stigma) ซึ่งยึดโยงอยู่กับการเป็นผู้ป่วยทางจิต งานชุดนี้จึงมีมวลอารมณ์ที่บอบบางและหนักหน่วงไปพร้อมๆ กัน
ผลงานภาพถ่ายเหล่านี้หลายชุด เริ่มจากสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กของปัจเจก แต่ถูกจัดหมวดหมู่ด้วยกันกลับกลายเป็นเรื่องสำคัญในวงกว้าง อาทิ งานชุด All is not lost ของ Amrita Chandradas ที่ติดตามกลายเปลี่ยนแปลงบนร่างกายของหญิงสาวชื่อ Chan See Ting หลังจากที่เธอออกมาบอกว่าตัวเองเป็นโรค Alopecia Areata ซึ่งทำให้เธอสูญเสียเส้นผมซึ่งเปรียบเสมือนส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ของเธอ
—อย่างนั้นแล้วเธอยังคงผลิบานอย่างสวยงามได้อย่างไร? ชุดภาพนั้นสร้างบทสนทนาว่าด้วย มาตรฐานบางอย่างที่สังคมยัดเยียดให้ปัจเจก บนเรือนร่างที่เราเกิดมา เช่นเดียวกับชุดภาพ Until Then ของ Lee Chang Ming ว่าด้วยระยะความสัมพันธ์ใกล้ชิดของเกย์ ในสังคมสิงคโปร์ โดยเขาแสดงเรือนร่างของเด็กหนุ่มเอเชียในแสงละมุน ขัดกันกับชุดภาพอีโรติกกำยำของนายแบบผิวขาวที่ถูกแปะไว้ใกล้กัน
นอกจากนี้ยังมีชุดงานที่พูดถึงชนชั้นอย่าง Before The Raze ของ Kanel Khiev จากกัมพูชา ที่ไปถ่ายภาพชีวิตครอบครัวที่ซ่อนอยู่ใน Bodeng Building หรือตึกขาว ที่ตั้งอยู่ใจกลางพนมเปญ ตึกสร้างขึ้นสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ และมันกำลังจะถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างเป็นอย่างอื่นที่รองรับระบบทุนนิยม กับงาน Eva ของ Geric Cruz ที่ไปถ่ายเด็กน้อย ลูกชายของแม่บ้าน โดยช่างภาพโยงตัวเขาเองเข้ากับเด็กคนนี้ เปรียบเปรยถึงโอกาสในชีวิตที่ถูกจัดวางให้ต่างกันสุดขั้วด้วยโชคชะตา
อย่างไรก็ดี งานทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วคืนวัน ภาพถ่ายเหล่านั้นถูกจุดประกายผ่าน ‘เซาธื์อีสต์ เอเชียน มาสเตอร์คลาส’ เวิร์กช็อปด้านการถ่ายภาพที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2559 มีครูผู้สอนเป็นช่างภาพชื่อดังชาวเยอรมัน Tobias Kruse และ Jörg Brüggemann จาก เอเจนซี่ถ่ายภาพ Ostkreuz ซึ่งวรรษมนได้แบ่งปันเรื่องจากประสบการณ์ครั้งนั้นให้เราฟัง
“เซาธ์อีสต์ เอเชียน มาสเตอร์คลาส มันเป็นเวิร์กช็อปที่แตกต่างจากที่อื่นๆ อันดับแรกคือระยะเวลาที่นานมากๆ ปกติเวลาเราไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปถ่ายภาพก็มักจะใช้เวลาประมาณ 5-10 วัน แต่อันนี้คือเกือบปี ซึ่งเจอกันครั้งแรกตอนปี 2016 ที่อ็อบสคูรา โฟโต้ เฟสติวัล (Obscura Photo Festival) ถือเป็นการเริ่มต้นทำความรู้จักกันและกันผ่านผลงานมากกว่า แล้วระยะเวลาทำงานจริงๆ ก็ประมาณ 6-8 เดือน ซึ่งถือว่านานมากๆ พอปีถัดที่เริ่มจัดนิทรรศการ We will have been young ครั้งแรก เวิร์กช็อปก็ยังไม่สิ้นสุดเลย หรือแม้แต่ปีก่อนที่นิทรรศการนี้เดินทางไปที่เยอรมัน ตอนพวกเราไปเบอร์ลินก็ยังมีกรุ๊ป พอร์ทโฟลิโอ รีวิว เพื่อพูดคุยเรื่องการทำงานของแต่ละคน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง ประสบการณ์กัน
เรื่องที่สองคือโลเคชั่น ปกติเวลาเราไปเวิร์กช็อปที่ไหนก็มักจะถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆ…แต่งานนี้เราทำงานในเมืองบ้านเกิดของเราเอง ซึ่งมันก็มีความท้าทายที่เรื่องราวมันจะใกล้ตัวมากขึ้น และเราจะต้องแบ่งเวลาชีวิตระหว่างการทำงานหาเงินกับการทำงานในโปรเจ็กต์นี้ ระหว่างการทำงาน ทุกๆ 1-2 เดือนเราก็จะมีออนไลน์เซสชั่นที่พูดคุยกับเมนทัวร์แบบ 1-1 เพื่ออัพเดทและพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานด้วย
และเรื่องที่สามก็คือคน การที่มีเมนทัวร์เป็นช่างภาพชาวเยอรมัน Jörg Brüggemann และ Tobias Kruse ซึ่งมาจากต่างวัฒนธรรมต่างภาษากัน ความแตกต่างกลายเป็นตัวขับเคลื่อนงานและสร้างบทสนทนา อย่างเราเองตอนแรกก็ไม่กล้าทำงานเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน เพราะคนไทยด้วยกันก็จะรู้ว่าเรื่องเครื่องแบบมันยังเปราะบางในบริบทสังคม แต่เขาก็ถามเราว่าถ้าอยากทำเรื่องนี้ แล้วทำไมถึงไม่ทำล่ะ?”
งานสุดท้ายที่ยังตราตรึงสำหรับเรา คือภาพเด็กวัยรุ่นที่กำลังสนุกสุดเหวี่ยงในคลับ ของชุดภาพ Behind Closed Doors โดย Linh Pham ชาวเวียดนาม ในคำบรรยายนั้นเขาเขียนเล่าว่า เด็กเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน พวกเขาต้องปฏิบัติตามคำสั่งภายใต้สายตาสังคมและศีลธรรมอันเคร่งครัด แต่เบื้องหลังประตูของสถานที่นั้น เหล่าวัยรุ่นสามารถหาวิธีที่จะมีอิสระจากคำสั่งของรัฐบาล ร่วมกันเป็นพลังที่ทั้งศักดิ์สิทธิ์และขบถในเวลาเดียวกัน สายตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมันและความหวังเหล่านั้น ชวนเราคิดและส่งใจไปให้คนรุ่นใหม่ทุกๆ คนที่กำลังต่อสู้กับอำนาจอะไรก็ตามที่กดขี่พวกเขา
ภาพในนิทรรศการนี้—เช่นเดียวกับภาพที่เราเห็นในทีวีช่วงระยะนี้—มันทำให้เราเชื่อว่า พลังสู่การเปลี่ยนแปลง จะอยู่ข้างคนหนุ่มสาวเสมอ
Fact Box
- นิทรรศการ We will have been young จัดแสดงที่ River City Bangkok
เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 - กิจกรรมพิเศษ Artist’s Talk & Tour วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม เวลา 15:00-17:00
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-108 8231-2
email: Programm-Bangkok@goethe.de