คนเราเปลี่ยนจากคลานเป็นเดินตั้งแต่ประมาณขวบแรกของชีวิต ถึงวันนี้ ใครต่อใครก็เดินกันเป็นกิจวัตร อาจด้วยเป็นวิธีเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายโดยไม่ต้องล้วงกระเป๋าสตางค์ชำระค่าบริการคมนาคมแม้แต่สลึงเดียว และนับเป็นจุดเริ่มต้นของความผ่อนคลาย เป็นกิจกรรมสร้างความสมดุลให้ร่างกาย แต่งเติมสีสันให้กับชุมชนและอีกมากมาย กระทั่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญญะของกิจกรรมรณรงค์จำนวนมาก

      ‘การเดินเท้า’ ยังถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน ดังเช่นที่เราเห็นเมืองใหญ่ทั่วโลกมุ่งพัฒนาสู่ ‘เมืองเดินดี’ (Walkable City) หรือเมืองที่ผู้คนเดิน ใช้จักรยาน และระบบขนส่งมวลชน เป็นวิธีหลักในการเดินทาง อย่างโตเกียว ลอนดอน พอร์ตแลนด์ ประชาชนในเมืองเดินได้เหล่านี้ล้วนมีสุขภาพแข็งแรง สภาพแวดล้อมน่าอยู่ และย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ

 

ทำไมถึงเดินไม่ได้!

    ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนจะตรงข้ามกับประเทศไทย ที่ทุกย่างก้าวบนถนนหรือทางสาธารณะซึ่งจัดไว้ให้เป็นประโยชน์ในการจราจรทางบกนั้นเต็มไปด้วยอันตราย รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อมูลว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก นีอูเอ สาธารณรัฐโดมินิกัน ต่อมาในปี 2558 ประเทศไทยเลื่อนขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากลิเบีย และจัดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกระบุไว้ด้วยว่า จากข้อมูลทั่วโลก ในบรรดาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้เสียชีวิต ในจำนวนนั้นปรากฏว่าเป็นคนเดินเท้าถึง 22 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศไทย ตัวเลขนี้อยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์

    เมื่อย้อนดูสถิติคดีอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจำแนกตามประเภทผู้ใช้ทาง ตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2558 (ตามข้อมูลล่าสุดที่ปรากฎบนเว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ยังพบว่า คนเดินเท้ามีคดีอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกเฉลี่ยปีละ 2,085 คดี หรือเท่ากับวันละ 6 คดี แม้ตัวเลขนี้อาจไม่ทำให้ใครอุทานโอ้โห! หากลึก ๆ เชื่อเถอะว่าเพียงคดีเดียวก็สามารถสร้างความเสียหายหรือผลกระทบเกินกว่าจะคาดเดาได้ ที่สำคัญ คนเดินเท้าอย่างเรายังต้องประสบภัยรายวัน

 

ท่อระบายน้ำ กักขังทุกข์    

    มากไปกว่าความรู้สึกขัดใจดีไซน์และสนิมของฝาท่อระบายน้ำแล้ว ใครสวมรองเท้ามีส้นยังต้องยกขา ก้าวเท้ายาวข้ามฝาท่อระบายน้ำแบบตะแกรง และหลายคนต้องเสียเวลาเดินอ้อม เพราะกลัวความผุกร่อนใกล้หมดสภาพที่พร้อมพังทลาย ขนาด ‘ตูน บอดี้แสลม’ ศิลปินผู้ออกวิ่งระทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศก็ยังได้รับบาดเจ็บเพราะตกท่อระบายน้ำขณะซ้อม

และไม่ทันครบปี มีการร้องเรียนอุบัติเหตุคนตกท่อระบายน้ำ ผ่านสายด่วน กทม. 1555 แล้วกว่า 750 ครั้ง ซึ่งเฉพาะ กทม. นั้น มีฝาท่อระบายน้ำมากกว่า 600,000 ฝาที่อยู่ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำกับสำนักงานเขตที่มีเจ้าหน้าที่ในการดูแลระบบท่อระบายน้ำเพียง 100 คน

​ ขวางได้ ขวางดี นี่ทางของใคร

ทางเท้าหรือเขาวงกต เดินตรงได้แค่ไม่กี่ก้าวก็ต้องเบี่ยง ตีโค้ง เลี้ยวซิกแซกหลบต้นไม้ เสาโฆษณา ป้ายรถเมล ที่จอดจักรยาน ป้ายบอกทาง เหล็ก ผ้าใบกันสาด หรือกระทั่งเครื่องระบายน้ำของหน่วยงานรัฐ ที่ยื่นออกมาจากบ้านคน สิ่งรุงรังเหล่านี้เป็นข้อจำกัดใหญ่ทำให้คนที่มองไม่เห็น คนนั่งวีลแชร์ ต้องเกิดความลำบากในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน

เหยียบกระเบื้องปุ๊ป น้ำพุ่งปรี๊ด    

 การเดินบนทางเท้าทำเราลุ้นตัวโก่ง ไม่ต่างจากการเล่นเกมทายกับดักทุ่นระเบิด เพราะแม้กระเบื้องแต่ละแผ่นจะดูปกติสมบูรณ์ดี แต่ทันทีที่เหยียบลงไป มันกลับโคลงเคลงทำเอาน้ำใต้กระเบื้องพุ่ง เลอะร่างกายไปเสียครึ่งท่อน แล้วเมื่อชีวิตจริงไม่มีปุ่มให้กดเริ่มต้นใหม่เหมือนในเกม ต่างคนจึงต่างต้องเดินต่อไปยังจุดหมายในสถานะผู้แพ้รายวัน ยิ่งเจอเหตุการณ์แบบนี้ในช่วงหน้าฝน ก็ยิ่งชื้นแฉะ หากเกิดกับบริเวณที่มีแผงลอย น้ำใต้กระเบื้องเหล่านั้นยิ่งเสี่ยงจะเหม็นคลุ้ง

คน VS รถ

  อันที่จริง ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ผู้ขับขี่ต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้าม แต่ดูเหมือนว่าการข้ามทางม้าลายแต่ละครั้งกลับเป็นที่น่าสะพรึงกลัว เพราะมักมีการปิดไฟข้ามถนนในช่วงเวลาเร่งด่วน อาจเพราะไฟสำหรับคนข้ามถูกมองว่าเป็นเพียงบริการเสริม ที่หากเพิ่มสลอตเวลาให้คนเดินเท้าก็จะทำให้รถติดไปกันใหญ่ ยังไม่นับว่าไฟข้ามถนนมักชำรุด

 ส่วนสะพานลอยก็เป็นสิ่งก่อสร้างที่เรานึกถึงเป็นลำดับรั้งท้าย เพราะกลัวจะเป็นสถานที่ก่อเหตุอาชญากรรม

 

ตัดพ้อเรื่องหลุม เรื่องบ่อ

  ไม่ใช่แค่พล็อตละครหรอกที่นางเอกเดินน้ำตาคลออยู่ริมทางแล้วถูกนางร้ายซ้ำเติมด้วยการขับรถให้น้ำจากถนนกระเด็นเปื้อนแข้งเปรอะขา เพราะหลุมและบ่อกลางถนนมันมีอยู่จริง แถมมีอยู่มาก เราทำได้เพียงควบคุมสติ สงบอารมณ์ให้ไวเมื่อเจอเหตุการณ์ทำนองนี้เข้า ไม่เช่นนั้นคงเผลอโวยวายเสียงดังแล้วถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด ท้ายที่สุดก็ได้แต่ตั้งคำถามเงียบๆ ถึงงบประมาณแต่ละนโยบายรัฐจากเงินภาษีประชาชน แล้วรีบกลับบ้านมาซักรองเท้า ขยี้เสื้อผ้าเปื้อนคราบน้ำขัง น้ำเน่า โคลน ฝุ่น ควันสุดแรง

  แม้เรื่องที่เล่าสู่กันฟังเป็นเพียงตัวอย่างการประสบภัยที่อาจไม่ได้หนักหนาเมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ ในสังคม แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และเราควรมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างมั่นใจ ไม่ใช่รอให้เรื่องคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต

หากไปดูเหตุผลที่กรุงเทพยังเดิน ‘ไม่ได้’ และ ‘ไม่ดี’ เหตุผลหลักเป็นเรื่องของผังเมืองที่ไม่เคยวางแผน ไม่ว่าจะเป็นถนนใยแมงมุมที่ประกอบด้วยถนนรัศมีและถนนวงแหวน แม้มีข้อดีที่สามารถนำคนเข้า-ออกระหว่างพื้นที่ชานเมืองได้อย่างรวดเร็วผ่านแนวถนนรัศมี แต่สำหรับกรุงเทพฯ ยังต้องการระบบรองรับการเดินทางภายในเมืองอีก แต่ด้วยข้อจำกัดของระบบซอยย่อยที่มักเป็นซอยลึกปลายตัน นำมาซึ่งปัญหาการจราจรที่หนาแน่นและติดขัด ถนนส่วนใหญ่มีจุดตัดน้อย ทำให้ทางเลือกในการเดินมีน้อยลง เพราะไม่ค่อยมีจุดตัดของถนนที่เชื่อมหลายเส้นทางเข้าด้วยกัน

    นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากนโยบายที่ไม่สนับสนุนการเดิน พบว่าสัดส่วนของผลประโยชน์จากนโยบายการลงทุนการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนนั้น ตกอยู่กับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่าคนที่เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ กฎหมายหลายฉบับยังเอื้อประโยชน์ต่อการสัญจรของรถยนต์มากกว่าการเดินเท้า ทั้งที่ควรจะเป็นวิธีสัญจรหลักของผู้คน เช่น มาตรา 104 ของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552 ระบุว่า คนเดินเท้าจะต้องใช้ทางม้าลาย สะพานลอย หรือทางข้ามถนนอื่นๆ หากมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในระยะ 100 เมตร ถ้าฝ่าฝืนปรับ 200 บาท

ข้อมูลจากโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง UddC ยังบอกกับเราด้วยว่าสามองค์ประกอบหลักของเมืองเดินได้-เดินดี นั้นจะต้องประกอบด้วย 1. ความปลอดภัย คือ มีความสว่างไสว สายตาเฝ้าระวัง และไม่มีอันตรายจากยานพาหนะ 2. ความสะดวก คือ มีร่มเงา สิ่งปกคลุม รวมไปถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนทางเท้า 3. ความมีชีวิตชีวา คือ ความร่มรื่นและกิจกรรมระหว่างเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนในบ้านเรา

 

 

อ้างอิง:
เอกสารประกอบกิจกรรม ‘เดิน-ส่อง-ย่าน : สู่เมืองเดินสบายของทุกคนและโครงการเมืองเดินได้-เดินดี’
http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries21.html
http://www.ictsilpakorn.com
http://www.bltbangkok.com
http://uddc.net

Tags: , , , ,