ช่วงสี่เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันแรกของการชุมนุมเคลื่อนไหวของม็อบราษฎรจนถึงวันนี้ กระแสตื่นตัวทางการเมืองลุกลามจนฉุดไม่อยู่ คนหนุ่มสาวจำนวนมากพร้อมใจกันลงถนน ตะโกนขับไล่รัฐบาล เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และไปไกลกว่าที่คิด ด้วยการเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
เวลาไล่เลี่ยกัน เกิดปรากฏการณ์น่าสนใจในวงการหนังสือ ความนิยมต่องานเขียนประเภท ‘ประวัติศาสตร์-สังคม-การเมือง’ พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
แน่นอนว่า หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อการเมืองไทย
“ไม่ใช่ว่าหนังสือวิชาการทุกแนวจะขายดีนะ แต่หนังสือที่ขายดีจะเป็นหนังสือที่โต้แย้งคำอธิบายเก่า โต้แย้งกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก รัฐไทยหลอกตัวเองไว้เยอะ วิกฤตการเมืองที่ผ่านมาเลยทำให้เด็กรุ่นนี้เขาไปรื้อความเข้าใจในอดีต สุดท้ายสิ่งที่หลอกไว้ ก็มาล่มสลายเอาในวันนี้”
“กระแสที่เกิดขึ้น มันทำให้ย้อนกลับไปว่า ประวัติศาสตร์ที่สอนกันในโรงเรียน ประวัติศาสตร์ที่เอาสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างและเอามาอธิบายเรื่องทุกเรื่อง มันใช้ไม่ได้อีกแล้ว”
น้ำเสียงจริงจัง ใบหน้าปราศจากรอยยิ้ม ไม่ว่ายามเขียนหนังสือ หรือวิพากษ์วิจารณ์การเมือง วาด รวี เป็นแบบนี้เสมอ
วาด รวี คือนามปากกาของนักเขียน กวี และบรรณาธิการ เจ้าของผลงานหนังสือนับสิบเล่ม ทั้งรวมเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย
แต่หนังสือ 4 เล่มหลังสุดที่ ‘เปลี่ยน’ ตัวเขาไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งสไตล์การเขียน ทัศนคติทางการเมือง และมุมมองที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย กลับกลายเป็นหนังสือรวมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย ได้แก่ วิกฤต 19: ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน – 19 พฤษภาคม 2553 , ภูเขาน้ำแข็ง, การเมืองโมเบียส, และเล่มล่าสุด —โอลด์ รอยัลลิสต์ ดาย ที่เพิ่งออกขายช่วงงานสัปดาห์หนังสือเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“ผมติดตามการเมืองจริงๆ น่าจะปี 2552 ตอนมีม็อบคนเสื้อแดงครั้งแรก จนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ปี 2553 ช่วงนั้นรู้สึกว่าความไม่ยุติธรรมมันรุนแรงมาก คนเสื้อแดงถูกทำให้เป็นเหมือนสิ่งแปลกแยก ถูกปราบ ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว สื่อมวลชน ปัญญาชนก็อยู่ฝั่งเสื้อเหลืองกันหมด คนที่จะมาเป็นปากเป็นเสียงให้คนเสื้อแดงมีน้อยมาก
“ก่อนหน้านั้นกับฝ่ายพันธมิตร เหตุการณ์ที่สมเด็จพระราชินีเสด็จไปงานพระราชทานเพลิงศพ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ (ผู้ร่วมชุมนุมม็อบพันธมิตรที่เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมในปี 2551) ในทางการเมืองเราเห็นชัดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ถูกต้อง แต่ตอนนั้นมันเงียบ เห็นกับตา แต่พูดไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีกระแสกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีคนโดนจับเรื่องนี้เยอะ
“พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ คนเสื้อแดงทั่วไปส่วนใหญ่เขาเป็นชาวบ้าน เวลาโกรธ เขาก็พูดตรงๆ พูดด้วยอารมณ์ ไม่พอใจก็ด่า สุดท้ายโดนจับ เพราะเขาไม่รู้วิธีพูด เรายังรู้วิธีพูด ว่าจะพูดยังไงไม่ให้ผิดกฎหมาย ก็เลยรู้สึกว่ามันต้องพูดเรื่องนี้ออกมา”
เมื่อกระโจนลงสู่งานเขียนแนวการเมือง วาด รวี เริ่มเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทุ่มเทเวลาและสติปัญญาค้นคว้าข้อมูลจากข่าว บทความ บทวิเคราะห์ ทั้งสำนักข่าวไทยและต่างประเทศ ขุดคุ้ยเหตุการณ์เก่าๆ ในกองหนังสือประวัติศาสตร์แถลงการณ์ พระราชกิจจานุเบกษา ข่าวพระราชสำนัก ยันวิกิลีกส์ที่หลุดออกมาจนเป็นประเด็นฉาวระดับโลก แม้กระทั่งเข้าไปปะทะแลกเปลี่ยนความเห็นกับใครต่อใคร ทั้งในโลกออนไลน์ และในชีวิตจริง
“รวมบทวิเคราะห์การเมืองทั้ง 4 เล่ม มันมาจากการเขียนบนอินเตอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ สมัยก่อนเขียนลงเว็บบอร์ด Thaipoetsociety ฟ้าเดียวกัน ประชาไท พอมีเฟซบุ๊กก็เขียนบนเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่เขียนไปตามสถานการณ์ การรวมเล่มมันเกิดขึ้นตามมาทีหลัง
“บางชิ้นมันเอาท์ไปแล้ว บางชิ้นเอากลับมาเขียนใหม่ได้ ด้วยการนำมาทบทวน ปะติดปะต่อเรื่องราวใหม่ ค้นข้อมูลเพิ่ม ดูเอกสารต่างๆ แล้วเขียนเรียบเรียงใหม่ ให้มันลึกขึ้น”
การทำงานเขียนประเภทวิเคราะห์การเมืองเชิงลึก ที่ฉายภาพเครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจอันซับซ้อนระหว่างสถาบันกษัตริย์ กองทัพ นักการเมือง และขบวนการมวลชน จนถึงสาเหตุมูลฐานของความขัดแย้ง อันนำไปสู่วิกฤตการเมืองในปัจจุบัน วาด รวี บอกว่า งานหนักอยู่ที่การตรวจสอบข้อมูล และการชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญ
“มันต่างจากเรื่องแต่ง ตรงที่เรื่องแต่งจะหนักไปทางใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ภาษา สำวนโวหาร แต่พอมาทำงานเขียนแนวการเมือง อันดับแรกคือประเด็น พอมีประเด็นแล้วก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เราเสียเวลาไปกับการอ่านเยอะมาก ค้นเยอะจากหลายทาง แล้วต้องมองให้ออกว่าข้อมูลนั้นมันสำคัญยังไง
“เหมือนเวลาอ่านข่าว บางทีเราก็ข้ามไปนะ ถ้าไม่ได้อ่านด้วยสายตาที่ค้นหาจริงๆ ก็อาจไม่เห็นความสำคัญของข้อมูลตัวนี้ เช่น ข่าวแต่งตั้งพระชั้นผู้ใหญ่ มีการประกาศในราชกิจจาฯ โดยไม่มีผู้รับสนอง เฮ้ย มันไม่มีผู้รับสนองได้ไง แม้ข้อมูลนิดเดียว แต่พวกนี้เป็นประเด็นสำคัญหมด บางทีไม่ทันสังเกต”
อุปสรรคท้าทายอีกข้อคือ ‘ความกลัว’ อันเปรียบดั่งภูเขาสูงทะมึนที่ต้องปีนป่ายก้าวข้ามไปให้ได้
“การเขียนแนวนี้เป็นการสู้เพียงลำพัง สู้กับความรู้สึกตัวเอง สู้กับความกลัว เวลาเขียนมันจะกล้าๆ กลัวๆ ว่า เขียนออกไปมันจะโดนรึเปล่า จะติดคุกรึเปล่า แล้วคนรอบข้างก็พูดไปในทิศทางเดียวกันคือ อย่าทำเลย อย่าไปแตะ อันตราย เสี่ยงเกินไป นอกจากจะสู้กับตัวเองแล้ว ก็ต้องสู้กับสภาพแวดล้อมด้วย คนอื่นบอกเราพูดไม่ได้ เราไม่เชื่อ สุดท้ายก็เขียนออกไป
“พอรู้ว่าไม่โดน เราข้ามมันไปได้ เล่มต่อไปก็พูดมากขึ้น พอข้ามมาแล้วมันก็ไม่ใช่ประเด็นที่ซับซ้อนเลย ถ้าไม่กล้าข้ามมา มันก็จะติดอยู่กับเพดานความคิด”
จากเล่มแรก ‘วิกฤต 19: ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน – 19 พฤษภาคม 2553’ ขยับเพดานต่อไปยังเล่มที่สอง ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ก่อนจะขยับขึ้นไปอีกระดับกับเล่มที่สาม ‘การเมืองโมเบียส’ กระทั่งเล่มที่สี่อย่าง ‘โอลด์ รอยัลลิสต์ ดาย’ ที่เจ้าตัวบอกว่า “ตั้งเพดานการพูดไว้สูง”
‘โอลด์ รอยัลลิสต์ ดาย’ เป็นหนังสือรวมบทความที่นำเสนอเกี่ยวกับบทบาทและอำนาจของสถาบันกษัตริย์และกลุ่มรอยัลลิสต์ ในฐานะสถาบันการเมืองและกลุ่มการเมืองสำคัญที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ไทย ท่ามกลางวิกฤตการเมืองรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
“ตั้งเพดานการพูดไว้สูงเหมือนกัน ไม่มีเซนเซอร์เลย เสียงตอบรับดีกว่าเล่มการเมืองโมเบียส เล่มนั้นตอนออกมาเงียบมาก คนไม่กล้ารีวิว ไม่มีพูดถึงอะไรเลย ตอนนี้บรรยากาศมันเปลี่ยน คนกล้าพูดถึงบ้างแล้ว แต่ถึงยังอย่างนั้นก็ยังเจออุปสรรคเยอะ หนังสือก็ถูกปฏิเสธ ไม่ได้ ISBN จากหอสมุดแห่งชาติ ร้านหนังสือใหญ่ๆ ยังวางขายได้ แต่บางร้านก็ไม่วาง”
จุดมุ่งหมายในฐานะนักเขียนสำหรับวาด รวี คือการเปิดขอบฟ้าจินตนาการในเรื่องการเมือง เขาเชื่อว่า ทุกคนควรพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์กันได้ปกติ เหมือนกับเรื่องอื่นๆ
“อยากทำให้มันเป็นเรื่อง common sense อยากปรับความคิดคน อยากให้คนสามารถพูดถึง แสดงความเห็น แลกเปลี่ยน โต้เถียงกันได้ เหมือนเรื่องอื่นๆ วิกฤตการเมืองที่ผ่านมามันถูกทำให้พูดไม่ได้ เวลาพูดถึงในหลวง พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะ คนก็จะรู้สึกกลัวโดยอัตโนมัติ เหมือนเป็นเพดานที่กักขังไว้
“วันนี้ถ้าเป้าหมายอยู่ที่ร้อย มันเพิ่งนับหนึ่งเท่านั้นเอง ตราบใดที่ยังไม่กล้าพูด ถ้านักการเมืองยังไม่กล้าพูด ยังเกี่ยงงอนกันอยู่ ก็จะยังไม่คืบหน้าไปไหน การเมืองก็จะติดหล่มอยู่ตรงนี้”
วันที่กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังกึกก้องไปทั่ว คนจำนวนไม่น้อยเริ่มกล้าที่จะพูดถึงกษัตริย์ตรงๆ อย่างสุภาพ อย่างมีเหตุผล
ในฐานะนักเขียนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายอาญา มาตรา 112
วาด รวี เชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ และมันเกิดขึ้นแล้ว
“ผมอยู่ในฝ่ายคนที่ผลักดันเรื่องนี้ให้เปลี่ยนแปลง ต้องเผชิญกับข้ออ้างมาตลอดว่ายังเปลี่ยนไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา ถึงตอนนี้มันสะท้อนแล้วว่า ที่ผ่านมาเราคิดถูก ในแง่ที่ว่ามันเปลี่ยนได้ เสียงของคนจำนวนมากมันทำให้บรรยากาศเปลี่ยนได้ มันเปลี่ยนได้ด้วยทุกอย่างที่เราพูดออกมา ทำให้มันออกมาเหมือนเรื่องอื่นๆ ผมเชื่อแบบนี้มานานแล้ว”
Fact Box
วาด รวี คือนามปากกาของนักเขียน กวี บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ไชน์ (Shine Publishing) มีผลงานการเขียนและแปลนับสิบเล่ม ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทความการเมือง ในปี 2554 เขาเคยร่วมกับเพื่อนนักเขียนออกจดหมายเปิดผนึก รวมถึงรวบรวมรายชื่อประชาชน ยื่นให้รัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112