ภารกิจที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

ผ่านมาแค่ไม่ถึงเดือน หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป หลายคนเริ่มกลับมาบ่นหดหู่กับสถานการณ์ทางการเมืองระลอกใหม่ ทั้งความไม่พอใจผลเลือกตั้ง หงุดหงิดกับคนต่างเจนฯ ที่คิดต่างกันแบบสุดขั้ว แถมการเลือกตั้งผ่านไปตั้งนานแล้วก็ไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมา การเมืองเริ่มดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวออกไปเรื่อยๆ ยิ่งตามข่าวก็ยิ่งเหนื่อยใจ

จริงๆ แล้วสังคมไทยได้โอกาสมีประกายความหวังมาเมื่อต้นปี 2562 นี้เอง ที่การเมืองกลับมาคึกคักมากขึ้นในรอบ 5 ปี หลังจากที่ คสช. เริ่มประกาศวันเลือกตั้ง การปลดล็อคทางการเมือง ให้ผู้คนเริ่มทำกิจกรรมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้เช่นบรรยากาศปกติ พรรคการเมืองต่างๆ จึงได้เริ่มใช้โอกาสนี้หาเสียงประกาศนโยบายกันอย่างคึกคัก

ทางฝั่งผู้ติดตามข่าวสาร ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อมีเครื่องมือใหม่ใช้ในการสื่อสารยุคใหม่ กระแสความตื่นตัวทางการเมืองจึงโหมกระพือรุนแรงบนความเชื่อว่า เสียงโหวตของประชาชนจะมีความหมายสำคัญ จะนำไปสู่อนาคตที่ไม่เหมือนกับสภาพความขัดแย้งเดิมๆ

ทางฝั่งของคนทำงานสื่ออย่างพวกเรา จึงต้องเตรียมแผนการทำข่าวการรายงานคะแนนเลือกตั้งหลังปิดหีบในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โจทย์สำคัญในคราวนี้ คือ จะทำอย่างไรให้การรายงานผล ‘ทันสมัย’ กว่าที่เคยเป็นมา โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมการมีส่วนร่วมของคนหลากหลาย ให้ทุกคนลงมือทำอะไรได้มากกว่าเพียงแค่ไปออกเสียงและรอฟังผล เพื่อที่จะได้ก้าวไปไกลกว่าเพียงแค่การรายงานสดการนับคะแนน และการสัมภาษณ์นักวิชาการไม่กี่คนเท่านั้น  

สี่องค์กร The Momentum, a day BULLETIN, iLaw, และ opendream จึงร่วมมือกัน สร้างพื้นที่ที่ทำให้ผู้ติดตามข่าวสารเป็นได้มากกว่าคนเสพข่าวฝ่ายเดียว โดยยังสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ด้วย เมื่อเรารู้ว่าคนส่วนใหญ่มีสมาร์ตโฟนที่ถ่ายรูปได้อยู่ในมือ มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้าถึงได้ง่ายดาย เมื่อบวกกับบริบททางสังคม ที่ว่าการเลือกตั้งต้องการการตรวจสอบจากกลุ่มคนที่หลากหลาย จึงกลายเป็นเว็บไซต์ VOTE62.com ที่จะทำให้ทุกคนสามารถร่วมลุ้นของการนับคะแนน ไปพร้อมๆ กับการจับตาตรวจสอบกลไกรัฐ ผ่านการ crowdsourcing ถ่ายภาพกระดานนับคะแนนระดับหน่วย จากหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน

ไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง เราประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนช่วยกันออกไปเฝ้าดูการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แล้วถ่ายรูปภาพกระดานนับคะแนนมาเก็บเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งดูเป็นภารกิจง่ายๆ และทุกคนทำได้ แต่ถ้าดูในระดับภาพรวมของทั้งประเทศ มันจะกลายเป็นภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่คิดขอแรงคนทั่วประเทศออกไปเฝ้าคูหาเลือกตั้ง สเกลของงานที่ใหญ่กว่า 9 หมื่นกว่าหน่วยเลือกตั้ง อาจต้องใช้กำลังคนที่พร้อมจะมีส่วนร่วมหลายหมื่นคน

แม้เราต้องยอมรับในข้อจำกัดของการรายงานผล แต่เรามองว่าเป้าหมายสำคัญของการทำงานครั้งนี้  คือ การสร้างพื้นที่และช่องทางในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการแสดงให้เห็นถึงพลังที่แท้จริงของเทคโนโลยี เมื่อเราได้ระดม Crowdsourcing ข้อมูลมามากถึงระดับหนึ่ง มันจะตรวจสอบกันเอง

นอกจากนี้ การได้เก็บระดมข้อมูลไฟล์ภาพจำนวนมหาศาลมาเก็บไว้ในวันนี้ ถือเป็นฐานข้อมูลดิบที่มีค่าที่สุด ที่จะนำมาสืบย้อนดูความจริงเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น

ภารกิจที่ประชาชนมาร่วมกันเกินคาด

กกต. นัดหมายสื่อมวลชนเข้าไปประชุมหารือกันหลายครั้งก่อนหน้าวันเลือกตั้ง เรื่องการทำข่าวรายงานผลการนับคะแนน และมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการแชร์ข้อมูลร่วมกันว่า ในวันเลือกตั้ง กกต. จะมีเซ็ตข้อมูลที่ส่งให้สื่อมวลชนทุกรายนำไปรายงานข่าวได้อย่างถูกต้องตรงกัน  

ทีมงาน VOTE 62 เริ่มต้นทำงานกันโดยมีเวลา 1 เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง opendream ซึ่งเป็นทีมเดเวลอปเปอร์ของเรา ตัดสินใจออกแบบระบบที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากที่สุด สะดวกที่สุด และหยั่งลงไปถึงระดับฐานรากที่้ลึกที่สุด คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นรายหน่วยเลือกตั้ง ที่มีกว่า 90,000 หน่วย

ในขณะที่ เซ็ตของข้อมูลผลการนับคะแนนจาก กกต. นั้นมาในระดับเขต ที่มี 350 เขตทั่วประเทศ เราสอบถามถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ กกต. เปิดเผยข้อมูลผลการนับในระดับหน่วย เพราะถ้าคำนึงความถูกต้องโปร่งใสที่สุด กกต. ก็ควรจะให้ข้อมูลคะแนนระดับหน่วยด้วย แต่ในเวลานั้น ดูเหมือนยังไม่มีใครเห็นความจำเป็นของการเปิดเผยข้อมูลรายหน่วย

อย่างไรก็ดี ในส่วนงานของ VOTE62 ก็ยังคงตัดสินใจเดินหน้าแผนเดิม แล้วผลที่ออกมาก็น่าอัศจรรย์ใจเกินความคาดหมายไปมาก ในคืนวันที่ 24 มีนาคม เราได้ภาพถ่าย Crowdsoucing เข้ามามากกว่า 10,000 ภาพ จากหน่วยเลือกตั้งอย่างน้อยสามพันจุดทั่วประเทศ (ตัวเลขนี้นับจากจำนวนที่ digitized เสร็จ แต่เรายังมีภาพอีกมากที่ยังไม่ได้นำมาประมวล) ซึ่งหากเทียบกับการทำโพลล์ระดับประเทศ ที่มักใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงแค่พันเดียว งานนี้ก็ถือว่า VOTE62 มีกลุ่มตัวอย่างเยอะกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม ชุดข้อมูล crowdsource นี้อยู่โดดๆ ไม่ได้ มันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีความหมายเชิงตรวจสอบได้ คือต้องนำไปเปรียบเทียบกับการนับคะแนนของ กกต. ด้วย ดังที่มีตัวอย่างปรากฏออกมาแล้ว เช่นมีผู้ใช้บางคน เผยแพร่ภาพถ่ายจาก Vote62 ว่าจำนวนขีดนับของบัตรเลือกตั้งนั้นไม่ตรงกับตัวเลขรวมบนกระดาน

แต่เราก็กลับมาที่อุปสรรคเดิม คือ ข้อมูลที่ได้จากกกต. ไม่ได้เป็นข้อมูลระดับหน่วย แต่เป็นข้อมูลตัวเลขที่รวบรวมมาแล้วในระดับเขต 350 เขต ดูเหมือนว่านี่เป็นเกมการเมืองที่ประชาชนจะขยับหมากอะไรต่อไปไม่ได้เลย หลังจากพ้นข้ามคืนของวันที่ 24 มีนาคมไปแล้ว เพราะว่าเราไม่มีหลักฐานอย่างเป็นทางการจาก กกต. ให้เอามาตรวจสอบความถูกต้องตรงกันได้ไกลกว่านั้น นอกจากหลักฐานที่เรา crowdsource กันมาได้เอง

ภารกิจที่เรายังต้องเดินหน้าต่อไป

ภาพถ่ายที่ Vote62 ได้รับมาทั้งหมด เป็นข้อมูลปฐมภูมิที่สุดที่มาจากประชาชนทั่วไป ภาพถ่ายเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงแหล่งข้อมูลเดียว ที่จะเป็นหลักฐานของการแสดงเจตจำนงของประชาชนได้ และกำลังมีหลายเพจที่เอาแคมเปญ Vote62 ไปขยายผลกันอย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายแล้ว ทีมงาน Vote 62 เชื่อว่า พลังบริสุทธิ์ของประชาชน คนธรรมดาทั่วไป ที่ยอมออกจากบ้านไปเฝ้าหน่วยเลือกตั้งตอนนับคะแนน ยืนตากยุง ท้องหิว จ้องกระดานนับคะแนนจนมืดๆ ค่ำๆ เพื่อรอถ่ายภาพแห่งประวัติศาสตร์เหล่านั้นเก็บเอาไว้ จะไม่สูญเปล่า อย่างน้อยที่สุด มันทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมและวิธีการที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อตรวจสอบจับตาผู้มีอำนาจ นับแต่วินาทีแรกหลังจากที่ได้ไปกากบาทลงคะแนน

ถึงแม้ว่า เมื่อมาถึงปลายเดือนเมษายน 2562 กระแสความสนใจของประชาชน หันไปสู่เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เรากำลังจับตาดูว่า พรรคใดจะจับมือกัน กระแสความสนใจในเรื่องผลการนับคะแนนที่ไม่โปร่งใส ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปบ้าง แต่นี่จะไม่ใช่เกมสุดท้ายที่เราจะได้เล่น

ถึงแม้การเมืองจะถูกวางหมากเอาไว้มากมาย แต่หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลที่กำลังจัดตั้งกันอยู่ตอนนี้ ไม่น่าจะมีเสถียรภาพมากนัก ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ความขัดแย้งทางการเมืองจากการเข้าสู่อำนาจด้วยกลไกแบบผิดปกติจะยังเดินหน้าต่อไป เราจะยังคงต้องช่วยกันตามติดข่าวสารการเมืองต่อไป ถึงแม้มันจะดูย่ำอยู่กับที่ขนาดไหน เพราะว่า Vote62 ในคืนวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่ามีคนที่กระตือรือร้นและมาร่วมกันเป็นพลังบริสุทธิ์อยู่มากมาย ประชาชนคนธรรมดายังมีพลังในตัวเองที่ยังสามารถทำอะไรได้ และจะทำได้มากขึ้นๆ ในอนาคต

ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของผลลัพธ์ที่ถูกใจในการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว แต่มันคือกระบวนการระยะยาว พลังของประชาชนที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ จะค่อยๆ สั่งสมแรงกระเพื่อมเพื่อพัดพาสังคมให้เดินไปข้างหน้า

 

ที่มาภาพ: Athit Perawongmetha / REUTERS

Fact Box

เว็บไซต์ VOTE62.com เปิดให้คุณตรวจสอบภาพถ่ายกระดานคะแนนในพื้นที่ต่างๆ แล้ว เพียงพิมพ์เขตหรือจังหวัด หากพบภาพผิดปกติที่น่าสงสัย ขอเชิญชวนช่วยกันแชร์ภาพพร้อมข้อสังเกตในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วตั้งค่าสาธารณะพร้อมติดแฮชแท็ก #vote62

Tags: , , , ,