เหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนก็จะไปสู่วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ถือเป็นการเลือกตั้งที่หลายคนตั้งตารอหลังจากห่างหายไปนานกว่า 8 ปี และสำหรับหลายๆ คน นี่จะเป็นการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งแรกในชีวิต

4 องค์กรที่ทำงานสื่อสารในหลากแง่มุมจึงจับมือกัน เปิดตัวแพลตฟอร์มกลางอย่างเว็บไซต์ Vote62.com ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ให้บริการตรวจสอบข้อมูลหมายเลขพรรคการเมือง และยังมีฟังก์ชั่นใส่ฟิลเตอร์กรองจุดยืนของพรรคการเมืองด้วยว่า เป็นพรรคที่จะสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่สนับสนุน

เบื้องหลังของการทำงานครั้งนี้ มาจากการช่วยกันลงแรงกันตามความถนัดของแต่ละทีม ได้แก่ โอเพ่นดรีม (opendream) บริษัทไอทีที่สนใจงานประมวลผลข้อมูลสาธารณะและการทำ data visualization, อะเดย์ บุลเลติน (a day BULLETIN) สื่อรายสัปดาห์และสื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาตอบโจทย์ความสนใจของคนเมือง, เดอะ โมเมนตัม (The Momentum) สื่อออนไลน์ว่าด้วยสังคม การเมือง และวัฒนธรรม และ ไอลอว์ (iLaw) สื่อที่จับตาด้านกฎหมายและนโยบายของไทย

 

VOTE62 เครื่องมือช่วยจำ กาเบอร์เดียวต้องไม่กาผิด

การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้น ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีวิธีการลงคะแนนและกติกาการนับคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก

“นี่เป็นการเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้สมัครมากที่สุด และมีพรรคการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่ง และต้องบอกว่า นี่เป็นการเลือกตั้งที่ยากและซับซ้อนที่สุดครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์อธิบายถึงความพยายามที่จะอธิบายการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

“นอกจากจะทำให้เราสับสนแล้ว มันยังไม่สะท้อนเจตนารมย์ของเราที่เข้าคูหาไปกากบาท ยิ่งเมื่อประกอบกับรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่สะท้อนถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน มันกำลังจะทำให้บ้านเมืองเรากลายเป็นเหมือนย้อนกลับไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจมากขึ้น ในขณะที่นักการเมืองและพรรคการเมืองมีอำนาจลดลง ซึ่งแน่นอนว่ามันหมายถึงเสียงของประชาชนที่มีพลังน้อยลงด้วย” วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการบริหารอะเดย์บุลเลตินกล่าว

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ทั้ง 4 องค์กรจึงมานั่งคุยกันว่า จะทำอย่างไรให้คะแนนเสียงเพียงหนึ่งกากบาทนั้นมีค่าที่สุด  และสะท้อนความต้องการของประชาชนออกไปได้ชัดเจนที่สุด

ภาณุเดช วศินวรรธนะ นักพัฒนาโปรแกรมจากโอเพ่นดรีมเล่าว่า “มีวันหนึ่ง เราได้อ่านกติการเลือกตั้งจากคู่มือที่ทาง iLaw ทำขึ้น พออ่านจบเราก็เกิดคำถามและข้อสงสัยขึ้นมากมาย คือจริงๆ ก็ยังไม่เชื่อข้อมูลโดยทันทีเพราะอาจจะมีอคติปนอยู่ ด้วยความที่พื้นฐานเรามาจากนักวิจัย เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เป็นหลัก เลยอดไม่ได้ที่จะต้องพิสูจน์กันด้วยสมการคณิตศาสตร์ ซึ่งพอทำไปทำมาก็เริ่มจริงจัง

“แล้วเราก็ค้นพบผลลัพธ์บางอย่างจากการพิสูจน์นั้น เช่น ทำไมต้องย่อยพรรคใหญ่เป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ทำไมเขตเลือกตั้งเดิมใช้ไม่ได้ต้องแบ่งใหม่ ทำไมกาได้เบอร์เดียว โดยเฉพาะ ทำไมพรรคพรรคเดียว จึงมีหลายเบอร์ มันทำให้เราคิดว่า ควรมีเครื่องมือที่ช่วยลดความปวดหัวนี้”

ปมเรื่องพรรคหนึ่งมีหลากหลายเบอร์นี้เองที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ชวนสับสน “ผมเชื่อว่าเราไว้ใจความจำเราไม่ได้ 100% เราอาจจะจำผิด” ภาณุเดชเล่าถึงมุมของตัวเองว่า แม้ตอนนี้จะรู้คำตอบแล้วว่าจะไปกาบัตรเลือกตั้งให้ทั้งถูกเบอร์และถูกใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ จะรู้เรื่องนี้ด้วยไหม นั่นจึงเป็นที่มาของการออกแบบให้ Vote62 มีระบบช่วยบันทึกความทรงจำ คือสามารถเซฟหมายเลขผู้สมัครเก็บเอาไว้เป็นรูป หรือส่งเก็บไว้ใน Line หรือในโซเชียลมีเดียอื่นๆ ได้

ภาณุเดชอธิบายเบื้องหลังงานไอทีว่า จะต้องออกแบบให้เว็บนี้รองรับผู้ใช้งานพร้อมกันเยอะๆ ได้ แม้มือถือเก่าหน่อยก็ต้องใช้ได้ รวมถึงเน็ตช้าหน่อยก็ต้องใช้ได้

“เราทำให้มันใช้งานได้และง่ายที่สุด หรือการรองรับให้เปิดได้ในเครื่องที่เก่าหน่อย เพราะเชื่อว่ามีผู้ใหญ่หลายท่านที่ใช้เครื่องต่อจากลูกหลาน ซึ่งมันเป็นรุ่นเก่าแล้ว เพื่อเผื่อเวลาลูกหลานส่งข้อมูลให้ จะได้เปิดดูได้ ไม่ขัดใจท่าน”

1 กากบาทเลือก “พรรคการเมือง”

จากกรณีการดูดตัว ส.ส. เกิดเป็นปรากฏการณ์ ส.ส.หน้าคุ้นแต่ย้ายไปอยู่พรรคที่ไม่คุ้น เพราะพรรคการเมืองหลายพรรคแอบซื้อตัวผู้เล่นคนสำคัญไปประดับพรรค ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดให้การกากบาทแค่ 1 ครั้ง แม้เป็นการเลือก ส.ส.เขต แต่คะแนนนั้นจะนำไปคำนวณเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ดังนั้น แม้คนจะเลือกที่ตัวบุคคล แต่จะมีผลต่อคะแนนรวมของพรรคการเมือง

“กรอบความคิดสำคัญของเรา ก็คือต้องการให้ประชาชนจดจำพรรคการเมือง และตัดสินใจไปกากบาทให้พรรคเป็นหลัก” วุฒิชัยเล่าถึงที่มาของฟังก์ชั่นเสริม ที่ให้ผู้ใช้สามารถค้นชื่อพรรคการเมืองได้ง่ายๆ

อีกฟังก์ชั่นที่เสริมเข้ามาคือการช่วยใส่ฟิลเตอร์ให้คนสามารถกรองได้ ว่าจะดูรายชื่อเฉพาะพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. หรือไม่สนับสนุน คสช. เป็นปุ่มที่เขียวและสีส้มที่หน้าเว็บ

“ถ้ามีคนที่สนับสนุน คสช. แต่ไม่ชอบ ส.ส.เขตของพรรคพลังประชารัฐ แล้วเราจะเลือกใครแทนได้บ้างเพื่อมาเป็น  ส.ส. เขตบ้านเรา เว็บนี้ก็พอจะช่วยได้ระดับหนึ่ง โดยกรองจากข้อมูลนโยบายพรรคหรือจากที่เคยสัมภาษณ์ไว้ว่าสนับสนุน คสช. หรือไม่ ตอนทำก็คิดว่าจะเป็นการชี้นำหรือเปล่าเหมือนกัน แต่พอทำออกมาดูแล้วก็รู้สึกว่า ช่วยได้เยอะเลย สำหรับคนที่ไม่รู้ข้อมูลในส่วนนี้” ภาณุเดชกล่าว

“เราถือว่า ไม่ว่าจะเลือก คสช. หรือไม่เลือก คสช. มันก็เป็นหนึ่งในทางเลือกทั้งนั้น การทำข้อมูลให้เข้าใจง่ายก็กลายเป็นฟังก์ชั่นที่สนุกดีด้วย” อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหาร The Momentum กล่าว

วุฒิชัยเสริมว่า การเลือกเป็นพรรคนั้นน่าจะดีกว่าในสภาพการณ์ตอนนี้ เพราะมันเป็นการแสดงเจตนารมย์อย่างชัดเจนเพื่อตอบคำถามหลักๆ สองข้อ ข้อแรกสุดคือเราจุดยืนทางการเมืองว่าสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากคณะ คสช. หรือไม่ และข้อต่อมา เราต้องการผลักดันนโยบายของพรรคใดอย่างชัดเจน เช่น เรื่องสวัสดิการสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ

 

เตรียมให้ข้อมูลก่อนเลือกตั้ง และรอนับผลอย่างไม่เป็นทางการ

เว็บไซต์ Vote62 จะทำหน้าที่ช่วยสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น โดยจะแบ่งออกเป็นสองเฟส

เฟสแรกคือ ก่อนเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งนั้น ในเว็บไซต์จะเปิดฟังก์ชั่นหลัก เพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานที่คาดว่าคนจะสงสัย เช่น ค้นเบอร์ของผู้สมัครหรือพรรคแถวบ้าน ทำความเข้าใจกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ และดูนโยบายของพรรคการเมือง

ส่วนเฟสสองนั้น จะปรากฏให้เห็นหลังปิดหีบที่เริ่มมีการนับคะแนน โดยจะคอยอัปเดตผลการนับคะแนนทั้งประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งนั้น จะเชิญชวนให้คนทั่วไปช่วยกันอัปโหลดผลของหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้านตัวเองเข้ามาด้วย

“ด้วยความที่เราต่างก็อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่คนเสพสื่อมีความกระตือรือร้นสูง ดังนั้น นอกจากข้อมูลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่จะได้จากภาครัฐแล้ว เราคิดว่ามันสำคัญมากเหมือนกันที่เราจะไปช่วยกันเฝ้าดูการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งแถวบ้าน และเมื่อนับคะแนนเสร็จ ก็อยากชวนให้ถ่ายรูปกระดานแสดงผลเลือกตั้งเข้ามาเพื่อเป็นหลักฐานบันทึกไว้อีกทางหนึ่ง” อรพิณ กล่าว

ซึ่งในเฟสที่สองนี้ ยิ่งชีพจากไอลอว์มองว่า ผู้เล่นในสนามเลือกตั้งไม่ได้มีแค่นักการเมืองและภาครัฐเท่านั้น แต่ประชาชนสามารถเข้าไปเป็นผู้เล่นและมีบทบาทได้มากกว่าไปออกเสียงเฉยๆ การสร้างเว็บไซต์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลือกของประชาชน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถ้าสามารถช่วยกันทำได้ก็เห็นว่าจะมีแต่ประโยชน์

“การพยายามสร้างช่องทางการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่เหลือไม่มากนี้ หากทำอะไรได้ก็ควรทำ เพื่อให้ได้ผลการเลือกตั้งที่มีคุณภาพและมีความหมาย”

 

 

Tags: , , , ,