ถือเป็นค่ำคืนที่เราทุกคนลุ้นกันสุดตัวกับผลการเลือกตั้ง นอกจากจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว สำหรับทีมงาน vote62.com ยังเป็นครั้งแรกที่เราทำ Crowdsourcing และ Data Visualization โดยดึงข้อมูลจาก กกต. และเทียบกับแท็บข้อมูลจาก “ทางบ้าน” ที่ช่วยกันเติมข้อมูลการนับคะแนนเข้ามาให้เราอย่างล้นหลาม

สิ่งที่ทีมงานคาดการณ์ไว้ก่อน คือ การทำระบบ Crowdsourcing จะช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับประชาชน และจะทำให้เราได้ตระหนักถึงพลังแห่งข้อมูลข่าวสารว่า จะผลักดันสังคมเราไปได้ไกลยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจดีว่า วิธีการนี้มีโอกาสที่ข้อมูลจะไม่แม่นยำ จาก human error ในรูปแบบต่างๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของการทำ Crowdsourcing ที่มีทั้งเสน่ห์และข้อบกพร่องไปพร้อมกัน และเราก็ต้องเรียนรู้ข้อบกพร่องอันนี้ไปพร้อมๆ กันจากการลงมือทำจริง

สิ่งที่น่าประทับใจก็คือ นอกจากผู้คนจะกระตือรือร้นในการออกไปเลือกตั้งแล้ว ยังพบความตื่นตัวในการเข้ามาร่วมกรอกข้อมูลใน vote62.com ด้วย ตลอดทั้งวันนี้มีคนกล่าวถึงเว็บไซต์ของเราหลายร้อยข้อความ ซึ่งทวิตเตอร์ครองสถิติสูงสุด รองลงมา คือ เฟซบุ๊ก นับแต่เวลาปิดหีบเลือกตั้งเมื่อเวลา 5 โมงเย็นของวันที่ 24 มีนาคม ก็มีคนที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ vote62.com ทั้งติดตามผล และร่วมรายงานผล จำนวนสูงสุดถึง 25,000 คนต่อวินาที และมีผู้เข้าร่วมรายงานผลรวมกว่าหมื่นกรณี

ข้อมูลคะแนนดิบทั้งหมดที่ได้จากทุกคนช่วยกันรวบรวมมา จะเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล สามารถจัดทำเป็นฐานข้อมูลและเผยแพร่ต่อสาธารณะในลำดับต่อไปได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ กกต. ไม่ได้จัดทำข้อมูลชุดนี้เผยแพร่ หรือสังคมยังมีข้อกังขาต่อผลการเลือกตั้ง และการนับคะแนน ข้อมูลชุดนี้ที่สร้างขึ้นโดยทุกคนก็น่าจะช่วยคลายข้อกังวลได้บ้าง

ถึงตอนนี้งานยังไม่เสร็จสิ้น เรายังต้องใช้เวลาหลังจากนี้ตรวจสอบรายละเอียดและทำข้อมูล Crowdsourcing ให้สมบูรณ์ขึ้นไปเรื่อยๆ และเราถือว่านี่เป็นแบบฝึกหัดที่ท้าทาย ของการเชื่อมโยงวงการไอทีเข้ากับวงการการเมืองได้อย่างแนบสนิท และหวังว่าจะสามารถต่อยอดไปกับงานลักษณะอื่นๆ ได้อีกในอนาคต

ทีมงาน VOTE62 :
The Momentum
a day BULLETIN
iLaw
Opendream

Tags: