เมื่อเดินผ่านถนน Saint-Jacques (แซงต์ ชาคส์) ถนนสายนี้ก็เหมือนถนนธรรมดาทั่วๆ ไปในปารีส ประกอบไปด้วยโรงเรียน ตึกแถว ร้านค้า โบสถ์ โรงพยาบาล แต่ในความเป็นจริง ถนนสายนี้เป็นหนึ่งในถนนที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส เคยเป็นถนนสายหลักที่ผู้คนใช้เพื่อผ่านไปยังตอนใต้ในสมัยที่ปารีส มีชื่อว่า Lutetia (ลูเตเซีย) ซึ่งสมัยนั้นถนนนี้มีชื่อเรียกขานว่า Via Superior (เวีย ซุเปอรีออร์) หรือในภาษาอังกฤษแปลได้ว่า Superior Street

ถนนแซงค์ ชาคส์ ตั้งอยู่ในเขต 5 ของกรุงปารีส อยู่ในย่านลาติน มีความยาวทั้งหมด 1,550 เมตร ถนนสายนี้ได้ผ่านยุคต่างๆ ในหน้าประวัติศาสตร์มากมาย ตั้งแต่สมัยโรมัน ยุคกลาง ฯลฯ ก่อนที่จะมาเป็นถนนแซงค์ ชาคส์ ในท้ายที่สุด

แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้เกี่ยวกับถนนที่ดูแสนธรรมดานี้ก็คือถนนแซงค์ ชาคส์ เป็นเส้นทางศักดิ์สิทธิ์ของคริสตศาสนิกชน

แซงต์ ชาคส์ อัครสาวกของพระเยซู

ในอดีต ฝรั่งเศสเคยเป็นประเทศที่ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะวัฒนธรรม การเมือง และสังคม ก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 ศาสนาคริสต์มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับฝรั่งเศส ผ่านระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์ได้รับเลือกโดยพระเจ้าให้มีอำนาจสูงสุด นับตั้งแต่สมัยกษัตริย์ Clovis I ที่ผันตัวเองมานับถือศาสนาคริสต์ในปี ค.ศ. 496 จนกระทั่งถึงยุคสิ้นสุดของระบอบดังกล่าว ในศตวรรษที่ 13 ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งทหารไปรบในสงครามครูเสด รวมทั้งยังปกป้องบรรดาชาวคริสต์ในภูมิภาคตะวันออก

นอกจากนี้การที่บาทหลวงเข้ามามีบทบาทในโรงพยาบาลและโรงเรียนในอดีต ทำให้คนฝรั่งเศสมีความใกล้ชิดกับศาสนาเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน แม้ว่าฝรั่งเศสได้กลายเป็นสาธารณรัฐ และแยกตัวออกจากศาสนาอย่างชัดเจนใน ค.ศ. 1905 ทำให้โรงเรียนและโรงพยาบาลส่วนใหญ่ของประเทศมาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ทว่าฝรั่งเศสก็ยังได้ชื่อว่าเป็น “ลูกสาวคนโตของศาสนจักร”

ความเกี่ยวข้องระหว่างประเทศฝรั่งเศส และศาสนาคริสต์อย่างลึกซึ้งในอดีต ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่า ถนนแซงต์ ชาคส์ มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในศาสนาคริสต์ อย่างชาร์ค เลอ มาเจอร์ (Jacques le Majeur) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าแซงต์ ชาคส์ (Saint Jacques)

แซงต์ ชาคส์ เป็นหนึ่งใน 12 อัครสาวกของพระเยซู และถือว่าเป็นนักบุญประจำประเทศสเปน ตำนานเล่าว่า แซงต์ ชาคส์ ได้เดินทางมาสเปนเพื่อเผยแพร่ธรรม แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมายังกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อเห็นว่าภารกิจเผยแพร่ธรรมที่สเปนไม่เป็นผลสำเร็จ

ถนนสู่มหาวิหาร ‘แซงต์ ชาคส์ เดอ คอมโปสแตล’

ทว่าใน ค.ศ. 44 แซงต์ ชาคส์กลับถูกสั่งประหารโดยกษัตริย์ Herod Agrippa อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าร่างของแซงต์ ชาคส์ ได้ถูกนำมาไว้ที่เเคว้นกาลีเซีย (Galicia) ประเทศสเปนอย่างไร มีเพียงแค่ตำนานที่เล่ากันว่า มีดวงดาวที่ส่องแสงประกายจ้า นำทางฤาษีเปลาจ (Pélage) ไปยังหลุมฝังศพของแซงต์ ชาคส์ ที่เมืองคอมโปสแตล (Compostelle) ประเทศสเปน ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นมหาวิหาร ‘แซงต์ ชาคส์ เดอ คอมโปสแตล’ (Saint-Jacques-de-Compostelle)

สถานที่แห่งนี้เอง จึงกลายหมุดหมายสำคัญที่เหล่าคริสตศาสนิกชนมุ่งมั่นเดินทางไปเยือน และเป็นการเดินทางที่ต้องย่ำผ่านถนนแซงต์ ชาคส์ ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้

วัฒนธรรมการเดินทางไปเยี่ยมสถานที่ของผู้ที่เสียสละชีพเพื่อเผยแพร่ธรรมมีขึ้นตั้งแต่สมัยยุคแรกๆ ในประวัติศาสตร์ของศาสนจักร การเดินมาสักการะอัฐิที่คอมโปสแตลได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอย่างมากในยุโรป โดยเริ่มจากในหมู่กษัตริย์และขุนนางชนชั้นสูง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 เรื่อยมาจนถึงประมาณศตวรรษที่ 13

ผู้คนที่มาจากยุโรปทางเหนือและตะวันออกต้องผ่านประเทศฝรั่งเศส เพื่อไปเดินทางต่อไปในประเทศสเปน ถนนแซงต์ ชาคส์ในปารีสจึงเป็นเส้นทางหลักสู่เมืองคอมโปสแตล เพื่อสักการะอัฐิของนักบุญดังกล่าว

ปัจจุบันเส้นทางของแซงต์ ชาคส์ เดอ คอมโปสแตล ไม่ได้เป็นที่รู้จักเพียงแค่ในมู่คริสตศาสนิกชนเท่านั้น ใน ค.ศ. 1985 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเส้นทางดังกล่าว รวมถึงมหาวิหารเป็นมรดกโลก อันเนื่องมาจากเส้นทางแซงต์ ชาคส์ เดอ คอมโปสแตล มีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาและการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมในอดีต

เดินสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างทางคือการเตรียมใจให้พร้อม

ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ การเดินทางแสวงบุญไปยังสถานที่สำคัญทางศาสนา ถือเป็นการเดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

โนร์แบต์ มารี ซอนนิเอร์ (Norbert Marie Sonnier) สงฆ์คณะโดมินิกัน ผู้เชี่ยวชาญการเดินทางแสวงบุญที่แซงต์ ชาคส์ เดอ คอมโปสแตล ได้อธิบายว่า “ทั้งนี้เป็นการเดินทางที่เราไม่รู้ว่าทำไมเราถึงออกเดินทาง และไม่มีจุดประสงค์ชัดเจน”

ส่วนชาร์ค เนอวิอาร์ต (Jacques Nieuviarts) จากคณะอัสสัมชัญ ผู้อำนวยการการเดินทางแสวงบุญระดับประเทศ ที่เมืองลูร์ด (Lourdes) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในระหว่างการเดินทางนี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้เดินเตรียมตัวเองให้พร้อมภายในจิตใจ” โดยพินิจพิจารณาเกี่ยวกับตัวเอง ธรรมชาติ และสิ่งที่ถูกสร้างอื่นๆ เพื่อพบปะกับผู้สร้าง (พระเจ้า) ตั้งแต่สมัยก่อน

สถานที่หลักๆ ที่ผู้คนเลือกเดินเพื่อแสวงบุญมีอยู่สามแห่ง ได้แก่ กรุงเยรูซาเลม กรุงโรม และเมืองคอมโปสแตล นอกจากการเดินตามรอยแซงต์ ชาคส์ มีการเดินตามรอยนักบุญอื่นๆ อีก เช่น แซงต์ มาแตง (Saint Martin) ณ เมืองทูร์ (Tours) แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเดินทางตามรอยแซงต์ ชาคส์ แม้ว่าประเพณีการเดินตามรอยแซงต์ มาแตง จะเกิดขึ้นก่อนก็ตาม ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าแซงต์ ชาคส์ เป็นหนึ่งในอัครสาวกที่ใกล้ชิดกับพระเยซู

ช่วงยุคกลาง การเดินตามรอยแซงต์ ชาคส์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ปารีสจึงกลายเป็นจุดหยุดพักหลักของผู้ที่เดินทางมาจากทางเหนือและทางตะวันออกของยุโรป ก่อนเดินทางต่อไปที่แซงต์ ชาคส์ เดอ คอมโปสแตล

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมปารีสเคยมีอาคารหลายแห่งที่อุทิศให้แซงต์ ชาคส์ ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ แซงต์ ชาคส์ ลา บูเชอรี (Saint-Jacques-la-Boucherie) ซึ่งในปัจจุบันเหลือเพียงแค่หอคอยเท่านั้น หรือโรงพยาบาลแซงต์ ชาคส์ บนถนนรู เดอ ซีนส์ (Rue de Cygnes) ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับโบสถ์แซงต์ ลู แซงต์ จิลส์ (Saint-Leu-Saint-Gilles)

โบสถ์แซงต์ ชาคส์ ดุ โอ ปาส์ (Saint-Jacques du Haut Pas)

และหากเดินต่อลงไปทางใต้ในถนนเส้นเดียวกัน ก็จะพบโบสถ์และโรงพยาบาลแซงต์ ชาคส์ ดุ โอ ปาส์ (Saint-Jacques du Haut Pas)

เป็นไปได้ว่า การที่มีโบสถ์อยู่ในบริเวณเดียวกับโรงพยาบาลนั้น ก็เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่พักที่โรงพยาบาลแซงต์ ชาคส์ ซึ่งส่วนใหญ่คือเป็นผู้แสวงบุญ ที่ต้องพักรักษา(เท้า) หลังจากที่เดินมาเป็นเวลาหลายวัน หรือบางคนก็อาจนานหลายเดือน

ปักหมุดสถานที่สำคัญบนถนนแซงค์ ชาคส์

อย่างที่ทุกคนคงอนุมานได้อยู่แล้วว่าการใช้ชื่อแซงต์ ชาคส์ เป็นชื่อของถนน ก็คือการรับเอาอิทธิพลจากวัฒนธรรมการเดินแสวงบุญดังกล่าว และสองข้างทางจึงมีอาคารที่เกี่ยวกับแซงต์ ชาคส์

ทั้งนี้ในศตวรรษที่ 13 คณะสงฆ์โดมิกันเคยมีอารามใหญ่ติดกับถนนแซงต์ ชาคส์ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม คณะสงฆ์โดมินิกันในฝรั่งเศสจึงถูกเรียกว่าจาโกแบงส์ (Jacobins) เพราะคำว่า Jacques และ Jacob ในภาษาฝรั่งเศสถือเป็นชื่อเดียวกัน (doublet)

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีสงครามศาสนาอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ก็ได้เกิดขึ้นบนถนนแซงต์ ชาคส์ ในวันที่ 4 กันยายน 1557 ชาวโปรเตสแตนต์ราว 400 คนได้รวมตัวกันอย่างลับๆ แต่ส่วนหนึ่งถูกจับคุมขัง ทรมาณ และประหาร ในกลุ่มคนที่ถูกจับกุมมีหญิงชนชั้นขุนนางรวมอยู่ด้วย ซึ่งหญิงเหล่านี้ถูกประนามว่าเป็น “โสเภณีของซาตาน”

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมทำให้อาคารบ้านเรือนและโบสถ์ในอดีตถูกทำลาย อย่างไรก็ดีสองฝากฝั่งของถนนแซงต์ ชาคส์ ก็มีอาคารที่สำคัญที่หลงเหลือให้เห็น ไม่ว่าจะเป็น

1.) โบสถ์แซงต์ เซเวอแรง (Saint-Séverin) ซึ่งเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน

2.) มหาวิทยาลัยซอร์บอร์น (Sorbonne) มหาวิทยาลัยชั้นนำในอดีต นักเรียนจากทั่วทุกสารทิศต่างมาเรียนปรัชญา และเทววิทยา

3.) โรงเรียนหลุยส์ เลอ กรองด์ (Louis-le-Grand) โรงเรียนมัธยมปลายรัฐบาลแนวหน้าของประเทศ  ซึ่งคล้ายๆ กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในประเทศไทย แรกเริ่มเดิมทีโรงเรียนหลุยส์ เลอ กรองด์ เป็นโรงเรียนของคณะเยซุอิต ทว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม ซึ่งส่งผลให้โรงเรียนอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ

4.) โบสถ์แซงต์ ชาคส์ ดุ โอ ปาส์ (Saint-Jacques du Haut Pas) ซึ่งเคยเป็นสถานทีที่ดูแลผู้ที่จะเดินทางไปแซงต์ ชาคส์ เดอ คอมโปสแตล เช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลแซงต์ ชาคส์ ที่กล่าวไปในข้างต้น แต่ที่เรียกว่าโบสถ์แซงต์ ชาคส์ ดุ โอ ปาส์ ก็เพราะว่าผู้ดูแลเป็นบราเธอร์ซึ่งมาจากอัลโตปัสซิโอ (Altopascio) ในประเทศอิตาลี โดยอัลโตปัสซิโอ แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ว่าโอ ปาส์ (Haut Pas)

โบสถ์แซงต์ เซเวอแรง (Saint-Séverin)

โรงเรียน Louis-le-Grand

มหาวิทยาลัยซอร์บอร์น (Sorbonne)

อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะมีชื่อถนนแซงค์ ชาคส์ อย่างปัจจุบัน ถนนนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาหลากหลายชื่อเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และแม้ว่าถนนแซงค์ ชาคส์ จะเปลี่ยนแปลงจนทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเพียงแค่ถนนสำหรับรถวิ่ง ทว่าเราก็สามารถได้กลิ่นอายของปารีสในอดีต เมื่อครั้งที่ประเทศฝรั่งเศสยังเคยมีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติได้จากบรรยากาศที่รายรอบถนนเส้นนี้

 

 

ขอขอบคุณ Jacques Enjalbert, และ Jacques Mercier des Rochettes

ภาพถ่ายโดย Bernard Rivière

บรรณานุกรม

Fact Box

ชื่อในภาษาฝรั่งเศสของ Saint Jacques อีกชื่อหนึ่งคือ Jacques de Zébédée, หรือ James the Great และ James, son of Zebedee ในภาษาอังกฤษ  สำหรับภาษาไทยใช้ว่า ยาขอบ บุตรเศเบดี

Tags: , , , ,