ถ้าให้บอกว่าวาตสลัฟ ฮาเวล (Václav Havel) มีอาชีพหรือสถานะอะไรคงเป็นเรื่องซับซ้อน ฮาโรลด์ พินเทอร์ (Harold Pinter) เรียกเขาว่าเป็นนักเขียนบทละคร/นักการเมือง ส่วนพอล นิวแมน เรียกเขาว่าเป็นศิลปิน/รัฐบุรุษ
เหมือนไม่มีทางที่จะนิยามเขาด้วยคำคำเดียว การบอกว่าฮาเวลเป็นใครจะต้องมีสองคำหรือหลายคำเสมอ – รัฐบุรุษ, นักเขียนบทละคร, นักเขียน, นักปฏิวัติ และนักการเมือง
แต่บางทีที่ดีที่สุดน่าจะเรียกเขาว่าเป็นบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจแห่งศตวรรษที่ 20 แก่ผู้ที่ต่อสู้และดิ้นรนเพื่อสิทธิและประชาธิปไตย เช่นเดียวกับ ดะไลลามะ และเนลสัน แมนเดลา อาวุธของเขาคือปากกาผ่านงานศิลปวัฒนธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ถูกกดขี่
เขาเกิดปี ค.ศ. 1936 ในครอบครัวนักธุรกิจชั้นนำ (บาแรนดอฟ สตูดิโอ — Barrandov Studio ซึ่งเป็นเหมือนกับฮอลลีวูดของยุโรป คือตัวอย่างหนึ่งในกิจการของครอบครัว) และด้วยภูมิหลังครอบครัวนายทุน ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ฮาเวลจึงไม่มีโอกาสเรียนในสิ่งที่เขาปรารถนา เขาทำงานในโรงละครท้องถิ่น เริ่มจากการเป็นเด็กยกฉากและเรียนรู้โลกการละคร เขียนบทละครของตัวเอง
บทละครยาวเรื่องแรกของเขาที่จัดแสดงคือ The Garden Party ปี 1963 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำให้เขาเป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ หลังจากนั้นยังมีผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่าง The Memorandum ปี 1965 และ The Increased Difficulty of Concentration ปี 1968
ละครของเขาเป็นแนว ‘ละครแปลกวิสัย’ (Theatre of the Absurd) ซึ่งเป็นแนวละครสำคัญที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักเขียนบทละครในแนวนี้ อาทิ ยูจีน อิอนเนสโก (Eugène Ionesco) และ ซามูเอล เบคเคตต์ (Samuel Beckett) ละครแอบเสิร์ดวิพากษ์ความไม่สมเหตุผลของสังคม และยิ่งอยู่ในประเทศที่เป็นอำนาจนิยมคอมมิวนิสต์ซึ่งความประหลาดไร้เหตุผลเจอได้รายวันในทุกหนแห่ง ที่ซึ่ง “การโกหกคือสิ่งสำคัญในการเอาตัวรอด ยิ่งไปกว่านั้นเพียงการพูดความจริงง่ายๆ ก็เท่ากับเป็นการปฏิวัติ” [1]
ความไม่สมเหตุสมผลที่ฮาเวลนำเสนอในละครทรงพลังดังก้องเป็นเสียงเดียวกับผู้ชม ในรัฐอำนาจนิยมที่ไร้เหตุผล “แค่เขียนความจริงพื้นๆ เกี่ยวกับความผิดปกติของสังคมที่เขาอยู่ ก็ถือเป็นการล้มล้างอย่างล้ำลึก” [2]
ด้วยเหตุที่งานของฮาเวลมีพื้นฐานทางการเมือง เพียงเพราะเขียนง่ายๆ ถึงสิ่งที่เป็นความจริงว่าสังคมของเขามันบ้าบอคอแตก ยิ่งหลังจากที่โซเวียตบุกยึดเชโกสโลวาเกียในปี 1968 เป็นห้วงเวลาที่มืดลงกว่าเดิม เขาถูกห้ามไม่ให้ทำงานละคร หรือ ตีพิมพ์บทละครใดๆ เขาจึงต้องทำงานในโรงกลั่นเพื่อเลี้ยงชีพ แม้จะยากลำบาก เขาก็ยังคงเขียนบทละคร และใช้ประสบการณ์นี้เองในการรังสรรค์ผลงานชิ้นเอก อย่าง Audience ปี 1975, Unveiling ปี 1975 และ Protest ปี 1978 บทละครดังกล่าวถูกจัดแสดงและเผยแพร่ใต้ดินอย่างลับๆ สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่ได้รับสำเนาบันทึกการแสดงที่ผิดกฎหมาย เพราะชาวเช็กจำนวนมากรู้ซึ้งใจดีกับเรื่องราวที่เสนอในละคร
ในปี 1976 สมาชิกคนสำคัญของวงร็อกใต้ดิน The Plastic People of the Universe ถูกจับดำเนินคดี จากเหตุการณ์นี้ฮาเวลและปัญญาชนจำนวนหนึ่งเขียนคำประกาศแห่งธรรมนูญที่ 77 (Charter 77 Manifesto) วิพากษ์ความล้มเหลวของรัฐบาลในการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน ตามข้อสัญญาที่ไปลงนามไว้ หลังจากที่รวบรวมรายชื่อจากนักกิจกรรม, ปัญญาชน และประชาชนทั่วไป คำประกาศถูกเผยแพร่ทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งออกอากาศในวิทยุเสรี
รัฐบาลโต้กลับอย่างรุนแรงต่อคำประกาศ ผู้ที่ร่วมลงชื่อถูกปฏิบัติประหนึ่งเป็นผู้ทรยศ, ผู้ต่อต้านรัฐ ถูกจำคุก, ถูกให้ออกจากงานหรือโรงเรียน หรือแม้แต่สูญเสียความเป็นพลเมือง, ถูกบีบให้หนีไปอยู่ที่อื่น ฯลฯ จนเกิดกลุ่มช่วยเหลือผู้ร่วมลงชื่อในคำประกาศที่ 77 จัดตั้งเป็น ‘คณะกรรมการต่อต้านการถูกดำเนินคดีอย่างไม่ยุติธรรม’ (the Committee for the Defense of the Unjustly Prosecuted) เพื่อเผยแพร่ชะตากรรมของผู้ที่ข้องเกี่ยวกับคำประกาศ
ปี 1979 ผู้นำกลุ่มหกคน ซึ่งรวมถึงฮาเวลด้วยถูกพิจารณาคดีข้อหาล้มล้างและถูกตัดสินให้จำคุกห้าปี [3] ที่จริงแล้วทั้งก่อนและหลังจากถูกจำคุกเป็นระยะเวลายาวนาน ฮาเวลเองก็ติดคุกมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงการถูกสอดส่องและสอบสวนอยู่เนืองๆจากตำรวจลับ
ในที่สุดพฤศจิกายน 1989 การปฏิวัติในเชโกสโลวาเกียก็ปรากฏ ระหว่างนั้นโรงละครแห่งชาติถูกใช้เป็นฐานบัญชาการของสภาพลเมืองซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่ฮาเวลร่วมสร้าง ฮาเวลรายรอบด้วยศิลปิน, นักดนตรี, นักแสดงละคร กับผู้ร่วมลงชื่อในคำประกาศ รวมทั้งประชาชนที่อภิปรายถกเถียงทั้งวันทั้งคืนว่าประเทศจะปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่มาจากพลเรือนได้อย่างไร
โรงละครแน่นขนัด ลำโพงถูกติดตั้งให้ประชาชนที่อยู่ด้านนอกได้ฟังสิ่งที่อภิปรายอยู่ข้างใน จอทีวีถูกติดตั้งทั่วเมืองโดยนักข่าวพลเมือง ช่วยให้ประชาชนได้ชมและติดตามความคืบหน้าของกระบวนการปฏิวัติ ด้วยวิธีการนี้การปฏิวัติที่เป็นไปอย่างสันติที่รู้จักกันในชื่อ ‘การปฏิวัติกำมะหยี่’ (Velvet Revolution) ก็คืบหน้า
ด้วยแรงกดดันอย่างมหาศาลในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจลาออก ฮาเวลยังไม่ทันมีเวลาฟื้นจากความเหน็ดเหนื่อย เพียงหนึ่งเดือนหลังการปฏิวัติ เขาก็ได้รับการเลือกอย่างท่วมท้นให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเชโกสโลวาเกีย แม้ว่าเขาจะลังเลใจที่จะเข้าสู่การเมือง
เมื่อฮาเวลได้เป็นประธานาธิบดีมีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ คลื่นอาคันตุกะจากทั่วโลกมาเยือนกรุงปรากเพื่อแสดงความยินดี ซึ่งรวมถึงนักดนตรีผู้สนับสนุนเขามายาวนานอย่างลู รีด (Lou Reed), แฟรงค์ แซปป้า (Frank Zappa) และเดอะโรลลิ่งสโตนส์
เดอะโรลลิ่งสโตนส์จัดแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ที่สุดในภูมิภาคให้แก่ฮาเวลและผู้สนับสนุนของเขาที่สนามกีฬาขนาดยักษ์ซึ่งใช้สำหรับเกมการแข่งขันใหญ่ๆ ที่ประชาชนเคยถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมในยุคที่ประเทศยังเป็นเผด็จการ แฟรงค์ แซปป้า นักดนตรีชาวอเมริกัน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตวัฒนธรรม
และการที่คนที่ฝักใฝ่เสรีนิยมเต็มเปี่ยม, เป็นตัวของตัวเอง และเป็นศิลปินนอกรีต มีตำแหน่งทางการได้ ก็เพราะฮาเวลเองก็มีแนวคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตคล้ายกันกับแซปป้า ความมีเสรี, สปิริตด้านวัฒนธรรมและการวิพากษ์ เป็นสิ่งที่ฮาเวลใช้ในการดำเนินการทางการเมืองตลอดสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ชีวิตทางการเมืองของฮาเวลไม่ได้ราบรื่นอยู่เสมอ เขาเผชิญกับอุปสรรคและการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก นักการเมืองคู่แข่งตลอดจนอดีตผู้กดขี่ต่างฉวยโอกาสโจมตี เราได้เห็นและรู้สึกได้ถึงความคับข้องและโกรธขึ้งของเขาเป็นครั้งคราว สิ่งที่ช่วยให้เขาไม่เสียสติไปเสียก่อนก็เนื่องเพราะเขาดำเนินชีวิตทางการเมืองเฉกเดียวกับเป็นละครแอบเสิร์ดเรื่องหนึ่ง มองเวทีการเมืองเป็นเวทีละคร ดังที่มิลาน คุนเดอรากล่าวขานไว้ “ผลงานที่สำคัญที่สุดของวาตสลัฟ ฮาเวลก็คือชีวิตของเขานั่นเอง”
แม้เมื่อเขาลงจากเวทีการเมือง เขาได้ทิ้งท้ายด้วยผลงานชิ้นเยี่ยม บทละครและภาพยนตร์ Leaving ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นความฝันของเขามาตลอด เพื่อช่วยให้สมปรารถนาของฮาเวล ซึ่งต้องเริ่มนับวันเวลาที่เหลืออยู่ นักแสดงและศิลปินระดับสุดยอดหัวกะทิช่วยในการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าว นักแสดงอย่าง โจเซฟ อับรฮาม (Josef Abrhám) พาเวล ลันดอฟสกี้ (Pavel Landovský) ไปจนถึง นักออกแบบท่าเต้นนานาชาติที่ได้รับรางวัลจาก Nederlands Dans Theater อย่าง จิริ คีเลียน
ไม่นานหลังจากภาพยนตร์ฉายรอบปฐมทัศน์ ฮาเวลก็ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ 18 ธันวาคม 2011
งานศพของฮาเวลฉายให้เห็นถึงความรู้สึกและความเคารพที่ประชาชนชาวเช็กมีต่อเขา เปี่ยมล้นยิ่งกว่าทุกช่วงที่เขายังอยู่ ขบวนศพเริ่มต้นอย่างเงียบๆ และโดยไม่มีคำสั่ง, การระดมพล, คำแนะนำ หรือการชี้แนะใดๆ ประชาชนต่างออกจากบ้านและเดินตามขบวนศพทีละคน ละคน ขบวนขยายขึ้นอย่างเงียบๆ เมื่อมองจากด้านบน ประชาชนร่วมขบวนต่อกันเป็นแถวยาวโดยไม่ได้เปล่งคำใดออกมา มีเพียงน้ำตาเอ่อคลอ เป็นการตัดสินใจของพวกเขาเองที่จะติดตามขบวนศพ ไม่มีใครบอกให้พวกเขาทำ และดังที่เห็นขบวนแถวประชาชนที่ยาวเหยียดอาจเปรียบดั่งภาพความสำเร็จของประชาธิปไตยและเสรีภาพที่ฮาเวลต่อสู้เพื่อให้ได้มา
ฉันเริ่มโครงการศึกษาด้านภาพยนตร์ในเมียนมาร์ ปี 2002 เมื่อเริ่มโครงการก็ถูกขัดขวางจากรัฐบาลทหารในขณะนั้น ก็ได้คนของฮาเวลซึ่งอยู่ในรัฐบาลเช็กฯให้การช่วยเหลือ พวกเขาบอกว่า “ตอนนี้ประชาธิปไตยของเราบรรลุแล้ว เราก็อยากช่วยเหลือประเทศที่ยังไม่มีประชาธิปไตย” ฟังคล้ายกับสิ่งที่ฮาเวลเคยกล่าวไว้ เมื่อเขาเสนอแนะให้อองซานซูจีได้รับรางวัลโนเบล ทั้งที่เขาเองก็เป็นผู้ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัล
โรงเรียนสอนภาพยนตร์แห่งชาติ หรือ ฟามู (FAMU) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เริ่มส่งผู้สอนด้านภาพยนตร์อาชีพไปประเทศเมียนมาร์ ตลอดจนมอบทุนให้ศึกษาต่อที่ฟามูแก่ชาวพม่าผู้อยากจะเป็นนักสร้างภาพยนตร์
เมื่อฮาเวลเสียชีวิตนักสร้างภาพยนตร์ชาวพม่าบางคนที่ยังเรียนอยู่ที่กรุงปรากก็คว้ากล้องออกบันทึกขบวนงานศพ นักเรียนบางคนอยากจะแบ่งปันความรู้ให้แก่เพื่อนคนทำหนังชาวพม่า จึงเริ่มจัดเทศกาลภาพยนตร์ในเมียนมาร์ ‘เทศกาลภาพยนตร์วัตตาน’ (หรือวสันต์) ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่ฮาเวลเสียชีวิต และยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องนับแต่นั้นมา การอุดหนุนการผุดขึ้นของคลื่นลูกใหม่ของนักสร้างหนังชาวพม่า จึงทำให้คนทำหนังตลอดจนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เคยได้รับการช่วยเหลือโดยฮาเวลและคนของเขา จะไม่มีทางลืมเขาได้เลย
ตัวฉันเองมีโอกาสได้จัดงานแสดงขนาดใหญ่เกี่ยวกับศิลปะเพื่อการเมือง ที่ปราสาทในกรุงปราก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาและการเมืองของประเทศเช็กฯ ในปี 2002 นิทรรศการชื่อ ‘POLITIK-UM/New Engagement’ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ฮาเวลเป็นประธานาธิบดี ศิลปินชาวเช็กฯ นำเสนองานที่มีข้อถกเถียง งานแล้วงานเล่า ทั้งการนำลูกโป่งติดรูปภาพบ้านที่เคยขับไล่คนเยอรมันซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง [4] ลอยอยู่เหนือปราสาท, การแสดงวิดีโอจัดวางของขอทานที่อยู่ด้านหน้ามหาวิหาร เซนต์วีตุส, ภาพผู้พันแซนเดอร์ถูกแทนที่ด้วยภาพของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐที่หนึ่ง โทมัส การ์ริเกอร์ มาซารีค ที่ดูคล้ายโลโก้ของเคเอฟซี แต่เมื่อคนจากทำเนียบประธานาธิบดีมาดูงาน พวกเขาโอเคกับทุกอย่าง พวกเขาแค่ติงเล็กน้อยกับที่แขวนแบนเนอร์ “Zimmer Frei” เหนืออาคารทำเนียบประธานาธิบดี ป้ายแบบนี้ปกติจะติดไว้ตามโรงแรมและเกสต์เฮาส์ตรงชายแดนระหว่างเช็กฯ และเยอรมนีตะวันออก เพื่อบอกว่ามีห้องว่าง แต่ในงานศิลปะเพื่อสื่อถึงการที่คนเยอรมันถูกไล่ออกจากบ้าน คนจากทำเนียบประธานาธิบดีกังวลว่าอาจจะถูกตีความว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะว่างลง เพราะฮาเวลจะลงจากตำแหน่งในไม่ช้า แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็โอเค
ทั้งงานนิทรรศการก่อให้เกิดการถกเถียงและข้อโต้แย้งอย่างใหญ่หลวงตามที่คาดรวมถึงมีเหตุที่ตำรวจมาเกี่ยวข้องด้วย แต่เมื่อมองกลับไปหลายปีหลัง คนก็พูดกันว่าที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะประธานาธิบดีฮาเวล และไม่มีทางที่งานแสดงศิลปะที่เต็มไปด้วยสปิริตแห่งเสรีจะได้แสดงที่ปราสาทดังที่เกิดขึ้นตอนนั้น
สาธารณรัฐเช็กฯ ในวันนี้เหมือนว่าจะยังคงเป็นทุกข์กับการสูญเสียฮาเวล ทรมานจากวิกฤติทางอัตลักษณ์และศีลธรรม ประเทศกำลังหันเหไปตามแนวโน้มประชานิยมขวาจัดของฮังการีและโปแลนด์ มีการประท้วงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ผู้คนและสังคมเกิดการแบ่งแยก ประชาชนมีเรื่องให้กังวล เพื่อฟื้นสปิริตของคนหนุ่มสาวชาวเช็กฯที่กำลังซึมเศร้า ในการบรรยายที่สาธารณรัฐเช็กฯ ฉันได้เปิดวิดีโอของ Rap Against Dictatorship – RAD ผู้ฟังจำนวนมากเป็นนักดนตรี เมื่อฉันอธิบายถึงความหมายของเก้าอี้ในบริบทของไทย พวกเขาก็ตอบด้วยการบอกว่าพวกเขาก็มีเรื่องละเอียดอ่อนในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเช่นกัน
ใครจะรู้ แรงบันดาลจากจาก RAD อาจบันดาลใจแรปเปอร์ชาวเช็กฯ ให้สร้างผลงานของเขาเป็น –เพลงแรปเพื่อต่อต้าน____…–
และนี่คือห่วงโซ่ของแรงบันดาลใจที่จะสืบทอดต่อยาวนานเหลือคณานับ ที่ศิลปะและวัฒนธรรมสร้างคุณูปการที่ทรงพลังที่สุดให้แก่มนุษยชาติ ในงานเขียนที่โด่งดังของเขา ‘อำนาจของผู้ไร้อำนาจ’ (The Power of the Powerless) ในปี 1978 ฮาเวลพูดถึงคนขายผักซึ่งเป็นตัวแทนของคนธรรมดา ผู้ปฏิเสธที่จะติดป้ายคำขวัญตามที่รัฐสั่ง การกระทำง่ายๆ นี้เป็น ”การทวงคืนศักดิ์ศรีที่เขาถูกกดขี่” และบันดาลใจให้มีชีวิตอยู่กับความจริง แทนที่จะมีชีวิตอยู่กับความลวง ว่ากันในทางการเมืองนั่นทำให้เขาเป็นนักปฏิวัติ แม้ดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไร ทว่าสิ่งเล็กๆ ที่เขาทำกลับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการใช้ชีวิตในความจริง ยินดีด้วยกับ RAD (สำหรับรางวัล วาตสล๊าฟ ฮาเวล)
[1] “Vaclav Havel: Personal Truth as Political Theatre” Edward Einhorn, October 5, 2015
[2]อ้างแล้ว
[3] ระหว่างนั้น ซามูเอล เบคเคตต์ เขียนบทละครเรื่อง Catastrophe อุทิศให้แก่ฮาเวล
[4] ประมาณการว่ามีชาวเยอรมัน 3 ล้านคนถูกไล่ออกจากเชโกสโลวาเกีย หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการล้างแค้นต่อการที่นาซียึดครองประเทศ ฮาเวลขอโทษชาวเยอรมันโดยทันทีหลังจากที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดี และก่อให้เกิดการข้อโต้แย้งอย่างหนักในประเทศ
Fact Box
- นับจากวันที่มิวสิกวิดีโอเพลง ‘ประเทศกูมี’ ของ กลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ RAD เผยแพร่ผ่านยูทูบ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ล่าสุด ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2562 มียอดเข้าชมอยู่ที่ 65,311,251 ครั้ง
- เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 กลุ่ม RAD รับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ในงาน Oslo Freedom Forum 2019 ที่กรุงออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์
- รางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ถูกตั้งขึ้นในปี 2012 โดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชน (Human Rights Foundation: HRF) มอบให้กับบุคคลผู้ที่ต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ แสดงความกล้าหาญและใช้ความคิดการสร้างสรรค์ ในการท้าทายความอยุติธรรม โดยชื่อของรางวัลตั้งตามชื่อของ ‘วาตสลัฟ ฮาเวล’ นักการเมืองและศิลปินผู้ล่วงลับ
- อ่านเรื่องราวของ ฮาเวล เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ https://www.vaclavhavel.cz/en/
สุนทรพจน์ของเขา http://www.muzeuminternetu.cz/offwebs/czech/218.htm
V.Havel library digital archive https://www.vaclavhavel.cz/en/index/news/76/writings-of-vaclav-havel-on-the-internet
Power of Powerless https://www.nonviolent-conflict.org/resource/the-power-of-the-powerless/