เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลนำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจับมือกับภาคเอกชนทั้งห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อให้งดแจกถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) ตอบรับกระแสความตื่นตัวของสาธารณชนต่อปัญหาขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนสู่ทะเล

แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวมีทั้งเสียงที่เห็นพ้องชื่นชม และเสียงก่นด่าไม่เห็นด้วย

เสียงชื่นชมย่อมมาจากนักอนุรักษ์และนักสิ่งแวดล้อมที่มองว่านโยบายนี้คือก้าวใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลของประเทศไทยซึ่งถูกจัดอันดับว่าเป็นสาเหตุของมลภาวะอันดับต้นๆ ของโลก ในทางกลับกัน เสียงก่นด่าก็มาจากผู้บริโภคที่มองว่านี่คือการลิดรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ในการได้รับบริการถุงพลาสติกเมื่อซื้อสินค้าจากห้างร้าน แถมนโยบายเชิงบังคับยังไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ

การถกเถียงดังกล่าวทำเอานักอนุรักษ์รุ่นใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพนับถือบ่นบนหน้าเฟซบุ๊กในเชิงไม่เข้าใจว่าทำไมนโยบายที่ทุกคนควรยอมรับและสนับสนุนกลับเกิดภาวะเสียงแตกแม้กระทั่งคนใกล้ชิดบางคนที่คิดว่าอย่างไรก็น่าจะสนับสนุนนโยบายดังกล่าวก็กลับลำแสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากกระทบสิทธิของผู้บริโภค

ในบทความนี้ ผู้เขียนชวนมองนโยบายงดแจกถุงพลาสติกผ่านแว่นตาจริยศาสตร์ ที่นอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจคุณค่าและข้อถกเถียงของทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังสามารถนำไปขยายความต่อถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าถุงพลาสติกได้อีกด้วย

สองมุมมองเชิงจริยศาสตร์จากกรณีเรือแตก

เมื่อพูดถึงการทดลองทางความคิดที่ท้าทายต่อมศีลธรรมว่าด้วยสิ่งที่ถูกหรือผิด หลายคนคงคุ้นชิ้นกับปัญหารถราง (Trolley Problem) ที่เราในฐานะผู้เห็นรถรางเบรกแตกกำลังจะวิ่งเข้าไปชนชาย 5 คนบางรางรถไฟ และใกล้ตัวเรามีคันโยกที่สามารถเบี่ยงทิศของรถรางไปยังอีกเส้นทางหนึ่งที่มีชายเพียงคนเดียว เราควรจะดึงคันโยกนั้นหรือไม่?

หลายคนคงยักไหล่กับคำถามข้างต้นว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนขอพาไปรู้จักคดีความประวัติศาสตร์เมื่อเรือมิญโญแนต (Mignonette) ล่มในมหาสมุทรแอตแลนติก หลงเหลือเพียงกะลาสีชาวอังกฤษ 4 ชีวิตที่ลอยเท้งเต้งกลางทะเลบนเรือชูชีพโดยพยายามเอาชีวิตรอดเป็นเวลาร่วมเดือน ในสัปดาห์ที่สาม ทั้งสี่อดอาหารมาแล้วแปดวันและอยู่ในสภาพย่ำแย่ โดยมีหนึ่งในลูกเรือซึ่งเป็นเด็กชายกำพร้าอยู่ในสภาพที่ยากจะรอด กะลาสีทั้งสามที่ยังพอประคองสติไว้ได้จึงตัดสินใจสังหารเด็กชายคนนั้นและใช้เนื้อของเด็กชายยังชีพกระทั่งความช่วยเหลือมาถึง

ทั้งสามคนที่รอดชีวิตต้องขึ้นศาลอังกฤษ ถ้าคุณเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินอย่างไร?

เราสามารถแบ่งข้อโต้แย้งต่อกรณีดังกล่าวได้ออกเป็น 2 รูปแบบ

รูปแบบแรกคือการชั่งน้ำหนักว่า การฆาตกรรมเด็กชายหนึ่งคนเพื่อช่วยให้อีกสามคนรอดชีวิตนั้น จะสร้างผลประโยชน์มากกว่าต้นทุนหรือไม่ โดยอาจเปรียบเทียบระหว่างความสุขที่สูญเสียไปจากการที่เด็กชายต้องจบชีวิตลง และความสุขที่เพิ่มมากขึ้นของชายสามคนที่รอดชีวิตรวมถึงครอบครัว อีกทั้งต้องพิจารณาต้นทุนที่เกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวม เช่น ความชอบธรรมของการฆาตกรรมบุคคลอื่นที่เพิ่มขึ้น หรือความรุนแรงในสังคมที่อาจเพิ่มขึ้น เมื่อนำมาหักกลบลบกันแล้วพบว่าผลประโยชน์มากกว่าต้นทุน แสดงว่าชายทั้งสามไม่ผิด แต่หากต้นทุนมากกว่าผลประโยชน์การฆ่าเด็กชายก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แนวคิดดังกล่าวเรียกว่าอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism)’

รูปแบบที่สองซึ่งคัดง้างกับแนวคิดข้างต้น มองว่าการพิจารณาชั่งน้ำหนักเพียงผลพวงของการกระทำเพื่อพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือผิดนั้นไม่เพียงพอ ในทางกลับกัน เราควรพิจารณาที่เจตนาของการกระทำนั้นโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลพวงหรือที่เรียกว่า กฎคำสั่งแบบเด็ดขาด (Categorical Imperative) แนวคิดลักษณะนี้จะเข้าข่ายจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม (Deontological Ethics) ดังนั้นการฆาตกรรมเด็กชายซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงเจตนาร้ายย่อมไม่มีทางกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะสร้างประโยชน์แก่สังคมก็ตาม

หากสรุปโดยง่ายคือ รูปแบบแรกจะเน้นที่ผลของการกระทำ ส่วนรูปแบบที่สองคือเน้นที่การกระทำ

หลายครั้งที่สองแนวคิดนำไปสู่การตัดสินที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ซึ่งผู้เขียนไม่อยู่ในฐานะที่จะระบุได้ว่าแนวคิดใดคือคำตอบที่ถูกต้องที่สุด แต่การศึกษาจริยศาสตร์จะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจปัญหาและนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น

จริยศาสตร์กับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อกล่าวถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เป็นของส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นอากาศ น้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ซึ่งเราให้คุณค่าว่าการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์ที่สุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี หลายครั้งที่นโยบายดังกล่าวหรือกระทั่งนักอนุรักษ์เองจึงสวมหมวกนักอรรถประโยชน์นิยม โดยมองที่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของนโยบายดังกล่าวโดยอาจลืมมองถึงผลกระทบของการดำเนินนโยบายว่าไปลิดรอนหรือกระทบสิทธิของคนอื่นหรือไม่

ในกรณีของการงดแจกถุงพลาสติก นักอรรถประโยชน์นิยมจึงมองเห็นแต่เพียงปัญหามลภาวะพลาสติกที่จะบรรเทาลง สัตว์ทะเลที่จะตายน้อยลง รวมถึงระบบนิเวศในมหาสมุทรที่จะฟื้นตัวขึ้น นี่คือผลลัพธ์ของนโยบายที่จะทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น ในทางกลับกัน กลุ่มคนที่ให้คุณค่ากับหลักจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมซึ่งมองที่ตัวการกระทำเป็นหลัก กลับมองเห็นว่าการงดแจกถุงพลาสติกเป็นการลิดรอนสิทธิที่พึงมีพึงได้ของผู้บริโภคที่ควรจะได้รับการอำนวยความสะดวกจากร้านค้าเมื่อเข้าไปใช้สินค้าและบริการ อีกทั้งยังมองว่าภาคเอกชนที่งดแจกถุงพลาสติกนั้นไม่ได้มีเจตนาจะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด แต่มีเจตนาที่จะฉวยใช้โอกาสนี้ลดต้นทุนของตนเอง

นอกเหนือจากกรณีดังกล่าวแล้ว นโยบายสิ่งแวดล้อมหลายอย่างก็มักถูกตำหนิว่าลิดรอนหรือมองข้ามสิทธิของชาติพันธุ์พื้นถิ่นหรือกลุ่มผู้เปราะบาง อาทิ การยึดคืนและขับไล่ชุมชนดั้งเดิมให้ออกจากพื้นที่ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ในภายหลัง การตั้งกฎเกณฑ์ เช่น ห้ามจับสัตว์ป่า หรือห้ามเก็บหาของป่าในพื้นที่ที่แต่เดิมชุมชนเคยใช้เพื่อยังชีพ แม้แต่การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกรณรงค์ให้ทุกประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงโดยลดการใช้ถ่านหินที่อาจทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นในบางประเทศและกีดกันผู้ยากไร้ให้ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการตามนิยามของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นี่คือความยากของการออกแบบนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้มีอำนาจตัดสินใจรวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมด้านการอนุรักษ์ต้องคิดอย่างถี่ถ้วนเพื่อหาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

งดแจกถุงพลาสติกกับผลกระทบที่อาจคาดไม่ถึง

สิ่งที่นักอรรถประโยชน์นิยมต้องทบทวนคือสมมติฐานว่านโยบายที่ออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงๆ หรือไม่ เช่น นโยบายงดแจกถุงพลาสติกสามารถลดมลภาวะพลาสติกที่ไหลลงทะเลตามที่คาดการณ์ไว้จริงหรือเปล่า เพื่อให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ที่คาดหวัง เวลาที่บังคับใช้นโยบายนั้นใกล้เคียงกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ดี มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่านโยบายงดแจกถุงพลาสติกกลับสร้างผลกระทบที่คาดไม่ถึง รีเบคกา เทย์เลอร์ (Rebecca Taylor) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ศึกษาผลกระทบการดำเนินนโยบายด้านถุงพลาสติกของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ประกาศห้ามใช้อย่างถาวรในช่วงปลาย .. 2559 โดยพบว่าการห้ามใช้อย่างถาวรทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลงทันที 18 ล้านกิโลกรัม แต่กลับไปเพิ่มยอดขายถุงดำใส่ขยะซึ่งรวมๆ แล้วคิดเป็นราว 30 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกที่ลดได้ อีกทั้งยังเพิ่มขยะจากถุงกระดาษราว 36 ล้านตันต่อปี

เธอแนะนำว่านโยบายเก็บค่าธรรมเนียมถุงนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการห้ามใช้ถุงพลาสติก ซึ่งผู้กำหนดนโยบายต้องกำหนดราคาถุงพลาสติกให้สมน้ำสมเนื้อกับผลกระทบของถุงแต่ละประเภท เช่น หากมองว่าถุงกระดาษสร้างผลกระทบที่สูงกว่าก็ควรจะมีการตั้งราคาที่สูงกว่าเช่นกัน โดยเธอสรุปว่าการเก็บค่าธรรมเนียมถุงจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคนำถุงที่ซื้อไปกลับมาใช้ซ้ำ สอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศเดนมาร์ก ที่ระบุว่าทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วซ้ำแล้วซ้ำอีกราว10 ถึง 20 ครั้ง แล้วจึงนำมาใช้เป็นถุงขยะ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ แบนพลาสติก แก้ปัญหาเดิมหรือเพิ่มเติมปัญหาใหม่?)

ที่สำคัญ การงดแจกถุงพลาสติกยังเป็นการแก้ปัญหาเพียงส่วนเดียวของปัญหามลภาวะขยะในทะเล เราอาจสรุปเส้นทางชีวิตของถุงพลาสติกหนึ่งชิ้นโดยเริ่มจากหน้าโรงงาน ส่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ก่อนจะถึงมือผู้บริโภคแล้วจึงลงถังขยะ ขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดเก็บโดยภาครัฐเพื่อนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธีไม่ให้หลุดรอดลงทะเล 

เห็นไหมครับว่ากว่าถุงพลาสติกจะกลายเป็นขยะส่งตรงถึงมหาสมุทรนั้นมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและขั้นตอนที่มากกว่าการแจกถุงจากร้านค้ามาถึงมือผู้บริโภค แต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกลับผลักภาระของการจัดการมลภาวะขยะพลาสติกในทะเลให้กับผู้บริโภคแบบเต็มๆ ทั้งที่เราสามารถออกแบบนโยบายแบบร่วมกันรับผิดชอบ เช่น การจัดเก็บภาษีขยะพลาสติกตั้งแต่หน้าโรงงานผลิตเพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับภาคเอกชนอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต การจัดเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกในราคาไม่สูงมากนัก รวมถึงการนำเงินค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ไปเพิ่มศักยภาพและคุณภาพในการจัดเก็บขยะของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในเชิงองค์รวมมากกว่านโยบายกำปั้นทุบดินที่ห้ามการแจกถุงพลาสติก

อย่าลืมนะครับว่า ในชีวิตประจำวันเรายังมีการใช้พลาสติกอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม ช้อน ส้อม หลอด รวมถึงสารพัดบรรจุภัณฑ์เพื่อการอุปโภคและบริโภค โจทย์ของการออกแบบนโยบายจึงไม่ใช่ว่าผลิตภัณฑ์ใดสามารถห้ามไม่ให้ใช้ได้ แต่คือการสร้างแรงจูงใจและเสริมประสิทธิภาพเพื่อให้ขยะพลาสติกเล็ดรอดลงสู่มหาสมุทรได้น้อยที่สุดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ในขณะเดียวกันก็กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคน้อยที่สุดเช่นกัน

เอกสารประกอบการเขียน

ความยุติธรรม : Justice: What’s the Right Thing to Do 

Act and Rule Utilitarianism

Deontological Ethics

Tags: , , , ,