มาตรการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนตามนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ มีผลแล้ว รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยมาตรการอย่างเดียวกัน ถ้าสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ ในระยะยาว คนเดือดร้อนคือชาวอเมริกัน

หลังจากพูดคุยกันหลายรอบ ไม่ประสบผลที่น่าพอใจแก่ทั้งสองฝ่าย และเส้นตายของการหาข้อยุติในความขัดแย้งด้านการค้ากับจีนที่รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ขีดเส้นไว้ก็ผ่านไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม ทำให้มาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจึงมีผลใช้บังคับตามที่สหรัฐฯ ประกาศไว้ นั่นทำให้จีนตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าและอัตราภาษีเท่าๆ กับที่สหรัฐฯ เล่นงานจีน และถือเป็นจุดเริ่มของสงครามการค้า

ข้อพิพาทรอบนี้ยังไม่ถึงกับตีบตันที่จะหาข้อยุติผ่านกลไกความร่วมมือหลายฝ่าย คือ องค์การการค้าโลก หรือหาทางรอมชอมผ่านการเจรจาสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์บอกว่า ถ้ายังแลกหมัดกันไม่เลิก ฝ่ายที่จะเจ็บตัวไม่ใช่จีน

ลั่นกลองศึก

สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน มูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.12 ล้านล้านบาท ในอัตราร้อยละ 25 ครอบคลุมสินค้าจำพวกเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฮ-เทคประเภทต่างๆ เช่น ยานยนต์ ฮาร์ดไดรฟ์คอมพิวเตอร์ และแอลอีดี

จีนตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ ในอัตราร้อยละ 25 ครอบคลุมสินค้าจำพวกยานยนต์ และผลผลิตทางการเกษตร

รัฐบาลจีนตำหนิทรัมป์ว่าละเมิดกฎกติกาการค้าของโลก เปิดฉากสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ พร้อมกับประกาศที่จะส่งกรณีพิพาทนี้เข้าสู่องค์การการค้าโลก

ศึกครั้งนี้ยังมีแนวโน้มที่จะบานปลาย เพราะทรัมป์ประกาศว่า ท้ายที่สุด ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีจากสินค้าจีนเพิ่มขึ้นอีก มูลค่าการค้าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือกว่า 16 ล้านล้านบาท เทียบได้กับมูลค่านำเข้าทั้งหมดของสินค้าจีนเมื่อปีที่แล้ว

เฉินเฟยเซียง อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง บอกว่า ถึงตอนนี้ พูดได้ว่าสงครามการค้าเริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ ถ้าเรื่องจบที่มูลค่าสินค้า 34,000 ล้านดอลลาร์ฯ เศรษฐกิจของจีนกับสหรัฐฯ คงไม่กระเทือนนัก แต่ถ้าลุกลามต่อไปจนถึงระดับ 5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทั้งสองฝ่ายจะเจ็บตัวทั้งคู่

 

ชนวนพิพาท สหรัฐฯ เขม่นจีน

เพราะเหตุใดจึงเล่นงานจีน คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ทรัมป์อ้างเหตุผล 3 ข้อ

ข้อแรก สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนเป็นมูลค่าถึง 375,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือกว่า 11 ล้านล้านบาท

ข้อสอง จีนตั้งเงื่อนไขกีดกันธุรกิจสหรัฐฯ ที่จะเข้าไปลงทุนผลิตและค้าขายในตลาดจีน

ข้อสาม จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกัน ด้วยการบังคับให้ร่วมทุนกับกิจการของจีนและถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกทั้งจีนยังอาจโจรกรรมความรู้ผ่านทางโลกไซเบอร์ด้วย

เทคโนโลยี คือ ปัจจัยเสริมสร้างความเป็นมหาอำนาจ ทรัมป์โจมตีจีนว่ามีเจตนาที่จะแซงหน้าความเป็นจ้าวแห่งเทคนิควิทยาของอเมริกัน

สหรัฐฯ กำลังเขม่นแผนพัฒนาระยะยาวของจีน ที่ไม่ได้เรียกว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เรียกว่า “เมด อิน ไชน่า 2025” แผนที่ว่านี้มุ่งขับเคลื่อนจีนไปสู่ความเป็นยักษ์ใหญ่ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หุ่นยนต์ วิศวกรรมอวกาศ ยานยนต์ไฟฟ้า และชีวเภสัชกรรม

ทรัมป์กล่าวหาว่า จีนฉกฉวยเทคโนโลยีของเอกชนอเมริกันเอาไปต่อยอด เพื่อก้าวขึ้นเป็นหมายเลขหนึ่งของโลกในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

อเมริกากำลังหวาดระแวงจีน ไม่เฉพาะแต่ด้านการค้า หากยังรวมถึงมิติของการลงทุนด้วย

ในระยะหลัง ปักกิ่งใช้วิสาหกิจของรัฐบาลเป็นกองหน้าเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ใช้เงินของรัฐซื้อเทคโนโลยีอเมริกัน แม้มีราคาสูงลิบลิ่วในแบบที่เอกชนจีนไม่อาจซื้อได้

เวลานี้ สภาคองเกรสกำลังทบทวนการลงทุนด้านเทคโนโลยีของจีนและประเทศอื่นๆ ในสหรัฐฯ ด้วยโจทย์คำถามว่า การลงทุนเหล่านั้นจะส่งผลบั่นทอนความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่ และควรออกกฎหมายรับมืออย่างไร

ดังนั้น มองให้ลึกแล้ว สงครามรอบนี้ไม่ได้จำกัดวงแค่การค้าการลงทุน แต่แฝงนัยของการเมืองระหว่างประเทศ นี่คือเกมของการรักษาและเพิ่มพูนอำนาจในระดับโลกของแต่ละฝ่าย

 

สงครามการค้ารอบนี้ ใครเจ็บตัว

นักสังเกตการณ์บอกว่า การเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าของทั้งสองฝ่าย คงยังไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในทันใด

แต่สิ่งที่โลกหวั่นใจก็คือ ถ้าพิพาทกันยืดเยื้อยาวนาน ผู้ผลิตกับผู้นำเข้าสินค้าที่ถูกเก็บภาษีอาจผลิตน้อยลง นำเข้าน้อยลง เมื่อยักษ์เศรษฐกิจรบกัน หญ้าแพรกย่อมแหลกลาญ การค้าการลงทุนของโลกอาจถดถอย ฉุดการเติบโตของประเทศน้อยใหญ่ กระทบกันไปเป็นลูกโซ่

นั่นเป็นฉากสถานการณ์ในระยะยาว แต่ในระยะกลาง ว่ากันว่า อเมริกาอาจเดือดร้อนยิ่งกว่าจีน

โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน เกาเฟิง บอกว่า การเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนจะกระทบต่อบริษัทอเมริกันและต่างชาติที่ประกอบการอยู่ในจีน เพราะในจำนวนสินค้าจีนมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 25 นั้น เกินครึ่ง (ร้อยละ 59) เป็นสินค้าที่ผลิตโดยต่างชาติ คิดเป็นมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ฯ และในจำนวนสินค้าที่ผลิตโดยต่างชาตินั้น เป็นสินค้าของอเมริกันในสัดส่วนสูง

สถาบันระหว่างประเทศปีเตอร์สัน คำนวณว่า สินค้าจีนที่จะถูกเก็บภาษีในรอบแรกนี้ ราวร้อยละ 85 เป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องจักรและส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตภายในสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ผลิตในอเมริกาจะต้องจ่ายแพงขึ้นในการซื้ออะไหล่และอุปกรณ์จากจีน เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ราคาขายย่อมแพงตาม ส่งผลให้สินค้าอเมริกันเสียเปรียบคู่แข่งต่างชาติในด้านราคา

 

อาวุธลับของจีน แก้เผ็ดสหรัฐฯ

นักสังเกตการณ์ชี้ว่า รายการสินค้าที่จีนเก็บภาษีตอบโต้นั้น มุ่งเป้าไปที่สินค้าเกษตร เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง และฝ้าย ซึ่งผลิตโดยเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ เช่น ในมลรัฐเท็กซัส มลรัฐไอโอวา

พรรครีพับลิกันของทรัมป์กำลังจะต้องลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งกลางเทอม ถ้าสินค้าเกษตรที่ส่งไปขายเมืองจีนเจอผลกระทบจากสงครามการค้า เกษตรกรจะยังโหวตให้รีพับลิกัน หรือว่าเปลี่ยนใจไปเลือกผู้สมัครสมาชิกรัฐสภาจากพรรคเดโมแครตกันมากขึ้น ถือเป็นประเด็นที่น่าจับตา

ข้อกังวลนี้จะทำให้บรรดาตัวแทนผลประโยชน์ของเกษตรกร และพลพรรคชาวรีพับลิกัน เคลื่อนไหวหรือไม่ อย่างไร การล็อบบี้ของคนเหล่านี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจของทรัมป์ในการดวลกับจีนแค่ไหน อาจเป็นสิ่งที่จีนกำลังรอลุ้น

นักสังเกตการณ์บอกว่า นอกจากตอบโต้ด้วยมาตรการภาษี จีนยังมีอาวุธลับซุกซ่อนอยู่ในแขนเสื้ออีกหลายอย่าง เช่น ตรวจเข้มสินค้านำเข้าในแง่ของอนามัย ความปลอดภัย การจ่ายภาษี ซึ่งทำให้สินค้าต้องติดค้างนาน เกิดความเสียหายทางธุรกิจ หรืออาจถึงขั้นรณรงค์เลิกซื้อยี่ห้ออเมริกันไปเลย เช่น รถยนต์จีเอ็ม เครื่องบินโบอิ้ง

อาวุธแก้เผ็ดอีกอย่างก็คือ จีนอาจจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่จะไปยังสหรัฐฯ ในแต่ละปี ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวของคนจีนมีมูลค่าพอๆ กับที่จีนซื้อถั่วเหลืองกับเครื่องบินของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯในอันดับต้นๆ

นอกจากนี้ จีนซึ่งถือพันธบัตรอเมริกัน มูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ อยู่ในมือ อาจชะลอ หยุดซื้อหรือกระทั่งเทขายแบบยอมขาดทุน หรือในอีกทางหนึ่ง จีนอาจลดค่าเงินหยวนเพื่อช่วยผู้ส่งออกจีนแม้ทำให้เงินทุนจำนวนมหาศาลไหลออก

จีนยังมีอาวุธทางการเมืองอีกด้วย ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ปักกิ่งอาจลดราหรือยกเลิกความร่วมมือที่ให้แก่สหรัฐฯ ในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เพื่อกดดันให้เปียงยางปลดอาวุธนิวเคลียร์ ถ้าคิมจองอึนได้ท่อน้ำเลี้ยงจากจีนเหมือนเคย แรงกดดันของอเมริกาต่อเกาหลีเหนือย่อมหดหาย

สงครามการค้า สงครามการเมือง สงครามการทหาร มีกฎพื้นฐานไม่ต่างกัน ฝ่ายไหนถืออำนาจเงิน ครองบารมีในหมู่พันธมิตร ทรงอำนาจการทำลาย เหนือชั้นกว่า ฝ่ายนั้นชนะ

แม้กระนั้น ในโลกที่เป็นจริง ทุกประเทศต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน สภาพการณ์แบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าไม่เปิดทางให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบครองผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวบนความสิ้นเนื้อประดาตัวของฝ่ายอื่นๆ

การรอมชอมแก่กันและกัน จึงเป็นเส้นทางบังคับเลือก ที่สหรัฐฯ กับจีนยากที่จะปฏิเสธในท้ายที่สุด.

 

อ้างอิง:

 

Tags: ,