ลองสังเกตคำเหล่านี้ดูนะครับ: uncomfortable, inconvenient, disrespectful, nonessential
เราจะสังเกตว่า คำชุดนี้มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ แต่ละคำล้วนประกอบด้วยส่วนขึ้นต้นที่มีความหมายเชิงลบ (negative prefixes) ทำให้คำเหล่านี้มีความหมายตรงข้ามกับคำตั้งต้นเดิม
ส่วนเติมหน้าประเภทนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาษาอังกฤษจนเมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษไปได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็จะรู้เลยว่า หากเจอ uncomfortable แปลว่า ในภาษาอังกฤษต้องมีคำว่า comfortable และคำว่า uncomfortable จะมีความหมายตรงกันข้ามกัน หรือหากเจอคำที่ไม่คุ้นเคยอย่าง indecipherable ก็จะพอบอกได้ว่า ในภาษาอังกฤษน่าจะต้องมีคำว่า decipherable และ indecipherable แปลว่า ไม่ decipherable นั่นเอง
แต่สัญชาตญาณเช่นนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะในภาษาอังกฤษมีคำอยู่กลุ่มหนึ่งที่แม้จะขึ้นต้นส่วนเติมหน้าที่มีความหมายเป็นปฏิเสธ แต่กลับไม่มีฝาแฝดคู่ตรงข้ามที่เป็นคำตั้งต้น!
สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า ในภาษาอังกฤษคำที่มีแต่รูปที่เติมส่วนหน้าที่มีความหมายเชิงลบอะไรที่น่าสนใจบ้าง
Unruly
คำนี้ใช้อธิบายสิ่งที่ต่อต้านการควบคุม ไม่ยอมให้จัดการได้โดยง่าย ถ้าใช้กับคนก็หมายถึง เกเร เช่น an unruly boy หรือหากใช้กับผม เช่น unruly hair ก็จะหมายถึง ผมที่จัดทรงลำบาก หวีแล้วก็ยังกระเซอะกระเซิง
คำนี้เกิดมาจากการเติม un- ที่ทำให้เกิดความหมายเชิงลบเข้าไปข้างหน้าคำว่า ruly ซึ่งหมายถึง ปกครองหรือควบคุมได้โดยง่าย ว่านอนสอนง่าย พร้อมเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎต่างๆ (มาจาก rule ที่แปลว่า การควบคุม การปกครอง รวมเข้ากับ -y ที่เป็นส่วนเติมท้ายให้กลายเป็นคำคุณศัพท์) จึงได้ความหมายว่า จัดการหรือควบคุมได้ยาก นั่นเอง
แต่เนื่องจากคำว่า ruly ค่อยๆ หมดความนิยม จึงเลือนหายไปกับกาลเวลาในท้ายที่สุด เหลือไว้แต่คำว่า unruly เท่านั้น
Unkempt
คำนี้ส่วนใหญ่แล้วใช้กับผมกับขน แปลว่า กระเซอะกระเซิง ยุ่งเหยิง รุงรัง เช่น unkempt hair (ผมยุ่งเหยิง) หรือ an unkempt beard (เครารุงรัง) หากไม่ใช้กับผมก็อาจใช้กับพืช หมายถึง รกรุงรัง ไม่มีคนมาเล็มใบแต่งกิ่ง เช่น an unkempt lawn (สนามหญ้าที่มีหญ้าโตระเกะระกะ)
คำนี้เห็นปุ๊บก็จะดูออกทันทีว่ามี un- ที่เป็นส่วนเติมหน้าที่ให้ความหมายเชิงปฏิเสธ แต่ส่วนข้างหลังอาจจะชวนฉงนสักหน่อยเพราะเปิดพจนานุกรมเล่มไหนก็ไม่มี นั่นก็เพราะคำนี้เป็นคำที่สูญหายไปจากภาษาอังกฤษแล้ว คือคำว่า cemban ในภาษาอังกฤษเก่า ซึ่งเป็นกริยา แปลว่า หวีผม (คำนี้เป็นต้นตอของ comb ที่ใช้เรียกหวีในปัจจุบันด้วย) ด้วยเหตุนี้ คำว่า unkempt จึงหมายถึง ผมที่ไม่ได้หวีให้เรียบร้อยเป็นระเบียบนั่นเอง
Disheveled
คำนี้คล้ายๆ กับ unkempt ตรงที่มักใช้อธิบายผม แต่อาจใช้อธิบายการแต่งกายหรือรูปลักษณ์ได้เช่นกัน หมายถึง ยุ่งเหยิงไม่เรียบร้อย เช่น I was alarmed to see him at my doorstep in such a disheveled state. หมายถึง ฉันตกใจที่เจอเขามาโผล่ที่ประตูหน้าบ้านในสภาพเสื้อผ้าผมเผ้ายุ่งเหยิงดูไม่ได้
คำนี้มาจาก dis- ที่แปลว่า ไม่ หรือ แยกออก รวมกับ chevel ในภาษาฝรั่งเศสเก่า แปลว่า ผม แต่เดิมหมายถึง ไม่ใส่หมวกหรือผ้าคลุมผม ปล่อยผมตกหรือปรกลงมาให้เห็น ต่อมาภายหลังจึงค่อยนำมาใช้บรรยายผมบนศีรษะ แบบที่ปล่อยตามธรรมชาติ ไม่ได้หวีหรือมัดรวบให้เรียบร้อย จนท้ายที่สุดเกิดเป็นความหมายว่า ยุ่งเหยิง กระเซอะกระเซิง แบบที่ใช้ในปัจจุบันนั่นเอง
ทั้งนี้ ที่ไม่มี cheveled หรือ sheveled เฉยๆ ก็น่าจะเป็นเพราะภาษาอังกฤษไม่เคยยืมคำว่า chevel มาใช้เป็นกริยาเฉยๆ นั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า chevel นี้ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกนิด หากสืบสาวกลับไปจะพบว่าคำนี้มาจากคำว่า capillus ในภาษาละตินอีกทอด หมายถึง ผม และเป็นที่มาของคำว่า capillary ที่หมายถึง หลอดเลือดฝอย เนื่องจากหลอดเลือดแบบนี้มีขนาดเล็ก แลดูไปคล้ายเส้นผมอยู่ไม่น้อย จึงถูกเรียกว่า capillary นั่นเอง
Inadvertent
คำนี้หมายถึง ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้เจตนา เช่น an inadvertent error หมายถึง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือ inadvertent plagiarism หมายถึง การลอกงานผู้อื่นโดยไม่ได้เจตนา ทั้งนี้ เรามักเจอรูป adverb มากกว่า เช่น He inadvertently let it slip that he was going to quit the company soon. หมายถึง เขาพลั้งปากเผยไปว่ากำลังจะลาออกจากบริษัท
คำนี้ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า in- ที่แปลว่า ไม่ มารวมกับ advertentia ในภาษาละติน หมายถึง ความตั้งใจ ความตระหนัก รวมได้ความหมายว่า ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ตระหนัก นั่นเอง
อันที่จริงแล้ว คำว่า advertent นี้จะบอกว่าไม่มีใช้ในภาษาอังกฤษก็คงไม่ถูกเลยเสียทีเดียว เพราะหากเปิดพจนานุกรมเล่มใหญ่ๆ (เน้นคำว่า ใหญ่ๆ) ก็ยังอาจเจอว่าเก็บคำนี้ไว้อยู่ เพียงแต่เป็นคำที่คนแทบไม่ได้ใช้แล้ว ดังนั้น หากจะพูดว่าคำว่า inadvertent เป็นคำที่ไร้คู่ก็คงไม่ผิดเลยเสียทีเดียว
ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า advertentia ที่พูดถึงไปด้านบนนั้น มาจาก ad- ที่แปลว่า ไปสู่ รวมกับกริยา vertere แปลว่า หัน รวมแปลว่า ทำให้คนหันมาสนใจ ดึงดูดความสนใจ และเป็นที่มาของคำว่า advertisement ที่แปลว่า โฆษณา ในปัจจุบันด้วย
Nonchalant
คำนี้หมายถึง ไม่เป็นเดือดเป็นร้อน ไม่ใส่ใจ หากพูดอย่างไทยๆ ก็คือ ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ตัวอย่างเช่น Her nonchalant attitude towards the current state of Thailand concerned her parents. หมายถึง พ่อแม่กังวลที่ลูกสาวแลดูไม่แยแสกับสภาพบ้านเมือง
คำนี้เป็นคำที่สร้างขึ้นมาจาก non- ที่แปลว่า ไม่ รวมกับกริยาในภาษาฝรั่งเศส chaloir หมายถึง กังวล เป็นเดือดเป็นร้อน จึงได้ความหมายว่า ไม่เป็นเดือดเป็นร้อน นั่นเอง ทั้งนี้ แม้ว่าในภาษาอังกฤษจะมีคำว่า nonchalant แต่กลับไม่มี chalant เฉยๆ เพราะยืม nonchalant มาแบบนี้ทั้งคำ
ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า ทองไม่รู้ร้อน หรือ ไม่เป็นเดือดไม่ร้อน ในภาษาไทย นับว่าเป็นคำแปลที่เหมาะกับคำว่า nonchalant มากเลยทีเดียว เพราะคำว่า chaloir ที่แปลว่า กังวล และเป็นต้นตอของคำนี้ มาจากกริยา calere ในภาษาละติน ที่แปลว่า ร้อน (หลายภาษาโยงความร้อนเข้ากับความกังวล อย่างที่เห็นในสำนวน ร้อนรุ่ม ร้อนรน ร้อนใจ ในภาษาไทยที่ใช้อธิบายสภาวะกังวลหรือจิตใจไม่สงบ นั่นเอง) นอกจากนั้น คำว่า calere ยังเป็นที่มาของคำว่า calorie ที่เป็นหน่วยพลังงาน ด้วย ดังนั้น เราจึงพูดได้ว่า nonchalant และ calorie เป็นญาติกันนั่นเอง
บรรณานุกรม
https://en.wikipedia.org/wiki/Unpaired_word
https://www.newyorker.com/magazine/1994/07/25/how-i-met-my-wife
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986.
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Longman Dictionary of Contemporary English
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shorter Oxford English Dictionary
Stockwell, Robert, and Donka Minkova. English Words: History and Structure. Cambridge University Press: Cambridge, 2001.
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Tags: ศัพท์ภาษาอังกฤษ, คำศัพท์