ด้วยอิทธิพลของภาษาอังกฤษที่แผ่ขยายไปทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาษาไทยจะยืมคำจากภาษาอังกฤษมาใช้อยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ในบรรดาคำที่ยืมมาเหล่านี้ ก็มีหลายคำที่ถูกใช้จนความหมายเพี้ยนไปจากเดิม เกิดเป็นความหมายแบบไทยๆ ที่แม้เราใช้กันแพร่หลายและเข้าใจตรงกัน แต่เจ้าของภาษาที่ได้ยินอาจจะไม่เข้าใจกับเราด้วย

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันอีกว่า นอกจากคำที่เคยเขียนถึงไปแล้วนั้น (ภาค 1, 2) ยังมีคำอะไรอีกในภาษาอังกฤษที่คนไทยนำมาใช้ในความหมายแบบไทยๆ

Anti – คนพวกนี้แอนตี้รัฐบาล

ความหมายที่คนไทยใช้:

ต่อต้าน ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

แม้ในภาษาไทยเราจะใช้ แอนตี้ เป็นคำกริยา แต่ในภาษาอังกฤษจะใช้ anti- เป็นส่วนเติมหน้าของต่างๆ เป็นหลัก (ทางฝั่งอังกฤษจะออกเสียงว่า แอนที ส่วนทางอเมริกันอาจได้ยินออกเสียงว่า แอนทาย) เติมหน้าคำไหน ก็ให้ความหมายว่าเป็นปฏิปักษ์หรือต่อต้านสิ่งๆ นั้น เช่น คำว่า virus แปลว่า ไวรัส เมื่อเติม anti- เข้าไปด้านหน้าเป็น antivirus แล้ว ก็จะหมายถึง ซอฟต์แวร์ต้านไวรัส หรือคำว่า anti-Americanism ก็จะหมายถึง ลัทธิต่อต้านอเมริกา นั่นเอง

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:     

ปกติแล้ว คนไทยมักจะใช้แอนตี้ในความหมายว่า ต่อต้าน ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เช่น เขาแอนตี้การทำศัลยกรรม ในกรณีนี้ เราก็อาจใช้คำว่า against มาใช้สื่อความได้ เช่น She is against plastic surgery. หรือไม่ก็อาจใช้คำว่า oppose เช่น She strongly opposes plastic surgery. หรือจะพูดว่า take a stand against ก็ยังได้ เช่น She has taken a stand against plastic surgery.

แต่หากใช้ในความหมายที่แปลว่า ไม่ชอบอย่างรุนแรง ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ เช่น เด็กนักเรียนแอนตี้ครูใหญ่คนใหม่ แบบนี้ก็อาจจะใช้คำว่า detest เช่น The students detest the new principal. ไม่อย่างนั้นก็อาจใช้คำว่า hostile และพูดว่า The students are hostile towards the new principal. แต่หากแอนตี้ตั้งหน้าตั้งตาเกลียดเพราะอคติ ก็อาจจะพูดว่า The students have prejudice against the new principal. หรือ The students are prejudiced against the new principal.

Sound – เดี๋ยวจะไปลองซาวนด์เสียงดูว่าเพื่อนๆ อยากกินอะไรกัน

ความหมายที่คนไทยใช้:

หยั่งเชิง สำรวจความคิดเห็น

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำว่า sound ในภาษาอังกฤษเป็นได้ทั้งนามและกริยา ความหมายส่วนใหญ่เกี่ยวกับเสียงไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง เรามักจะเจอคำนี้ใช้เป็นกริยา ใช้เวลาที่เราต้องการแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกของต่อสิ่งที่เราได้ยิน เช่น ถ้าเพื่อนเล่าให้เราฟังว่ามีแผนจะจีบคนที่ตัวเองชอบอย่างไรแล้วเรารู้สึกว่าแผนนี้ต้องพังแน่ๆ ก็อาจจะบอกว่า Your plan sounds horrible.

หากไม่ใช้ในความหมายนี้ บางครั้งก็อาจใช้คำว่า sound กับสิ่งของที่ส่งสัญญาณเป็นเสียง เช่น กระดิ่ง แตร สัญญาณเตือนภัย เช่น สมมติมีเหตุเพลิงไหม้แล้วทุกคนแตกตื่นจนลืมกดสัญญาณเตือนภัยกันหมด ก็อาจจะพูดว่า We all panicked and forgot to sound the alarm.

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

หากเราต้องการใช้คำว่า sound ให้ได้ความหมายว่า หยั่งเชิง หรือถามความคิดเห็น เราก็จะต้องพูดว่า sound out เช่น They sounded me out on their project. แปลว่า พวกเขามาถามฉันว่าคิดยังไงกับโครงการนี้ ทั้งนี้ สำนวนนี้โดยมากแล้วจะใช้กับการถามที่มีลักษณะอ้อมๆ เสียหน่อย หากอยากจะใช้กับกรณีที่สำรวจความคิดเห็นกันโต้งๆ แบบที่เจ้านายซาวนด์เสียงลูกน้องว่าอยากให้ไปเอาท์ติ้งบริษัทที่ไหน แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า take a poll แทน เช่น We took a poll on the location for our next company outing. แต่ถ้าเป็นการสำรวจความเห็นที่ไม่ได้เน้นว่าจะต้องถามให้ครบทุกคน แค่ถามคนจำนวนหนึ่งก็พอ ก็อาจจะใช้สำนวน ask around ทำนองว่า ไปถามๆ คนอื่นให้ เช่น I’ll ask around and see what people think out the plan. ก็คือ เดี๋ยวลองไปถามๆ คนอื่นดูให้นะว่าคิดเห็นยังไงกับแผนนี้

Sport – หัวหน้าเธอเลี้ยงข้าวทุกสัปดาห์เลยเหรอ สปอร์ตจังเลย

ความหมายที่คนไทยใช้:

ใจกว้าง เอื้อเฟื้อ ยินดีจ่ายเงินหรือให้ของ

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำนี้ปกติแล้วเรามักเจอเป็นคำนาม หมายถึง กีฬา เช่น I’m not good at sports. หมายถึง ผมเล่นกีฬาไม่เก่ง (ถ้าพูดถึงกีฬารวมๆ ไม่ได้เจาะจงประเภทกีฬา ภาษาอังกฤษแบบบริติชจะใช้ sport เป็นนามนับไม่ได้ คือไม่เติม s ส่วนทางอเมริกันจะพูดว่า sports) ไม่เช่นนั้นก็อาจเจอในประโยคเช่น You’re a good sport. แบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราเป็นกีฬา แต่หมายถึงว่า เรามีน้ำใจเป็นนักกีฬา เวลาโดนชวนให้ทำอะไรที่ไม่ค่อยอยากทำก็ยอมทำโดยไม่ปริปากบ่น ถึงเวลาเล่นแล้วแพ้ก็เป็นผู้แพ้ที่ดี ไม่แพ้แล้วพาล เป็นต้น

นอกจากนั้น เรายังอาจเจอ sport เป็นกริยา หมายถึง สวมใส่ บ่งนัยว่าคนสวมรู้สึกภูมิใจและอยากให้คนอื่นได้เห็นได้ด้วย เช่น Jenny was sporting a new dress. ก็จะแปลว่า เจนนี่ใส่ชุดใหม่มา หรือจะใช้กับหนวดหรือทรงผมก็ยังได้ เช่น Henry showed up to my house sporting a hideous new haircut. หมายถึง เฮนรี่โผล่มาที่บ้านเราพร้อมทรงผมใหม่ที่บ้งมาก

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

ถ้าต้องการจะสื่อถึงความใจกว้างดุจแม่น้ำ ก็อาจจะใช้คำพื้นๆ อย่าง generous ก็ได้ เช่น Your boss is so generous. ก็คือ เจ้านายแกนี่สปอร์ตจัง แต่ถ้าอยากเน้นว่าเจ้านายมีความสปอร์ตในเชิงเป็นสายเปย์ ยินดีจ่ายเงินปริมาณมากในฐานะผู้อุปถัมภ์ ให้ข้าวให้ของเลี้ยงข้าวต่างๆ นานา จนเหมือนกำลังทำทานให้กับเรา ก็อาจพูดติดตลกว่า He is a munificent benefactor. แต่ถ้าเราเน้นความสปอร์ตในแง่ที่ว่าจ่ายเท่าไหร่เท่ากัน ก็อาจจะใช้สำนวน spare no expense ก็ได้ เช่น He spares no expense when it comes to his boyfriend. ก็คือ ขอให้เป็นเรื่องแฟนเถอะ จ่ายถึงไหนถึงกัน

Spec – ผู้ชายคนนี้ไม่ใช่สเปคเราอะ

ความหมายที่คนไทยใช้:

คุณสมบัติหรือลักษณะที่เราชอบในคนที่เราสนใจในเชิงชู้สาว คนที่มีลักษณะแบบดังกล่าว

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำว่า spec ที่คนไทยชอบใช้กันนี้ อันที่จริงแล้วย่อมาจาก specification หมายถึง คุณลักษณะ ใช้ได้ทั้งกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไปจนถึง สิ่งปลูกสร้าง แม้แต่ข้อกำหนดคุณสมบัติในประกาศสมัครงานก็ยังอาจใช้คำว่า specification ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัทรับผลิตสินค้าอาจบอกว่า We can manufacture products to your specifications. ก็คือ บริษัทเราผลิตสินค้าให้มีคุณลักษณะตามที่ลูกค้าต้องการได้ หรือหากจะบอกว่า หนังสือเรียนที่ทางโรงเรียนจะเลือกใช้ต้องมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงกำหนด ก็อาจจะบอกว่า The textbook needs to meet the specifications laid down by the Ministry. เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปกติแล้วคำว่า specification นี้จะไม่นำมาใช้บรรยายคุณสมบัติที่คนรักในฝันของเราพึงมี

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

หากเราต้องการพูดถึงคุณสมบัติหรือลักษณะที่เราชอบและพึงให้มีในคนที่เราอยากมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวด้วย (เช่น สเปคเราคือผู้ชายที่มีซิกซ์แพ็กเป็นลอนๆ) เราก็อาจจะใช้คำว่า preference เช่น I have a preference for men with washboard abs. แต่ถ้าจะพูดถึงตัวคนที่มีลักษณะแบบดังกล่าว (เช่น คนนี้สเปคกูเลยว่ะ) แบบนี้ก็จะใช้คำว่า type เช่น He’s exactly my type. เป็นต้น

Slider – หลานเราลื่นสไลเดอร์แล้วหกล้มหัวคะมำ

ความหมายที่คนไทยใช้:

กระดานลื่น

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

เมื่อได้ยินคำว่า slider ภาพที่คนอเมริกันส่วนใหญ่จะเห็นในหัวก็คือ แฮมเบอร์เกอร์ขนาดเล็กจุ๋มจิ๋ม ตัวขนมปังมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณแค่ 2 นิ้ว (ไซส์ปกติมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณเกือบ 4 นิ้ว) มักเสิร์ฟเป็นของว่างหรือของเรียกน้ำย่อย แต่บางครั้งก็เสิร์ฟจริงจังเป็นจานหลัก

คำว่า slider นอกจากจะใช้เรียกแฮมเบอร์เกอร์ขนาดจิ้มลิ้มนี้แล้ว ยังใช้เรียกปุ่มเลื่อนต่างๆ แบบที่ใช้เพิ่มลดเสียงบนเครื่องผสมเสียง (เรียกว่า mixing console หรือที่คนไทยเรียกว่า มิกเซอร์) หรือปุ่มเลื่อนในสมาร์ตโฟนที่ใช้ปรับระดับเสียงและความเข้มแสงหน้าจอได้อีกด้วย

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

กระดานลื่นในภาษาอังกฤษใช้คำว่า slide หรือถ้าอยากให้เห็นภาพชัดๆ ว่าเป็นแบบที่เด็กเล่น ก็อาจจะเติมคำว่า playground ที่แปลว่า สนามเด็กเล่น ไปด้านหน้า ให้เป็น playground slide นั่นเอง

 

บรรณานุกรม

American Heritage Dictionary of the English Language

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

 

Tags: , ,