ในที่สุด วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1935 หญิงสาวจากตระกูลสูงศักดิ์ของอังกฤษก็เดินทางถึงมิวนิก จุดหมายปลายทางในฝันของเธอ หลังจากเฝ้าติดตามชายซึ่งเป็นเป้าหมาย พยายามสร้างเรื่องราว เสนอตัวให้เขาสนใจ จนกระทั่งเขาตอบรับ สาวอังกฤษเขียนจดหมายเล่าให้พี่สาวของเธอฟัง เกี่ยวกับเดทครั้งแรกที่เธอใฝ่หา

“ราวบ่ายสามโมง ฉันเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ ‘ท่านผู้นำ’ สวมเทรนช์โคตรสีหวานก็เดินเข้ามา และนั่งลงที่โต๊ะประจำของเขาพร้อมกับผู้ชายอีกสองคน ระหว่างนั้นฉันกำลังเปิดอ่านนิตยสาร Vogue อยู่ สิบนาทีหลังจากเขามาถึง เขาก็ให้เจ้าของร้านเดินมาบอกฉัน ‘ท่านผู้นำต้องการจะสนทนากับคุณ’”

สาววัย 20 แสดงอาการลิงโลดออกหน้า “ฉันมีความสุขมากจนแทบอยากตายเลยทีเดียว ฉันคิดว่า ฉันคือผู้หญิงที่มีความสุขที่สุดในโลก” เธอเขียนลงในสมุดบันทึก ชื่อของหญิงสาวที่ปลาบปลื้มชื่นชมอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ผู้นี้คือ ยูนิตี วาลคิรี มิตฟอร์ด (Unity Valkyrie Mitford) หรือที่ชาวเยอรมันเรียกด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันว่า ‘ยูนิตี มิตฟาร์ต’ (Mitfahrt = ร่วมทาง) นั่นเพราะเธอรู้ดีกว่าใครอื่นว่า ‘ท่านผู้นำ’ อยู่ที่ไหน จากการติดตามเขาไปในทุกย่างก้าว มีโอกาสได้ใกล้ชิดผู้นำ อย่างที่ไม่เคยมีผู้หญิงคนไหนได้โอกาสเช่นนั้น

แม้ว่ามิตฟอร์ดสามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลระดับสูงของพรรคนาซีได้ก็จริง ทว่าเธอกลับเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปน้อยมาก และเรื่องราวของเธอเป็นเพียงเชิงอรรถแปลกปลอมในประวัติศาสตร์ กล่าวถึงหญิงงามคนหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจ ขณะเดียวกันเธอยังเป็นอะไรมากกว่าหญิงสาวที่ห้อมล้อมอยู่รอบกายฮิตเลอร์ นานวันเข้ามิตฟอร์ดก็เริ่มซึมซับแนวความคิดแบบนาซี เริ่มชังยิวแบบสุดโต่ง (เธอเคยกล่าวประโยค เช่นว่า “อังกฤษเป็นของชาวอังกฤษ ยิวจงไสหัวออกไป”) และนิยมชมชอบฮิตเลอร์อย่างหัวปักหัวปำ

“มิตฟอร์ด เกิร์ล-ที่ใครๆ ในเบอร์ลินและมิวนิกเรียกขานกันนั้น ดูเหมือนจะเป็นนาซีเสียยิ่งกว่านาซีเอง” หน่วยสืบราชการลับของอังกฤษเคยบันทึกไว้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1937 นั่นเพราะเธอติดเชื้อจาก ‘ท่านผู้นำ’ เมื่อสี่ปีก่อนหน้า ระหว่างการประชุมพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมันที่เมืองนูเรมเบิร์ก

แม้ว่าในช่วงเวลานั้นเธอไม่เข้าใจภาษาเยอรมันเลยก็ตาม แต่เธอก็คลั่งไคล้แนวความคิดชาตินิยม หลังจากได้ฟังฮิตเลอร์ปราศรัยเมื่อฤดูร้อนปี 1933 “วันประชุมพรรคเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก ฉันไม่เคยรับรู้เรื่องราวอะไรแบบนี้มาก่อนเลยในชีวิต” มิตฟอร์ดเขียนจดหมายเล่าให้แม่ของตนฟัง ข้างฝ่ายแม่นั้นถึงกับช็อก เช่นเดียวกันกับพ่อของเธอ-เดวิด เบอร์ทรัม โอกิลวี ฟรีแมน-มิตฟอร์ด (David Bertram Ogilvy Freeman-Mitford) หรือบารอน รีดสเดลที่ 2

ถึงกระนั้น ทั้งพ่อและแม่ก็ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม เมื่อยูนิตีตัดสินใจจะโยกย้ายไปอยู่มิวนิกและเรียนภาษาเยอรมัน เนื่องจากพวกเขาคุ้นชินกับนิสัยผิดแผกแหวกแนวของบุตรสาวทั้งหกคนดี “ข้าพเจ้าเป็นคนปกติ ภรรยาของข้าพเจ้าก็เช่นกัน จะมีก็แต่บุตรสาวของเราเท่านั้นที่เพี้ยนบ้าไป” ขุนนางอังกฤษเคยบอกกล่าวครั้งหนึ่ง

เดบอราห์ (Deborah) บุตรสาวคนเล็กดูเหมือนจะเป็นคนเดียวที่ไม่ก่อเรื่องอื้อฉาว ต่างกับแนนซี (Nancy) บุตรสาวคนโตซึ่งเป็นนักเขียน ส่วนพาเมลา (Pamela) นั้นเคยก่อเรื่องวุ่น กับการทิ้งหนุ่มเศรษฐีเพื่อหนีไปอยู่กับพลร่มสาวจากสวิตเซอร์แลนด์ ไดอานา (Diana) ฝักใฝ่กับลัทธิฟาสซิสต์ เจสซิกา (Jessica) สนใจในลัทธิคอมมิวนิสต์ ส่วนยูนิตีพลัดหลงเข้าไปในกลุ่มสวัสดิกะของชุมชนแคนาเดียน และซึมซับเอาลัทธิชาตินิยมมาแบบถอนตัวไม่ขึ้น

ยูนิตี มิตฟอร์ด เกิดในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1914 เริ่มขบถตั้งแต่ยังเป็นสาวน้อย พ่อแม่ต้องคอยรับ-ส่งไปโรงเรียนเพื่อไม่เปิดโอกาสให้เธอได้หนีเรียน ยูนิตีชอบสร้างความแตกตื่นให้กับแขกเหรื่อระดับสูงของครอบครัวในงานปาร์ตีด้วยหนูและงูหญ้าที่เธอเลี้ยงไว้ ตั้งแต่ปี 1934 เธอโยกย้ายไปอยู่ในมิวนิก และใช้ชีวิตอย่างสุขสบายด้วยเช็ครายเดือนของผู้เป็นบิดา

ระหว่างที่เริ่มมีการก่อสร้างค่ายกักกัน มีการไล่ล่ายิวและกลุ่มคนที่คิดต่างอยู่รอบๆ ตัว ยูนิตียังบันเทิงใจกับการนอนอาบแดดภายในสวนอังกฤษ ไปดูหนัง หรือไม่ก็ขับรถเอ็มจีเปิดประทุนคันสีดำพร้อมกับสุนัขพันธุ์เกรตเดนไปล่องเรือใบที่ทะเลสาบชีมเซ อีกทั้งช่วงเวลานั้นเธอยิ่งเกาะติดฮิตเลอร์แจกว่าปกติ กระทั่งมีข่าวลือหนาหูว่าทั้งสองกำลังจะแต่งงานกัน

ทว่าฮิตเลอร์คิดจะแต่งงานกับสาวอังกฤษจริงหรือ เลนี รีเฟนสตาห์ล (Leni Riefenstahl) ผู้กำกับฯ หญิงคนโปรดของฮิตเลอร์ตั้งคำถาม และได้คำตอบจาก ‘ท่านผู้นำ’

“สาวน้อยคนนี้มีเสน่ห์ดึงดูดใจ แต่จะให้ผมแต่งงานกับหญิงต่างชาติ ถึงเธอจะเป็นหญิงงามก็เถอะ ความรู้สึกของผมยังเป็นชาตินิยม ผมสามารถรักได้แต่กับสาวเยอรมันเท่านั้น”

ฮิตเลอร์ควงสาวอังกฤษร่างสูง 180 เซนติเมตรไปร่วมเทศกาลดนตรีวากเนอร์ที่เมืองไบย์รอยต์ และพาเข้าร่วมในที่ประชุมพรรค วันที่ 10 เมษายน 1935 เธอยังติดตามเขาไปร่วมงานวิวาห์ของแฮร์มันน์ เกอริงอีกด้วย และในปีถัดมาเธอก็เป็นอาคันตุกะคนพิเศษของฮิตเลอร์ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน

ผู้นำระดับสูงของพรรคนาซีต่างพากันหลงใหลได้ปลื้มเธอ – เอวา บราวน์ (Eva Braun) เขียนลงในสมุดบันทึกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1935 ด้วยความขมขื่น ที่บัดนี้ฮิตเลอร์นำหญิงงามอีกคนมา ‘แทนที่’ ตัวเธอ “หล่อนชื่อวาลคิรี (เทพธิดารับใช้ ‘โอดิน’) และดูเหมือนหล่อนจะยอมพลีชีพเพื่อเขาเสียด้วย” 18 วันต่อมาเอวาพยายามฆ่าตัวตายเหตุเพราะความหึงหวง ริษยา

แต่ยูนิตี มิตฟอร์ดกลับไม่ได้สนใจเพียงจะอยู่เคียงข้างฮิตเลอร์ในฐานะคนรัก เธอใคร่อยากเป็นคู่คิดทางการเมืองเสียด้วย เธออยากเป็นตัวแทนผสานความสัมพันธ์ระหว่างชาติอังกฤษและเยอรมนี ด้วยความมั่นใจในตัวเอง มิตฟอร์ดกล้าที่จะเปิดเผยความคิดเห็นของเธอต่อฮิตเลอร์อย่างตรงไปตรงมา

อย่างเช่นเรื่องที่เธอไม่ชอบเผด็จการเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) รวมทั้งไม่ชอบโยอาคิม ฟอน ริบเบนโทรป (Joachim von Ribbentrop) อดีตทูตเยอรมันประจำกรุงลอนดอน ที่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ …เธอบอกเล่าความไม่ชอบนั้นกับฮิตเลอร์แบบไม่อ้อมค้อม และไม่สนใจด้วยว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร

วันที่ 3 กันยายน 1939 ภาพฝันเกี่ยวกับการผสานสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและอังกฤษของยูนิตี มิตฟอร์ดล้มครืน ตอนเวลาสิบเอ็ดโมงอังกฤษประกาศทำสงครามกับเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ และไม่กี่ชั่วโมงถัดจากนั้น สาวอังกฤษคู่ควงของฮิตเลอร์ก็ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่กะโหลกข้างขวาหนึ่งนัด

มิตฟอร์ดต้องการจบชีวิตตนเองอย่างที่เชื่อกันมาตราบถึงวันนี้ หรือเธอตกเป็นเหยื่อของการพยายามฆ่า?

แม้แต่ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอ ก็ยังไม่มีการคลายปมปริศนานี้ – มีการกล่าวถึงจดหมายลาของมิตฟอร์ด ทว่าไม่มีใครเคยพบเห็น เอกสารส่วนใหญ่ของเกสตาโปในมิวนิกสูญหายไประหว่างสงคราม คำบอกเล่าจากผู้ร่วมเหตุการณ์ก็หาข้อสรุปไม่ได้ แต่ผู้เขียนชีวประวัติของเธอเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่เธอจะถูกลอบสังหาร

แค่เพียงความกล้าและกร่างของเธอก็สร้างศัตรูภายในกลุ่มคนระดับสูงของพรรคนาซีแล้ว อย่างโยอาคิม ฟอน ริบเบนโทรป ที่เมื่อสงครามเริ่มปะทุขึ้น เขาได้กลายเป็นคนสนิทของฮิตเลอร์ ในขณะที่ริบเบนโทรปกับยูนิตี มิตฟอร์ดนั้นเกลียดกันอย่างรุนแรง คนใหญ่คนโตของพรรคนาซีบางคนยังเชื่ออีกด้วยว่า มิตฟอร์ดเป็นสายลับ และคิดว่าควรกำจัดเธอไปให้พ้นทาง

ยูนิตี มิตฟอร์ดรอดชีวิตจากการถูกยิง แต่มันส่งผลให้เธอกลายเป็นอัมพาต สูญเสียความทรงจำ และควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ต้นปี 1940 เธอถูกส่งตัวกลับไปอังกฤษ ในภาพที่มีคนบันทึกไว้ช่วงเวลานั้น มิตฟอร์ดอยู่ในสภาพที่ไม่มีบาดแผลจากการถูกยิง จึงเกิดเสียงลือขึ้นอีกว่า การลอบสังหารเป็นแค่ข่าวลวง เพียงเพื่อให้เธอเดินทางกลับอังกฤษแบบไร้ข้อครหา และไม่ต้องถูกพิจารณาโทษ

นอกจากนั้นแล้ว ต่อมายังมีข่าวลือเกี่ยวกับ ‘ทายาท’ ที่มิตฟอร์ดมีจากความสัมพันธ์กับฮิตเลอร์อีกด้วย – ปี 2002 มีผู้หญิงคนหนึ่งโทรศัพท์ถึงผู้สื่อข่าวของ Observer อ้างว่า ช่วงปี 1940 ยูนิตี มิตฟอร์ดเคยเดินทางไปที่คลินิกของป้าเธอ และยกเด็กทารกให้ใครอื่นไปอุปถัมภ์ เมื่อข่าวดังกล่าวถูกตีพิมพ์จึงมีการติดตามสืบหาตัว ‘ทายาทผู้นำนาซี’ กันอย่างเอิกเกริก มิตฟอร์ดกลับกลายมาเป็นข่าวอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นเรื่อง ‘เซ็กซ์’ ของเธอ ไม่ใช่เรื่องการเมืองเหมือนอย่างแต่ก่อน

สาวอังกฤษกิ๊กฮิตเลอร์เสียชีวิตจากอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบในตอนค่ำของวันที่ 28 พฤษภาคม 1948 บนหลุมฝังศพของเธอมีป้ายจารึกสลักกลอน: Say not the struggle naught availeth

“อย่ากล่าว การต่อสู้นั้นไม่คุ้มค่า”

  

อ้างอิง:

Michaela Karl, Ich blätterte gerade in der Vogue, da sprach mich der Führer an: Unity Mitford. Eine Biographie, btb Verlag (2018)