สาวผมบลอนด์ ความสูงเพียง 150 เมตร แต่เป็นนักบินหญิงคนโปรดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ฮันนา ไรต์ช (Hanna Reitsch) เป็นนักบินเครื่องร่อนหญิงผู้พิชิตสถิติโลกตั้งแต่อายุ 20 ปี และได้เป็นกัปตันเครื่องบินหญิงคนแรกตอนอายุ 25 ปี

ฮันนา ไรต์ชเขียนในสมุดบันทึกของตนเองว่า ตั้งแต่อายุสี่ขวบ ในหัวของเธอไม่มีอะไรเลยนอกจากเรื่องเครื่องบิน เธอเคยปีนขึ้นไปยืนบนขอบระเบียง กางแขนออกกว้าง และทำท่าคล้ายจะกระโดดลงจากที่สูง พ่อและแม่ของเธอตื่นตระหนกสุดขีด และห้ามเธอออกไปป้วนเปี้ยนบริเวณระเบียงอีก

ฮันนาเกิดที่เมืองเฮียร์ชแบร์ก ในแคว้นไซลีเซีย (ปัจจุบันตั้งอยู่ในโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และเยอรมนี) ครอบครัวปรารถนาจะให้เธอเป็นหมอ เหมือนเช่นพ่อเชื้อสายปรัสเซียนของเธอ แต่แทนที่เธอจะมุ่งมั่นกับการเรียนสายแพทย์ เธอกลับใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปขลุกอยู่แถวลานเครื่องร่อน “ฉันรู้สึกโหยหาพอๆ กับการคิดถึงบ้านเวลาอยู่ที่ไหนไกลๆ” เธอบันทึกความรู้สึกถึงวัยเด็ก กระทั่งอายุ 20 ปี เธอสามารถทำลายสถิติโลกในการบินเครื่องร่อนแบบต่อเนื่องประเภทผู้หญิง และอีกห้าปีต่อมา เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ขับเครื่องร่อนข้ามเทือกเขาแอลป์ได้สำเร็จ และเริ่มทำงานคิดค้น-ทดลองเครื่องบินใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นงานอันตราย แต่เธอก็มุ่งมั่นจนได้ชื่อว่าเป็นกัปตันเครื่องบินหญิงคนแรกของโลกในปี 1937

ในปีเดียวกันนั้น เธอยังสมัครเข้าเป็นนักบินในสังกัดกองทัพเพื่อรับใช้ชาติ แม้ว่าเยอรมนี ในฐานะผู้แพ้สงครามโลก (ครั้งที่ 1) ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งกองทัพตามสนธิสัญญาแวร์ซายส์ก็ตาม ทว่านับตั้งแต่ฮิตเลอร์รวบอำนาจการปกครองไว้แบบเบ็ดเสร็จ เขาได้ฉีกสัญญาและพร้อมละเมิดในทุกเรื่อง

ฮันนา ไรต์ชได้รับบรรจุเข้าเป็นนักบินวิจัยและทดลองของกองทัพอากาศเยอรมันยุคใหม่ เธอทดลองบินเฮลิคอปเตอร์ลำแรกของเยอรมันบนความสูง 2,300 เมตร ทดสอบระบบเบรกของเครื่องบินที่ขัดข้อง และหลังจากสงครามครั้งใหม่เริ่มปะทุ เธอยังเสี่ยงชีวิตบินเข้าไปในพื้นที่ห้ามบินของอังกฤษเพื่อปฏิบัติภารกิจ ในเดือนมีนาคม 1941 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์มอบเหรียญกล้าหาญ ‘กางเขนเหล็กชั้น 2’ ให้ เป็นโอกาสให้เธอได้พูดคุยและใกล้ชิด ‘ผู้นำ’ ซึ่งสร้างความปีติให้ไรต์ชเป็นอย่างยิ่ง

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์มอบเหรียญกล้าหาญ กางเขนเหล็กชั้น 2 ให้ไรต์ช ถ่ายเมื่อ มีนาคม 1941 (ภาพจาก Wikimedia Commons by the German Federal Archive)

 หรือแม้แต่ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้บังคับบัญชาหน่วย SS ของนาซี ซึ่งนักบินหญิงมีโอกาสได้ทำความรู้จักในเดือนกรกฎาคม ปี 1943 ก็สร้างความประทับใจให้กับเธอเช่นกัน เธอเขียนบรรยายความรู้สึกนั้นลงในสมุดบันทึก รวมถึงความเห็นของเธอที่แสดงตอบโต้กับฮิมม์เลอร์เกี่ยวกับคริสตจักร ข้อคิดเกี่ยวกับผู้หญิง และชีวิตคู่ด้วย

ในเดือนตุลาคม ปี 1944 เพื่อนนักบินคนหนึ่งของเธออ่านข้อความจากแผ่นปลิวที่แจกจ่ายกันในสวีเดนให้เธอฟัง เป็นเรื่องที่กล่าวถึงการสังหารหมู่ในค่ายกักกัน เรื่องนี้เธอกล้าถึงขนาดขอเข้าพบฮิมม์เลอร์เพื่อสอบถามด้วยตนเอง

“คุณเชื่ออย่างนั้นหรือ คุณฮันนา” ฮิมม์เลอร์ถามเธอกลับ ก่อนบอกถึงความรู้สึกเสียใจของเขาที่มีต่อเหตุการณ์ในห้องรมแก๊ส ซึ่งไรต์ชก็ไร้เดียงสาพอที่จะกลืนคำโกหกของผู้นำ SS นอกจากนั้นเธอยังปฏิเสธที่จะเข้าร่วมสังกัดพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (NSDAP – Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei) หรือพรรคนาซี เธอไม่เห็นด้วยกับการใช้พฤติกรรมความรุนแรงในการเหยียดเผ่าพันธุ์ และการแบ่งแยกชาวยิวด้วยเครื่องหมายดาวสีเหลือง

แต่ถึงกระนั้น ไรต์ชก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้นาซี และแม้ว่ารัฐบาลนาซี-ที่ไม่เคยให้ค่าผู้หญิง-จะปฏิเสธให้เธอเข้าร่วมแข่งขันการบินในปี 1936 หรือรับเธอเข้าสมาพันธ์นักบินนาซีก็ตาม เธอยังมีใจภักดีให้ เธออาสาขึ้นปราศรัยต่อหน้าคณะผู้นำเด็กฮิตเลอร์ อีกทั้งยังบินไปยังแนวหน้าฝั่งตะวันออกเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทหารฮึดสู้ต่อไป และยังมุทะลุทำเรื่องบ้าบิ่นกระทั่งตนเองได้รับบาดเจ็บปางตาย

 

เธอไม่เห็นด้วยกับการใช้พฤติกรรมความรุนแรงในการเหยียดเผ่าพันธุ์ และการแบ่งแยกชาวยิวด้วยเครื่องหมายดาวสีเหลือง แต่ถึงกระนั้น ไรต์ชก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้นาซี

    ฮันนา ไรต์ชทดสอบการตกของเครื่องบินติดจรวด Me 163 ทำให้ไม่เพียงจมูกและกรามหักเท่านั้น หากกะโหลกศีรษะของเธอถึงกับร้าวด้วย ไม่พอแค่นั้น เธอยังดันทุรังต่อไป โดยร่วมกับเพื่อนร่วมงานพัฒนาจรวดระเบิด V1 หรือที่เรียกว่า ‘อาวุธมหัศจรรย์’ สำหรับใช้ทิ้งลงจากเครื่องบิน

ระหว่างการเดินทางไปเยือนบ้านพักที่แบร์กโฮฟของฮิตเลอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 1944 ฮันนา ไรต์ชวางแผนจะเข้าพบผู้นำด้วย ทว่าฮิตเลอร์ตอบปฏิเสธ นักบินหญิงที่ขณะนั้นได้รับเหรียญกล้าหาญ กางเขนเหล็กชั้น 1 แล้ว ยืนยันจะยื่นเรื่องขอความยินยอมเพื่อให้เธอได้เข้ารับการทดสอบ จนผ่านเข้ารับการฝึกกำลังพล ‘SO’ (Selbstopfer – พลีชีพ) พร้อมกับนักบินเลือดหนุ่มคนอื่นๆ ราว 70 คน ระหว่างนั้น ทหารพันธมิตรจ่อยึดนอร์มังดีคืนแล้ว ฝ่ายเยอรมันจึงต้องเร่งตระเตรียมหน่วยกล้าตาย เพื่อแผนปฏิบัติการกามิกาเซ่

กิจกรรมเสี่ยงตายของฮันนา ไรต์ชยังไม่จบไม่สิ้น – วันที่ 26 เมษายน 1945 ไม่กี่วันก่อนความพ่ายแพ้ของเยอรมนี เธอได้ปฏิบัติหน้าที่อีกครั้ง ด้วยการบินเข้าไปพบฮิตเลอร์ในกรุงเบอร์ลิน ขณะที่กำลังจมอยู่ในเปลวเพลิง ในบังเกอร์ของผู้นำ โดยมีโรแบร์ต ริตเตอร์ ฟอน ไกรม (Robert Ritter von Greim) ผู้บังคับบัญชาสูงสุด ติดตามไปด้วย ทั้งสองได้รับบาดเจ็บจากกระสุนของฝ่ายรัสเซีย

“คุณสุภาพสตรีผู้แกร่งกล้า คุณสามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยังมีความซื่อสัตย์และกล้าหาญบนโลกใบนี้” เท่าที่ไรต์ชจดจำได้ นั่นเป็นประโยคที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กล่าวต้อนรับนักบินหญิงคนโปรดของเขา ทว่าชายผู้คิดอยากแผ่อำนาจปกครองโลกดูคล้ายสิ้นสภาพไปนานแล้ว “ร่างของเขางุ้มงอ แขนทั้งสองข้างระริกสั่นตลอดเวลา และนัยน์ตาก็ดูคล้ายพร่ามัว” เธอเขียนบรรยายภาพฮิตเลอร์ที่เห็นลงสมุดบันทึก

หลังจากฮิตเลอร์เซ็นยินยอมให้ฟอน ไกรมและไรต์ช-ที่กำลังเข้าเฝือก-ปฏิบัติการพลีชีพหลังแพ้สงคราม ในคืนวันที่ 29 เมษายน 1945 ผู้นำกลับเปลี่ยนใจ ออกคำสั่งให้ทั้งสองพยายามหาทางบินออกจากกรุงเบอร์ลินอีกครั้ง เพื่อให้จับกุมตัวฮิมม์เลอร์ผู้ทรยศ ก่อนความพ่ายแพ้ในสงครามจะมาถึง

ไรต์ชสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหลือเชื่อ เธอพาฟอน ไกรมขึ้นเครื่องบินสำหรับสอนบินออกจากทะเลเพลิงของเบอร์ลินโดยไม่ถูกทหารรัสเซียถล่มยิง แต่ทั้งสองก็จบเห่จนได้เมื่อเดินทางไปถึงคิตซ์บือเฮล เมืองเล็กๆ ในเทือกเขาแอลป์ของออสเตรีย ที่นั่นทั้งไรต์ชและฟอน ไกรมถูกทหารอเมริกันจับกุมตัวไว้ ฟอน ไกรมตัดสินใจกรอกปากตัวเองด้วยแคปซูลยาพิษที่ฮิตเลอร์มอบให้ ส่วนไรต์ช ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วันเพิ่งรู้ข่าวว่าพ่อแม่ของเธอ รวมทั้งน้องสาว และหลานสาวหลานชาย พากันฆ่าตัวตาย เนื่องจากความกลัวที่มีต่อทหารรัสเซีย แม้จะสิ้นหวัง แต่ฮันนา ไรต์ชก็ยังตัดสินใจเอาชีวิตอยู่รอด เธอบอกเหตุผลในสมุดบันทึกว่า “เพื่อยืนยันความเป็นจริงต่อหน้าชาวเยอรมันนับล้านคน” ความเป็นจริงที่ว่า แม้แต่เธอเองก็รู้สึกขมขื่นที่จะยอมรับ

แทนที่จะถอยตัวเองออกห่างจากความบ้าคลั่งของ ‘อาณาจักรไรช์ที่ 3’ นักบินหญิงกลับวางตนเองเป็นคน ‘ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง‘ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความผิดชอบทุกอย่างด้วยสำนึกในความรักชาติ เธอไม่เข้าใจแม้กระทั่งว่า ทำไมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปแล้ว เธอถึงประดับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กไม่ได้

อดีตที่รุ่งโรจน์ในฐานะนักบินหญิงของเธอถูกเก็บงำในเยอรมนียุคหลังสงคราม แต่ไรต์ชสามารถไปแสดงออกได้ในต่างแดน อย่างกานา อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งเธอได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีในปี 1969 และในปี 1972 เธอได้รับการยกย่องเป็น ‘นักบินแห่งปี’

ไรต์ชปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับรัฐบาลนาซีในเยอรมนีตะวันตก กระทั่งในปี 1978 เมื่อผลงานหนังสือ Hoehen und Tiefen (สูงและต่ำ) ของเธอพร้อมออกมา ความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งหมดจึงกลายเป็นประเด็นคำถามให้เธอต้องตอบ

“สงครามโลกครั้งที่สองผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี แต่เรื่องโกหกทั้งหลายที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศของเรายังคงอยู่ และเรื่องโกหกนั้นคล้ายเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์”
วันที่ 24 สิงหาคม 1979 ฮันนา ไรต์ชเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในแฟรงเฟิร์ต ไม่มีทายาทสืบสกุล ไม่มีพันธะผูกพัน แต่ก่อนตาย ขณะวัย 67 ปี เธอยังสามารถขับเครื่องบินร่อนทำลายสถิติโลกได้อีกครั้ง

 

ภาพประกอบหน้าแรกโดย ปรางวลัย พูลทวี รูปถ่ายโดย Schwahn จาก Wikimedia Commons by the German Federal Archive

 

 

อ้างอิง:
Fliegen, mein Leben. Hanna Reitsch. Herbig, München, 2001
Spiegel Online
kulturportal-west-ost.eu

Tags: , , , , ,