การไล่ล่าหรือติดตามตัวผู้ร่วมกระทำผิดในค่ายกักกันสมัยสงครามโลกครั้งที่สองไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากเวลาที่ผ่านพ้นมาเนิ่นนานกว่า 73 ปีแล้ว การทำงานยังต้องใช้ความรวดเร็ว เพราะผู้เคยกระทำผิดบางคนที่ยังมีชีวิตและยังลอยนวลอยู่นั้นล้วนอยู่ในวัยเกิน 90 ปีกันทั้งสิ้น

เยนส์ รอมเมล (Jens Rommel) นักกฎหมายและทนายอัยการ ต้องใช้เวลาอยู่นานกับการอ่านสำนวนพยานที่เห็นเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ทหารนาซีจับเด็กทารกและเด็กเล็กโยนใส่กำแพงหรือรถบรรทุกเพื่อปลิดชีวิต สำนวนเหล่านั้นเป็นคำบอกเล่าจากผู้คนที่จำต้องฝืนทนดูลูกหลานของตนเองถูกฆาตกรรมอย่างทารุณ นอกจากนั้น รอมเมลยังต้องอ่านเอกสารเกี่ยวกับห้องที่ใช้สำหรับยิงต้นคอและห้องรมแก๊ส ซึ่งใช้สังหารเหยื่อจำนวนมาก ทั้งหมดนั้นคืองานของเขา

เยนส์ รอมเมล วัย 46 ปี ผมหยักศกสีน้ำตาลแซมสีเทา ไว้หนวดเคราแพะ และชอบสวมชุดสูทสีเทาเข้ม เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกลางเพื่อสืบสวนคดีอาชญากรรมยุคนาซีมาตั้งแต่ปี 2015 สำนักงานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1958 เป็นหน่วยงานซึ่งคอยติดตาม สืบสวนคดีอาชญากรรมต่างๆ ที่เหี้ยมโหดต่อมนุษยชาติ

รอมเมลได้ชื่อว่าเป็น ‘นักล่านาซี’ คนสุดท้ายของเยอรมนี เขาและทีมงานสืบสวนอีก 7 คนทำหน้าที่ติดตามสืบหาผู้คนที่เคยทำงานในค่ายกักกัน และมีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมสังหารหมู่

นับตั้งแต่มีการตัดสินโทษจอห์น เดมยานยุค (John Demjanjuk) เจ้าหน้าที่ผู้คุมค่ายกักกันโซบิบอร์ (ปัจจุบันอยู่ในโปแลนด์) เมื่อปี 2011 เป็นการรับรองทางกฎหมายอย่างชัดเจนว่า ผู้กระทำผิดไม่จำเป็นต้องเป็นคนลงมือฆ่าโดยตรง อีกทั้งก่อนหน้านี้ ศาลเมืองมิวนิกเคยตัดสินว่า ผู้เคยปฏิบัติงานในหน้าที่ผู้คุมก็มีความผิดในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมเช่นกัน นับตั้งแต่นั้นมารอมเมลและทีมงานของเขาจึงขยายขอบข่ายการติดตามไล่ล่าตัวผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งอดีต

ห้องทำงานของรอมเมลเต็มไปด้วยหนังสือที่เกี่ยวข้องกับนาซี อาทิ สำนวนคดีทั้งหมดจากการพิจารณาคดีเนิร์นแบร์ก (Nuremberg Trials) หนังสือเกี่ยวกับการเมือง-การปกครองของพรรคนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การสังหารหมู่ด้วยปืน และค่ายกักกัน บนโต๊ะทำงานของรอมเมลมีแฟ้มสำนวนคดีที่เขาอ่านค้างอยู่กองพะเนิน และแม้ว่าห้องทำงานของเขาจะกว้างใหญ่ แต่ก็อบอวลไปด้วยกลิ่นอับ

ทีมสืบสวนจากลุดวิกสบวร์กสแกนประวัติค่ายกักกันที่พวกนาซีใช้สังหารผู้คนอย่างเป็นระบบในช่วงเวลาหนึ่ง เยนส์ รอมเมลรับผิดชอบในส่วนของค่ายกักกันดาเคา เขากับทีมเดินทางไปยังแหล่งข้อมูลทั้งในโปแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ และอนุสรณ์สถานต่างๆ เพื่อรวบรวมเอกสารและหลักฐานที่หลงเหลือ

พวกเขาตรวจสอบแม้กระทั่งหลักฐานรายได้ รายชื่อการปรับเลื่อนหรือทดแทนตำแหน่ง ใบลาป่วย ใบประกาศนียบัตร และหลักฐานเกี่ยวกับการจัดจ่ายชุดเครื่องแบบ ทั้งหมด เพื่อสืบหาว่าใครปฏิบัติหน้าที่ในค่ายกักกันไหน ระยะเวลานานเท่าไหร่

ในการนี้ พวกเขาต้องใช้ทักษะความเฉียบแหลมด้านอาชญากรรม และความพิถีพิถัน – พิถีพิถันในทีนี้หมายความว่า พวกเขาต้องตรวจสอบให้ได้ว่ามีใครบ้างที่อพยพไปยังอาร์เจนตินา ไม่ว่าโดยทางเรือหรือทางเครื่องบิน ในช่วงหลังสงคราม โดยสืบค้นจากรายชื่อผู้โดยสารทั้งหมด รวมถึงบันทึกข้อมูลการเข้าเมืองจำนวนหลายสิบกล่อง

แม้ว่าทีมสืบสวนจะไม่สามารถเรียงลำดับการสืบค้น ไม่สามารถดักฟังโทรศัพท์ ไม่สามารถขอพิกัดตำแหน่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งแทบไม่ได้สอบถามพยานเพิ่มเติมอีก แต่พวกเขาสามารถประเมินข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่มี แล้วนำมาต่อเป็นภาพจิกซอว์

พวกเขาลิสต์รายชื่ออดีตเจ้าหน้าที่ประจำค่ายกักกันลงโปรแกรมเอ็กเซล และตรวจสอบดูว่าใครยังมีชีวิตอยู่บ้าง ใครยังได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ หรือใครบ้างที่ยื่นจดทะเบียนสำเนาทะเบียนบ้าน หากว่าใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในอดีตยังมีชีวิตอยู่ รอมเมลก็จะรวบรวมรายชื่อส่งถึงฝ่ายอัยการ เพื่อขออนุมัติในการสืบสวน

อย่างไรก็ตาม มันต้องใช้เวลาหลายเดือน เนื่องจากอัยการมักจะต้องดูแลผู้ที่ถูกควบคุมตัวก่อน กว่าจะถึงชั้นศาลก็อาจใช้เวลานานถึงหนึ่งปี เขาไม่เพียงต้องสู้รบปรบมือกับระบบราชการ หากยังต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะบรรดาผู้ซึ่งเคยร่วมปฏิบัติงานในค่ายกักกันที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ปัจจุบันอายุ 91-99 ปีกันแล้ว จากจำนวนพันคนยังเหลืออยู่เพียงไม่กี่สิบคน ในหนึ่งปีรอมเมลสามารถสืบหาจนพบตัวผู้เคยกระทำความผิดราว 30 คนที่ยังมีชีวิต จำเลยคดีเอาชวิตซ์ 30 คน ทนายอัยการสามารถส่งฟ้องศาลได้ 5 คน มีสองคนเท่านั้นที่ศาลตัดสินความผิดไปแล้ว

สองคนนั้นคือ ออสการ์ เกิร์นนิง (Oskar Gröning) และไรน์โฮล์ด ฮันนิง (Reinhold Hanning) ซึ่งเคยเป็นพนักงานบัญชีและผู้คุมในเอาชวิตซ์ แต่ทั้งสองก็เสียชีวิตก่อนเข้ารับโทษจำคุก กว่าสิบปีมาแล้วที่ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับโทษจริงตามคำตัดสินของศาล รอมเมลบอกเล่าด้วยน้ำเสียงคล้ายสิ้นหวัง “มันน่าเศร้าที่ได้รู้เห็นว่า มีคนที่สมควรได้รับโทษกี่คน และมีคนที่เข้าสู่กระบวนการชั้นศาลจริงๆ กี่คน”

ภายในห้องทำงานของเยนส์ รอมเมลมีภาพวาดของดอน กีโฮเตแขวนประดับ นักรบผู้ต่อสู้กับกังหันลมของมิเกล เด เซร์บันเตส ซาอาเบดรา (Miguel de Cervantes Saavedra) คือวีรบุรุษในอุดมคติของเขา แต่สำหรับตัวเขานั้น เขาไม่คิดที่จะต่อสู้กับยักษ์หรือชายชราที่ป่วยไข้เพื่อเอาตัวพวกเขาเข้าคุก หากต้องการเพียงสร้างความกระจ่างและคืนความยุติธรรมให้กับอดีต ซึ่งเขาในฐานะทนายอัยการถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดครั้งนั้นควรรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

ระหว่างที่ยังเป็นนักศึกษา รอมเมลก็เคยสนใจและยุ่งเกี่ยวกับประเด็นอาชญากรรมสงคราม เคยร่วมต่อต้านการก่อการร้ายในเมืองคาห์ลสรูห์ และเคยเป็นทนายอัยการในคดีฆาตกรรมที่เมืองราเวนสบวร์ก ก่อนที่กระทรวงยุติธรรมของรัฐบาเดน-เวือร์สเทมแบร์กจะเสนอตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกลางฯ แก่เขา รอมเมลใช้เวลาไตร่ตรองอยู่นานสี่วันก่อนตกปากรับคำ เขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ หรือพูดให้ดีกว่านั้นคือ เป็นส่วนหนี่งในการทำประวัติศาสตร์ให้กลับมาดีอีกครั้ง

ตอนที่เข้ารับตำแหน่งในสำนักกฎหมายกลางฯ เขาสัมผัสได้ถึงความไม่พอใจของคนในสังคม ถึงขั้นขู่ฆ่า ทุกวันนี้ก็ยังมีจดหมายขู่เอาชีวิตหรือด่าทอเขาอยู่ประปราย แต่รอมเมลไม่ตอบโต้อะไร เขาบอกว่าเขาไม่กลัว แต่บางครั้งก็รู้สึกแปลกๆ

เวลาที่รอมเมลต้องการพัก เขามักเดินไปชงกาแฟบริเวณด้านหลังของอาคาร และช่วงบ่ายเขาจะนั่งร่วมวงดื่มกาแฟกับเพื่อนร่วมงาน พูดคุยเรื่องฟุตบอลหรือการเมือง แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานช่วยได้มาก เขากับทีมนักสืบมักจัดทริปเดินทางไปพักผ่อนร่วมกันปีละครั้ง ถ้าไม่เที่ยวตามเมืองต่างๆ ก็จะพากันไปเดินป่า เคยมีนักสืบบางคนเหมือนกันที่ต้องลาออกจากงานหน้าที่กลางคัน เหตุเพราะทำใจยอมรับความโหดเหี้ยมของเรื่องราวที่ตนเองยุ่งเกี่ยวอยู่ไม่ได้ รอมเมลเองก็บอกว่า ยังดีที่ภาพถ่ายที่เขาต้องเห็นเหล่านั้นเป็นภาพขาว-ดำ ที่ช่วยให้รู้สึกทิ้งระยะห่างได้บ้าง

หากว่าปีต่อๆ ไป ผู้เคยกระทำความผิดทั้งหลายเสียชีวิตไป รอมเมลก็คงไม่มีภารกิจอะไรที่จะต้องทำที่สำนักกฎหมายกลางฯ อีกแล้ว ถึงตอนนั้นเขาคงกลับไปทำงานเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมหรือฆาตกรรมในยุคปัจจุบันแทน และบางทีเขาอาจจะปล่อยวางเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตลงได้บ้าง

แต่จะให้ลืมนั้น เขาทำไม่ได้

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,