1.

“เมื่อตื่นมาเห็นข่าวรัฐประหารที่เมียนมา เราแค่อยากหลับตาลงอีกครั้งแล้วขอให้เป็นเพียงฝันร้าย”

มันคือเช้าวันจันทร์ เช้าแรกของเดือนกุมภาพันธ์ที่อึมครึมกว่าทุกวัน เช้าที่ยังไม่ทันได้จิบชาหรือหิ้วปิ่นโตจูงมือลูกไปโรงเรียน เช้าที่หญิงสาวยังเต้นแอโรบิกไม่ทันจบเพลง… 

“เป๊งๆ แป๊งๆ ปี๊ด ปี๊ดดดดดดดด” เสียงตีหม้อ เคาะกะละมัง บีบแตรรถ รวมทั้งเสียงจากสารพัดภาชนะที่พอหาได้ใกล้มือ ดังระงมไปทั่วทุกหัวมุมถนนในเวลาสองทุ่ม ตามเวลาท้องถิ่นของเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ความอัดอั้นตันใจปะทุขึ้นอย่างพร้อมเพรียงโดยไม่ต้องซักซ้อม หลังอดีตอันโหดร้ายหวนกลับคืนมา เมื่อพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่านำคณะก่อรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนอีกครั้ง เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

คล้อยหลังไม่กี่วัน ประชาชนก็ลุกฮือลงถนน ก่อนขยายข้ามเขตแดนออกเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ชาวพม่าจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมอารยะขัดขืน (CDM) ต่อสู้กับกองทัพพร้อมกับพี่น้องร่วมชาติ เพราะนี่คือ ‘โดะ อะเย’ หรือ ‘เจตจำนงของพวกเรา’ ภารกิจสำคัญที่เหล่าประชาชนต้องทวงอนาคตของตนเองกลับคืนมา

เช่นเดียวกับที่แม่สอด จังหวัดตาก เมืองชายแดนอันมีชุมชนชาวพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ไม่ได้มีการรวมตัวชุมนุมใหญ่แบบเมืองหลวงหรือเชียงใหม่ เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิด-19 อันเข้มงวดในพื้นที่ แต่ข้อจำกัดนั้นก็มิอาจกั้นหัวใจที่ปรารถนาในเสรีภาพและประชาธิปไตยของพวกเขาได้ หัวใจที่จะไม่ยอมจำนนและก้มหัวให้อำนาจที่กดขี่พวกเขาอีกต่อไป 

“เริ่มต้นจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ทุกคนตื่นขึ้นมาแล้วเห็นข่าวว่ามีการรัฐประหาร เราก็ชวนกันว่าอยากร้องเพลงกะบ่ามะเจ่บู ใครสนใจบ้าง ทุกคนเลยมาร่วมกัน ซึ่งเพลงที่ร้องเป็นเพลงที่แสดงความรู้สึกว่าเราเสียใจมาก ตอนแรกที่ร้องเพลง เราแค่ต้องการแสดงความรู้สึกออกมา ทุกคนรู้สึกว่าเศร้า ต่อมาก็คิดว่าเราต้องช่วยมากกว่านี้” 

กลุ่ม Union Thai-Myanmar’s Border Youths เล่าถึงฝันร้ายในคืนแรกที่กองทัพพม่ากลับมายึดอำนาจประชาชน 

Union Thai-Myanmar’s Border Youths คือกลุ่มชาวพม่า (รวมทั้งชาวชาติอื่นผู้ร่วมอุดมการณ์) ในแม่สอดที่ก่อตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยแรกเริ่มเกิดจากการรวมกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักไม่กี่คนชักชวนกันมาจุดเทียนร้องเพลงปลดปล่อยความรู้สึกเศร้าเสียใจต่อประเทศและอนาคตของหนุ่มสาว รวมทั้งเป็นการส่งกำลังใจให้ครอบครัวและชาวพม่าอีกฝั่งประเทศ 

ตอนนั้นทุกคนออกมาด้วยใจ ไม่ได้คิดว่าจะมีหน้าที่หรือต้องทำอะไรต่อไป แต่สุดท้ายมีการปรึกษาหารือคุยกันในกลุ่มว่าอยากช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติมากกว่านี้ อยากมีส่วนร่วมกับประเทศของตัวเองมากกว่านี้ และจำเป็นต้องทำอะไรให้มากกว่านี้ จึงได้ตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาทำงานสื่อสารขนานไปกับการขับเคลื่อนในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำอารยะขัดขืนต่อต้านเผด็จการจากอีกฟากของพรมแดน

2.

“เรามาจากหลากหลายที่ แต่เป้าหมายของเราเหมือนกัน คืออยากให้ประเทศเรามีประชาธิปไตย”

เมื่อกองทัพพม่าเผชิญหน้ากับกระแสต่อต้านจากประชาชนอย่างคาดไม่ถึง จึงทำการระงับสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต เพื่อตัดช่องทางการเชื่อมต่อของผู้ประท้วงและปกปิดความเลวร้ายจากหูตาของชาวโลก ในขณะที่ซิมการ์ดบางประเภทยังใช้งานได้ ปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นมหาศาลจนซิมการ์ดในเมียนมามีราคาพุ่งพรวด และสินค้าก็ขาดตลาดไปอย่างรวดเร็ว ภารกิจข้ามดินแดนจึงได้เริ่มขึ้น โดยสมาชิกในกลุ่มเล่าถึงการช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า

“แม้เราจะมาจากหลากหลายที่ แต่เป้าหมายของเราเหมือนกันคืออยากให้ประเทศเรามีประชาธิปไตยเหมือนประเทศอื่น ต่างคนต่างมีใจอยู่แล้วว่าอยากจะช่วยเหลือ เริ่มจากพวกเรากันเองก่อนด้วยการช่วยบริจาค พอได้เงินมาก็คิดกันต่อว่าจะใช้เงินเหล่านั้นเพื่อช่วยทางฝั่งเมียนมายังไงได้บ้าง

“ช่วงแรกที่กองทัพพยายามตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต เราก็สนับสนุนหาซื้อซิมส่งไปให้ คนที่นั่นจะได้ใช้สื่อเผยแพร่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ หรือคนที่อยากเข้าร่วมอารยะขัดขืน แต่มีความเสี่ยงในหน้าที่การงาน เช่น ตำรวจ 40 กว่านายที่ร่วมประท้วงในรัฐกะยาห์ ประชาชนเขาออกมาช่วยปกป้องเราก็สมทบทุนไปช่วยด้วยอีกแรง”

นอกจากทางกลุ่ม Union Thai-Myanmar’s Border Youths จะระดมเงินบริจาคจากชาวพม่าในแม่สอดแล้ว พวกเขาก็นำทุนส่วนหนึ่งแบ่งมาทำเสื้อยืดขายระดมทุนต่อยอดเพื่อการสนับสนุนผู้ประท้วงอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ภายใต้สถานการณ์ในประเทศที่ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกวัน เริ่มจากมีการลงถนนชุมนุมในย่างกุ้งเป็นที่แรก ต่อมาม็อบก็กระจายไปทั่วทุกเมืองทุกรัฐ ประชาชนหลากหลายกลุ่ม รวมถึงข้าราชการ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ หรือแม้แต่ตำรวจบางคนก็ออกมาร่วมอารยะขัดขืนตามแคมเปญ #ရုံးမတက်နဲ့ရုန်းထွက် หรือการชวนให้หยุดงานออกมาประท้วงร่วมกับพี่น้องประชาชน

“พวกข้าราชการที่เข้าร่วมอารยะขัดขืนจะถูกกดดัน ไล่ล่า และจับกุม แต่ถ้าเราต่อสู้สำเร็จมันจะเกิดผลดีต่ออนาคตของเขาและลูกหลานของพวกเขา ตอนนี้คนที่มาเข้าร่วมอารยะขัดขืนมาด้วยใจล้วนๆ ไม่มีใครมาคอยปกป้องให้แน่ใจว่าถ้าคุณร่วมอารยะขัดขืนคุณจะไม่เป็นอะไรนะ ไม่ถูกไล่ออกจากงานนะ ทุกคนคือตัวใครตัวมัน และที่เราช่วยได้ก็คือการสนับสนุนคนที่ออกมา เรามองว่าถ้าประชาชนออกมาประท้วงฝ่ายเดียวมันไม่มีทางสำเร็จแน่นอน เพราะอดีตที่ผ่านเป็นแบบนั้น แต่ครั้งนี้พวกข้าราชการออกมาด้วย เราจึงอยากช่วยสนับสนุนในช่องทางที่เราทำได้” 

แต่ละวันจะมีคนออกมาประท้วงจนเต็มถนน ยิ่งประชาชนออกมามากเท่าไหร่ กองทัพพม่าก็ยิ่งใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงมากขึ้นเท่านั้น โดยหวังว่าจะสร้างความหวาดกลัวและทำให้คนไม่กล้าออกมาชุมนุมกันอีก ทว่าในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิต จากศพแรกที่เสียงปืนดังลั่น ก็ตามมาด้วยกระสุนอีกนับไม่ถ้วน จนตอนนี้ประชาชนถูกกระชากเอาลมหายใจไปกว่า 701 ศพแล้ว (ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 11 เมษายน 2564) กองทัพพม่าลงมือสังหารคนโดยไม่สนว่าจะเป็นเด็กเล็ก คนท้อง หรือคนแก่ ยิงโดยไม่สนว่าจะอยู่ในบ้านหรือเพียงขับรถผ่าน แม้กระทั่งกับศพก็ถูกผ่าชำแหละกลางอกอย่างน่าสยดสยอง ลงมือทำอย่างเลือดเย็น ไร้ซึ่งสามัญสำนึกและหัวจิตหัวใจ

“วันแรกที่รู้ข่าว เรารู้สึกสูญเสียอนาคต สูญเสียประเทศ พอเริ่มมีคนเข้าร่วมอารยะขัดขืนมากขึ้น เราก็สูญเสียบุคคลที่ออกมาประท้วงมากขึ้นๆ ทุกวัน เรารู้สึกแย่มาก มันเป็นความสูญเสียอีกครั้ง มีคนเข้าร่วมเยอะก็จริง แต่ก็มีคนตายและถูกจับทุกวัน มันทำให้เรารู้สึกเกลียดทหารและตำรวจยิ่งกว่าเดิม เขาพรากสิทธิมนุษยชนของพวกเรา เขาทำร้ายพวกเรา รัฐบาลพยายามเผยแพร่ข่าวปลอมให้คนข้างนอกเห็นว่าเขาเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน แต่เราก็เห็นอยู่ทุกวันว่ามีการสูญเสีย เรายังได้ยินเสียงปืน ได้ยินเสียงคนประท้วง สิ่งเหล่านี้มันทำให้ประชาชนยิ่งเกลียดและไม่ศรัทธารัฐบาลอีกต่อไป” 

ความอัดอั้นพรั่งพรูออกมาจากปากสมาชิกคนหนึ่ง ไม่ต่างจากความรู้สึกของเพื่อนในกลุ่มที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาตอนนี้ 

3.

“ถ้าด่านเปิดก็คงไปตั้งนานแล้ว เราอยู่ฝั่งนี้ก็พยายามช่วยสนับสนุนเบื้องหลังอารยะขัดขืนแทน”

ประชาชนถูกปิดกั้น ห้ามพูด ห้ามคิดต่าง ห้ามทุกอย่างภายใต้การถูกกดทับจากอำนาจที่มีอาวุธชี้เป็นชี้ตายอยู่ในมือ แต่ความคิดสร้างสรรค์ของชาวพม่าในการหาหนทางออกมาต่อต้านกองทัพกลับส่องสว่างอย่างที่สุด ท่ามกลางความมืดหม่นในเวลานี้ ทุกๆ วันจะมีแคมเปญประท้วงจนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก นับเป็นหัวใจหลักของการต่อสู้แบบเยาวชนเจนเนอเรชั่น Z เลยก็ว่าได้ 

สมาชิกในกลุ่ม Union Thai-Myanmar’s Border Youths เล่าถึงเหตุการณ์นัดชุมนุมใหญ่ #၂၂၂၂၂ หรือ #22222 ซึ่งถือเป็นการลุกฮือของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างครั้งนี้ว่า  

“วันที่ 22 เดือน 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา นับว่ามีคนออกมามากที่สุดในประวัติศาสตร์เมียนมาเลย ไม่มีแกนนำ ทุกคนออกมาด้วยใจ ยิ่งกว่าในยุค 8-8-88 เพราะตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา แต่ครั้งนี้รวมประชาชนหลากหลายมาก ตั้งแต่เจน X, Y และ Z มารวมกัน ต่างคนต่างเอาศักยภาพในแบบของรุ่นตัวเองออกมาใช้ร่วมกัน รูปแบบวิธีการประท้วงก็ต่างกัน ยุคก่อนนั้นข่าวสาร สื่อต่างๆ ถูกปิด รัฐบาลพยายามปล่อยข่าวปลอมและคนก็เชื่อ ระหว่างประชาชนกันเองก็ไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เรามีเทคโนโลยี ทุกคนช่วยกันบันทึกและเผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์” 

เมื่อถามต่อว่าอยากไปร่วมต่อสู้ที่เมียนมาไหม? ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากไปมาก”

“ถ้าด่านเปิดก็คงไปตั้งนานแล้ว ทุกคนอยากไปแต่ไปไม่ได้ เราอยู่ฝั่งนี้ก็พยายามช่วยสนับสนุนเบื้องหลังอารยะขัดขืนแทน ทำในแบบที่เราทำได้” 

หนึ่งในสมาชิกกล่าวเสริม เรียกได้ว่าเป็นกองกำลังหนุนหลัง เป็นทีมงานหลังบ้านอย่างแท้จริง ก่อนจะเล่าต่อว่าพวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าการประท้วงครั้งนี้จะจบลงในเร็ววัน พวกเขารู้ว่ามันไม่ง่าย วันหนึ่งประชาชนคงจะต้องท้อแท้และเหน็ดเหนื่อย แต่พวกเขาคิดว่าถ้าทุกคนออกมาร่วมกันทำอารยะขัดขืนมากขึ้นกว่านี้ ทุกคนร่วมกันสู้ ชัยชนะก็จะมาสู่ประชาชนเร็วขึ้น 

การทำงานหนุนหลังอารยะขัดขืนในเมียนมาของกลุ่ม Union Thai-Myanmar’s Border Youths ไม่ได้แยกขาดจากแคมเปญขับเคลื่อนหลักภายในประเทศ อย่างในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เป็นวันทะนาคาที่มีการชวนคนออกมาทาทะนาคาต้านเผด็จการตามแคมเปญ  #သနပ်ခါးတိုက်ပွဲ หรือ #thanakaday คนในกลุ่มก็ชวนกันมาแต่งกายแบบเมียนมาและทาทะนาคาร่วมกิจกรรมประท้วงนี้ แม้จะเป็นการรวมตัวกันในกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม แต่พวกเขาก็พยายามเป็นอีกพลังขับเคลื่อน เป็นอีกเสียงที่ถูกส่งข้ามไปจากชายแดน

วันเวลาของการต่อสู่เดินมาถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เหล่าพันธมิตรชานมเพื่อนร่วมอุดมการณ์จากหลายชาติก็ชวนกันออกมาต้านเผด็จการอย่างพร้อมเพรียงในแคมเปญ #MilkTeaAlliance กลุ่ม Union Thai-Myanmar’s Border Youths จึงมีความพยายามนัดหมายอย่างลับๆ รวมตัวใหญ่เพื่อเดินประท้วงกันอีกครั้ง หลังเคยพยายามรวมกลุ่มใหญ่มาแล้วก่อนหน้านี้

แม้โมงยามพระอาทิตย์จะคล้อยต่ำ ม็อบเล็กๆ ก็แบ่งกลุ่มย่อยเดินไปตามท้องถนนตัดใหม่ในแม่สอด มือหนึ่งถือป้ายประท้วง มือหนึ่งถือแก้วชานม พร้อมติดโบว์แดงและใส่แมสก์ ‘MTA’ ในจังหวะที่กำลังถ่ายรูปรวมเป็นที่ระลึก หลังเดินกันครบรอบถนนพอให้เหงื่อออก เหล่าผู้ชุมนุมก็ต้องพากันระทึกเมื่อมีแขกไม่ได้รับเชิญมาเยือน

เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยหลายสิบนายเข้ามาหาและขอให้ยุติการชุมนุมทันทีโดยให้เหตุผลเรื่องโควิด-19 ว่าอาจทำให้ชาวบ้านในแม่สอดไม่สบายใจ หากมีผู้ติดเชื้อขึ้นมาอีกจะเป็นเรื่องใหญ่   ใครๆ ก็รู้ว่านั่นคือข้ออ้างห้ามม็อบ ข้ออ้างอเนกประสงค์ที่ถูกหยิบจับมาใช้ง่ายและใช้บ่อยมากที่สุดในช่วงเวลานี้

“วันนี้ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว ความตั้งใจของพวกเราถูกสื่อสารออกไปแล้ว” 

หนึ่งในสมาชิกกลุ่มตบบ่าบอกกล่าวพร้อมรอยยิ้ม แม้เราจะไม่ทันได้มีรูปหมู่ร่วมกันก็ตาม 

4.

“ถ้าตอนนี้เราไม่ออกไปต่อสู้ ชีวิตของเราที่เหลือหลังจากนี้มันก็อันตรายเหมือนกัน

หลังจากนั้น 5 วัน หนึ่งในพันธมิตรชานมที่เดินด้วยกันอยู่แม่สอด กลับไปโผล่อยู่กลางเมืองย่างกุ้งซึ่งปัจจุบันไม่ต่างอะไรกับสนามรบ เพียงแต่ประชาชนใช้หัวใจที่กล้าหาญเป็นอาวุธสู้กับกระสุนปืนของกองทัพพม่า

กว่าสองเดือนของการยึดอำนาจและการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเลือดเย็น

กว่าสองเดือนของการต่อต้านเผด็จการด้วยหัวใจที่สุดแสนจะกล้าหาญของประชาชน

กว่าสองเดือนของลมหายใจและอนาคตที่ถูกกระชากลากเอาไปอย่างไม่หวนคืน

ทุกค่ำคืนที่ยังต้องข่มตาลงด้วยความโศกเศร้ากับหนุ่มสาวที่ร่วงหล่นลงคนแล้วคนเล่า ทุกวันยังต้องลืมตาขึ้นมาด้วยความโกรธเกรี้ยวกับความโหดเหี้ยมไม่รู้จักพอของเหล่ากองทัพผู้บ้าคลั่ง แม้ความหวาดกลัวจะแผ่ซ่านซึมไปทั่วทุกอณูของประเทศ แต่นั่นไม่สามารถทำให้ชาวพม่าหยุดออกมาต่อต้านกองทัพ กลับทำให้พวกเขายิ่งออกมาต่อสู้กันมากขึ้น ตั้งแต่คืนแรกของการรัฐประหาร ตั้งแต่ตะวันขึ้นยันตะวันตกดิน จนกระทั่งถึงวันนี้ วินาทีนี้ สู้กันแบบมือเปล่า ทั้งที่รู้ว่าเจ้าหน้าที่มีอาวุธครบมือ ทั้งที่รู้ว่าอาจต้องแลกกับเลือดเนื้อและลมหายใจ

“ผมรู้สึกว่าจะดีกว่าถ้าได้ไปสู้ในสนาม ก็เลยกลับไป” หนุ่มน้อยวัย 20 ปี หนึ่งในกลุ่ม Union Thai-Myanmar’s Border Youths เล่าถึงการตัดสินใจอันมุ่งมั่นและกล้าหาญหลังจากร่วมเดินประท้วงในแคมเปญ #MilkTeaAlliance ที่แม่สอดด้วยกันและเลือกที่จะกลับไปร่วมต่อสู้กับประชาชนในเมียนมา 

จากกองกำลังหนุนหลังของผู้เข้าร่วมกระทำการอารยะขัดขืนก็ผันตัวมาเป็นนักสู้แนวหน้าที่ไร้อาวุธใดๆ นอกจากหน้ากากอุปกรณ์ป้องกันตัวซึ่งทางกลุ่มซื้อสนับสนุนส่งไปให้ นับเป็นอีกช่องทางเล็กๆ ที่ทางกลุ่มพอจะทำได้จากอีกฝั่งแดน 

เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีรา ขณะอยู่ในสมรภูมิการต่อสู้ที่เมียนมาว่า 

“ทุกคนกลัวว่าจะเจ็บ กลัวว่าจะถูกฆ่า แต่ขณะเดียวกัน มันน่ากลัวมากกว่าถ้าคิดถึงสิ่งที่ทหารจะทำกับพวกเราหากพวกเขาชนะ และนั่นคือสิ่งที่คนรุ่นเก่ายังไม่เข้าใจในตอนนี้ คนรุ่นเก่าเอาแต่บอกว่าอย่าออกไป มันอันตราย แต่ถ้าตอนนี้เราไม่ออกไปต่อสู้ ชีวิตของเราที่เหลือหลังจากนี้มันก็อันตรายเหมือนกัน”

ไม่มีคำไหนเหมาะที่จะชื่นชมความกล้าหาญของพวกเขา ชาวพม่าที่ออกมาต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมกลับมา ได้ดีกว่าคำว่าน่านับถืออีกแล้ว หัวใจของพวกเขาช่างกล้าแกร่งและน่านับถือจริงๆ

5.

“เราสู้เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อเด็กรุ่นใหม่ ที่จะได้อยู่ในประเทศ”

แม้แรงงานข้ามชาติหลายคนจะมาทำงานอยู่ที่ประเทศไทยนานกว่าสิบปี รวมถึงสมาชิกบางคนในกลุ่ม Union Thai-Myanmar’s Border Youths แต่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหากวันใดวันหนึ่งประเทศเมียนมาดีกว่านี้ สำหรับการมีชีวิตอยู่อย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี ใครๆ ก็อยากกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดกับครอบครัวทั้งนั้น 

ภายใต้การปกครองโดยทหารมานานหลายทศวรรษ ในขณะที่ชนชั้นปกครองใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ประชาชนหลายคนกลับต้องแบกภาระและใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นมาโดยตลอด เกินกว่าครึ่งของประชากรในประเทศได้ค่าแรงขั้นต่ำ 100 บาทต่อวัน สำหรับเลี้ยงทั้งครอบครัว แต่กองทัพกลับมีทรัพย์สินมหาศาลจากการผูกขาดทรัพยากรในประเทศ ที่ใช้จ่ายในชาตินี้ทั้งชีวิตก็คงจะไม่หมด ภายใต้อำนาจที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้ใครได้เป็นเจ้าของความฝัน 

“มันมีคนอีกหลายคนไม่มีโอกาส จบมหาวิทยาลัยไปก็ไม่มีงานทำ หรือมีงานก็มีเงินเดือนน้อยมาก ในพม่ามีคนเก่ง ขยัน มีความสามารถที่จะทำให้ประเทศดีขึ้นเยอะมาก แต่ว่าโอกาสมันน้อย คนมีโอกาสคือลูกหลานของคณะรัฐประหาร ในอนาคตอยากเห็นว่าไม่ใช่เรียนจบมาแล้วขายหมากอยู่ข้างทาง อยากเห็นเด็กและเยาวชนมีงานรองรับ มีการศึกษาที่ดี ทำงานแล้วมีเงินพอกินพอใช้ ประเทศต้องมีความมั่นคง สนับสนุนให้เด็กมีความฝัน ให้โอกาสกับทุกคน ถ้าประเทศมีประชาธิปไตยจริงๆ ทุกคนจะมีโอกาสในชีวิตดีขึ้น” 

เป็นประโยคที่กลั่นออกมาจากใจของสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม ด้วยความกังวลต่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ในโมงยามนี้ 

แม้สมาชิกในกลุ่มไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในการต่อสู้เมื่อครั้งอดีต แต่พวกเขาต่างรับรู้บาดแผลอันน่าเจ็บปวดมาตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่ยังจำความได้ และแน่นอนว่าพวกเขาไม่อยากให้ลูกหลานต้องตกอยู่ในโลกแบบนั้นอีก 

“เรารู้ประวัติศาสตร์ เราอยู่ภายใต้เผด็จการและรัฐประหารมาตั้งแต่เด็ก มันเพิ่งจะมี ‘น้ำจิ้ม’ ของประชาธิปไตยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทุกคนพอจะรู้ว่าเรามีอินเทอร์เน็ตนะ เราสามารถพูดคุยกันได้ เราไปเรียนต่างประเทศได้นะ เราเห็นภาพคนที่เพิ่งเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ตอนนี้มีรัฐประหารอีกครั้ง มันเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกทรมานและแย่มาก เราจะพยายามสู้เต็มที่เพื่อไม่ให้ลูกหลานของเราต้องตกอยู่ภายใต้เผด็จการอีกต่อไป ตอนนี้คือเราสู้ ไม่ใช่เพื่อตัวเรา เราไม่มีผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้ แต่เราสู้เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อเด็กรุ่นใหม่ ที่จะได้อยู่ในประเทศ ซึ่งเราคิดว่าเราต้องชนะแน่นอน”

ต่างคนต่างพรั่งพรูสิ่งที่อยู่ในใจ ต่างคนต่างแลกเปลี่ยนถึงปรารถนาและความหวัง ต่อคำถามสุดท้ายที่ถูกถามย้ำออกไปอีกครั้งถึงอนาคตที่ว่าอยากเห็นลูกหลานมีชีวิตแบบไหนในประเทศ? และนี่คือคำตอบ

“Freedom from fear”

Tags: , , , , , ,