ทุกวันนี้ คุณเลือกซื้อหนังสือจากอะไร สำนักพิมพ์ คนเขียน หรือหน้าปก?

คงไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว แต่เป็นการคำนวณว่าทั้งหมดนี้รวมกันทำให้ใจสั่นสะท้านพอจะหยิบเงินจ่ายไหม และเมื่อเราสามารถอ่านแทบทุกอย่างได้ผ่านหน้าจอ หนังสือก็เป็นมากกว่าสื่อเพื่อการอ่าน แต่กลายเป็นสินค้าเพื่อการสะสม ที่หลายคนต้องถามตัวเองก่อนว่า อยากเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้บนชั้นที่บ้านของตัวเองหรือเปล่า

จึงเป็นหน้าที่นักออกแบบที่จะสร้างสรรค์งานปกให้โดดเด่นออกจากปกนับพันนับหมื่นที่มีอยู่ในตลาดหนังสือ เมื่อร้านหนังสือหลายร้านปิดตัว หรือไม่บางแห่งก็ขยับโยกย้ายที่ทางของหนังสือให้เป็นเพียงสินค้าชนิดหนึ่งในร้าน พื้นที่ของหนังสือจึงหดแคบลง

นักออกแบบคนหนึ่งเคยพูดติดตลกไว้ว่า สักวันเขาคงต้องออกแบบสันให้สะดุดตากว่าใคร เพราะพื้นที่ในการวางหนังสือนั้นน้อยลงทุกที

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ภายใต้ความร่วมมือกับ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGa) จึงได้จัดโครงการ 100abcd โครงการคัดเลือกหนังสือออกแบบปกและรูปเล่มดีเด่น รวมทั้งหมด 100 เล่ม เพื่อนำไปจัดแสดงในพื้นที่ต่างๆ เป็นกำลังใจให้นักออกแบบ ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง พิเศษตรงที่มีงานเสวนา ‘Uncover the Cover เปิดปกไม่ปกปิด’ ที่พานักออกแบบมืออาชีพมาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ด้วย

แม้เราจะตัดสินหนังสือที่หน้าปกไม่ได้ แต่ฝีมือของนักออกแบบปกที่อยู่บนหน้าปกนั้น เป็นสิ่งที่ตัดสินได้ และอาจถึงขนาดกำหนดชะตากรรมของหนังสือนั้นในตลาดหนังสือด้วย

 

สันติ ลอรัชวี ความคิดเที่ยวเล่นจนเป็นคำตอบ

“ผมใช้วิธีคิดกับการออกแบบหนังสือว่ามันควรจะเป็นอ็อบเจ็กต์” สันติ ลอรัชวี แห่ง ‘แพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ’ กล่าว

เขากล่าวว่า ในเมื่อทุกวันนี้ การอ่านเป็นสิ่งที่ทำผ่านทั้งหน้ากระดาษและหน้าจอ หากเราออกแบบหนังสือให้ตอบสนองความพอใจทางสายตาเพียงอย่างเดียว ก็คงมีสิ่งอื่นมาทดแทนได้ แต่หากทำหนังสือให้สนองความพอใจทั้งสัมผัส การได้ยิน และการดมกลิ่น คงยังไม่มีอะไรมาแทนที่เร็วๆนี้

เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า การพาหนังสือไปสู่สายตาคนอ่านในยุคนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นบนชั้นวางในร้านหนังสืออีกต่อไป ซึ่งนั่นก็ทำให้ต้องคิดปกอย่างละเมียดละไมมากขึ้น

“เดี๋ยวนี้คนอ่านไม่ได้เห็นหนังสือบนแผง แต่เดี๋ยวนี้เขาเห็นบนเฟซบุ๊ก เราจะเห็นรูปดิจิทัลม็อกอัปเยอะมาก แล้วก็คิดว่าเล่มนั้นก็น่าอ่าน เล่มนี้ก็น่าอ่าน ในเมื่อมันสวยกว่าภาพถ่าย ความคาดหวังของคนซื้อจะสูงขึ้น เราต้องทำให้สวยกว่าในจอ โดยการใช้องค์ประกอบต่างๆ เริ่มตั้งแต่ความประณีตในการผลิต”

เนื่องจากสันติมองว่าการออกแบบปกคืองานอดิเรกสำหรับเขา จึงเลือกทำปกหนังสือเล่มที่เคยอ่านแล้ว และมีการนำกลับมาพิมพ์ซ้ำ โดยเฉพาะเล่มที่เขาชอบในอดีต อย่างหนังสือ มูซาชิ ที่เพิ่งจัดพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์

“ถ้าเราอ่านแล้ว และเราชอบ มันมีเรื่องเล่าอยู่ภายในหัว การทำงานก็จะเร็ว เล่มมูซาชิผมอ่านแล้ว เรามีภาพในหัวว่าจะทำอย่างไร วิธีคิดของผมก็คือ ปกหนังสือเป็นภาพนิ่งของชุดเรื่องเล่า มันคือคีย์อิมเมจของเรื่องเล่า คุณก็เลือกมันออกมาเป็นตัวแทนของทั้งหมด”
ผลที่ออกมาคือรอยดาบฟันทิ้งเส้นสีดำบางเฉียบบนพื้นสีขาวล้วน มีอักษรคำว่า ‘มูซาชิ’ แบบบางอยู่มุมขวาบนของปก
ง่าย เรียบ แต่ลึก
“ดาบหนึ่งดาบ ทำจากเหล็ก แต่ต้องเอาออกเพื่อให้มันคม” เขาอธิบายแนวคิด “ในมูซาชิมีเรื่องการลด การกำจัดตัวตน และดาบจะคมต่อเมื่อคุณเอาออกมาให้มากที่สุดโดยที่มันยังแข็งอยู่ ความคมและความน้อยจึงเป็นภาพที่ผมมอง และความคมทำให้กระดาษขาด”

สันติ ลอรัชวี

ถ้าเราอ่านแล้ว และเราชอบ มันมีเรื่องเล่าอยู่ภายในหัว การทำงานก็จะเร็ว

และเมื่อปกแรกนี้ขายหมด สำนักพิมพ์ก็มอบโจทย์ของการพิมพ์ครั้งที่สองว่าต้องเป็นปกสีดำ ซึ่งเขาไม่สามารถใช้มุกเดิมแล้วกลับสีขาวเป็นดำได้ เพราะจะให้ผลออกมาต่างกัน

“ผมก็ไม่ได้นั่งสเก็ตช์ แค่ทิ้งมันไว้ในหัวว่าจะทำอย่างไร ผมสอนหนังสือเด็กนะครับว่า ต้องทิ้งให้มันเดินเบาๆ ไปในหัว แต่คุณไม่ต้องไปซีเรียส ปล่อยให้มันอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก”

ผลก็คือ ปก มูซาชิ สีดำที่ดีไซน์บรรเจิดจนทำให้คนอ้าปากค้างและกำเงินรอ เป็นปกที่บังเกิดขึ้นชั่วแวบในรถยนต์ที่ติดอยู่ตรงแยกอโศก

“ผมรถติดอยู่ ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยนั่งพับใบเสร็จทางด่วน แล้วจู่ๆ ก็คิดปกออก

“เราคิดได้ต่อเมื่อเราไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับมัน ต้องถอยออกมาประมาณหนึ่ง สมองมันพยายามเรียนรู้อยู่แล้วว่าเรากำลังหาคำตอบ แม้ตัวเราจะลืมไปแล้วก็ตาม”

Fullstop หนังสือภาพที่คิดละเอียด

ฟูลสต๊อป เป็นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์นิยายภาพ (graphic novel) งานของพวกเขาจึงต้องใส่ใจรายละเอียดงานพิมพ์สีในแทบทุกหน้า

สมคิด เปี่ยมปิยชาติ เป็นทั้งนักออกแบบ บรรณาธิการ และเจ้าของสำนักพิมพ์ เขามีแนวคิดในการออกแบบปกและรูปเล่มโดยเน้นไปที่การใส่ใจและรู้จักกระดาษ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ ‘วิธีการทำงานกับกระดาษ’ เพื่อให้งานพิมพ์ออกมาเนี้ยบ ทั้งคุณภาพระดับสีและความต่อเนื่องของภาพบนหน้ากระดาษหน้าคู่ ไปจนถึงขั้นตอนในโรงพิมพ์

สมคิด เปี่ยมปิยชาติ

เขาตั้งข้อสังเกตว่า นักออกแบบบางส่วนยังมุ่งจุดสนใจแต่การออกแบบ แต่ไม่ได้ลงลึกมาถึงขั้นตอนการพิมพ์ แล้วยกให้เป็นเรื่องของโรงพิมพ์จัดการโดยลำพัง ทั้งที่ความรู้เกี่ยวกับกระดาษและการพิมพ์ จะช่วยประหยัดต้นทุนและลดความผิดพลาดได้มาก

“การที่เรารู้ให้ลึก มันจะมีประโยชน์กับทั้งระบบ เราเขียนเลย์เอาต์การพิมพ์ให้เลย พอไปถึงโรงพิมพ์ เราก็ช่วยเขาเช็กอีกที เราจะได้พุ่งไปจดจ่อกับการทำงานให้มันดีขึ้น ไม่ต้องมาหาแก้ปัญหาเดิมๆ เช่น พิมพ์สีไม่หนักพอ เป็นต้น”

สมคิดทำให้เราเห็นความใส่ใจกับการทำหนังสือที่แสนละเอียดอ่อนและมีขั้นตอนมากมาย แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ย้ำว่า เขาเพียงทำให้ดีที่สุดจนพิมพ์เสร็จออกมา หลังจากนั้นหากเกิดความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อย่างไร ก็ต้องไม่เก็บเอามาเครียด

“นักออกแบบควรไปโรงพิมพ์ เพราะหนังสือเล่มหนึ่งนั้นใช้เวลาเขียนคอนเทนต์เป็นปี ออกแบบกันอีกหลายเดือน แต่ใช้เวลาคลอดแค่วันเดียว คือวันที่ออกมาจากโรงพิมพ์ วันนั้นถือเป็นวันชี้ชะตา เรายอมไปโรงพิมพ์แต่เช้า รับรองลูกออกมาหน้าตาดีแน่นอน เพราะเราช่วยคุณหมอเขาคลอดด้วย” สมคิดพูดติดตลก แต่ทำให้เราเห็นภาพชัด

การที่เรารู้ให้ลึก มันจะมีประโยชน์กับทั้งระบบ

นอกจากการออกแบบเลย์เอาต์การพิมพ์บนกระดาษใหญ่ให้ได้สัดส่วนแล้ว กระดาษเล็กๆ ที่เป็นเศษเหลือจากการพิมพ์ เขาก็ออกแบบให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากมาย เช่น สมุดโน้ต ที่คั่นหนังสือ ฯลฯ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นจุดเด่นของสำนักพิมพ์ ที่คนเข้ามาถามหาสิ่งเหล่านี้พอๆ กับการซื้อหนังสือ

อย่างน้อยที่สุด เขาก็ได้ใช้ประโยชน์ทุกตารางนิ้วของกระดาษอย่างคุ้มค่า

“เราจะดีไซน์ขนาดเท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่เรา แต่รับผิดชอบชีวิตที่เหลือของกระดาษด้วย”

ด้วยหลักคิดที่มีกระดาษเป็นหัวใจ สมคิดจึงมองว่าการออกแบบปกที่ดีคือการประยุกต์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จากกระดาษไปเรื่อยๆ

“เราแปลงกระดาษเป็นทองได้”

 

มานิตา ส่งเสริม งานปกสไตล์โปสเตอร์

ในวงการออกแบบปกหนังสือ ปกที่ออกแบบโดย มานิตา ส่งเสริม เป็นหนึ่งในปกที่มีเสียงตอบรับฮือฮามากในระยะสองสามปีมานี้

มีทั้งคนชอบมากๆ เพราะมองว่าเป็นการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ในวงการออกแบบปก แต่บางคนก็มุ่นคิ้วด้วยความไม่เข้าใจว่าสวยตรงไหน

มานิตาเริ่มต้นงานกราฟิกดีไซน์ จากการเป็นผู้ช่วยออกแบบกราฟิกให้กับนิทรรศการต่างๆ ในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร งานของเธอจึงเป็นสไตล์กราฟิกอาร์ต

เมื่อได้มีโอกาสมาทำปกหนังสือเป็นเล่มแรก เธอปฏิบัติกับมันเป็นเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง และออกแบบปกให้เหมือนกับโปสเตอร์

“ตอนวางดีไซน์ เรามองภาพรวมทั้งปกหน้าและปกหลัง มันจะเกี่ยวเนื่องกันหมด”

มานิตา ส่งเสริม

งานของเธอดูเรียบง่าย แต่จริงๆ กระบวนการก่อนลงมือนั้นเข้มข้น

“ในการออกแบบ เราจะสร้างคีย์วิชวลออกมาเป็นอันดับแรก นั่นคือชื่อเรื่อง พอมันมีคีย์แล้ว เราจะมีทิศทางที่จะไปต่อได้”

เรื่องหนึ่งที่หลายคนประหลาดใจ คือมานิตาเป็นนักออกแบบปกที่นำเสนอปกให้ลูกค้าเพียงแค่ปกเดียว ครั้งเดียว ไม่มีตัวเลือกอื่น

“คนที่มาจ้างออกแบบปกเจ้าแรก เขาบอกเราว่า ทำให้เหมือนเป็นปกสุดท้าย” มานิตาอธิบายเหตุผล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีการทำงาน ‘จบในครั้งเดียว’

คนที่มาจ้างออกแบบปกเจ้าแรก เขาบอกเราว่า ทำให้เหมือนเป็นปกสุดท้าย

มองอย่างผิวเผินดูเหมือนเธอจะใช้เวลาทำงานไม่นาน แต่ความจริงแล้ว เธอชอบฟังคำอธิบายคอนเซปต์เนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นๆ เข้าไปให้มาก เพื่อเป็นวัตถุดิบก่อนจะกลั่นกรองและคิดงานปกออกมาเป็นปลายทาง บางครั้งการได้พูดคุยกับบรรณาธิการก็ทำให้เข้าใจความหมายของเรื่องราวในหนังสือไปไกลกว่าตัวอักษร

“อย่างปก Revenge เราชอบเวลาที่เจ้าของสำนักพิมพ์เล่า มันลึกกว่าที่ตัวเองอ่าน เขาจะเขียนอธิบายมา แล้วเราจับได้วลีหนึ่งคือ ‘ความนิ่งที่เดาไม่ได้’ จนกลายมาเป็นภาพอักษรลอยค้างกลางพื้นหลังสีชมพูอย่างที่เห็น”

Wrongdesign ลองผิดจนกลายเป็นถูก

กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล หรือ wrongdesign เริ่มต้นด้วยการเปิดภาพหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่ง พื้นหลังสีดำ มีตัวอักษรสีฉูดฉาดเล่นสีสลับกัน นั่นคือปกแรกที่เขาออกแบบให้สำนักพิมพ์โอเพนบุ๊คส์ ราวๆ ปี ’45-46 ทั้งที่ไม่ได้เรียนดีไซน์มาก่อน

“ผมไม่ค่อยเอางานนี้ไปแสดงที่ไหน เพราะมันเป็นปกที่ผิดหลักออกแบบทุกข้อ”

กรมัยพลบอกว่า ทั้งที่เนื้อหาของหนังสือน่าสนใจ รวบรวมบทสัมภาษณ์นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น แต่เพราะความอยากลองและอยาก ‘โชว์’ การนำเสนอมากกว่าฟังก์ชัน ทำให้หนังสือไม่ประสบความสำเร็จในตลาดอย่างที่คิด

“พอมันพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มจริง มันขายได้น้อยมาก งานที่เราทำมันมีผลต่อธุรกิจ มันทำให้หนังสือที่เนื้อหาดีๆ ขายไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราทำงานจบแล้วก็จบกัน”

งานที่เราทำมันมีผลต่อธุรกิจ มันทำให้หนังสือที่เนื้อหาดีๆ ขายไม่ได้

 

ทุกวันนี้ กรมัยพลเป็นนักออกแบบปกที่ผ่านงานออกแบบมาหลายสำนักพิมพ์

“ผมออกแบบมากว่า 500 ปก” เขากล่าว

แต่จำนวนปกที่เขาเคยออกแบบน่าจะมากกว่านั้น หากนับรวมปกที่ไม่ได้ใช้ เนื่องจากทุกครั้งที่ทำงานกับสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เขาจะนำเสนอปกร่างแรกราว 10 แบบ ไปเป็นตัวอย่างเสมอ และมีการปรับแก้รายละเอียด จนกว่าจะเข้ากับจริตของแต่ละสำนักพิมพ์ แม้ว่าบางครั้งจะเป็นงานเขียนของนักเขียนคนเดียวกัน แต่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ต่างกัน กรมัยพลก็ต้องพลิกมุมคิดเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยยึดเนื้อหาหนังสือและคาแร็กเตอร์ของสำนักพิมพ์เป็นหลัก และพร้อมจะปรับตามในรายละเอียด และเราเชื่อว่าเรื่องฝีมือของเขา ก็ไม่มีใครตั้งคำถาม

กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล

กรมัยพลเป็นนักออกแบบที่ยืนอยู่ในตำแหน่งผู้ทำสำนักพิมพ์ไปในตัว เขาเล่าว่าช่วงเวลากว่าสามปีที่เขาไปขายหนังสือเองที่บูธโอเพนเวิลด์สในงานหนังสือ ได้พบปะผู้อ่านที่เข้ามาซื้อหนังสือ และนั่นเองที่ทำให้เขา ‘รู้จัก’ ว่าคนอ่านคือใคร

นำไปสู่การออกแบบปกแต่ละปกโดยคิดถึงหน้าคนอ่าน หนังสืออย่าง ตำนานอาหารโลก: เบื้องหลังจานโปรดโดนใจคนทั่วโลก หรือ ประวัติศาสตร์กินได้ ออกมามีสีหวาน สดใส ซึ่งเขามองว่าน่าจะดูรื่นรมย์และดึงดูดผู้อ่านที่สนใจเรื่องอาหารการกิน

วันหนึ่ง หนังสืออาจเป็นของมีราคา เพราะการเข้าถึงความรู้และความรื่นรมย์จากการอ่านไม่ได้ผูกขาดอยู่กับหนังสืออีกต่อไป มันจึงกลายเป็นของที่ไม่จำเป็นตามความรู้สึกของคนทั่วไป แต่อีกเหตุผลก็อาจเป็นเพราะคนทำตั้งใจทำหนังสือให้ออกมาประณีต ใส่ใจรายละเอียด และใช้วัสดุอย่างดี มากกว่าแค่ตอบโจทย์รูปเล่มเดิมๆ

และเพื่อให้งานออกแบบปกยังคึกคัก มีพัฒนาการ และเป็นสีสันให้กับตลาดหนังสือต่อไป รศ.อารยะ ศรีกัลยาณบุตร แห่งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ฝากข้อความทิ้งท้ายถึงสำนักพิมพ์ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ว่า

“ขอให้จ่ายค่าตอบแทนนักออกแบบเยอะๆ”

 

ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

Tags: , , , , , , , , ,