หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา เติบโตมากที่สุด เสรีภาพถูกเปิดอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500

สิ่งที่ ‘ปะทุ’ ออก คือการเรียกร้องความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และการฝันตรงกันถึงอนาคตของคนหนุ่มสาว ของประเทศไทยในแบบที่พวกเขาอยากเห็น

โชคไม่ดีที่ห้วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังถูกกลืนกินด้วยลัทธิคอมมิวนิสม์ ขบวนการทั้งหมดถูกเหมารวมว่าเป็น ‘การเคลื่อนไหวเดียวกัน’ เพราะฉะนั้น ในสายตาของผู้มีอำนาจ การเคลื่อนไหวทั้งหมดจึงกลายเป็นการถูกหนุนหลังโดยจีน รัสเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่กำลังกระจายตัวทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลในเวลานั้นของหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ ‘อ่อน’ เกินไป ในสายตาชนชั้นนำ ในขณะที่ขบวนการนักศึกษาเติบโตขึ้น ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ก็ทำหน้าที่สองอย่างไปพร้อมๆ กัน หนึ่งคือ ทำลายขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน และสองคือ ทำลายรัฐบาลเพื่อหาทาง ‘ยึดอำนาจ’ รัฐบาลพลเรือน ทั้งหมดนี้ผสมรวมกันจนจบลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ปีนี้แตกต่างจากทุกปี ผู้จัดงานเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ภายใต้ชื่อว่า ‘5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’ หวนรำลึกกลับไปถึงวันที่ขบวนการเคลื่อนไหวยังมีฝัน มีความหวัง และมีอนาคต โดยทีมงานได้จัดทำ ‘กล่องฟ้าสาง’ เสมือนแคปซูลรำลึกที่ฝังไว้ใต้ดิน แล้วกลับมาเปิดอีกทีในอีก 45 ปีข้างหน้า เพื่อให้เห็นว่า ‘ความทรงจำ’ ในวันก่อนที่จะถูกทำลายไปด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น มีอะไรให้รำลึกถึงอยู่บ้าง

กล่องฟ้าสางผลิตขึ้นจำนวนจำกัดโดย Eyedropper Fill ทีมนักออกแบบ Rackscene Collective ทีมพร็อพภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง รวมถึง วิศรุต ศรีพุธสมบูรณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ เป็นผู้สร้างประสบการณ์พาเราย้อนเวลากลับไปวันนั้น โดยกล่องผลิตขึ้นมา 200 ชุด จำหน่ายในราคา 1,619 บาท และหมดทันทีที่เปิดสั่งจองเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

กล่องฟ้าสางถูกส่งมาที่ The Momentum เพื่อให้เราค่อยๆ คลี่ความทรงจำที่ซ้อนทับอยู่ทีละเรื่อง ทีละอย่าง จากการพยายามค้นคว้าข้อมูล การสัมภาษณ์คนเดือนตุลาฯ หลายสิบคน ผ่านทั้งภาพถ่าย คอร์ดกีตาร์ เนื้อเพลง บทกวี ชอล์กเขียนกระดานดำ แป้งเปียก แปรงทาสี ฟิล์มสไลด์ QR Code พาไปฟังเสียงบรรยากาศจริง ไปจนถึงจดหมายจากคนเดือนตุลาฯ ที่ฝากถึงคนรุ่นหลัง . ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่อยู่ภายในกล่อง…

 

 

หยุดทุกอย่างไว้ ณ วันที่ 5 ตุลาคม…

5 ตุลาคม 2519 ทุกอย่างยังเดินไปอย่างปกติ แม้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีการชุมนุมของนิสิตนักศึกษานับหมื่น เพื่อต่อต้าน จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุในวัดบวรนิเวศวิหาร แต่การชุมนุมนั้นก็ควรจะเป็นการชุมนุมทั่วไป เหมือนกับการชุมนุมนับร้อยนับพันครั้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ในช่วงเวลา ‘ยุคทอง’ ของนักศึกษา ของประชาชน ของชาวนา และของกรรมกร

กล่องฟ้าสาง หยุดเวลาก่อนที่จะผ่านวันที่ 5 ตุลาคม ด้วยภาพอัดขาวดำ และคำบรรยายหลังรูป เพื่ออธิบายว่า ณ วันนั้น เกิดอะไรขึ้น

ภาพหนึ่งได้รับบริจาคโดยอดีต ‘การ์ดรักษาความปลอดภัย’ เขียนด้วยลายมือว่า

“เดินขบวนคล้องแขนรักษาความปลอดภัย เกิดมาก็เพิ่งเคยเดินกลางถนนวันนี้” พร้อมกับลงเวลาที่ถ่ายรูปไว้ว่า ตุลาคม 2516

อีกภาพหนึ่ง มีคำบรรยายภาพหลังภาพ เขียนไว้ว่า “ท่ามกลางแดดร้อนระอุ แต่ใจเราไม่ท้อ ขอไล่ไอ้พวกทรราช” 

ภาพถ่ายจำนวนมากถูกอัดเข้ามาใหม่ อุปกรณ์หลายอย่างถูกจำลองขึ้นมาในกล่องฟ้าสาง ทั้งเพื่อให้คนเดือนตุลาฯ หวนกลับไปคิดถึงวันวาน ก่อนที่ชีวิตจะเปลี่ยนไปแบบไม่อาจหวนกลับ และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่านักศึกษา – คนเดือนตุลาฯ ทุกคน ก็คือ ‘มนุษย์’ และคนที่มีความฝัน ความหวัง ในการเห็นบ้านเมืองที่ดีขึ้น เห็นสังคมที่ดีขึ้นแบบเดียวกับพวกเขา

และถ้าไม่มีเหตุการณ์ในอีก 1 วันถัดมา ที่ซึ่งอำนาจแห่งความป่าเถื่อนพรากความเป็นมนุษย์ออกไปจากพวกเขา หลายคนต้องถูกคุมขัง หลายคนต้องหนีเข้าป่า หลายคนลี้ภัยออกไปต่างประเทศ หลายคนต้องเสียชีวิต และหลายคนถูกทารุณกรรมกับศพ ราวกับไม่ใช่มนุษย์…

ชีวิตของพวกเขา ก็คงดำเนินไปตามปกติ ปกติเหมือนกับคนอื่นๆ ปกติ เหมือนกับพวกเรา

ความรุนแรงที่ไม่เคยได้รับการสะสาง

หากมองย้อนกลับไป นักประวัติศาสตร์ทุกคนเห็นตรงกันว่า ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จริงอยู่ แต่ขบวนการนักศึกษาสามารถล้ม 3 เผด็จการ จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ได้ แต่ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไขได้ด้วยการไม่เรียกร้อง ด้วยการไม่ต่อสู้

ค่าแรงกรรมกรในปี 2516 นั้นอยู่ที่วันละ 12 บาท และเมื่อสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดแรงขึ้น การต่อสู้เริ่มเห็นเค้าลางของชัยชนะ กรรมกรก็นัดหยุดงานบ่อยขึ้น ปี 2517 กรรมกรนัดหยุดงานเพื่อขอขึ้นค่าแรงสูงถึง 357 ครั้ง ปี 2518 กรรมกรนัดหยุดงานกว่า 241 ครั้ง

ในเวลาเดียวกัน ชาวนาก็เริ่มลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ชาวนาจำนวนมากในประเทศนี้ ณ ปี 2516 ไม่เคยมีปากมีเสียง ไม่เคยได้รับความเป็นธรรมใดๆ ก็ลุกขึ้นมาพร้อมกัน โดยขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร แก้ไขราคาผลผลิตตกต่ำ และแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร

ในที่สุด สามประสานก็รวมพลังกัน ขบวนการนักศึกษาจับมือกับกรรมกร จับมือกับชาวนา ต่อสู้ในประเด็นเดียวกัน คือการเรียกร้องความเป็นธรรม และการมองเห็นคนทุกคนเท่ากัน
แต่ช่วงเวลานั้นก็อยู่ได้ไม่นาน ในปี 2518 ผู้นำชาวนาถูกลอบสังหารกว่า 21 คนภายในปีเดียว ขณะที่ผู้นำนักศึกษาก็ถูกลอบยิง ลอบทำร้าย จนเสียชีวิตอีกมาก

ความรุนแรงเหล่านี้ไม่เคยได้รับการสะสาง และค่อยๆ เลือนลางไปในประวัติศาสตร์ มีเพียงแต่ญาติพี่น้องและมิตรสหายของคนเหล่านี้เท่านั้นที่ยังคงจดจำได้

5 ตุลาฯ วันที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดกาล

เมื่อหนังสือพิมพ์ ‘ดาวสยาม’ กรอบบ่าย พาดหัวข่าวพร้อมรูปขนาดใหญ่ว่า “แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ”

นั่นเป็นพาดหัวข่าวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 วันก่อนหน้านั้น ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ‘ละครแขวนคอ’ ถูกจัดแจงและเขียนบทโดย วิโรจน์ ตั้งวานิชย์ โดยมี อภินันท์ บัวหภักดี เป็นผู้แสดง เพื่อจำลองเหตุการณ์การสังหารโหด วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และชุมพร ทุมไมย 2 ช่างไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งถูกสังหารโหด และแขวนคอประจานกับประตูแดง หลังแจกและติดใบปลิวต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของ จอมพล ถนอม กิตติขจร

ผ่านไป 2 สัปดาห์แล้ว รัฐบาลหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ยังไม่สามารถตามจับใครได้ แม้จะมี ‘เบาะแส’ ค่อนข้างชัดว่าผู้ที่ก่อเหตุอุกอาจขนาดนี้ หนีไม่พ้นเป็นตำรวจในพื้นที่

หนังสือพิมพ์เช้าวันที่ 5 ตุลาคม 2519 บางฉบับก็มีภาพละครแขวนคอดังกล่าว แต่ไม่มีใครคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็น จนกระทั่ง ‘ดาวสยาม’ หนังสือพิมพ์ของฝ่ายขวา ตีพิมพ์และออกจำหน่ายกรอบบ่ายของวันเดียวกัน

ละครแขวนคอกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ฝ่ายขวาเห็นว่ามีการ ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ จนวิทยุยานเกราะระดมพลจำนวนมากเพื่อชุมนุมกันบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับนักศึกษาที่ในเวลานี้กลายเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ กลายเป็นพวก ‘เวียดนาม’ และเป็นพวก ‘จีนแดง’ ที๋ซ่องสุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เด็ดขาด

หลังจากนั้น ประวัติศาสตร์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

ภาพถ่ายและจดหมายถึงคนรุ่นหลัง ของ สุรชาติ บำรุงสุข อุปนายกสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลานั้น บรรจุอยู่ในกล่องฟ้าสาง บอกเล่าทั้งช่วงเวลาก่อนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 และหลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งสุรชาติต้องแปรเปลี่ยนสถานะจากนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กลายเป็น ‘นักโทษ’ ในคดี 6 ตุลาฯ นานถึง 2 ปี ด้วยข้อหาหนัก 11 ข้อหา รวมถึงร่วมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันสะสมกำลังคนและอาวุธเพื่อเป็นกบฏ ดูหมิ่นองค์รัชทายาท ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าโทษสูงสุดหนีไม่พ้นการ ‘ประหารชีวิต’

15 กันยายน 2521 รัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ‘นักโทษ 6 ตุลาฯ’ ทุกคน หลังจาก ‘ขั้วอำนาจ’ ของฝั่งคณะทหารที่ยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เปลี่ยนเป็นอีกฝั่ง

กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ทำให้ผู้ที่ก่อเหตุสังหารโหดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ‘พ้นผิด’ ไปด้วย ไม่เคยมีการสืบสวนสอบสวนถึงสาเหตุ และไม่เคยสาวไปได้เลยว่าใครอยู่เบื้องหลังในการใช้อาวุธหนักถล่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้น

ในกล่องฟ้าสาง สุรชาติซึ่งวันนี้เป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพ ความมั่นคง และนโยบายระหว่างประเทศ ทิ้งเนื้อเพลง ‘ฟ้าใหม่’ ซึ่งประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ถึงคนรุ่นหลัง ไว้ว่า

“โน่นขอบฟ้าเรืองรองทาบทองอำไพ ใสสดงามตา
คือฟ้าใหม่ ใกล้มา นำมวลทาสเป็นไทย
อาบด้วยแสงเสรีภราดรธรรม ฟุ้งเฟื่องประจำ
งามล้ำกว่า ก่อนไกล ชีพสดใสเริงรื่น
เร็วลุกขึ้นเถิด เร็วลุกขึ้นเถิด ทุกชั้นชนไทย
ชนผู้รักชาติ รักความเป็นไท จงสามัคคี
เร็วลุกขึ้นเถิด เร็วลุกขึ้นเถิด ทุกชั้นชนไทย
พร้อมใจกัน ก้าวตรงไป สู่ไทยเสรี”

“ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน
บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ
สีขาว หนุ่มสาวจะใฝ่
แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา”

เนื้อเพลงตอนหนึ่งของวง ‘รุ่งอรุณ’ ที่แต่งขึ้นโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา หนึ่งในผู้นำนักศึกษา บ่งบอกช่วงเวลาแห่งความหวัง ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ได้ดี

ปี 2517-2519 เพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยมสูงสุดในแวดวงนิสิต-นักศึกษา หลายวงเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงเวลานี้ ที่มีชื่อเสียงมากก็เช่น วงคาราวาน วงกงล้อ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือวงกรรมาชน จากมหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพลงดังอย่าง ‘เพื่อมวลชน’

สำหรับรุ่งอรุณ เป็นหนึ่งในวงดนตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเขียนเพลง-แต่งเพลง เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ‘ความฝัน-ความหวัง’ ของนักศึกษา

“ทุกผู้คนหันมายินดีปรีดากับพลังนิสิตนักศึกษา และฝากความหวังทั้งมวลไว้ให้ โดยคิดว่าพลังเดียวกันนี้จะขจัดปัญหาต่างๆ ที่ผู้มีอํานาจสั่งสมไว้ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ พลังบริสุทธิ์ของหนุ่ม-สาวถูกบังคับใช้เหมือนเอามีดปอกเปลือกผลไม้ไปผ่าฟืน” สุธรรม แสงประทุม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลานั้น เขียนถึงพลังของนักศึกษาใน ‘ยุคทอง’ ไว้ในหนังสือ ‘เกิดเดือนตุลา’

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) ปัญญาชนสยาม ผู้ก่อตั้งร้านหนังสือ ‘ศึกษิตสยาม’ และนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญจนนำไปสู่การก่อตั้งขบวนการนักศึกษา และนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไว้ว่า

“14 ตุลาฯ นั้น นักศึกษาเขาพลาด เขานึกว่าเขาได้ชัยชนะ ผมเตือนก็ไม่เชื่อผมนะ

“ผมบอกว่าไม่ใช่ นักศึกษาเป็นเครื่องมือของทหาร เพราะทหารฟัดกันเอง เด็กเขาคิดว่าเขาชนะแล้ว

“เด็กเขาบอกต้องออกไปสอนประชาธิปไตยชาวบ้าน ผมบอกคุณจะไปสอนได้ไง การเรียนการสอนมหาวิทยาลัยเป็นเผด็จการ คุณจะเอาไปสอน คุณอยากจะช่วยราษฎร ก็ต้องออกไปเรียนรู้จากเขาสิ

“ก่อน 14 ตุลาฯ ผมดังมาก แต่หลัง 14 ตุลาฯ เขาไม่เห็นหัวผมเลย เขาบอกว่า อาจารย์ ส. หัวโบราณ ภายใน 3 ปี 6 ตุลาฯ ก็กลับมา”

“เยาวมิตรที่รัก

“ฉันเห็นแววตาของเธอบนใบหน้าเปื้อนเหงื่อซึ่งสะท้อนแสงแดดอุ่นยามบ่ายกลางที่ชุมนุมประท้วงด้วยความสุขใจระคนห่วงใย

“แววตาแบบเดียวกันนี้ ฉันเคยเห็นซ้ำๆ ตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อน เมื่อฉันส่องกระจกเงาแล้วเพ่งมองใบหน้าผอมบางของเด็กหนุ่มวัย 19 ปีในนั้น

“แววตาแบบนี้ไม่เคยกลัวใคร ไม่เคยลังเลที่จะเดินไปข้างหน้าแม้อุปสรรคมากมายรออยู่ และแววตาแบบนี้แหละ – ไม่ระย่อต่อความทุกข์และความตาย

“ฉันจำฝังใจว่า ฉันได้แววตาร้อนแรงแบบนี้มาพร้อมกับหยาดน้ำเอ่อท้นในดวงตา หลังจากฉันเดินหันหลังกลับออกมาจากความโหดร้ายใต้ต้นมะขามสนามหลวง ตอนเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

“นับตั้งแต่วันนั้น ฉันก็ไม่ใช่คนเดิมอีก ฉันไม่ใช่เด็กหนุ่มที่เพียงใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ อยากมีชีวิตที่ดี มีครอบครัวที่อบอุ่น สะสมเงินทอง แล้วจากโลกนี้ไปบนเตียงนุ่มสบาย ในวงล้อมของคนรัก

“ฉันบอกกับตัวเองในวันนั้นว่า ฉันจะใช้ชีวิตของฉันให้คุ้มค่ากับที่เกิดมาเป็น ‘คน’ เมื่อฉันเป็นหมอ ฉันจะไม่ใช่หมอรักษา ‘ไข้’ แต่เป็นหมอรักษา ‘คน’ ฉันจะไม่รักษาผู้ป่วยทีละคน แต่ฉันจะต้องรักษาผู้ป่วยทั้งสังคม…”

ตอนหนึ่งในจดหมายจาก นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ปี 2519 ที่เขียนไว้ใน ‘กล่องฟ้าสาง’

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ‘หมอเลี้ยบ’ สุรพงษ์ และคนเดือนตุลาฯ อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายแพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก มุ่งสร้างระบบ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ซึ่งผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ต้องขายวัวขายควายเพื่อรักษาตัว จนสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงเมื่อปี 2544 กลายเป็นโครงการกระฉ่อนโลก ที่ชื่อว่า ’30 บาทรักษาทุกโรค’

“ทั้งหมดนี้เป็นความฝันของคนเดือนตุลาฯ ที่ฝันอยากเห็นโลกนี้งดงามขึ้น เห็นคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เห็นทุกๆ คนเป็นพี่น้องกัน มีความพยายามที่จะเปลี่ยนเรื่องนี้ตลอดเวลา แต่หลายครั้งมันยังไม่สำเร็จ แต่เราก็ยังกล้าฝัน สิ่งที่พวกเราตั้งคำถามร่วมกันเสมอก็คือ ถ้าหากเราจะกล้าฝันเหมือนที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนไว้ใน ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ว่า ผมอยากมีสุขภาพที่ดี ถ้าหากเจ็บป่วยก็รักษาพยาบาลโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป สิ่งนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ เราจะทำอย่างไรให้ระบบสุขภาพที่มีคนเจ็บป่วยต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อรักษาตัวหมดไป”

น่าเสียดายที่ความฝันอื่นๆ ของคนเดือนตุลาฯ ยังไม่เสร็จสิ้น และคนรุ่นหลังยังคงต้องต่อสู้ต่อในอีก 45 ปี ถัดมา…

Fact Box

ผู้จัดทำแจ้งว่า เนื่องจากขณะนี้ กล่องฟ้าสางจัดจำหน่ายหมดแล้ว และด้วยกำลังการผลิตของทีมและเงื่อนไขด้านเวลา ทีมงานเห็นตรงกันว่าจะไม่จัดทำกล่องเพิ่ม แต่จะมีการจัดจำหน่ายสินค้าอย่างอื่นเพื่อเป็นที่ระลึกงานในปีนี้แทน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปกรอกรายละเอียดเพื่อแจ้งความจำนงรับข่าวสารของทีมได้ทาง http://forms.gle/LEuobiF9CuMCwVrT8 หรือที่เพจ 'บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6'

Tags: , , , ,